Dhamma in English (12)


Parami/Paramita

       ผู้เขียนได้พักรายการ "Dhamma in English" ไปนานหลายเดือน เนื่องจากติดภารกิจงานประจำ ตอนนี้ได้สะสางงานไปพอสมควรแล้ว จึงคิดว่าสมควรกลับมาเขียนใหม่ได้แล้ว เรื่องที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นคำที่เราชาวไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ความหมายในภาษาธรรมไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องกันแค่ไหน นั่นคือ คำว่า "บารมี" หรือสะกดตามภาษาบาลีสันสกฤตเดิมว่า "ปารมี" หรือ "ปารมิตา" (Parami/Paramita)

       เวลาคนไทยได้ยินคำนี้มักนึกถึงใครบางคนที่มีอำนาจอิทธิพล (Power/Influence) หรือเจ้าพ่อที่เลี้ยงบริวารไว้มากมาย หรือผู้มีต้นทุนทางสังคมสูงที่เมื่อทำอะไรแล้วคนอื่นคล้อยตามได้ง่าย  บารมีที่คนไทยเข้าใจนี้มีความหมายเหมือนคำภาษาอังกฤษว่า "Charisma" แต่บารมีในภาษาธรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด 

        คำว่า "บารมี/ปารมี" หรือ "ปารมิตา" ในทางธรรมนั้น นิยมแปลว่าเป็นภาษาอังกฤษว่า "Perfection" หรือ "Completeness" หรือ "Fulfillment" หมายถึง ความสมบูรณ์ หรือความเต็มพร้อมบริบูรณ์ หรือบางครั้งก็แปลว่าคุณธรรมที่ทำให้ข้ามไปฝั่งข้างโน้น (the other shore/ฝั่งพระนิพพาน) บารมีในภาษาธรรมนั้นใช้ในสถานการณ์ที่กล่าวถึงคนกำลังเพียรพยายามไปสู่เป้าหมายชีวิต เช่น การเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์  พระพุทธศาสนาสอนว่าคนเราจะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องโชคช่วยหรือฟ้าบันดาล หากเกิดจากความเพียรพยายามหรือการกระทำของเราเอง (กรรม) ความสำเร็จเล็กน้อยอาจไม่ต้องลงแรงมาก  แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หรือสูงส่งจะต้องอาศัยการสั่งสมบ่มเพาะคุณสมบัติหลายอย่างและยาวนานจึงจะไปถึงเป้าหมายอันสูงส่งนั้นได้ 

       ดูอย่างพระพุทธเจ้า  กว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น ทรงสั่งสมคุณสมบัติมาจนนับชาติไม่ได้ (อสงไขย/uncoutable) ดังนั้น บารมีจึงหมายถึงการสั่งสมคุณสมบัติภายในตนให้เหมาะสมต่อการบรรลุเป้าหมายบางอย่าง อุุปมาเหมือนนักกีฬา เป้าหมายที่นักกีฬาต้องการบรรลุคือชัยชนะหรือการได้แชมป์  นักกีฬาทุกคนรู้ดีกว่าจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการฟิตซ้อมอย่างหนักให้พร้อมทั้งร่างกายและจิต  ช่วงที่นักกีฬากำลังฝึกซ้อมเตรียมตัวไปแข่งขันนี้ เทียบได้กับการบำเพ็ญบารมีในภาษาธรรม 

       ชีวิตของพระพุทธเจ้าในชาติอดีตคือตัวอย่างที่่แสดงให้เห็นการบำเพ็ญบารมีหรือการสั่งสมคุณสมบัติให้พร้อมต่อการเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งคุณสมบัติที่พระองค์สั่งสมมี ๑๐ ด้านด้วยกัน เรียกว่า "ทศบารมี" ได้แก่

   ๑. ด้านการให้/ความเสียสละ (ทานบารมี/generosity)

    ๒. ด้านศีล (ศีลบารมี/Morality)

    ๓. ด้านการสละโลกออกบวช (เนกขัมมบารมี/Renunciation)

    ๔. ด้านปัญญา (ปัญญาบารมี/Wisdom) 

    ๕. ด้านความเพียรพยายาม (วิริยบารมี/Diligence, Effort) 

    ๖. ด้านความอดทน (ขันติบารมี/Patience) 

    ๗. ด้านความมีสัจจะ (สัจจบารมี/Truthfulness)

    ๘. ด้านความตั้งใจมั่นเด็ดเดี่่ยว (อธิษฐานบารมี/Determination) 

    ๙. ด้านความรักความเมตตา (เมตตาบารมี/Loving-kindess) 

     ๑๐. ด้านความมีใจเป็นกลาง (อุเบกขาบารมี/Equanimity)    

     

        เมื่อคุณสมบัติ ๑๐ ด้านนี้เต็มเปี่ยมและหลอมรวมก้นเป็นหนึ่งเดียว ก็ถือว่ามีความพร้อมต่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  รายการ "Dhamma in English" ครีั้งที่ ๑๒ นี้ คิดว่าพอสมควรแก่เวลา สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้ผู้กำลังมุ่งมั่นสั่งสมบารมีเพื่อนำชีวิตไปสู่เป้าหมายบางอย่างที่ตั้งใจไว้  ขอให้บารมีนั้นจงช่วยหนุนส่งให้ประสบความสำเร็จสมดังปรารถนา...   

         

คำสำคัญ (Tags): #Dhamma in English (12)
หมายเลขบันทึก: 448205เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เจริญพร อาจารย์วัชรชัย ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย

พระอาจารย์เจ้าค่ะ

ดีใจจังที่พระอาจารย์กลับมาเขียนต่อ

การสะสมบารมี ในการที่จะมาเกิดเป็น พระอริยบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบัน ขึ้นไปค่ะ

ท่านสะสมบารมี มาอย่างไรเจ้าค่ะ

กราบเท้าด้วยความเคารพนับถือเจ้าค่ะ

ชยาภรณ์ ส.

นมัสการพระอาจารย์ ศิษย์ติดตามงานเขียน

พระอาจารย์มาตลอด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิธีการ

เขียนงานวิชาการอย่างน่าสนใจ และ เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน

อนุโมทนาเจ้าคะ

ดีใจที่มีธรรมะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษค่ะ

กราบนมัสการ และกราบขอบพระเดชพระคุณในเมตตาที่นำข้อมูลมาเผยแพร่เป็นธรรมทานครับขออนุโมทนาบุญครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท