กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๗) : คำถาม และคำตอบของ "ครู"


 

คุณครูก้อย – จุธารัตน์ ยุกตะบุตร  เป็นคุณครูที่เข้ามาร่วมงานกับโรงเรียนเมื่อต้นปีการศึกษานี้  เธอเรียนรู้ชีวิตความเป็นครูของเพลินพัฒนาด้วยกระบวนการของ Lesson Study อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ก้าวแรก

 

บันทึกนี้เป็นบันทึกที่คุณครูก้อยเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนข้อค้นพบของตน  และผลของกระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

 

“ ครู : กว่าจะรู้ความหมาย ”

 

๗ ปีที่ผ่านมา  เมื่อมีคนถามว่าฉันประกอบอาชีพอะไร “เป็นครูค่ะ” คำตอบที่สั้น ชัดเจน และคิดเสมอว่าตัวเองมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับคำว่า ครู  เพราะคำว่า ครู ของฉันในขณะนั้น คือการที่ได้สั่งสอนวิชาความรู้ วิชาชีวิต คอยดูแลประคับประคองให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม  จึงไม่แปลกเลยที่ฉันจะตื่นเต้น ปลื้มใจ ในยามที่เห็นลูกศิษย์ของฉันใส่ชุดนักศึกษา  คอยเอาใจช่วยคนที่พลาดหวังด้วยการติวเข้มข้อสอบ  แนะนำเทคนิควิธีการในการทำข้อสอบ  และโล่งใจเมื่อเขาผ่านการสอบเข้าศึกษาต่อเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ

 

๔ ปีที่ผ่านมา ฉันเปลี่ยนคำเรียกขานจาก ครู เป็น อาจารย์  แน่นอนว่าความมุ่งมั่น ทัศนคติ รวมถึงจิตวิญญาณของฉันก็ยังคงเป็นเช่นเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ฉันมีโอกาสได้สอนลูกศิษย์สมัยมัธยม ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ฉันเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “สิ่งที่ฉันเพียรสอนเขาตอนประถมหายไปไหนหมด” เพราะลูกศิษย์ของฉันแต่ละคนที่กำลังเป็นนักศึกษาอยู่นั้นไม่ได้เอาความรู้ที่ฉันสอนมาปรับใช้เลย  คราวนี้คำถามที่ดังลั่นในใจของฉันคือ “ที่ผ่านมาฉันทำอะไรอยู่” 

 

คำถามนี้เองที่ทำให้ฉันมองย้อนดูตัวเองอย่างพินิจพิเคราะห์  คำตอบที่ได้ชัดเจนจนฉันเกือบเสียหลัก คำตอบนั้นคือ ที่ผ่านมาฉันไม่เคยสอนหนังสือ แต่ฉันเพียงแค่ให้เขาทำข้อสอบซ้ำ ๆ และบอกให้จำในสิ่งที่เขาไม่เคยเข้าใจเลย  ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เขาไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้

 

คำตอบที่ได้ ทำให้ฉันปรับทัศนคติที่มีต่ออาชีพครู จากผู้สอนมาเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง  จากผู้รวบรวมความรู้มาเป็นผู้ชี้ทางให้เกิดการเรียนรู้   แต่ฉันทำคนเดียวไม่ได้  ฉันจึงค้นหาว่ามีใครบ้างที่คิดแบบนี้ มีที่ไหนบ้างที่ทำแบบนี้  ฉันหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา แล้วฉันก็ได้มาเจอกับโรงเรียนเพลินพัฒนา

 

๒ เดือนที่ผ่านมา โรงเรียนเพลินพัฒนาทำให้ฉันรู้จักกับ KM (Knowledge  Management)  / Lesson Study  /  21st  century skills   /  AAR (After Action Review)  แน่นอนว่าฉันไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จักและยังจับต้นชนปลายไม่ถูกในตอนแรก  ฉันมองไม่ออกว่ากระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร  ดังนั้นฉันจึงต้องพยายามทำความเข้าใจให้มาก โดยเฉพาะแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ “ก้าวพอดี” ที่ใช้หลักการของ Lesson Study โชคดีที่นอกจากจะได้สังเกตการสอนแล้ว ฉันยังมีส่วนในการเขียนแผนการสอน ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

 

ทุกสิ่งทุกอย่างมีระยะเวลาของความสำเร็จ  แผนการสอนแบบ Lesson Study ก็เช่นเดียวกัน หากฉันใจร้อนกว่านี้ ก็คงรีบฟันธงไปว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ชัดเจน และเกิดท้อแท้ใจที่จะทำต่อไป   แต่ฉันเลือกที่จะรออย่างใจเย็น และผลที่ได้ก็ทำให้ฉันรู้ว่ากิจกรรมต่างๆ ในแผนการสอนแบบ Lesson Study ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง และเป็นความรู้ที่เขาค้นพบ พิสูจน์ ลองผิดลองถูก ด้วยตนเองทั้งสิ้น แน่นอนว่าการเรียนรู้นี้จะติดแน่น และยังจะช่วยให้เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อต่อยอดทางการศึกษาหรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

ตอนนี้ความหมายของคำว่า ครู ชัดแจ้งในความรู้สึกของฉัน  หน้าที่ครูก็ชัดแจ้งในชีวิตของฉัน  คงไม่สายเกินไปที่ฉันจะบอกใครต่อใครได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า “ฉันเป็นครู”

 

 

หมายเลขบันทึก: 448572เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2011 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็น ครู ดู จะขลังกว่า นะ ครับ

น่าจะบันทึกอีกสักตอน เพื่ออธิบายความหมาย บทบาท และคุณค่าของ "ครู" ในความหมายใหม่ที่ค้นพบ

วิจารณ์

... วันนี้ที่ รร. มีการพูดถึงการขาดแคลนคุณครู ครูใหญ่และครูรอง ได้ชี้แจงให้ทราบในหลาย ๆ ด้าน ถึงแนวทางการสรรหา "ครูของเด็ก ๆ" รวมถึงคุณสมบัติพึงประสงค์ของครู ที่น่าประทับใจ คือ "ครูที่สามารถอ่านงานของเด็กและทราบว่าเป็นงานของใคร โดยไม่ต้องดูชื่อ ..." หายากนะคะ(ความคิดเห็นแม่ลูก2) และท้ายที่สุด ครูใหญ่กล่าวว่า "รร. ต้องการครูที่ดี มากกว่าครูที่เก่ง" ...เมื่อกลับมาอ่านบันทึกของครูใหม่ ... คิดว่าตอนนี้ รร. ได้ครูที่เก่งและดีมาอย่างน้อย 1 ท่านแล้วค่ะ ...

ยินดีกับตนเองและ รร. ค่ะ *-*

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

คุณครูก้อยขอเวลาทบทวนความคิด และความรู้สึกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงวันหยุดนี้ แล้วจะตกผลึกออกมาเป็นบันทึกตอนหน้าค่ะ

ครูใหม่

ขอบคุณคุณแม่ลูก2 ค่ะ และรู้สึกยินดีกับตัวเองเช่นกันที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนของคนที่เพลินกับการเรียนรู้อยู่เสมอ

เคารพ ความแตกต่าง ให้เกียรติความเป็นมนุษย์

กล้า คิด กล้าทำ กล้าหาญทางจริยธรรม

เพลิน กับการให้และการอุทิศ

พัฒนา ตนด้วยการเรียนรู้อยู่เสมอ

เพราะนี่คือ core value ของเรา :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท