สรุปภาพรวม 2 ปี โครงการพัฒนาต้นแบบการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาล


สรุปภาพรวม  2 ปี   โครงการพัฒนาต้นแบบการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาล

ที่มา/แนวคิด
 -พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีจำนวนมากที่สุดในทีมสุขภาพ
 -พยาบาลเป็นวิชาชีพที่กระจายอยู่ในสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้ชิดกับครอบครัวและชุมชนมากที่สุด
 -พยาบาลเป็นวิชาชีพที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชนมากที่สุด
 -พยาบาลเป็นวิชาชีพที่สามารถใช้องค์ความรู้ทั้ง 4 มิติในการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น  การสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ  รวมทั้งสามารถใช้ความรู้ทางด้านสังคม  จิตวิทยาในการทำงานกับผู้ป่วย  ครอบครัวและชุมชน
 -พยาบาลจึงเป็น Change Agent ที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน  สนับสนุนให้ คนมีสุขภาพดี  มีการดูแลตนเอง  ลดพฤติกรรมเสี่ยง   และเมื่อเจ็บป่วยสามารถดูแลตนเองให้ทุเลาหรือหายจากโรคได้    โดยใช้กิจกรรมหรือกระบวนการ ที่กระทำกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน  มีเป้าหมายเพื่อ มุ่งเน้น การสร้างปัจจัยเอื้อ กระบวนการเรียนรู้  กระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการจัดการด้านสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการมีนโยบายรัฐสนับสนุน   โดยเฉพาะบทบาทในการสนับสนุนการสร้างสุขภาพในระดับครอบครัว  ชุมชนโดยการพัฒนาทักษะการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน  ซึ่งทำให้เข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้ง  สามารถทำงานสร้างสุขภาพในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม  เป็นองค์รวม ต่อเนื่อง
  จุดเริ่มต้น.....โครงการ จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์การดำเนินงานสร้างสุขภาพของพยาบาล นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาวิธีคิดและพัฒนาวิธีการทำงานสร้างสุขภาพให้สอดคล้องกับพื้นที่  โดยใช้เครื่องมือของการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ  เพื่อค้นหาปัญหาที่ซับซ้อนที่มีอยู่ในผู้ป่วย  ครอบครัว  ชุมชน  หรือแม้แต่ในระบบการทำงานสาธารณสุข ในบริบทที่แตกต่างกันไป  ปัญหาของระบบสุขภาพในปัจจุบัน ซึ่งการให้บริการต่าง ๆ ยังเป็นบริการแบบตั้งรับเป็นส่วนใหญ่  เป็นการดูแลรักษาประชานที่มีความเจ็บป่วย แต่การให้บริการเชิงรุกที่สนับสนุนให้ประชาชนมีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรค  มีการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม  มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย  จิตใจ  สภาพแวดล้อมที่ดี สังคมดี 
 กระบวนการเรียนรู้
 ในปีที่ 1(สค.46 – พย.47)  ปี  ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยได้จัดกระบวนการเรียนรู้ใน Core Group รุ่นแรกจำนวน 35 คน(ภายหลังเหลือเพียง  30  คน)   ที่สมัครเข้าเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการใช้เครื่องมือของการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ  มาใช้ทำงานในพื้นที่ของตนเอง  เป็นการทำงานวิจัยในงานประจำ  ดำเนินการจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่  โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีทั้งกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน  กิจกรรม”การสร้างในซ่อม”  ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในสถานบริการ  เช่น  กลุ่มผู้ป่วยใน   เป็นต้น  นอกจากจะเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากงานประจำแล้ว   กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกอบรมยังเป็นการเรียนรู้ระหว่างทีมพยาบาล  ทีมสหวิชาชีพ  ภาคีอื่น ๆ  และประชาชน 
สำหรับขั้นตอน และกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้น  ตั้งแต่ ปี  2546  –  2547 นับเป็นปีที่เริ่มเรียนรู้อย่างแท้จริง  เพราะตั้งแต่กระบวนการสรรหาผู้เข้าร่วมโครงการก็ยังไม่ชัดเจน เพียงแต่ประชาสัมพันธ์ไปในกลุ่มผู้สนใจ  ที่เป็น Core group  ซึ่งก็เข้ามาร่วมด้วยความเข้าใจบ้าง  ไม่เข้าใจบ้าง  ดังนั้น  ในระหว่างทางจึงมีหายหกตกหล่นไปบ้าง  เก็บตกเพิ่มได้ระหว่างทางบ้าง กิจกรรจึงเริ่มตั้งแต่ มีรายละเอียด  ดังนี้
ลำดับ กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ
          1. การประชุมคณะกรรมการชมรม (Core Group )เพื่อพัฒนาโครงการ 3 ครั้ง มิย.-สค. 46
           2.  ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ และคณะกรรมการบริหารโครงการ ณ.ห้องประชุมของ สสส. 14 ตค. 46
           3.  อบรม เรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพ รุ่นที่ 1สำหรับโดยมีแกนนำพยาบาล  (Core group ) 35 คน ที่โรงแรม โคราช   รีสอร์ท จ.นครราชสีมา 11 - 15 สค. 46
           4.  อบรม Core group เรื่องการปรับปรุงโครงร่างการวิจัย(Proposal Development) ที่โรงแรมเฟริสท์ กรุงเทพฯ  25 - 29 พย. 46
            5.  การอบรมเชิงปฏิบัติการภาคสนามในพื้นที่( Field Work)  รุ่นที่ 1 ในพื้นที่ อำเภอแก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา 17 - 23 มค. 47
             6.  การอบรมเชิงปฏิบัติการภาคสนามในพื้นที่( Field Work)  รุ่นที่ 2 ในพื้นที่ อำเภอหนองวัวซอ จ.อุดรธานี 21 - 27 กพ. 47
             7.  การอบรมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูล(Data analysis)จากการฝึกภาคสนาม  2 รุ่น  ที่โรงแรมทิพย์ อ.เมือง       จ.หนองคาย 29 มีค. – 2 เมย.47
            8.  การอบรมเชิงปฏิบัติการการนำเสนอข้อมูล              (Data Presentation) และการทำ Startegic Plan ของ นักวิจัย และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ฝึกภาคสนามทั้งสองพื้นที่  17 - 21 พค.47
            9. การพิจารณางบประมาณสนับสนุนโครงการรวิจัยของเครือข่ายที่เสนอของบประมาณสนับสนุน 26 มค.- 30 เมย. 47
10 โครงการของแกนนำที่ได้รับการพิจารณางบประมาณสนับสนุน ดำเนินการในพื้นที่ เมย.-กค.47

         11.  การประชุมสัมมนานำเสนอผลงานและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิ,สหวิชาชีพ,ภาคประชาชน,ภาคีเครือข่ายพยาบาล 23 - 27 สค. 47

         12. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคี ตัวแทนจังหวัด 7 – 9 พย.47


 ในปีที่  2  ได้มีการเตรียมการ  โดยการประชาสัมพันธ์ไปที่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ  ให้ส่งโครงร่างการวิจัย จากปัญหาในพื้นที่  มีผู้ที่สนใจส่งโครงร่างมาพิจารณา 100  กว่าโครงร่าง  ซึ่งทางคณะกรรมการได้พิจารณารับได้เพียง  40  โครงร่าง(และใจอ่อนรับอีก 1 โครงร่างที่จะใช้ทุนของโรงพยาบาล  แต่ภายหลังด้วยความมุ่งมั่นของน้องผู้วิจัย  จึงมีมติให้รับเข้าสู่โครงการ)    กระบวนการในปีที่ 2 จึงเริ่ม ดังนี้
                 ครั้งที่ 1 อบรมองค์ความรู้ภาคทฤษฏีการวิจัยเชิงคุณภาพและพัฒนาโครงร่างงานวิจัยของตนเองไปด้วย  ใช้เวลา  7  วัน(มค.- 5 กพ.-โคราชรีสอร์ท)  ที่นักวิจัยจะได้พบกับวิทยากรหลัก พันเอก นายแพทย์ วีศักดิ์  นพเกษร.....“ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แบบใช้หัวใจและจิตวิญญาน.......ไม่เคยเห็นวิทยากรท่านไหนทุ่มเทกับการสร้างคน  ให้รู้จักวิธีคิดอย่างฉลาดรู้ได้อย่างนี้”    
                ครั้งที่ 2  เป็นการฝึกภาคสนามหลังจากอบรมควมรู้  คราวนี้  จะได้ลองของจริง(ในพื้นที่ของเพื่อน ) ปีนี้แบ่งฝึกออกเป็น  2 พื้นที่ เนื่องจากนักวิจัยเยอะ  และมีเรื่องที่น่าสนใจมากหลายเรื่อง  แต่เลือกมา  2 เรื่อง 
                                ภาคสนามครั้งที่  1  เรื่องที่เลือกฝึกภาคสนามครั้งนี้  มาจากประเด็น Hot ที่พวกเราอาจจะเห็นเป็นเรื่องพื้น ๆ เป็นเรื่อง วิถีการดื่มสุรา   เป็นเรื่องเชิงสังคม มานุษยวิทยา  ที่พยาบาลจะต้องเรียนรู้อีกมาก การเก็บข้อมูลภาคสนามนอกจากทุกคนจะได้ฝึกทักษะ  ตั้งแต่การสัมภาษณ์เชิงลึก  Focus  group discussion  การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม  การฟัง การบันทึก การพูด  ฯลฯ นอกจากเนื้อหาและทักษะที่ได้จากการฝึกแล้ว  ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการลงไปเก็บข้อมูลทำให้หลายคนได้ตระหนักถึงภัยร้ายของสุราที่แทรกซึมเข้าไปทำร้ายทุกคน  ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่  ตั้งแต่สถาบันครอบครัว  ไปถึงชุมชน 
                                ภาคสนามครั้งที่  2  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระบบสุขภาพโดยตรง  เป็นการพัฒนาระบบงานการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงของเครือข่ายสถานบริการ  เป็นงานวิจัยชิ้นเล็ก  ๆ ที่สะท้อนระบบสุขภาพจากระบบเล็ก ๆ ไปสู่ระบบใหญ่ที่เริ่มจากตัวผู้ป่วย  ครอบครัว  ชุมชน  ไปสู่ระบบบริการสาธารณสุข  ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การบริหารบุคคล  องค์กร  ภายในและภายนอก 
                    ครั้งที่ 3 เป็นการนำข้อมูลที่ทุกคนไปช่วยกันเก็บมาเรียนรู้การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ  โดยการนำ โปรแกรมคอมพิวเตอร์  มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ   ที่ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพง่ายขึ้น  สามารถเก็บได้อย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการนำมาวิเคราะห์ 
                      ครั้งที่ 4   เป็นการคืนข้อมูลต่อชุมชน   นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้  ที่นักวิจัยจะนำข้อมูลที่ช่วยกันเก็บคืนให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้  ส่วนเสีย  ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับในชุมชน  จากการที่ได้วิเคราะห์ข้อมูล  เข้ามารับฟังและมีส่วนร่วม  วางแผนในการแก้ไขปัญหา   ในขั้นตอนนี้นักวิจัยจะได้เรียนรู้การจัดเตรียมข้อมูล  การนำเสนอข้อมูล รวมทั้งกระบวนการทำแผนอย่างมีส่วนร่วม  ด้วยชั้นเชิงของวิทยากรกระบวนการ  ที่ต้องมีการวางแผนการออกแบบกลุ่ม  การออกแบบงานให้เหมาะสม  ที่สำคัญในขั้นตอนนี้  คือ  การที่ไม่ได้ทำให้งานวิจัยไม่ได้อยู่บนหิ้งหรือในตู้  ที่รับรู้แค่นักวิจัยเท่านั้น  แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่  จริง ๆ “พัฒนาระบบสุขภาพโดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่”
 
                  เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้  ถึงเวลาลงมือจริงในพื้นที่ตนเอง  นักวิจัยทุกคนจะต้องทำสัญญารับทุน(เพียงเล็กน้อย)และกลับไปสร้างทีมของตนเอง  ซึ่งมีหลากหลาย   หลายคนได้ทีมสหวิชาชีพ มีทั้งแพทย์ พยาบาล  หมอฟัน หมอยา  น้อง ๆ ในโรงพยาบาล/สถานีอนามัยไปช่วยกันเก็บข้อมูลอย่างสนุกสนาน  บางคนได้คนในครอบครัวไปช่วยเก็บ  ช่วยบันทึก  เป็นCirculate คอยไล่สุนัข  เป็น พขร. พนักงานพิมพ์ดีด  และบางคนก็มีเพื่อนคู่กายมีเพียงเทปเท่านั้น กลับจากเก็บข้อมูลก็ต้องมาต่อข้อมูล  มา Triangulation ข้อมูล  ลง Code  เตรียมวิเคราะห์ข้อมูล     
                 ครั้งที่ 6  ประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้า  และเรียนรู้เรื่องการเขียนรายงานการวิจัย  ในครั้งนี้  นอกจากต้องมารายงานความก้าวหน้า  และเรียนรู้เรื่องการเขียนรายงานการวิจัยแล้ว  สิ่งที่สำคัญ  คือการได้มาพบเพื่อน ๆ ร่วมทางได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์(การทำวิจัย.....ชิ้นแรก)  หลายคนได้กำลังใจกลับไป   บางคนได้ความมุ่งมั่น...อย่างมาก   ที่จะต้องกลับไปทำงานของตนเอง......ให้เสร็จ
                 ครั้งที่  7  เป็นเวทีวิชาการที่ทุกคนจะต้องมานำเสนอ  จะต้องใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด  นำเสนอผลงานวิจัย  ภายใต้การจัดประชุมวิชาการชมรมพยาบาลชุมชน
 ข้อค้นพบที่เกิดขึ้นในการพัฒนาพยาบาล/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  โดยการนำเครื่องมือการวิจัยเชิงคุณภาพไปใช้ในการปฏิบัติงาน  จำแนกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้
ด้านการเรียนรู้
 -โครงการสร้างทักษะการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสนับสนุนของ สสส. เป็นกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอนซึ่งนำไปสู่การสร้างสุขภาพในบริบทพยาบาลโดยมีผู้ป่วย/ชุมชนเป็นศูนย์กลาง
 -ความรู้และทักษะที่ได้รับการฝึกฝนสามารถนำไปขยายผลฝึกอบรมสมาชิกในทีมเพื่อร่วมกันเรียนรู้ทั้งงานวิจัยและกระบวนการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ
ด้านพฤติกรรมบริการ
 -แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริการ  เนื่องจากวิธีการทำงานเอื้อให้มีการสื่อสาร ๒ ทางกับผู้ป่วยมากขึ้น  ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย รวมทั้งการนำทักษะการสัมภาษณ์ การสังเกต ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานชุมชน
 “การรับฟังคำพูดของผู้ป่วยมีประโยชน์ในการวางแผนให้การดูแลเขาต่อได้“
 "จนท. สามารถทำงานหาปัญหา ได้มากขึ้น นำทักษะการสัมภาษณ์ การสังเกต มาใช้ในการทำงาน ลงพื้นที่หมู่บ้าน"
 "แพทย์ซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลตนเองเป็นหลักฐานให้มีการดูแลต่อเนื่องซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยมีการซักประวัติเช่นนี้มาก่อน“
 "ได้เรียนรู้ถึงการเข้าตัวคน เข้าถึงชุมชนจริงๆ เป็นการดีที่เราจะนำวิธีการวิจัยนี้ไปใช้ในงานอื่นๆ จากการที่เราไม่เคยฟังผู้มารับบริการเลย มีแต่เราเป็นคนป้อนข้อมูลต่างๆให้เขา เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ตอนนี้ผู้มารับบริการคิดอย่างไร ต้องการอะไรจากเรา ได้คิดว่า เราต้องฟังเขามากขึ้น คิดร่วมกันมากขึ้น"
ด้านทัศนคติของ จนท.
 เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในโครงการเกิดทัศนคติในการทำงานในแนวราบมากขึ้นทั้งกับผู้ป่วย และผู้ร่วมงาน/สหวิชาชีพ ตื่นตัวเห็นความสำคัญของกระบวนการทำงานเชิงคุณภาพมาก และมีทัศนคติเชิงบวกกับผู้ป่วยและการทำงานมากขึ้น   ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วย/ชุมชนมาใช้ในการทำงานและแก้ไขปัญหามากขึ้น
 "จนท.เกิดความตื่นตัวในการทำงาน คิดวิเคราะห์มากขึ้น แต่ก่อนมุ่งทำงานให้เสร็จอย่างเดียว"
 "มีการตื่นตัวพร้อมที่จะร่วมมือกัน..ทุกคนเข้าใจและให้ความร่วมมือมากขึ้น”
 "กลุ่ม รพ.อื่นในจังหวัดสนใจในการทำวิจัยนี้และถามว่าจะมาเข้าโครงการได้อย่างไร“
 "หัวหน้าตึกผู้ป่วยใน บอกว่าน่าจะมีการขยายผลการทำวิจัยเชิงคุณภาพอย่างนี้ให้ครอบคลุมทั้ง รพ. ประธาน  HRD มีความสนใจ เข้าใจงานวิจัยเชิงคุณภาพมากขึ้นอยากนำมาใช้พัฒนางาน“
 "ทำให้มีความเข้าใจผู้ป่วยและญาติ ดูแลเหมือนเขาเป็นญาติของตน ฟังผู้ป่วยมากขึ้น“
ด้านการทำงานร่วมกับพหุพาคีสุขภาพ
 ผลของการทำงานเชิงคุณภาพในพื้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางสาธารณสุขกับพหุพาคีอื่นๆ เช่น องค์ปกครองท้องถิ่น หน่วยงานระดับอำเภอ ชุมชน/ผู้นำ/ผู้รับบริการ/ครอบครัว เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยและญาติ
 "เกิดความเข้าใจ ซึ่งกันและกันระหว่างบุคลากรด้านสาธารณสุขและบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่น...เกิดพลังในชุมชน"
 "ขอเบี้ยยังชีพจากเทศบาลตำบลให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้”
 “ยังหางบประมาณจากกองทุนหมู่บ้าน กองทุน ๗,๕๐๐ มาจัดสรรแบ่งเป็นค่าผู้นำออกกำลังกายในหมู่บ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ
 “นำหลักการจากโตรงการนี้ ไปพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกับ ชมรมอนุกรักษ์กลุ่มน้ำชี มีทีมงานประกอบด้วย NGO/อบต./ตัวแทนชุมชน/บุคลากร สธ. ได้รับการพิจารณาอนุมัติโครงการเป็นวงเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จาก สกว.แล้ว
ด้านการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ
 การทำงานเชิงคุณภาพ ทำให้สัมพันธภาพของทีมพยาบาลกับสหวิชาชีพดีขึ้น           เกิดเครือข่ายสหวิชาชีพในการสร้างสุขภาพในชุมชน   และการให้บริการผู้ป่วย   สหวิชาชีพเริ่มเข้าใจและให้ความสนใจกับการทำงานเชิงเชิงคุณภาพร่วม  
 "เกิดเครือข่ายสหวิชาชีพ มีทั้งพยาบาลวิชาชีพ นวก.สธ. จนท.บริหาร สธ. จนท.สธ....ได้เครือข่ายการสร้างสุขภาพ"
 “เกิดทีมวิจัยเพิ่มขึ้นคือทันตแพทย์ และแพทย์ ในรพ.สนใจอยากมาร่วมทีมอีกและให้ความร่วมมือดีในการทำงานด้านอื่นๆ เช่น ตรวจคนไข้ให้ดีขึ้น ร่วมงานวิชาการดีขึ้น สัมพันธภาพกับเราดีขึ้น"
ผลกระทบของโครงการ
ด้านพฤติกรรมของ จนท.
 ผลกระทบของการทำงานเชิงคุณภาพในพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม/ให้ความร่วมมือในการทำงานระหว่างกลุ่มงานต่าง ๆ  และจนท.บางคนมีการปรับพฤติกรรมบริการในทางที่ดีขึ้น
 "เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มงานใน รพ...จนท.บางคนมีเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม.”
 "เกิดความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมในการทำงาน.”
ด้านการพัฒนาระบบบริการ
 ผลกระทบจากการดำเนินงาน    ทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั้งในสถานบริการ/ชุมชน   การดูแลผู้ป่วย/การสร้างเสริมสุขภาพ  ระบบข้อมูล  การประสานงานในแนวราบกับสหวิชาชีพและพหุพาคีรวมทั้งกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
 “มีการจัดระบบการนัดผู้ป่วยให้มาด้วยกันในผู้ป่วยที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย."
  ”เกิดแนวคิดว่าการให้ความรู้กับผู้ป่วยจะต้องให้ญาติมามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจริง (จากเดิมจะให้ความรู้กับผู้ป่วยหรือให้เฉพาะญาติคนใดคนหนึ่งก็พอ”
 "การสร้างทีมงานวิจัยการทำงานเชิงคุณภาพใน รพ.เพื่อบูรณาการกับกระบวนการรับรองคุณภาพ รพ.”
 "ผู้บริหารเห็นความสำคัญของการจัดระบบบริการให้ความรู้ ในแผนกผู้ป่วยในมากขึ้น สนับสนุนแลให้กำลังใจ มีการพัฒนาระบบจำหน่ายผู้ป่วยให้มีคุณภาพ"
ด้านทัศนคติผู้รับบริการ
 ผลกระทบของการทำวิจัยเชิงคุณภาพในพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม/ให้ความร่วมมือในการทำงานระหว่างกลุ่มงานต่างๆ และบางรายมีการปรับพฤติกรรมเสียใหม่
 "ผู้ป่วยมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือไว้วางใจและกล้าเปิดเผยพฤติกรรมเสี่ยง ที่เกิดขึ้น“
 "ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการเข้าไปเก็บข้อมูลมีความกระตือรือร้น ในการที่จะดูแลสุขภาพตนเอง และดูแลช่วยเหลือกันมากยิ่งขึ้น“
 "เกิดความเข้าใจกันกับ จนท.กับประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่ชมว่ามีหมอมาดูแลเอาใจใส่ดีขึ้นกว่าเดิม มาพูดคุยเป็นกันเองมากขึ้น"
ปัญหาอุปสรรคผู้วิจัย
 ผู้บริหาร/เพื่อนร่วมงาน/สหวิชาชีพ บางส่วนยังไม่เข้าใจ/ไม่เห็นความสำคัญ จึงไม่ให้การสนับสนุนการทำโครงการอย่างเต็มที่ บางครั้งกลับมอบหมายภาระงานอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ถึงกับขัดขวางการทำงาน ผู้วิจัยต้องปรับตัว/เวลา/บริหารตนเอง เพื่อฝ่าฟันบากบั่นทำงานโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้ นอกจากนี้งานประจำบางอย่างในระบบการสั่งการแบบนึกเอาจากบนลงล่าง เป็นสิ่งไม่จำเป็นแต่เป็นภาระในการสร้างภาพ
ความคิดเห็นต่อโครงการฯ  ของผู้ทรงคุณวุฒิ / ที่ปรึกษา / สหวิชาชีพ /ทีมประเมินภายนอก /ตัวแทนเครือข่ายชมรมพยาบาลชุมชน
 “รู้สึก ทึ่ง ภูมิใจในวิชาชีพมากขึ้น  ไม่เคยเห็นพยาบาลเป็นแบบนี้  ควรมีการขยายวงให้กว้างขึ้น”
“เริ่มเปลี่ยนมุมมอง เมื่อได้ทำงานในชุมชน ตำราเล่มไหนก็สู้ไม่ได้ได้เรียนรู้กับชุมชน จะปล่อยปัญหาไว้ได้อย่างไร”
“รู้สึกเป็นบุญ  หัวหน้าดันให้มา ได้รับคำตอบว่าหัวใจ PCU.อยู่ที่ไหน”
ข้อเสนอแนะ...       จากที่ปรึกษาในพื้นที่
“การวิจัยเชิงคุณภาพ  คือพลวัตรของการเปลี่ยนแปลง”
“โครงการเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ รู้สึกดีใจ ผมไม่ได้เป็นพยาบาล  เห็นการเปลี่ยนแปลง น่าจะนำไปให้  สหวิชาชีพอื่นๆได้นำไปใช้ “
“ไปปรับใช้กับการสอนนักศึกษาในการลงพื้นที่ภาคสนาม  นักศึกษาบอกว่า...ทำไมอาจารย์ไม่สอนแบบนี้แต่แรก..”
ข้อเสนอแนะ...       จากที่ปรึกษาหลัก
“20  โครงการนับค่าไม่ได้  หนึ่งแสนบาทถือว่าไม่แพงแสน...แต่สิ่งที่อยู่ในตัวพยาบาลที่มาร่วมโครงการมีอีกมากมาย  ที่จะนำไปใช้ในเกิดประโยชน์กับประชาชน”
“ โครงการนี้เป็นหนึ่งในสามความภูมิใจที่สุดของผม  ผมคิดว่าเราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศชาติอย่างแน่นอน “
ข้อเสนอแนะ...       จากผู้ประเมินภายนอก
“ไม่ได้มีหน้าที่ประเมิน แต่มาร่วมเรียนรู้ กับทีม อยากให้ถอดบทเรียนการดำเนินโครงการนี้”
“ ดีใจ....พยาบาลมีความสามารถ ขอให้นักวิชาการได้มาเรียนรู้กับนักปฏิบัติ  ขอให้มีโอกาสสนับสนุนแก่พยาบาลภาคปฏิบัติบ้าง
การขยายเครือข่ายการเรียนรู้
 ในปีที่  2 นี้  ชมรมพยาบาลชุมชนได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปที่จังหวัดน่าน  ซึ่งเริ่มต้นจากพยาบาลเพียง 1 คนที่เข้าร่วมโครงการในปีที่  1  (คุณจินตนา  แสงจันทร์  โรงพยาบาลเชียงกลาง  จ.น่าน)  ได้ไปนำเสนอผลงานวิจัย และมีพยาบาลที่จังหวัดน่าน  ตื่นตัว  สนใจ  ทั้งจังหวัด  นับเป็นงานวิจัยชิ้น เล็ก ๆ แต่ส่งผลสะเทือน ได้ทั้งจังหวัด  ทีมน่านจึงรวมตัวกัน  โดยมีพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดน่าน  โรงพยาบาลน่าน และมีน้อง ๆ จากสถานีอนามัย  เข้ามาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย  กลายเป็น  Node ของชมรมพยาบาลชุมชนในจังหวัดน่านที่เข้มแข็ง  เข้ามาร่วมกระบวนการใช้งานวิจัยเชิงคุณภาพในการทำงานประจำ จำนวน  40  คน โดยจัดกระบวนการเช่นเดียวกัน
 ในปี  2548 โดยรวมแล้ว  ชมรมพยาบาลชุมชนฯ  ได้สร้างเครือข่ายนักวิจัยเชิงคุณภาพ  จากโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยได้ประมา 100  คน จาก 60  สถานบริการสาธารณสุข(โรงพยาบาลชุมชน/โรงพยาลทั่วไป/สถานีอนามัย)

บทสรุป   สิ่งที่เกิดขึ้นใน  2  ปี
              จากกระบวนการเรียนรู้  ดังกล่าว พบว่าเกิดรูปแบบและเครื่องมือการสร้างสุขภาพในระดับพื้นที่ที่ชัดเจน   มีผู้นำการสร้างสุขภาพเพื่อขับเคลื่อน งานสร้างสุขภาพในชุมชนอย่างเป็นระบบ   เกิดบทบาทใหม่ของพยาบาลเพื่อ การสร้างสุขภาพเชิงรุก   มีการสนับสนุนพยาบาล   สหวิชาชีพและเครือข่ายในการดำเนินงานสร้างสุขภาพ ระดับจังหวัด

                มีรูปแบบ / องค์ความรู้ ที่เหมาะสมเพื่อผลักดันงานสร้างสุขภาพเชิงรุก ต่อกระทรวงสาธารณสุข ต่อไป
         2 ปี  ที่ผ่านมา  จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นอีกจุดหนึ่งของวิชาชีพพยาบาล  ที่ต้องปรับบทบาทการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคม แต่จุดเริ่มต้นที่มีเป้าหมายที่สุขภาวะของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก         ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เป็นชมรมวิชาชีพที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลให้ตอบสนองต่อการพัฒนาสุขภาวะประชาชน   โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้การพัฒนางานอย่างมีคุณภาพเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 44892เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท