กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๒๐) : ทำให้ "การเรียนรู้เป็นของผู้เรียน" ตอนที่ ๒


 

เมื่อเช้าวันจันทร์มาถึง  วันนี้เป็นวันที่ครูแคทเป็นเวรอยู่ใต้ตึกพอดี  เด็กๆ ทยอยถือชิ้นงานมาอวดคนแล้วคนเล่า  มีเบ็ดตกปลาคันใหญ่  กล้วยปิ้ง  น้ำผลไม้ปั่น  ฟ้าทะลายโจรแคปซูล  หีบสมบัติ  ม้าก้านกล้วย  พัด  โมบาย   กรอบรูป  ฯลฯ  งานของเด็กไม่ซ้ำกันเลย  และทุกคนต่างก็เล่าถึงที่มาของงานตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ โดยที่ครูไม่ต้องถามสักคำ

 

และแล้วก็เป็นไปตามความคาดหมาย  ตะวันทำเครื่องประดับมาส่งครู โดยให้คุณแม่ถือมาให้  เพราะกลัวว่างานจะพังก่อนถึงมือครู 

 

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเอางานมาส่งและถ่ายรูป  ตะวันก็มาหยิบที่คาดผมที่มีเขาคล้ายกวางมาให้ถ่ายรูป  ปรากฏว่าสิ่งที่ตะวันประดับไว้บนที่คาดผมหลุดออกมา ตะวันทำหน้าเสียใจ  ครูแคทจึงบอกว่า “ไม่เป็นไรค่ะ พรุ่งนี้ครูจะเอากาวมาติดให้”

 

 

ติดตาม 

 

เที่ยงวันอังคาร  ตะวันรีบทานอาหารอย่างรวดเร็ว แล้วเดินจากห้อง ๒/๑ มาหาครูแคทที่ห้อง ๒/๒ แล้วบอกว่า  “ครูแคทเราไปติดกาวกันค่ะ” เสียงของตะวันทำให้ครูแคทเพิ่งรู้ตัวว่าลืมเอากาวมา จึงได้บอกกับตะวันไปว่า “พรุ่งนี้นะคะ” เมื่อได้ยินดังนั้นตะวันก็เดินกลับไปที่ห้อง แล้วกลับอีกครั้งมาพร้อมกับกระดาษชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ที่มีข้อความเขียนด้วยลายมือที่สวยงามว่า

 

๑๒ ก.ค ๕๔

กาว

เอากาวมา

๑๓ ก.ค. ๕๔

 

ตะวันถือมาวางบนโต๊ะ  พร้อมบอกครูแคทว่า  “ครูแคทอ่านด้วยนะคะ” แล้วก็เดินจากไป

 

กระดาษชิ้นนี้เป็นคำตอบของคำถามที่เคยสงสัยมาตลอดว่า  เด็กเล็กๆ จะเข้าใจความหมายของการจดการบ้านหรือเปล่า  เพราะเห็นเด็กๆ บ่นเวลาจะต้องจดการบ้านว่าต้องจดทำไม เขาจำได้แล้ว

 

แต่จากโน้ตที่ตะวันเขียนส่งให้ เป็นการเขียนเลียนแบบฟอร์มของการจดการบ้าน ที่เริ่มด้วยวันที่ที่สั่งงาน / วิชา / สิ่งที่ต้องทำ / กำหนดส่ง นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าเขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าแต่ละช่องหมายถึงอะไร และสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนเลย

 

กระดาษชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่าตะวันเปลี่ยนไปจากเดิม  และกลายเป็นนักบริหารจัดการที่รอบคอบ  และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ จนถึงขั้นคิดวิธีติดตามไม่ให้เกิดความผิดพลาดเรื่องกาวที่เป็นวัสดุอุปกรณ์สำคัญขึ้นมาอีก

 

แตกต่าง

 

คุณแม่ของตะวันเล่าให้ฟังว่า “ไม่น่าเชื่อเลยว่าลูกใช้เวลาวันเสาร์ตลอดทั้งวัน และวันอาทิตย์อีกครึ่งวันเพื่อเขียนวิธีทำในแผ่นพับ ๗ หน้า งานชิ้นนี้เป็นการทำงานที่มีสมาธิและต่อเนื่องยาวนานที่สุดที่เคยพบมา ต่างจากเดิมเวลาที่ตะวันทำการงานหรือทำการบ้าน คุณแม่จะต้องผลักดันค่อนข้างมาก  แต่ครั้งนี้ตะวันทำงานชิ้นนี้สำเร็จอย่างสวยงามด้วยแรงจากบันดาลใจภายในของตะวันเอง” 

 

ตะวันใช้เวลาในวันเสาร์สำหรับการเก็บใบไม้  รากไม้ ในหมู่บ้านมาเลือกดู  ลองแขวนประตูบ้าง แล้วลองคิดดูว่าจะเอาไปทำอะไรได้อีก  แล้วตะวันก็คิดถึงช่อดอกหมากที่เคยเอามาเล่นตอนที่ที่บ้านมีการตัดแต่งต้นไม้  แล้วก็บอกกับแม่ว่าจะเอามาทำเป็นที่คาดผมที่เป็นรูปร่างเขากวาง  แล้วก็ได้หัวข้องานออกมาว่า “ที่คาดผมกวาง”

 

ในขั้นของการทำงาน ตะวันอยากจะยึดช่อดอกหมากเอาไว้กับที่คาดผม แม่ก็เสนอให้เอาไหมพรมมาพันไว้จะได้ไม่หลุด  จากนั้นจึงนำดอกพุซซี่วิลโลว์ไปย้อมสีติดกับช่อดอกหมากด้วยกาวร้อน  ตอนเขียนอุปกรณ์ที่ใช้ แม่ช่วยสะกดคำบางคำให้  

 

แรงบันดาลใจของลูกในการทำงานชิ้นนี้คือ “หนูจะแต่งชุดแฟนซีกวาง แล้วเอาที่คาดผมอันนี้มาทำที่คาดผมของชุดกวาง”

 

 

เติบโต

 

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ครูแคทไม่ต้องเหนื่อยในการตามงานจากเด็กๆ เลย ในทางกลับกัน  เด็กๆ กลับมาตามครูแคทไปดูชิ้นงาน ไปชิมอาหาร ไปถ่ายรูปงานของพวกเขา รวมถึงทำโน้ตเตือนเพื่อช่วยให้ครูไม่ลืมเอากาวมา

 

ความสำเร็จในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตะวันเพียงคนเดียวเท่านั้น  เด็กคนอื่นๆ ในห้องล้วนมีอาการไม่ต่างไปจากตะวัน คุณครูอิ๋ว  ครูประจำชั้นห้อง ๒/๒ เล่าให้ฟังว่า คุณแม่น้องบุ๋มเขียนจดหมายสื่อสารกลับมาว่า  “น้องบุ๋มกระตือรือร้นในการทำชิ้นงานมาก ทดลองสูตรทำน้ำส้มคั้นอยู่หลายครั้งกว่าจะได้สูตรที่อร่อยที่สุด”

 

โบกี้ทำไอศกรีมจากน้ำส้ม วันนี้ทำไอศครีมแท่งที่ ๒-๓ มาให้ครูแคทชิมอีก  เจียหงทำแพจากไม้ไอศกรีมมาส่งครูเพิ่มอีกเป็นงานชิ้นที่ ๒   

 

ที่มากยิ่งไปกว่านั้น แรงบันดาลใจของงานแต่ละชิ้น ยังชวนให้ครูปิติที่ได้พบกับความงดงามที่อยู่ในใจของพวกเขา

 

คุณพ่อคุณแม่ของหลิงซิงบอกว่า “น้องทำงานชิ้นนี้ทั้งถึง ๒ วันเต็ม ตั้งใจทำมาก ทำไม่สวยก็รื้อทำใหม่อยู่นาน จนกว่าจะพอใจ” แรงบันดาลใจในการทำพวงปลาตะเพียนสานของหลินซิงก็คือ “หนูจะมีน้องอีกคนแล้วเลยจะทำให้น้องเล่น”   ส่วนน้องแพรทำลูกประคบสมุนไพรให้คุณยายก็เพราะ “คุณยายชอบปวดเมื่อยอยู่บ่อยๆ”

 

เมื่อแรงบันดาลใจซึ่งเป็นแรงขับภายในของผู้เรียน มีความพอเหมาะกับเงื่อนไข กติกา และกระบวนการการทำงานที่ครูสร้างให้ ความคิดและจินตนาการที่เคยเป็นเพียงภาพเลือนลางอยู่ในสมองก็จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นบนกระดาษ  จนกระทั่งปรากฏออกมาเป็นชิ้นงานจริงได้ในที่สุด 

 

โจทย์ของการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การนำพาให้ผู้เรียนได้พบกับความสำเร็จ ได้สัมผัสกับความดี ความงาม และความจริง  จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เติบโต และจะช่วยเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เคยอยู่ในมือครู ไปสู่การทำให้การเรียนรู้เป็นของผู้เรียนได้อย่างไม่ยากเย็น

 

ติดตาม  แตกต่าง และเติบโต  คือ ๓ อาการเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “การเรียนรู้เป็นของผู้เรียน” แล้ว

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 449866เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท