วิจัยความคิดเห็นของนักเรียนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรม


ความคิดเห็นของนักเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรม

ชื่อเรื่องงานวิจัย : ความคิดเห็นของนักเรียนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรม

กรณีศึกษา : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ  นายธนวัฒน์   กณะบุตร  และนายสุรัตน์  ศรีใจน้อย

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2548

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย : งานวิจัยและพัฒนา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

 บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรม สำหรับกลุ่มประชากรที่ศึกษาคือ นักเรียนระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ จำนวน  300  คน    โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก  การใช้แบบสอบถาม  สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่    ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย   ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน    การหาค่าความสัมพันธ์แบบ Chi – Square  และการหาค่าความสัมพันธ์แบบ Pearson 

            ผลการศึกษาพบว่า   นักเรียนที่ตอบแบบสอบถาม  ประกอบเพศชาย ร้อยละ 75.1 และเพศหญิง  ร้อยละ  24.9  ในจำนวนนี้ร้อยละ  37.0  มีอายุ  16  ปี  ร้อยละ  23.2  มีอายุ  15  ปี  ร้อยละ  21.5  มีอายุ  17  และร้อยละ  18.2  มีอายุ  17  ปีขึ้นไป  ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับการเข้าค่ายคุณธรรมพบว่าร้อยละ  36.0  เคยเข้าค่ายคุณธรรมมากกว่า  2   ร้อยละ  22.2  เคยเข้าค่ายคุณธรรมมาแล้ว  2 ครั้ง และ  ร้อยละ  18.5  เคยเข้าค่ายคุณธรรมมาแล้ว  1  ครั้ง   ในขณะที่มีเพียงร้อยละ  23.2  ไม่เคยเข้าค่ายคุณธรรมมาก่อน  สำหรับศาสนาที่นับถือพบว่า  ร้อยละ  74.4  นับถือศาสนาพุทธ  และร้อยละ  25.6  นับถือศาสนาคริสต์

            นักเรียนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า  ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรมในระดับที่มากที่สุด  โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่  4.24  ประกอบด้วยการเรียนรู้ถึงหลักธรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิต เช่น ศีล 5  การคบมิตร  การหลีกเลี่ยงอบายมุข  ความกตัญญูกตเวที และการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิทำให้เกิดสติ  ความอดทน   การขยัน ความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม  ความสามัคคีในหมู่คณะ  ความมีระเบียบวินัย  การรักษาเวลาและตรงต่อเวลา การแก้ไขปัญหา และการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  อีกทั้งยังมีความพึงพอใจในการเข้าค่ายคุณธรรมในระดับมากที่สุด  โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่  4.21   ประกอบด้วย ความพึงพอใจในความสามารถของพระวิทยากร   สาระเนื้อหาที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน   กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมและมีความหลากหลาย  การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม   การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม  การเสริมแรงและการกำหนดกฎระเบียบ 

            นอกจากนี้นักเรียนยังได้มีการสะท้อนความคิดต่อการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรมว่า  เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง  เพราะทำให้ได้รับความรู้หลายอย่าง และสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  ทำให้เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น ก่อเกิดความรู้สึกผูกพันกับเพื่อนและวิทยาลัย  และตั้งใจว่าจะนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาตนเอง ดังนั้นจึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้ทุกปี และให้เพิ่มระยะเวลาในการเข้าค่ายคุณธรรมให้นานยิ่งขึ้น และเมื่อทำการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะส่วนตัวกับความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรมของนักเรียน  ซึ่งจำแนกตามเพศ  ประสบการณ์เดิมและศาสนา  โดยใช้สถิติ  Chi – square  สำหรับการทดสอบความสัมพันธ์และ  กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  ซึ่งพบว่า  คุณลักษณะส่วนบุคคลไม่มีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่รับจากการร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

           เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะส่วนตัวกับระดับความรู้สึกพึงพอใจต่อการร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรมของนักเรียนระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ซึ่งจำแนกตามเพศ  ประสบการณ์เดิมและศาสนา โดยใช้สถิติ  Chi – square สำหรับการทดสอบความสัมพันธ์และ  กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  ซึ่งพบว่า  คุณลักษณะส่วนบุคคลไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความรู้สึกพึงพอใจต่อการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทำการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่ได้รับและความรู้สึกพึงพอใจต่อการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคุณธรรมโดยการทดสอบหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson  Product  Moment  Correlation)  ที่ระดับค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.01  พบว่า ระดับความรู้สึกพึงพอใจต่อกิจกรรมมีความสัมพันธ์ในภาพรวมกับระดับความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่ได้รับอย่างมีนัยสำคัญ  โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ  .685   แสดงว่ามีความสัมพันธ์ในระดับสูงโดยอยู่ในทิศทางบวก  หมายความว่า การที่นักเรียนมีความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับที่สูงย่อมทำให้นักเรียนมีความรู้สึกพึงพอใจจากการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับมากขึ้นตามลำดับ    

 

หมายเลขบันทึก: 446426เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท