web 2.0


web 2.0

เว็บ 2.0

แนวคิดเว็บ 2.0 คืออะไร?

หากจะกล่าวถึงคำนิยามของเว็บ 2.0 อาจมีใครหลายๆคนให้คำจำกัดความที่คล้ายๆกัน ซึ่งคำว่า WEB 2.0 ที่จริงแล้ว มิใช่อะไรที่ใหม่ หรือยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ ผมจะอธิบายสั้นๆดังนี้ครับ ในยุคที่เป็นเว็บ 1.0 ก็คือยุคแรกที่เราเริ่มมีการใช้ www เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตกัน ในยุคแรกๆ เว็บไซต์จะเป็นเพียงหน้าเว็บที่แสนจะธรรมดา เว็บส่วนใหญ่จะเกิดมาจากคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตนเองว่า webmaster ที่สร้างเว็บเพื่อแสดงเนื้อหา ความรู้ รูปภาพ ผลงาน และอีกต่างๆนานา ส่วนสำคัญที่มองมันว่าเป็นยุคของเว็บ 1.0 ก็เพราะว่า "เนื้อหาส่วนใหญ่" นั้นผู้ดูแลจะเป็นผู้สร้างเนื้อหานั้นขึ้นมา" ให้ผู้เข้าชมเว็บได้อ่าน ได้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ และเขาเหล่านั้นก็จากไป ต่อมาได้มีภาษา อาทิ PHP, ASP ซึ่งเดิมนั้นใช้เพียง HTML กับ JavaScript และอาจจะมี Perl เข้ามามีส่วนร่วมอยู่นิดๆ ในช่วงที่ผู้คนเริ่มใช้ "อีเมล" และภาษาเหล่านี้เข้ามามีส่วนช่วยให้เว็บไซต์ มีลูกเล่นมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองกับผู้ใช้งานได้ เช่น มีระบบสมาชิก สมัครสมาชิกได้ โพสข้อความแสดงความคิดเห็นได้ โพสรูปได้ ซึ่งเว็บในยุคนี้ ในความคิดผมเองมันยังเป็นยุคของเว็บ 1.5 ที่กำลังใต้เต้าขึ้นมา เพราะเนื่องจากเนื้อหาหลักๆ หรือหัวข้อหลักๆ ผู้ดูแล(Webmaster) ก็ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดประเด็นของเนื้อหาอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เว็บบอร์ด ไดอารี่ เว็บอัลบั้ม และบริการของเว็บไซต์อีกมากมาย

มาถึงยุคเว็บ 2.0 เว็บ 2.0 จะตีโจทย์แนวคิดมาจากยุคของเว็บ 1.5 ที่เป็นยุคที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู ทำให้เว็บมาสเตอร์หัวใส ได้คิดระบบ ที่ทำให้ผู้ใช้งาน ทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และสามารถเอาระบบของเขาไปทำอะไรก็ได้ โดยเนื้อหา และวัตถุประสงค์ ไม่ถูกจำกัด ไม่มีกรอบ ไม่มีพรมแดน ผมจะยกตัวอย่าง ไปทีละเว็บไซต์

youtubeYoutube.com เว็บให้บริการด้านไฟล์วีดีโอ หนังหรือคลิปทั้งหมด ทาง youtube เองมิได้เป็นผู้อัพโหลด แต่ข้อมูลทั้งหมด ผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกอัพโหลดกันเข้ามา ในแต่ละคนก็จะมีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป เราสามารถให้ความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมอง ให้คะแนน กับคลิปวีดีโอของผู้ใช้งานท่านอื่นได้ กดแชร์ได้ เอาไปเก็บเป็น Favorite ของตัวเองได้ และอีกมากมายที่ระบบจะสรรหาให้เราได้ใช้ ตามแต่วัตถุประสงค์ของเราเอง ใครจะโฆษณาก็ได้ เพราะไม่มีข้อกำหนดทางด้านเนื้อหา

hi5Hi5.com ไฮไฟว์ นับว่าเป็นเว็บที่สร้างกระแสในเมืองไทยเราได้เป็นอย่างดี ในช่วงปี 2550-2552 ด้วยรูปแบบคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ ที่มีการพัฒนามาจาก Blog หรือเว็บบันทึกส่วนตัว ให้มีรูปแบบเป็น Social Network เต็มตัว อนึ่งว่า hi5 เป็นผู้ให้บริการเว็บส่วนตัว ที่ใครไปสมัครสมาชิกก็จะได้ ระบบมาใช้งาน ทั้งโพสรูป แสดงความคิดเห็นให้เพื่อน หรือภาษาวัยรุ่นจะเรียกว่า "เม้นต์" ต่างคนก็ต่าง เม้นต์ไปเม้นต์มา โต้ตอบกัน ในหน้าหลักของแต่ละคนก็จะแต่งต่างกันออกไป แล้วแต่หัว Creative ของแต่ละคน ในหน้ารวมข้อมูลก็จะทำให้เรารู้ความเป็นมาเป็นไปของเพื่อน ที่อยู่ในลิส ว่าเขาทำอะไร เพิ่มใครเป็นเพื่อน มีรูปใหม่หรือไม่ จนพัฒนาต่อให้มีเกมส์ ที่เล่นออนไลน์ในรูปแบบของ social network อาทิ barn buddy เกมส์ปลุกผัก เราสามารถไปขโมยผัก ไปรถน้ำให้เพื่อนของเราได้ นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของเว็บ 2.0

facebookFacebook.com เฟสบุค เข้ามาพร้อมๆ กับ hi5 แต่ทว่าฮิตทีหลัง เนื่องจากตัว facebook ยังไม่แปลภาษาไทยให้คนไทยได้ใช้กัน อย่างไทยๆผู้ใช้ที่สมัคร facebook ช่วงแรกๆ จึงเป็นคนไทยที่อยู่ในต่างแดน คนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษ เพราะในช่วงแรก หาคนไทยที่ใช้ Facebook ได้น้อยมาก กลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่จึงเป็นชาวต่างชาติ ลักษณะของ facebook ที่ฉีกออกมาจาก hi5 ก็คือ facebook เป็นเว็บไซต์ที่รู้ภาษา? คำว่ารู้ภาษานี้หมายถึง facebook สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งปันเนื้อหา ข้อมูล และอีกต่างๆนานา ที่ไม่ใช่เพียง blog ส่วนตัวที่ใครอยากทราบข้อมูลอะไร อยากอ่านอะไร ก็ต้องเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ของเรา แต่ facebook จะแสดงความเป็นไปทั้งหมดของกลุ่มเพื่อเรา มาแสดงให้เราเห็น มีการตอบโต้โดยผู้ใช้เอง มีการนำข้อมูลจากแหล่งอื่น มาโพสเพื่อประกาศ เพื่อโฆษณา ตามแต่วัตถุประสงค์ของแต่ละคน facebook ทำให้เรารู้ทุกอย่าง ที่เกิดในสังคมกลุ่มเพื่อนของเรา อีกทั้งยัง มีระบบที่สร้างเครือข่าย สร้างกลุ่มของตัวเอง มีการจับเอาสิ่งต่างๆ อาทิ ความชอบ ที่เที่ยว ที่กิน สถานศึกษา ที่อยู่ ที่ทำงาน เพื่อเพิ่มขนาดของสังคมออนไลน์

twittertwitter.com ทวิตเตอร์สร้างมาจากแนวคิดที่แสนจะธรรมดา แต่เป็นสังคมเครือข่ายที่เติมโตไม่แพ้ Facebook เลยครับ twitter ไม่มีเนื้อหา ไม่มีบริการฝากภาพ ฝากไฟล์วีดีโอ แต่ twitter มีคอนเซปที่ว่า "อยากรู้ว่าเพื่อนของเราทำอะไร เราก็ต้องไปติดตามเขา" ผมเองขณะนี้ใช้ twitter เพื่อการโปรโมต และการโฆษณา มากกว่าการนั่งติดตามข่าวสารจากผู้อื่น เนื่องจากบางทีเราก็ไม่มีเวลาจะนั่งอ่านอะไรทั้งวัน การใช้งาน ทวิตเตอร์นั้นก็แสนจะง่ายดาย เพียงแค่สมัคร และพิมพ์ไปว่า "คุณกำลังทำอะไรอยู่?" นั่นคือแนวคิดแรกที่ทวิตเตอร์ทำขึ้นมา เพราะแค่อยากทราบว่าเพื่อน หรือคนที่เราติดตาม เราสนใจ เขาทำอะไรอยู่ เขาอยู่ที่ไหน เขากินอะไร เขารู้สึกยังไง มี celeb ของเมืองไทยใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตามตัวเองอย่างใกล้ชิด บางเว็บไซต์ใช้เป็นที่กระจายข่าวสาร บทความใหม่ๆ หรือโฆษณาสินค้า ทวิตเตอร์นับเป็นเว็บที่ไม่ใช้เพียงแนวคิดเว็บ 2.0 เท่านั้น ยังมีเทคโนโลยี ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเว็บ 2.0 อีก อาทิ AJAX, DOM, JSON, RSS, API เป็นต้น ที่ทำให้ทวิตเตอร์สามารถสื่อสารกับ ผู้ใช้งานได้ทุกรูป แบบ ทั้งคอมพิวเตอร์พีซี โทรศัพท์มือถือ และเว็บไซต์กับเว็บไซต์ เช่นเดียวกับ Facebook ที่มีการติดต่อกันระหว่างเว็บไซต์ มีการดึงข้อมูลมาแสดง เพิ่มข้อมูล โดยผ่านทางเว็บไซต์อื่นได้ หรือผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยที่คุณไม่ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์ของ twitter หรือ facebook เลย

ผมคิดว่าหลายท่านจะเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเว็บ 2.0 กันแล้ว ว่ามันมีรูปแบบ และลักษณะพิเศษอย่างไร ต่อไปผมจะอธิบายเรื่องการ การออกแบบเว็บไซต์ สไตล์เว็บ 2.0

คำสำคัญ (Tags): #เว็บ 2.0 web 2.0
หมายเลขบันทึก: 449860เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท