บันทึกธรรมศาสตร์ ๒๕๕๔..การพัฒนาคนให้มีจิตสำนึก..ไม่ทอดทิ้งประชาชน โดย จีระ หงส์ลดารมภ์


บันทึกธรรมศาสตร์ ๒๕๕๔

สวัสดีครับชาว Blog

         เมื่อวานนี้ผมเพิ่มได้รับหนังสือรายงานประจำปี 2554 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมได้รับเกียรติจากทางมหาวิทยาลัยฯ ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อประชาชน และได้ส่งทีมงานมาสัมภาษณ์ผมเพื่อนำมาเขียนเป็นบันทึกธรรมศาสตร์ ๒๕๕๔

         เนื้อหาบทความนี้ได้สะท้อนภาพงานที่ผมทำตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น "ทรัพยากรมนุษย์ของธรรมศาสตร์" โชคดีที่สังคมธรรมศาสตร์ในขณะนั้นเป็นสังคมที่ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างคนเก่ง ไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ท่านศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักอีกหลาย ๆ ท่านในธรรมศาสตร์ล้วนเป็นผู้ที่ทำให้ผมเชื่อและศรัทธาเรื่องของทุนมนุษย์ การลงทุนและการเก็บเกี่ยว และผลสำเร็จ ที่ขยายผลจากระดับบุคคล องค์กร ประเทศ และสังคมโลก

         แม้วันนี้ผมจะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำที่ธรรมศาสตร์แล้ว แต่จิตวิญญาณของผมยังคงเป็น "คนธรรมศาสตร์" ผมชอบปรัชญาและสโลแกนของธรรมศาสตร์ที่เขียนไว้ว่า.. "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

         หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านครับ

         จีระ หงส์ลดารมภ์

........................................................................

การพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกไม่ทอดทิ้งประชาชน

 

ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

อดีตรองอธิการบดี

ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์

และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 ย้อนหลังไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ทัศนะของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้างหรือแรงงานในยุคนั้น ไม่ได้มองแรงงานว่าเป็น “ทรัพยากร” เหมือนในยุคนี้ เมื่อฐานคิดของนายจ้างในอดีตมองลูกจ้างเป็นแค่แรงงานหรือต้นทุนในองค์กร เมื่อไร้ประโยชน์ก็ปลดออกและไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนา ส่งเสริมความรู้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพกุลีตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากหรือแม้กระทั่งจะเรียกร้องความถูกต้องความชอบธรรมในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 

                จนกระทั่งมีนักวิชาการปัญญาชนกลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงพยายามสร้างองค์กรที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานขึ้นมาเพื่อช่วยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนดังกล่าวที่พยายามเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงานขึ้นมาให้มีศักดิ์และสิทธิ์เสมอภาคในความเป็นคน 

                “ผมสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งแรกเมื่ออายุ 25 ปี สอนได้ 3 ปี อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ก็แนะนำให้ผมไปศึกษาต่อปริญญาเอกเพื่อที่จะได้ใช้ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาประเทศชาติ  ผมเห็นด้วยกับที่ท่านแนะนำ ที่สำคัญเมื่อผมเลือกที่จะเป็นอาจารย์แล้วก็ย่อมต้องการที่จะเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ  จึงตัดสินใจสอบชิงทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน 5 ปี จนกลับมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งเมื่ออายุ 33 ปี”

                อาจารย์จีระกลับมาประเทศไทย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ประมาณ 2 ปี เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมาก  แม้เหตุการณ์ในขณะนั้น ทหารจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะของบ้านเมืองทว่าในเชิงปรัชญาแล้ว กลับเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับเยินเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือการหลบหนีเข้าป่าของนักศึกษาปัญญาชน ส่วนในภาคธุรกิจก็เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของธุรกิจและแรงงาน ความรู้สึกต่างๆของฝ่ายแรงงานถูกกระทำมาโดยตลอดอย่างไม่มีโอกาสแสดงท่าทีใดๆออกมา  จึงกลายเป็นปฎิกริยาคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุ 

                 สำหรับอุดมการณ์หรือจุดยืนของธรรมศาสตร์ คือ การให้ความเป็นธรรมต่อสังคมและดูแลคนจนซึ่ง ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ก็ตระหนักดีในเรื่องนี้เช่นเดียวกับ อาจารย์นิคม จันทรวิทุร และ ดร.โฆษะ อารียา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึง ดร.หนุ่มจากอเมริกาอย่าง อาจารย์จีระก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก จึงหารือกับคณาจารย์ท่านอื่นๆ ในยุคนั้นเพื่อที่จะก่อตั้งสถาบันทางวิชาการที่ดูแล ส่งเริม พัฒนาเรื่องแรงงาน โดยมุ่งในเรื่องการวิจัยและทำหน้าที่กระตุ้นให้สังคมเข้าใจถึงปัญหาแรงงานภายใต้ชื่อ สถาบันแรงงาน ที่ประชุมมีมติเลือก ดร.จีระ เป็นประธานก่อตั้งสถาบันดังกล่าว 

                “แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรของธรรมศาสตร์ที่เปิดกว้างให้โอกาสคนที่มีศักยภาพมากกว่าความอาวุโส ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และน่าชื่นชมมากที่สุด จุดยืนธรรมศาสตร์คือสร้างความเป็นธรรมและยืนหยัดเคียงข้างประชาชน ธรรมศาสตร์ สนับสนุนการจัดตั้งในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงจุดยืนหรืออุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยออกมาด้วยการกระทำอย่างชัดเจน” 

                ทว่าการจัดตั้งไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งนักการเมืองและกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทยในยุคนั้นไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ทำให้ส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไป 3-4 ครั้ง จนรัฐบาลขอให้ธรรมศาสตร์เปลี่ยนชื่อจากสถาบันแรงงานเป็นชื่อ “สถาบันทรัพยากรมนุษย์” 

                “ตอนนั้นปัญหาการเมืองเยอะมาก เป็นอันว่าสุดท้ายเราก็มาลงตัวที่ชื่อสถาบันทรัพยากรมนุษย์ และเมื่อมีการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทางสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกผมขึ้นเป็นผู้อำนวยการคนแรก และเป็นติดต่อกันถึง 4 สมัยในระยะเวลากว่า 18 ปี จนครบวาระการทำงาน” 

                ในช่วงที่ ดร.จีระดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้พยายามผลักดันหลายเรื่องราวออกสู่สังคมจนเกิดเป็นกระแสสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานจนเป็นที่มาของกฎหมายประกันสังคม ซึ่งทำให้แรงงานมากกว่า 10 ล้านคนมีหลักประกัน และช่วยเหลือในเรื่องการว่างงานด้วย 

                ที่สำคัญสถาบันดังกล่าวยังเป็นผู้นำแนวคิดเรื่องทรัพยากรมนุษย์ว่าเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยไปยังหน่วยงานเอกชน โดยผ่านสถาบันการศึกษาเพื่อปรับมุมมองและแนวคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับคนมากขึ้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรขององค์กรที่มีค่ามากที่สุด  ทำให้หลายองค์กรต้องเปลี่ยนชื่อแผนกบุคคลมาเป็นแผนกทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน 

                 ภาพลักษณ์ หรือ Brand ของความเข้าใจเรื่องทุนมนุษย์ หรือ ทรัพยากรมนุษย์เกิดมาจากความพยายามของสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการมองคนในระดับล่างเป็นแค่ “แรงงาน” ให้มาเป็น “ทุน” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณค่าที่ไม่ต่ำกว่าเงิน เครื่องจักร หรือที่ดิน 

                 อีกด้านหนึ่ง คือ การสร้างกระแสสังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ทั้งฝ่ายนายจ้างและแรงงาน เพื่อให้เกิดแรงงานสัมพันธ์เดินไปในทิศทางเดียวกัน ลดความขัดแย้งในอดีตโดยเน้นการเจรจาประนีประนอมเป็นหลัก ศาสตราจารย์ ดร.จีระ ได้เข้าไปเป็นกรรมการค่าจ้างและประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติซึ่งก็เป็นผลพวงจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งสถาบันทรัพยากรมนุษย์ นี้ทำให้คนระดับล่างได้ลืมตาอ้าปาก มีรายได้สูงขึ้น มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี 

                 นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันแนวคิด “ไตรภาคี” ขึ้นมาซึ่งได้แก่ นายจ้าง  ลูกจ้าง   และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกับรัฐบาล  เพราะในอดีตไม่มีแนวคิดไตรภาคีการแก้ปัญหาพิพาทจึงเป็นการสร้างปัญหาให้บานปลายเพราะรัฐบาลจะเข้าข้างนายจ้างมาโดยตลอด 

                ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานของสถาบันทรัพยากรมนุษย์ในช่วงที่ ศาสตราจารย์ ดร.จีระ เข้ามานั่งบริหาร เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์และความมุ่งมั่นของชาวธรรมศาสตร์ที่จะยืนหยัดอยู่ข้างความเป็นธรรมและไม่ทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างแท้จริง 

                ปัจจุบัน แม้ว่าศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์จะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่ก็ยังคงทำงานเพื่อพัฒนา “คน” อย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “พลิกปิรามิด” ของสังคมไทย และสร้างสรรค์งานด้านทรัพยากรมนุษย์ในระดับอินเตอร์ควบคู่ไปด้วยกัน ด้วยการก่อตั้ง “มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ” ผ่านมติ ครม. ทำงานเพื่อการพัฒนาคนในทุกระดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

                และที่น่าสนใจ คือ ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ใช้ “สื่อ” เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสความสนใจเรื่องทรัพยากรมนุษย์ไปสู่สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ บทความ Blog รวมทั้งสื่อทางเลือก และ Social Medias ที่กำลังมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไทย 

                “การมอง “คน” ที่เสียเปรียบให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ ผลงานที่ผมได้รับจากการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสนใจเรื่องคน และสร้างสถาบันที่ริ่มเริ่มเรื่อง “คน” ก่อนองค์กรอื่น ๆ ภาพลักษณ์ หรือ Brand เรื่องการให้ความสำคัญเรื่อง “คน” จึงเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคุณูปการให้สังคมไทยได้รับมาจนถึงปัจจุบัน” 

.........................................................

หมายเลขบันทึก: 446893เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2011 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท