วิศวกรรมย้อนศร


วิศวกรรมย้อนศร อาจไปไกลถึงขั้น ทำให้เกิดความรู้ต่อยอดหรือถึงขั้นก้าวกระโดด นำไปสู่นวตกรรมที่แซงหน้าคู่แข่ง เป็นแม่แบบใหม่หรือ สั่นสะเทือนวงการ

ยังจำได้ว่า สมัยก่อน มีคำเสียดสีสินค้าจากญี่ปุ่น เช่น นาฬิกา ว่า "ไซโก้ เช้าโก้ เย็นแก้ สามวันเจ๋งแน่....แย่แน่ไซโก้"  

วันนี้ ไซโก้ เป็นชื่อยี่ห้อ นาฬิกาทันสมัยระดับโลก เช่นเดียวกับสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆจากญี่ปุ่น    อะไรทำให้ ญี่ปุ่นพลิกชะตากรรมสินค้าเทคโนโลยีของตนได้สำเร็จ

อาจบางทีคำตอบ คือ วิศวกรรมย้อนศร(reversed engineering) ผมได้ยินมาว่า เป็นกรรมวิธีถอดความรู้จาก ผลผลิตสำเร็จรูปที่เป็นแม่แบบ  ด้วยการแกะออกเป็นชิ้นๆให้รู้ว่ามีองค์ประกอบย่อยๆอะไรบ้าง  แต่ละองค์ประกอบทำงานด้วยกันอย่างไร แล้วทดลองผลิตองค์ประกอบแต่ละชิ้น แล้วประกอบกันขึ้นมาใหม่เป็นผลผลิตสำเร็จรูปในที่สุด  นอกจากได้ผลผลิต ยังได้ความรู้ว่า กระบวนการผลิตมีขั้นตอนอะไร เพื่อที่จะได้ปรับแต่งให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยการตอบสนองของผู้ซื้อต่อผลผลิตเมื่อนำไปขาย เป็นสัญญาณป้อนกลับ 

วิศวกรรมย้อนศร อาจไปไกลถึงขั้น ทำให้เกิดความรู้ต่อยอดหรือถึงขั้นก้าวกระโดด นำไปสู่นวตกรรมที่แซงหน้าคู่แข่ง เป็นแม่แบบใหม่หรือ สั่นสะเทือนวงการ อย่างเช่น โซนี่วอร์คแมน(เครื่องเล่นเทปพกพา) ซึ่งหลายคนบอกว่าคือที่มาหรือแรงบันดาลใจให้ แอปเปิ้ล สร้างไอพอด ก่อนจะมาเป็นไอโฟน

ในงานบริการ (รักษาพยาบาล การศึกษา ภัตตาคาร) คำว่า แบบอย่างที่ดี(best/good practice) ถูกนำมาใช้เพื่อหวังขยายผลบริการชนิดต่างๆให้กว้างไกล ผ่านกระบวนการที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร) และ/หรือ ถอดบทเรียน

ในความเป็นจริง ปรากฎว่า ผลลัพธ์ของการลปรร หลากหลายมากเสียจน ต้องตรวจสอบในรายละเอียดจึงจะแน่ใจได้ว่า ผู้พูดกำลังหมายถึงอะไร

ไม่ว่าคำที่ใช้จะเป็นอย่างไร  สิ่งที่น่าจะสำคัญที่สุด ใช่หรือไม่ว่า คือ เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ทุกคนใส่ใจและมุ่งมั่น ตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่อ สิ่งที่ทำ ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่เกิดตามมา เพื่อปรับความเชื่อ วิธีทำงาน ให้ดีขึ้นไม่หยุดยั้ง จนเกิดผลผลิต/ผลลัพธ์ที่เป็นคุณมากขึ้นทุกที เป็นโทษน้อยลงทุกที  

ว่าแต่ว่า ลักษณะดังกล่าว มีจริงด้วยหรือ ในสภาพแวดล้อมการทำงานของระบบราชการไทย ที่คุ้นชินกับการทำตามนาย ว่าตามนาย พวกมากลากไป เช้าชามเย็นชาม 

ลองอ่านต่ออีกนิดนะครับ

สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว ในโรงเรียนแพทย์ การรายงานคนไข้ยามเช้า(morning report) การเสวนาคนไข้ที่เสียชีวิต(clinicopathological conference) การตรวจเยี่ยมคนไข้ทีละเตียงในหอผู้ป่วยในร่วมกันโดยแพทย์หลายสาขา(grand round) เป็นคำยอดฮิต กิจกรรมมาตรฐาน  แสดงภาวะผู้นำของโรงเรียนแพทย์สมัยนั้น

ทุกวันนี้ กิจกรรมดังกล่าวก็ยังปฎิบัติกันอยู่ แต่ กลุ่มคำที่ดูเหมือนฮิตมากกว่าได้เข้ามาแทนที่ เช่น root cause analysis  clinical tracer  continuous quality improvement  กลุ่มคำเหล่านี้ เกิดขึ้นนอกโรงเรียนแพทย์ แล้วล้อมกรอบ แทรกซึมเข้าสู่โรงเรียนแพทย์  บ่งชี้ภาวะผู้นำ เรื่อง "คุณภาพบริการ" ที่เกิดขึ้นนอกโรงเรียนแพทย์  โดยมีสถาบันรับรองคุณภาพรพ.(สรพ) เป็นผู้นำ

คำกล่าวที่ว่า "ภาษาคือ วัฒนธรรม" น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่บ่งชี้ค่อนข้างชัดเจนว่า วัฒนธรรมการทำงานใหม่ได้เริ่มหยั่งรากลงในระบบบริการสุขภาพไทย เมื่อภาษา"คุณภาพ"ที่สรพ.ชี้นำได้กลายเป็นภาษาชาวบ้านแห่งวงการแพทย์สาธารณสุขไทยแล้ว  เมื่อฟังเรื่องราวที่เข้าข่าย นวตกรรมบริการ ก็มักได้ยินคำในภาษา"คุณภาพ" คลอเคลียมาด้วยกันเสมอ

หากเปรียบ โรงเรียนแพทย์ว่าเป็นไม้ใหญ่ในอดีต วันนี้เงาของสรพ. อันเปรียบดั่งไม้ต้นใหม่โตเร็วได้แผ่ร่มเงาเข้าทาบเงาแห่งไม้ใหญ่ในอดีตนั้น เด่นชัดเกินกว่าจะปฎิเสธได้เสียแล้ว

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 449251เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท