onepage จริยธรรม


ตามประสาข้าราชการที่ดีที่ควรทำตามหลักจริยธรรมต่อหน่วยงานและต่อผู้บังคับบัญชา

วันนี้หัวหน้าโกเมศแจ้งให้เขียน onepage เรื่องจริยธรรม เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เป็นงานตอบสนองตัวชี้วัดอะไรซักอย่าง ตามประสาข้าราชการที่ดีที่ควรทำตามหลักจริยธรรมต่อหน่วยงานและต่อผู้บังคับบัญชา
ก็ทำซะเลยสิเรา   
จริยธรรมแปลง่ายๆ หมายถึง ระบบพฤติกรรมเป็นการกระทำทางกายวาจาใจ ที่คนเราแสดงออกในทางที่ถูกต้องดีงามควรปฏิบัติซึ่งสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ ถ้าขีดวงให้แคบลง ในฐานะนักวิชาการหรือนักวิจัยก็มีหลักจริยธรรมการวิจัย

สำหรับกรมอนามัยเรายังไม่มีระบบจริยธรรมการวิจัยในคน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหม่  พวกเราคณะทำงานฯ (รายชื่ออยู่ด้านล่างบันทึกนี้) กำลังพัฒนาระบบจริยธรรมการวิจัยให้เป็นโครงสร้างเชิงกลไกของกรมเพื่อการปกป้องอาสามัคร  ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสพัฒนางานวิจัยของพวกเราด้วย 

ในการพัฒนา ต้องใช้หลายแนวทาง ตั้งแต่แสวงหาความรู้อย่างเป็นทางการ โดยเข้ารับการอบรมนอกเหนือจากการอ่านและเรียนรู้ประสบการณ์ของสถาบันวิชาการ/หน่วยงานอื่นทั้งใน/ต่างประเทศผ่านสื่อต่างๆ  แล้วปรึกษาหารือบุคคล/หน่วยงานที่มีประสบการณ์ รวมทั้งหารือ/รับฟังจากพวกเรากันเองในกรม เพื่อจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติ/ดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานโปร่งใสตรวจสอบได้ สำหรับคน 2 กลุ่มใหญ่คือ คณะกรรมการจริยธรรมกรม (ที่จะแต่งตั้งในเวลาต่อไป) และนักวิจัย ที่สำคัญคือต้องถอดแนวคิดหลักการวิธีการที่ว่ามานี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้ายจากคณะกรรมการฯ ตัวจริง 
ในการจัดทำร่างเอกสารเหล่านี้ต้องพิถีพิถันการใช้คำให้ตรงความหมายที่ต้องการอย่างแท้จริงและใช้เวลากับคอมพิวเตอร์วันละเกินสิบชั่วโมงอยู่เกือบสองเดือน   ในฐานะเลขาคณะทำงานฯ ซาบซึ้งในความร่วมมือจากคณะทำงานท่านอื่นๆ และได้รับความกรุณาจากผู้มีประสบการณ์ตรงมายาวนานอย่างคุณหมอกรกฎ จุฑาสมิต จากกรมการแพทย์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ช่วยทบทวนเอกสาร และเป็นวิทยากร เรียกได้ว่า พวกเราได้รับความอนุเคราะห์จากท่านอย่างเอนกประสงค์จริงๆ   

หลังจากทำร่าง นักวิชาการ/ตัวแทนหน่วยงานในกรมให้ความร่วมมือมาประชุมให้ความเห็นข้อเสนอแนะและปรับเพิ่มลดข้อความ/คำใน (ร่าง) หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับนักวิจัย ท่านที่สนใจกรุณาดูที่

http://www.gotoknow.org/blog/dohec/437869

ขั้นตอนถัดมาคือ การอบรม ว่าที่คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของกรม ซึ่งจัดไปเมื่อ 6-7 ก.ค.นี้ ที่พักพิงอิงทางโฮเท็ล งานนี้เราได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสถาบันคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.) ที่อาจารย์วิชัย โชควิวัฒนเป็น ผอ.   อาจารย์ยังเป็นผู้ให้แนวทางในการพิจารณาประเด็นจริยธรรมจากโจทย์งานวิจัยที่เพิ่มขึ้นมาใน area ของกรมอนามัยซึ่งต่างจากการอบรมทั่วๆ ไปที่เน้นทางคลินิก    ถ้าเทียบกับกรม/สถาบันอื่นๆ นับได้ว่า ระบบของกรมเราพัฒนาจากกระบวนการมีส่วนร่วมโดยยังคงยึดวัตถุประสงค์หลักในการปกป้องอาสาสมัคร  ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบจริยธรรมการวิจัยของเรา เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันต่อสังคมว่างานวิจัยของพวกเราไม่ละเมิดอาสาสมัครในฐานะนักวิจัยที่มีจริยธรรม และขอชื่นชมสุดๆ ต่อกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเป็นตัวจริงที่ช่วยให้งานในขั้นตอนต่างๆ ดำเนินไปได้ราบรื่นคือทีมงานจากสำนักที่ปรึกษา น้องนก (สุทธิดา นิ่มศรีกุล) น้องจูน (พลอยไพลิน ศรีศิริ) และน้องหมวย (อรุณรัตน์ สอนศรี) ภายใต้การจัดการของคุณน้อง (ปรานอม ภูวนัตตรัย) และคุณปาน (ฐปณีมาศ เกตุทัต)

รายชื่อคณะทำงานฯ       ทพญ.บุญเอื้อ ยงวานิชากร ประธาน
น.ส.ปรานอม ภูวนัตตรัย, น.ส.ฐปณีมาศ เกตุทัต, นางพรพรรณ ไม้สุพร, นายธนชีพ พีระธรณิศร์,     ทพญ.สุณี ผลดีเยี่ยม, ทพญ.เพ็ญแข ลาภยิ่ง, น.ส.สุพรรณี สุคันวรานิล, น.ส.สุทธิดา นิ่มศรีกุล
ที่ปรึกษาในกรมคือ ดร.ทวีสุข พันธุ์เพ็ง, พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ และพญ.นันทา อ่วมกุล และ
นพ.กรกฎ จุฑาสมิต (กรมการแพทย์)

หมายเลขบันทึก: 448154เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท