ความเชื่อ เรื่องยากลางบ้าน ภาคใต้


ภูมิปัญญาไทย

ความเชื่อที่เกี่ยวกับยากลางบ้านและการปัดเป่ารักษาไข้ของชาวใต้

 

ความเชื่อของชาวภาคใต้ในส่วนที่เกี่ยวกับยากลางบ้านและการปัดเป่ารักษาไข้ พบว่ามีพื้นฐานทั้งที่เป็น “ศาสตร์” เป็น “ศิลป์” และ “มายิกขาว” (White magic)

                ในส่วนที่เป็นศาสตร์นั้น หมายถึงความเชื่อที่บรรดาหมอกลางบ้านสืบทอดความรู้มาจากครู

รุ่นก่อน ๆ ที่มีประสบการณ์ในการใช้ยากลางบ้านและใช้วิธีการรักษานั้น ๆ ได้ผลดีมาแล้ว ต่างมีการเลือกเฟ้นสร้างสมความรู้แล้วปฏิบัติและถ่ายทอดสืบช่วงกันมา ยากลางบ้านส่วนใหญ่เป็นตัวยาที่ได้มาจาก ๔ ประเภทใหญ่ ๆ คือ มาจากพฤกษชาติ มาจากสัตวชาติ มาจากแร่ และมาจากเชื้อจุลินทรีย์ หมอกลางบ้านกลุ่มนี้จะมีความรู้เภสัชกรรมวิธีโดยอาศัยตำราโบราณหรือเรียนรู้สืบเนื่องกัน มิใช่ศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์เคมี แต่ก็รู้ว่ายาชนิดใดมีสรรพคุณอย่างไร รู้ขนาดยาและฤทธิ์ยา พิกัด รู้หลักการปรุงยาหรือผสมยา รู้ปฏิกริยาของยาที่ผสมกันและรู้วิธีใช้ยาแต่ละขนาน สรุปว่ามีความรู้เรื่องเภสัชกรรมแบบโบราณ นอกจากนี้เขายังมีความรู้เรื่องการตรวจและวินิจฉัยโรคตามตำราแผนโบราณ เช่น การสืบประวัติคนไข้ ประวัติโรค ตรวจชีพจรคนไข้ ตรวจร่างกายแบบโบราณ คือ ตรวจม้าม ตรวจต่อมบาลต่อม (เช่น ต่อมน้ำเหลือง ไข่ดัน ลูกหนู) ตรวจท้องโดยใช้นิ้วมือเคาะ ตรวจสีของตา ตรวจกลิ่นปาก ตรวจลิ้น ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ ตรวจความดันเหี่ยวแห้งซีดเซียวของผิวหนัง ริมฝีปาก ปลายมือปลายเท้า เป็นต้น ทั้งรู้เรื่องสมุฎฐานหลักของโรคอันได้แก่ กำเดาสมุฎฐาน (กำเดาให้โทษ) เสมหะสมุฎฐาน (เสมหะให้โทษ) โลหิตสมุฎฐาน (โลหิตให้โทษ) รู้เรื่องจำนวนของสมุฎฐานว่าเป็น เอกโทษ (สาเหตุเดียวเป็นโทษ) ทุวรรณโทษ (สองสาเหตุเป็นโทษ) ตรีโทษ (สามสาเหตุเป็นโทษ) เป็นต้น รู้ความประพฤติของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดโรคเนื่องแต่แต่เหตุทางกาย เช่น การกินอาหาร คือกินมากเกินไป น้อยเกินไป กินของบูดเสีย กินไม่ตรงเวลา จึงทำให้ธาตุแปร เกิดจากอิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน มากเกินไป เส้นเอ็นแปรไป ถูกความเย็นความร้อนเกินไป กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะนานเกินสมควร ทำการงานเกินกำลังกาย ในส่วนที่เกี่ยวแก่อารมณ์ เช่น ความเศร้าโศกเสียใจ หรือเกิดโทสะจนไม่มีสติยึดเหนี่ยว เป็นต้น รวมความว่าบรรดาความรู้เหล่านี้ที่หมอกลางบ้านรู้และสามารถนำไปใช้ประกอบในการใช้ยาและการรักษาเป็นลักษณะที่เป็นศาสตร์ของหมอแผนโบราณ จึง เป็นความเชื่อที่มีเหตุผลและใช้ได้ผลดี จึงมีชาวบ้านศรัทธาเชื่อถือต่อ ๆ กันมา

                ในส่วนที่สความเชื่อเกี่ยวกับยากลางบ้านและการปัดเป่ารักษาไข้เป็นศิลป์นั้น หมายถึงวิธีการที่หมอกลางบ้านใช้อุบายประกอบการรักษาพยาบาล มูลเหตุก็เพื่อให้เป็นผลทางกำลังใจหรือการใช้หลักจิตวิทยาประกอบกับการใช้ตัวยา ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช้ตัวยาเลย ถ้ามั่นใจว่าสาเหตุของการป่วยไข้นั้นเนื่องแต่ภาวะผิดปกติทางใจ เช่น มีความเศร้าโศกเสียใจ กังวล จนลืมความสุขสำราญ จนน้ำเลี้ยงหัวใจที่ผ่องใสขุ่นมัวเหือดแห้งทำให้โรคเกิดขึ้นในกาย มีโทษจริต ไม่มีสติยึดหน่วง ย่อมทำอาการกริยาฝ่าฝืนร่างกาย ทอดทิ้งร่างกายหรือทุบตีตัวเอง เป็นการบำบัดโรคด้วยวิธีจิตวิเคราะห์ นับเป็นเวชกรรมแบบหนึ่งซึ่งอาจมีทั้งการใช้และไม่ใช้ยา จึงจัดว่าเป็นศิลปะ

                ส่วนที่ว่าความเชื่อมีพื้นฐานเป็นมายิกขาวนั้น คือการใช้มายา (magic) มาใช้ปัดเป่ารักษาไข้ เป็นวิธีการทางไสยศาสตร์เพื่อแก้หรือป้องกันเหตุภัย เสนียดจัญไร ตลอดจนขับไล่สิ่งร้ายนั้นซึ่งเข้าใจว่าเป็นผี ให้ปลาตหนีไป การใช้มายาเพื่อให้เป็นผลดี เช่นนี้ เสฐียรโกเศศหรือพระยาอนุมานราชธน (ในเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ) เรียกว่า มายาขาว (White magic) ตรงกันข้ามกับมายาดำ (Black magic) ที่ผู้ใช้มุ่งใช้วิทยาคมหรือมายิกเพื่อทำร้ายหรือให้โทษแก่สคนอื่น เช่น การฝังรูปฝังรอย เป็นต้น หรือ แม้แต่ “ยาสั่ง” ก็จัดอยู่ในประเภทมายิกดำ ที่ประสมประสานด้วยศาสตร์ และบางทีก็เป็นศิลป์ด้วย (เช่น กรณีการใช้ยาแก้ยาสั่งหรือแกล้งหลอกว่าเป็นยาสั่งเพื่อให้ตื่นกลัวยอมจำนน) จึงเห็นได้ว่าการปัดเป่ารักษาไข้โดยถือเอามูลเหตุที่ผู้ป่วยศรัทธาเรื่องไสยศาสตร์เป็นจุดอ่อนนั้นเป็นความเกินควรของศิลป์ เปลี่ยนแปรลักษณะของการประกอบโรคศิลป์เป็นมายาการหรือวิทยาคมและบางครั้งหมอกลางบ้านประเภทนี้ก็หลงศรัทธาผิดอย่างบริสุทธิ์ใจก็มี จนสำคัญว่าจะบังคับและป้องกันสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ เหตุนี้เองบางรายจึงเชื่อเรื่องการปัดเป่ารักษาไข้ด้วยคาถาอาคมจนปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน

                ยากลางบ้านที่ได้ผลดีและแน่นอนส่วนใหญ่ได้จากผู้ที่คลุกคลีอยู่กับป่าดงพงไพร ความจำเป็นบังคับให้คนพวกนี้ต้องเสี่ยงเอาชีวิตเข้าทดลองใช้จนรู้แจ้งเห็นจริง เช่น พวกซาไก ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งขุนเขาและสมุนไพร เพราะเขามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องยาสมุนไพร และล้วนแต่เป็นสมุนไพรที่มีคุณภาพดี มีทั้งประเภทยาบำบัดโรคและยาบำรุง ยาสมุนไพรของซาไกที่นับว่าขึ้นชื่อจนเป็นที่ปราถนาของคนกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ยาแก้เมื่อย (เลาะเคาะ) เป็นพืชลักษณะคล้ายต้นฝรั่ง ใช้ต้มเอาน้ำนวดบริเวณที่ปวดเมื่อย ยาขนานนี้เชื่อกันว่าแม้คนที่เป็นอัมพาตก็บำบัดให้หายได้ ยาแก้เจ็บเส้สน (ลีวู) เป็นรากไม้คล้ายกระชาย ใช้ต้มเอาน้ำดื่ม ยาคุมกำเนิด (อัมม์) เป็นรากไม้ ให้ผู้หญิงแทะรับประทานหรือรับประทานกับหมาก ยาให้มีลูก (มี ๒ ขนาน) คือ “มักม็อก” เป็นรากไม้ รอยตัด มีเส้นคล้ายหัวผักกาดขาว ต้มเอาน้ำให้ภรรยารับประทานเมื่อมีประจำเดือน และ “ยังอ็อน” เป็นรากไม้ เปลือสีดำ เนื้อสีขาว ต้มเอาน้ำหรือแทะรับประทานให้ภรรยารับประทานเมื่อประจำเดือนหมดและให้สามีรับประทานด้วย) ยาเสริมกำลังเพศ (ตาง็อต) มีลักษณะเป็นหัวคล้ายหัวเผือก เปลือกและเนื้อสีขาว รับประทานสดหรือแห้งโดยแทะรับประทาน เหล่านี้เป็นต้น เป็นที่สังเกตว่ายาของพวกซาไกเหล่านี้ แต่ละขนานล้วนใช้สมุนไพรเพียงชนิดเดียว (เพราะความรู้จริง) ต่างกับยากลางบ้านของคนไทยที่ส่วนมากใช้หลายชนิดผสมกัน และมักใช้ปริมาณมาก เข้าทำนองหลายหม้อ หลายปีบ เพราะอาศัยคติลางเนื้อชอบลางยาจึงมักลองยาพร้อม ๆ กันไปกับการรักษาโดยปริยาย

                หมอกลางบ้านบางคนได้ความรู้เรื่องยากลางบ้านส่วนหนึ่งจากการคอยสังเกตและสอบถามจากปากคำของหมอรุ่นก่อน ๆ แล้วจดบันทึกสัสมไว้ เช่น หมอไชยยศ  ทีปกร จันทรพิทักษ์ บ้านเลขที่ ๑๐ ถนนดำรงพัฒนา ตลาดหน้าสถานีจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้บันทึกความรู้เรื่องยากลางบ้านจากปากคำของหมอห้อง  มูลศิลป์ สะสมไว้นับเป็น ๑๐ กว่าปี มีสาระสำคัญเป็นข้อ ๆ ได้ถึง๗๐ ข้อ เช่น “(๑) ฤดูร้อน เตโชธาตุ วาโยธาตุ พิการกำเริบ (๒) ฤดูหนาว ปถวีธาตุ อาโปธาตุกำเริบ...(๑๐) คนไข้และไอ ต้องใช้ยาแก้ไขเป็นยาคุม ยาแก้ไอเป็นยาช่วย ยาแก้ไอ ใช้น้ำกระสาย ผักส้มป่อย ชะเอมเทศ ขัณฑสกร หรือ น้ำตาลกรวด.. (๒๖) ยาต้มแก้ไข้ ขนานเข้าขิงแห้ง รากมูลกา ให้ใช้เวลาเจ็บหนัก... (๓๐) รากลำโพงกาหลัก รากไม้เท้ายายหม่อม กับน้ำมูตร แก้ฟกบวม... (๔๗) ผู้หญิงมีท้อง โลหิตเป็นเสมหะ จึงมีอาการอาเจียน ดอกบัวแก้เสหมะ เสมหะกำเดาทำให้ไม่เลือด ความจริงนั้นคนเราย่อมมีโลหิตหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย แต่เป็นการเปรียบเทียบว่าเมื่อผู้หญิงมีท้องนั้น โลหิตกลายเป็นเสมหะหรือเสมหะกำเริบ”

                ยาและวิธีการรักษาของหมอกลางบ้านมักจำแนกตามวัยและเพศของผู้ป่วย มียาสำหรับเด็กอ่อน เด็กเล็ก ยาสำหรับวัยรุ่น หญิงสาว ชายหนุ่ม ยาสำหรับหญิงมีครรภ์ ยาสำหรับใช้ในการคลอดบุตร ยาสำหรับผู้ใหญ่ หญิงชายทั่วไป และยาสำหรับคนชรา ถ้าศึกษารายชื่อยาจากตำรายาโบราณของภาคใต้อย่างละเอียด จะช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมของการรักษาและทราบปัญหาสุขภาพอนามัยของชาวบ้านได้พอประมาณ เช่น ยาสำหรับเด็กอ่อน พบมากขนานและมากตำราในโรคเดียวกัน คือ ยาสุมกระหม่อม ยาทาท้อง ยาแก้ตาน ซาง และแก้พยาธิ ยาสำหรับหญิงสาวที่พบมากคือ ยาประเภทบำรุงหรือขับถ่ายโลหิตระดู สำหรับหญิงมีครรภ์ คือ ยาครรภ์รักษา สำหรับคนทั่วไปที่พบมากคือ ยาแก้งูพิษกัด แก้ลมกระษัย ยาบำรุงธาตุ ยานิ่ว ยาตา ยาฟันทน เป็นต้น

                ชื่อเครื่องยากลางบ้านหลายอย่างตั้งขึ้นเพื่อให้ฟังแล้วทำให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจ หรือรฦสึกว่าเป็นของมีค่าสูงส่ง เช่น ใบทองพันชั่ง น้ำประสานทอง ซ้ำผีตาย (ผักเสี้ยนผี) หน่ายสงสาร (หัวไพล) ไฟใต้ดินกินพุงทะลาย (เจตมูลเพลิง) ท้าวพันดอก (ผึ้ง) ท้าวพันราก (เม่น) ท้าวพันยอด (ค่าง) บางชื่อตั้งขึ้นในเชิงศิลปะเพื่อรวมเครื่องยาหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน ทำให้เรียกสั้นเข้าและยังจำกัดให้กำหนดรู้กันแต่เฉพาะวงของหมอกลางบ้านช่วยกันไม่ให้คนที่รู้ไม่จริงนำไปใช้ผิด ๆ ถูก ๆ เช่น โกฐทั้ง ๗ (โกฐกระดูกและโกฐก้านมะพร้าว รวมกับโกฐทั้ง ๕) เกสรทั้ง ๕ (ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง พิกัด ๑:๒:๓:๔:๕) ตรีกฏก (เมล็ดพริกไทย ผลดีปลี หัวขิง) ตรีสาร (รากชะพลู รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน) สัตตะเขา (เขาควายเผือก เขาเลียงผา เขากวาง เขาวัว เขากระทิง เขาแพะ เขาแกะ) เนาวเขี้ยว (เขี้ยวสุกร เขี้ยวหมี เขี้ยวเสือ เขี้ยวแรด งาช้าง เขี้ยวสุนัขป่า เขี้ยวปลาพะยูน เขี้ยวจระเข้ เขี้ยวเลียงผา) เป็นต้น

                การตรวจและวินิจฉัยโรคของหมอกลางบ้านในส่วนที่โรคปรากฏอาการทางกาย หมอแต่ละคนอาศัยความรู้และความชำนาญเฉพาะตน (เว้นแต่บางรายหรือบางกรณีอาจนำเอาความเชื่อบางอย่างมาเสริมสร้างความศรัทธาหรืออำพรางเพื่อปิดบังวิชาความรู้ของตน) เช่น การตรวจม้าม ซึ่งอยู่ภายในด้านซ้ายของซี่โครง โดยปกติม้ามจะไม่ย้อยเลยระดับชายโครง หมอจะตรวจโดยใช้นิ้วมือทั้ง ๔ นิ้วกดตรงชายโครง ถ้าม้ามย้อยยานเลยลงไปเล็กน้อยจะเป็นไข้เล็กน้อย ถ้ายานเกินกว่า ๒-๓ นิ้ว แสดงว่าเป็นไข้มาก ถ้าย้อยลงไปเสมอสะดือแสดงว่าอาการไข้หนักมาก รักษายากยิ่ง อันนี้คือความรู้หรือหลักวิชาของหมอแผนโบราณ ส่วนการวินิจฉัยว่าอาการหนักหรือหรือเบาเพียงใดเป็นเรื่องของความชำนาญ หมอบางคนอาจใช้อุบายแถลงอาการไข้ให้เป็นคุณแก่ตนหรือแก่ผู้ป่วยก็ได้ อาจบอกว่าถูกยาถูกผีก็มี ผลที่สุดก็ก่อให้เกิดเป็นความเชื่อแก่ผู้ไม่รู้จริง เช่น เชื่อว่าไข้มาเลเรียคือ ไข้ “ป้าง” ถ้าหัวของป้าง (เชื่อว่าเป็นสัตว์) ยานลงมามาก ต้องทำพิธีหักหัวของป้างเพื่อให้ป้างตาย เรียกวิธีการเช่นนั้นว่า “หักป้าง” ซึ่งต้องใช้คาถาประกอบ เป็นต้น เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้จะสืบทอดต่อกันเพื่อให้ผู้ตรวจสังเกตเป็นเบื้องต้น เช่น ถ้าตาสีขาวซีดโรย เชื่อว่าเป็นเพราะเสมหะหรือโลหติ ถ้าที่เปลือกตาเผือดดำคล้ำ เขียวขุ่นนัยน์ตาเพราะโลหิตน้อย เหตุไม่หลับ หรือจับไข้ ถ้ากลิ่นปากเหม็น สาเหตุเนื่องจากโรคฟันเพลืองพิการ โรคอาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ ถ้าปากแตกระแหง เหตุธาตุพิการ ลมขึ้นเบื้องสูง โลหิตน้อย ถ้าลิ้นเป็นฝ้าละอองเป็นไข้ธรรมดา ถ้าเป็นไข้มีพิษต่าง ๆ ลิ้นจะแห้งแตกระแหง ลิ้นเป็นเม็ดเป็นขุม อาจเป็นเพราะธาตุพิการ ไข้ป้าง (ไข้ป่า) ไข้รากสาด (ไข้ทรพิษ) ไข้กาฬอธิสาร เข้าขั้น ถ้าอุจจาระเป็นมูลโคหยาบ เป็นเพราะน้ำย่อยอาหาร ถ้าอุจจาระสีเขียวเหลือง เป็นเพราะดีพิการ ไข้ป่า ถ้าปัสสาวะสีชาแก่อาจเป็นเพราะไตพิการ ไข้พิษ ไข้รากสาด (หรือลากสาด) เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แนวทางการวินิจฉัยโรคของหมอกลางบ้านแผนโบราณที่ยกมานี้เป็นเพียงเครื่องช่วยในการสังเกตเท่านั้น ยัง้เป็นศาสตร์อย่างหยาบ จึงเป็นช่องทางให้ผิดพลาดได้ง่าย ความไม่แม่นยำเป็นเหตุหนึ่งให้เกิดการลองยา การให้ยาของหมอกลางบ้านจึงมักใช้ส่วนผสมของเครื่องยาที่มีสรรพคุณคลุมกว้างไว้ก่อน หรือ ไม่ก็ใช้ให้มากชนิดไว้ก่อน อันนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้การปัดเป่ารักษาไม่ฉมัง และเป็นความจำเป็นที่หมอกลางบ้านจะต้องนำเอาความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาเข้ามาประกอบเพื่อเสริมสร้างศรัทธา

                เนื่องจากหมอกลางบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่า สมุฏฐานที่สำคัญของโรคธาตุเกิดแต่ธาตุ ๔ คือ ปถวีสมุฎฐาน (เกิดแต่ธาตุดิน) อาโปสมุฎฐาน (เกิดแต่ธาตุน้ำ) วาโยสมุฎฐาน (เกิดแต่ธาตุลม) เตโชสมุฎฐาน (เกิดแต่ธาตุไฟ) ธาตุเหล่านี้หมายคลุมไปถึงเลือด ลม เสมหะ น้ำเหลือง น้ำดี เป็นต้น จึงเชื่อว่าน้ำนมของมารดาก็มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของทารก และเชื่อต่อไปว่ารูปร่างลักษณะของสตรีมีความสัมพันธ์กับลักษณะของน้ำนมที่เป็นคุณและเป็นโทษ จึงมีตำราบอกลักษณะสตรีที่มีน้ำนมเป็นโทษว่ามี ๔ ประเภทคือ (๑) ลักษณะรูปหญิงที่เท้ามือกายยาว เนื้อเหลือง ขาวสองสี พอคงร่างไม่อ้วนไม่ผอม หัวนมหย่อนยาน เล็กไม่สมนาสิกใหญ่ หนังริมตาหย่อน โลภลาภกินในอาหาร น้ำเสียงดังกา กลิ่นกายแรงเหมือนน้ำล้างคาวปลา นับเป็นยักขินี (๒) ลักษณะรูปหญิง มีผิวพรรณขาวดำแดง กลิ่นกายสาบแรงเหมือนผู้ชาย เสียงดังแพะร้อง ริมปากกลม เท้าใหญ่ ฝ่าเท้าไม่เสมอกัน เดินมักสะดุด รูปหัวนมดังคอน้ำเต้า (๓) ลักษณะรูปหญิง มีตาเหลือกลาน ไหล่ลู่ หน้าแข้งและต้นขาทู่ นิ้วแม่มือใหญ่ เป็นหญิงใจดุร้าย ระยะนมสองข้างห่างกัน ปลายนมแบน เสียงดังเสียงอีกา ผมหยักเป็นหญิงมีน้ำนมเปรี้ยว (๔) ลักษณะรูปหญิง สันทัด สีเนื้อขาวเหลือง สำเนียงเหมือนปักษี กลิ่นดังนกพิราบหรือแพะ เต้านมเป็นคอน้ำเต้า รสน้ำนมฝาด ขมบ้าง คาวบ้าง จืดบ้าง ลักษณะทั้งนี้ล้วนแต่ให้โทษ น้ำนมรสเปรี้ยว สีขุ่นเขียวคาว ให้โทษวาโย รสนมฝาด ให้โทษกำเดาและเตโช น้ำนมสีเขียวขาว มีกลิ่นเหมือนนมแพะ ให้โทษเสมหะและปถวี น้ำนมที่มีรสสีจางใสหลั่งลงไปในน้ำลอยกระจายทั่วไป ไม่คุมกันเป็นสาย ทำให้โลหิตให้โทษ ถ้ามารดารูปยักษ์ลิง จะเป็นคนเลี้ยงลูกยาก เพราะโรคโรคาติดพันธุ์พงศ์แห่งเลือดร้าย

                หมอกลางบ้านมักเชื่อตามตำราแผนโบราณว่า ธาตุต่าง ๆ จะกำเริบ ด้วยเหตุแห่งอายุ เรียกว่า กาลสมุฏฐานและด้วยเหตุแห่งประเทศเรียกว่า ประเทศสมุฎฐาน กล่าวคือ เหตุแห่งอายุหมายถึง คนต่างวัยกัน ธาตุที่กำเริบต่างชนิดกันเช่น ปฐมวัย ธาตุอาโปมักกำเริบ เสมหะเป็นหลัก (เจ้าเรือน) ระคนด้วยเสมหะและโลหิต แทรกด้วยโลหิต กาลสมุฎฐาน หมายถึงเวลาใด ธาตุอะไรกำเริบ แบ่งกลางวันเป็น ๔ ยาม กลางคืน ๔ ยาม เช่น ยาม ๑ ๖.๐๐ น. ถึง ๙.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น. ถึง ๒๑.๐๐ น. ธาตุอาโปกำเริบ เสมหะพิการ ยาม ๓ เวลา ๑๒.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น. และ ๒๔.๐๐ น. ถึง ๓.๐๐ น. ธาตุอาโปกำเริบ ดีพิการ ประเทศสมุฎฐาน หมายถึงคนเกิดในภูมิประเทศใด มีธาตุอะไรเป็นสมุฎฐาน เช่น ถ้าเกิดในที่ดอน เนินเขา เรียกว่าประเทศอบอุ่น มีธาตุเตโชเป็นสมุฎฐาน ถ้าเกิดในที่น้ำ ที่กรวดทราย เรียกประเทศอบอุ่น มีธาตุอาโป ดี โลหิต เป็น

สมุฎฐาน  ถ้าเกิดที่น้ำเค็ม เปือกตม เรียกประเทศหนาว มีปถวีเป็นสมุฎฐาน เป็นต้น ความเชื่อของหมอกลางบ้านก็คือ จะตรวจโรคใคร ต้องนำเอาธาตุสมุฎฐาน อายุสมุฎฐาน กาลสมุฎฐาน และประเทศสมุฎฐาน มาพิจารณาประกอบกันเพื่อการวินิจฉัยและรักษา

                หมอกลางบ้านเชื่อว่าอาการของโรคจะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับความหนักเบาของธาตุที่พิการ ถ้า

สมุฎฐานหลัก (เจ้าเรือน) พิการมาก ซ้ำมีธาตุอื่น ๆ ระคน เจือ และแทรก ก็จะมีอาการหนักยิ่งขึ้น เมื่อใดธาตุ ๔ พิการพร้อมกัน อาการก็เพียบเต็มที่และเมื่อใดธาตุ ๔ ดับ ก็ถึงตาย ถ้าเตโชธาตุพิการจะมีอาการจุกเสียดแทงข้างหลัง หายใจสั้น มือเท้าบวม ท้องร่วงจนสิ้นอาหารเก่า ไม่มีกำลัง อยากน้ำ อาจจาระเป็นน้ำล้างเนื้อ เหม็นคาวเพราะธาตุไฟหมดไป ปากแห้ง คอแห้ง ไม่มีน้ำลาย ถ้าลองเอามือป้ายยาแล้วล้วงคอดู ถ้าหากน้ำลายเย็น คอเย็น จะตายในเย็นวันนั้น แต่ถ้าวาโยธาตุพิการ มีอาการหูตึง น้ำหนวกไหลออกมีกลิ่นเหม็นนัยน์ตาฟางไม่เห็นแสงไฟ เมื่อยมือและเท้า สันหลังฟกเป็นฝีเป็นเอ็น บางทีอาเจียนออกลม บางทีลงแดงครั้นถูกคุณยาบรรเทาแล้วอาเจียนจะตายใน ๗ วัน ส่วนกรณีที่อาโปธาตุพิการ ดี เลือด เสลด จะให้โทษ มีอาการลงท้อง กายเหลือง คนไข้แสดงดุร้าย โทโสมาก บ่นเพ้อ ยากที่จะแก้ ๗ วันดีแตก ครั้นถูกของแสลงท้องร่วงจนหมดอาหารแล้วเป็นน้ำใสระคนด้วยเลือดจาง บางทีปวดมวนแน่นหน้าอก อาเจียนออกลม จับนิ่งแน่มือกำ ตัดอาหาร ชัก ตาเหลือก รักษายาก และถ้ามีเสมหะประจำอยู่ที่ลำคอ ทวารหนักเป็นยวงยางเยื่อพัวพันอยู่ ในท้องเป็นมานกระษัย จับเชื่องมึน จุกเสียดขบแข้ง เพราะโทษเสมหะในทวารแรงลงบิด ปวดมวน เสมหะในลำคอคอยกั้นอาหาร เหียนราก ถ้าปถวีรธาตุพิการ ปถวีธาตุ ๔ ประการ คือ เนื้อ หนัง กระดูก และเอ็น จะผิดปกติ เพราะให้วอบัติในอาหาร ป่วยไข้ เมื่อจะสิ้นอายุให้เน่าเห็นเลือดหนองพิการ เสมหะดำ เขียว เหลือง ลาย สีเป็นขี้เถ้า ปลีแข้งหดหาย รูปร่างผอม เหี่ยวแห้ง ชีพจรอ่อน จึงปรากฏอาการจะตายใน ๓ วัน ถ้าอาการไข้เข้าขีดจาย เพราะเหตุแห่งธาตุทั้ง ๔ มี ดิน น้ำ ลมไฟ แปรไป เรียกอาการไข้นั้นว่า “อดิสาร” จะเห็นว่าความเชื่อของหมอกลางบ้านและยากลางบ้านที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่มี “ศาสตร์”เป็นพื้นฐาน

                ความเชื่อที่เกี่ยวกับการรักษาปัดเป่าไข้อีกลักษณะหนึ่งของชาวภาคใต้ คือ การนำเอาดนตรีมาประกอบพิธีกรรมเพื่อทรักษาไข้ เจตนาเดิมน่าจะกระทำเพื่อรักษาอาการป่วยทางจิตเป็นอุบายที่ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ แต่ต่อมากลายเป็นว่าผู้กระทำพิธีเองก็เชื่ออย่างแข็งขันว่าวิธีการเช่นนั้นทำให้ผู้ป่วยหายเจ็บไข้ได้จริง จึงใช้รักษาความเจ็บไข้ทั้งที่เกิดจากจิตใจและจากสมุฎฐานอื่น ๆ ด้วย เครื่องดนตรีที่ไทยพุทธนิยมนำมาใช้รักษาไข้ คือ “โต๊ะครึม” หรือ “นายมนต์ ” (ดู โต๊ะครึม) เป็นการรักษาไข้โดยบูชาผีตายาย ด้วยเชื่อว่าผู้เจ็บไข้ถูกผีตายายให้โทษ ตามตำนานของโต๊ะครึม กล่าวถึงปฐมเหตุที่เกิดโต๊ะครึมขึ้นมาว่า ทับที่นำมาเป็นเครื่องดนตรีประโคมซึ่งมีขนาดและชื่อต่างกันนั้นล้วนเป็นทับที่เทพเนรมิตขึ้นมาเพื่อรักษาโรคบ้าคลั่งโดยตรง การใช้ดนตรีรักษาไข้ทำนองนี้มีวัฒนธรรมของไทยมุสลิมในภาคใต้ด้วย แต่ดนตรีที่ไทยมุสลิมประโคมเพื่อรักษาไข้เขาเรียกว่า “เตอรี” หรือ “มะตือรี” มีพิธีกรรม เครื่องดนตรี และการสวดประกอบแตกต่างกับโต๊ะครึมเล็กน้อย (ดูเตอรี) ถ้ามองในแง่เหตุผล การรักษาไข้โดยใช้ดนตรีทั้ง ๒ ชนิดนี้อาจมีผลดีตรงที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสนุก การละเล่นพื้นเมืองประเภทอื่น ๆ บางอย่างก็มีการนำไปใช้ประกอบการปัดเป่ารักษาไข้ โดยที่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยบนบานไว้ มักเป็นการแสดงแก้บนเมื่อหายจากเจ็บป่วยแล้วหรือทุเลาแล้ว การละเล่นที่นิยมใช้เพื่อการนี้มี หนังตะลุง โนรา และของไทยมุสลิมก็มี หนังแขก (วายัง-ยาวอ) เป็นต้น

                ในอดีตวัดจะทำหน้าที่เป็นแหล่งบริการยากลางบ้านและรักษาพยาบาลชาวบ้าน แต่ละวัดมักจะมีพระภิกษุอาวุโส หรือ ไม่ก็เจ้าอาวาสเองเป็นผู้ชำนาญเรื่องยากลางบ้าน เป็นหมอแผนโบราณ และเป็นสำนักถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ คนป่วยส่วนใหญ่จึงไปรับการรักษาไข้ที่วัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือเป็นโรคจิต เพราะชาวบ้านมีความเชื่อพื้นฐานว่าโรคเช่นนั้นเนื่องแต่ผู้ป่วยถูกผี ถูกคุณ หรือเป็นเพราะมีบาปกรรมหนัก ทั้งเชื่อต่อไปว่า ผีกลัวพระภิกษุ กลัวผ้าเหลืองของพระ กลัวเวทมนตร์คาถาของผู้คงแก่เรียน และศรัทธาว่าพระภิกษุเป็นผู้มีบุญที่ผีเกรงกลัวอำนาจบุญ และเมื่อพระภิกษุรักษาไข้ก็มักใช้ทั้งยาและพิธีกรรมที่สาธยายมนต์ประกอบ ทั้งนิยมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เป็นสิริมงคล เหตุนี้จึงเกิดความเชื่อเรื่องการปัดเป่ารักษาไข้โดยวิธี “รดน้ำมนต์” และใช้เวทมนตร์คาถาขับไล่ผีขึ้น วิธีการเช่นนี้เมื่อหมอกลางบ้านที่เป็นฆราวาสนำไปใช้ก็จะเน้นให้เชื่อการใช้เวทมนตร์คาถาเป็นสำคัญ พยายามเน้นว่าตนมีอำนาจเหนือผี จึงนำเอาเรื่องมายิก (magic) มาเป็นตัวนำ มีการ “ขับผีไล่ผี” มีการ “ลงไม้หาเพชร” (ดูลงไม้หาเพชร เป็นต้น)

                โรคที่มีอาการซับซ้อนผิดปกติหรือเรื้อรังที่หมอกลางบ้านวินิจฉัยไม่ได้หรือรักษาไม่หาย รวมทั้งไข้ห่าที่ทำให้คนล้มตายคราวละมาก ๆ  เชื่อกันว่าเกิดจากผีสาง อำนาจลึกลับ หรือฟ้าดินลงโทษ จะปัดเป่าได้ก็ด้วยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ต้องชาเริน (ดูชาเริน) ชาเมือง (เช่นที่กระทำกันในจังหวัดนราธิวาส) ต้องทำพิธีโก้ยห่าน (ประเพณีของชาวจีนในจังหวัดภูเก็ต) ต้องทำพิธีลอยเรือ (ประเพณีชาวเลหรือชาวน้ำ) ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า “เกิดไข้ยมบนแก่คนทั้งหลายใหญ่น้อยตายสิ้น” (ดูไข้ยมบน) และเมื่อเกิด

ไข้ยมบนหรือไข้ห่าขึ้น พระยาศรีธรรมโศกราชก็ให้ทำพิธีใหญ่ ทำ “ตรานโม” โปรยและฝังไว้ทั่วเมืองเพื่อกันไข้ยมบนจนเกิดความนิยมเสาะหา “ตรานโม” ไว้เป็นสมบัติด้วยเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ บางท้องถิ่นเชื่อว่า ขวานฟ้า (ขวานหินขัด) ก็สามารถขับไล่ผีและโรคร้ายได้ จึงนิยมใช้ขวานฟ้าแช่น้ำดื่มแก้โรค โรคมะเร็งที่แม้แต่ยุคปัจจุบันก็ยังไม่มียาพิชิตได้ ชาวภาคใต้ในอดีตเรียกมะเร็งว่า “ฝี” หมอกลางบ้านกระทำได้เพียงแต่บอกให้ทราบตามที่เชื่อตามกันมาว่าเกิดตรงบริเวณใด เรียกชื่อว่าอะไร จะตายหรือไม่ และถ้าถึงตายเป็นที่ส่วนไหนจะตายภายในกี่วัน จึงมีตำรายารักษาฝี พร้อมเขียนภาพประกอบบอกตำแหน่งและชื่อและชี้วันตายให้เท่านั้น

                วิธีปัดเป่ารักษาอีกประเภทหนึ่งคือการใช้เคล็ด เช่น การรักษาโรคตาต้อ ด้วยวิธี “ตัดต้อ” โดยนำเมล็ดข้าวสารหรือเนื้อมาตัดเอาเคล็ดตามความเชื่อที่เคยปฏิบัติกันมา แล้วเชื่อว่าตาต้อก็จะหาย (ดู ตัดต้อ) แต่ก็กระทำกันเฉพาะต้อ ๒ ชนิดเท่านั้น คือ ต้อข้าวสาร (เอาเคล็ดตรงที่ตัดเมล็ดข้าวสาร) และต้อเนื้อ (เอาเคล็ดตรงที่ตัดเนื้อ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น) ไม่อาจตัดต้อกระจกหรือต้อหินได้ หรือเชื่อกันว่าถ้าใครปวดบวมที่ไข่ดันก็ให้ใช้ “ใยพด” (ใยมะพร้าว) มาพันให้รอบหัวแม่เท้าข้างเดียวกันหรือเชื่อว่ากระดาษสมุดข่อยใช้มวนแล้วสูบแก้ริดสีดวงจมูกได้หรือใช้ตำแล้วพอกหรืออุดหูเพื่อรักษาโรคหูน้ำหนวกได้ ยิ่งใช้ส่วนที่มีอักขระอยู่ด้วยจะยิ่งขลัง เป็นต้น

 

                นิมิตสำแดงมรณะ

                เนื่องจากความตายเป็นภัยร้ายแรงที่สุดของการเจ็บป่วยจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับนิมิตสำแดงมรณะของคนนั้น ๆ ซึ่งหมอแผนโบราณเรียกว่า “มรณญาณสูตร” จะมีกาลมัจจุราชปรากฏให้เห็นเป็นอาการทางสรีระหรือฝันหรือเห็นนิมิตร้าย นิมิตทางกายเชื่อกันว่าถ้าเป็มนวันใกล้จะตาย ดวงตาแข็งขาว มืดมัว เคยเห็นกลับไม่เห็น น้ำตาไม่มี คิ้วลด หน้าผากตึง หูแข็งกระด้างและเฟ็ดไป หูอื้ออึงไม่ได้ยิน จมูไม่รู้สึกกลิ่นและเฟ็ดไป คางแข็ง ริมฝีปากเฟ็ด เบี้ยว ลิ้นหด เจรจาไม่ชัดคำ ปลายมือปลายเท้าเขม่น ชักกำ เส้นชีพจรให้คลาดจากที่อยู่หรือหายไป ถ้าเป็นผู้ชายองคชาติหด ผู้หญิงทวารเผย ตกมูตร มีคูถสัเทาดำ ร่งกาย

คำสำคัญ (Tags): #ภูมปัญญา
หมายเลขบันทึก: 449895เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท