หนังสือหนักร่วมยุคที่น่าอ่าน


"ไม่ควรอ่านเกินวันละ 2 บท"

สองสามปีนี้มีหนังสือหนัก ๆ น่าอ่านออกมาหลายเล่ม 

ที่บอกว่าหนังสือหนัก เพราะบางเล่มก็หนักโดยเนื้อหา บางเล่มก็หนักโดยน้ำหนัก

แต่หนังสือไม่อยู่ใกล้มือ ผมขอเขียนจากความทรงจำไปก่อน อาจขาดรายละเอียดไปหน่อย ค่อยเติมให้ครับ และกระทู้นี้จะยังมีการปรับแก้และเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง 

เอานิยายก่อน

"รุกสยาม ในนามของพระเจ้า" ซึ่งเป็นหนังสือแปลจากนิยายภาษาฝรั่งเศส (ชื่อหนังสือที่แปลมา ไม่ตรงกับชื่อฝรั่งเศส แต่แปลแล้วตรงกับเนื้อเรื่องมากกว่า) โดยภาพรวม เป็นหนังสือตลกร้ายอิงประวัติศาสตร์ เล่าถึงสิ่งที่ราชทูตฝรั่งเศสพร้อมกองทัพเรืออันเกรียงไกรได้มาพบเจอที่เมืองไทยในสมัยที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งกองทัพจะเข้ามา "สร้างสัมพันธ์อันดียิ่ง" กับกรุงศรีอยุธยา 

เล่มนี้หนักโดยน้ำหนัก คงราว ๆ ครึ่งกิโลกรัมเห็นจะได้ พล็อตหลักคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนโดยคนฝรั่งเศส ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ แต่อ่านแล้วชวนคล้อยตามว่าจริง เพราะคนเขียนทำการบ้านมามาก ผู้แปลก็แปลได้เนียน (เป็นอาจารย์ที่ ม.ศิลปากร และมีส่วนร่วมประสานวัตถุดิบฝั่งไทยในการเขียนนิยายเรื่องนี้)

เขาเล่าประวัติศาสตร์ในมุมมองที่เห็นแรงจูงใจขั้นปฐมมูลของมนุษย์ ที่ดิบและเถื่อนถึงปานนั้น เพียงแต่ทำอย่าง "คนศิวิไลซ์" โดยยกเอาวลี "ในนามของพระเจ้า"มาบังหน้า แผ่แสนยานุภาพทางทหารเพื่อผลประโยชน์มหาศาลทางการค้า 

คุ้น ๆ ไหมครับ ?

เพียงแต่ความศิวิไลซ์ที่ว่า หลอมละลายภายใต้ความร้อนชื้นของป่าดิบริมน้ำในยุคโน้น สิ่งที่เขาบรรยาย ทั้งน่าขบขัน ทั้งน่าสยดสยอง

เล่มนี้ เหมาะจะอ่านเอามันส์ หรืออ่านเอาอรรถรสภาษาก็ได้ หรือจะอ่านเพื่อให้เห็นมุมมองใหม่ของวิวัฒนาการสังคม ก็เป็นเรื่องที่น่าทำ เพราะเป็นการเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์

คราวนี้เอาเรื่องงานเขียนกึ่งวิชาการบ้าง หนักโดยเนื้อหา

เล่มแรกคือ "โยงใยที่ซ่อนเร้น The Hidden Coonections" ของคาปร้า

เขาเริ่มจากกำเนิดระดับเซลล์ว่า'ชีวิต'ระดับเล็กสุดเกิดขึ้นได้อย่างไรจากระบบเคมี การวิวัฒนาการเชิงโครงสร้างของระบบเซลล์ขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งเขาไปหยิบงานวิจัยร่วมยุคทางชีววิทยามาเล่า เช่น

เล่าถึงแนวคิดของนักชีววิทยาร่วมสมัย - ลินน์ มาร์กูลิส ที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องการวิวัฒนาการก้าวกระโดดของ Prokaryotic cell ไปเป็น Eucaryotic cell เกิดโดยการกลืนเซลล์ข้ามสายพันธุ์เพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมชีพ (symbiosis) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (M&A) อย่างบ้าคลั่งของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในหลายปีที่ผ่านมานี้ เป็นเพียงการเลียนแบบสิ่งที่สิ่งมีชีวิตระดับเซลล์เดี่ยวทำกันมานานนับแต่ยุคดึกดำบรรพ์โน่นแล้ว 

เล่าการวิวัฒนาการของภาษา ว่าเกี่ยวพันกับทักษะทางร่างกายอย่างไร 

เล่าถึงวิวัฒนาการของระบบสังคม (แต่ตรงนี้ทำไม่เนียนเท่าไหร่)

เล่าถึงการก่อเกิดสังคมเสมือนรูปแบบใหม่ ๆ 

ซึ่งทุกระบบที่เขากล่าวถึง ล้วนเป็นระบบประเภท 'ผุดบังเกิด' โดยเขาขมวดปมถึงการนำระบบคิดระดับเซลล์มาอธิบายและการทดลองแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าทึ่ง โดยพูดถึงแนวคิดการจัดการระดับเซลล์ไปใช้กับทางเลือกใหม่ของสังคม เช่น การรีไซเคิลของเสีย ระบบพลังงานทางเลือกเช่น hydrogen car

ที่เขายกเซลล์มาเป็นตัวอย่าง เพราะเซลล์เป็นระบบจักรกลชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูงเหลือเชื่อ เป็นโรงงานผลิคที่ประหยัดพลังงานถึงที่สุด การสังเคราะห์สารเคมีในห้องปฎิบัติการต้องใช้สภาพแวดล้อมที่สุดโต่ง เช่น ให้ความร้อนสูงลิบลิ่ว pH ของกรดหรือด่างเข้มข้นหรือต้องใช้่ organic solvent แต่เซลล์ทำสิ่งเดียวกันอย่างสบาย ๆ ที่อุณหภูมิปรกติโดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง แถมยังมีความสามารถเชิงวิวัฒนาการและการขยายโรงงานได้เองอีกต่างหาก

เล่มถัดมา "เศรษฐกิจไฮโดรเจน - การปฎิวัติเครือข่ายและการจัดสรรพลังงานโลก" แปลจาก The Hydrogen Economy เขียนโดย Jeremy Rifkin แปลโดย กุลศิริ เจริญศุภกุล

ชื่อเรื่องไม่น่าอ่านเท่าไหร่

ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในรอยต่อการเคลื่อนตัวทางประวัติศาสตร์เข้าสู่ 'กลียุค' โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในประเด็นต่าง ๆ คือ

การเข้าสู่ภาวะ "ขาลง" ของแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศตะวันตกในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า (สหรัฐเองนั้น เข้าสู่ภาวะที่ว่านี้เต็มตัวมานานแล้ว) ซึ่งจะทำให้ตะวันออกกลางกลับมาสั่งราคาน้ำมันแบบผูกขาดเหมือนอดีต

เมื่อผนวกกับนโยบายที่แข็งกร้าวแบบตะวันตก ที่ไปทวีความร้อนแรงของกลุ่มหัวรุนแรงเข้าด้วยแล้ว ทำให้เราจะเห็นภาพรถเข้าคิวรอเติมน้ำมันที่แพงและขาดตลาดบ่อย ๆ กลับมาอีกครั้ง และจะเป็นการถาวรในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้

เขายังกล่าวถึงภาวะโรคร้อนและหายนะภัยของระบบนิเวศที่จะเร่งปัญหาพลังงานให้หนักข้อขึ้นไปอีก และชี้ให้เห็นว่าวิกฤติเหล่านี้จะมาบรรจบกันในรุ่นของเรานี้เอง

ฟังหัวข้อแล้ว บางท่านอาจหาวอย่างไม่กลัวกรามค้าง ชื่อเรื่องว่าน่าเบื่อ หัวข้อกลับยิ่งน่าเบื่อกว่า

แต่เนื้อหาระดับรายละเอียด ไม่ทำให้น่าเบื่อ แม้จะหนักด้วยข้อมูล อ่านแล้วอาจทำให้หลับไม่ลง เพราะถ้าเกิดขึ้น ผลกระทบล้วนลึกซึ้งรุนแรง และกำลังจ่อคอหอยเราอยู่

ริฟกินเองก็ยอมรับว่าเขาเองมองโลกแง่ร้ายสุด ๆ แต่หลักฐานก็ชัดเจนจนเขาไม่สามารถตีความให้เป็นอื่น

เขาไม่ได้ชี้แต่หายนะ

มีการชี้ทางออกด้วยว่ายังพอมีอยู่

นั่นคือการใช้พลังงานสะอาดให้ทันเวลาก่อนวิกฤติจะบังเกิด

เช่น พลังงานจากสายน้ำ สายลม แสงแดด (ฟังแล้วโรแมนติกดีแฮะ) เพื่อใช้แยกน้ำด้วยไฟฟ้า และไว้ในรูปแบบของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งการเผาไหม้จะสะอาด และมี 'ของเสีย' จากกระบวนการสันดาปคือ 'น้ำ' 

ปัจจุบันนี้ บริษัทรถยักษ์ใหญ่ของโลก ตั้งเป้าว่าจะผ่องถ่ายรถสันดาปภายในให้ไปเป็นรถไฮโดรเจนให้หมดในท้ายสุด หรือแม้แต่สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งก็ประกาศอย่างมุ่งมั่นว่าจะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีไอซ์แลนด์เป็นหัวหอก เริ่มมาหลายปีแล้ว เพราะแต่เดิมก็ใช้ไฟฟ้าจากพลังธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ยังต้องซื้อน้ำมันใช้กับระบบขนส่งอยู่ (ลองอ่านข่าว BBC ดู)

http://news.bbc.co.uk/1/hi/sci/tech/1727312.stm

โดยรวม หนังสือของ Rifkin เล่มนี้น่าอ่าน

เพราะเขามองประวัติศาสตร์ของอารยธรรมว่าหล่อเลี้ยง โดยความสามารถในการหาและประสิทธิภาพของการใช้พลังงานนั่นเอง

โดยมีกรณีศึกษามากมายที่ทำให้เห็นอดีตในมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างถึงรากถึงโคน และในช่วงท้าย เขาได้ชี้ให้เห็นการคลี่คลายทางประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิรัฐศาสตร์" ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงาน และทิ้งท้ายว่า จะเกิดอะไรต่อไป ในยุคที่พลังงาน ไม่ถูกผูกขาดอีกต่อไป

ที่น่าทึ่งก็คือ 'วิสัยทัศน์ไฮโดรเจน'นี้ Jules Verne นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เขียนถึงไว้ตั้งแต่ปี 1874 .. หลายสิบปีก่อนที่เครื่องจักรสันดาปภายในจะกลายไปเป็นกลไกหลักในอุตสาหกรรมขนส่งเสียอีก

ใครที่อยากรู้ว่า วิสัยทัศน์ 'ของจริง' เป็นอย่างไร ต้องไปอ่านนิยายของ Jules Verne ที่มีในเว็ป เขาไม่ได้ตั้งวิสัยทัศน์ 10-30 ปี แต่เป็น 100 - 300 ปี ! 

http://arthurwendover.com/arthurs/verne/5wiab10.html

นิยายของ Jules Verne ที่พูดถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงเรื่องนี้ โครงเรื่องไม่อลังการ แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยทางวิทยาศาสตร์ ชวนให้สงสัยว่าเขาหยั่งรู้อนาคตหรือเปล่า ? เขาพูดถึงเกิดใหม่ของขั้วอำนาจจากยุโรป ไปสหรัฐ ไปเอเชีย และอัฟริกา ...ตั้งแต่ยุคที่ยุโรปยังเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวในโลก

อีกตัวอย่างรูปธรรมที่หนังสือไม่ได้เล่าไว้ คือ ช่วงนี้ EU ก็กำลังจะสร้างโรงทดลองไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชั่นต้นแบบ ITER (International Thermonuclear Experimental Reactor) ในฝรั่งเศส

ที่จะสร้าง ITER ก็เพื่อเป็นการสาธิตความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน เครื่องต้นแบบนี้้เขาตั้งเป้าว่าถ้าเดินเครื่องได้นานถึง 8 นาทีโดยประเทศฝรั่งเศสยังอยู่เป็นปรกติสุขดีอยู่ ก็แสดงว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันนั้น เป็นไปได้

http://en.wikipedia.org/wiki/ITER

http://www.newscientist.com/article.ns?id=dn7593

http://news.bbc.co.uk/1/hi/sci/tech/4629239.stm

ที่ผ่านมา ชาติมหาอำนาจได้แต่น้ำลายหกยามฝันถึงพลังงานจากฟิวชัน แต่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าถึงขีดที่จะรับมือกับพลังงานมหาศาลของพลาสมาที่ร้อนระดับ 100 ล้านองศาเซลเซียสได้ เพราะไม่มีวัสดุใดที่ทนความร้อนระดับนั้น เล่นกับไม่กี่อะตอมในระดับห้อง lab นั้นอาจเป็นเรื่องสนุกสนาน แต่ระดับสเกลใหญ่นี่ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ก็ดูเหมือนจะเริ่มเห็นทางออกกันบ้างแล้ว อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี 

สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นตัวแปรใหม่ ๆ ที่จะทำให้เราต้องมาลุ้นระทึกว่า หายนะพลังงานที่ริฟกินว่าไว้นั้น จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาได้ทันเวลาหรือไม่

ปิดท้ายด้วยข้อมูล H-car ของบริษัทรถ

http://world.honda.com/news/2005/4050629.html

หรือข้อมูลที่สแตนฟอร์ดเผยแพร่สาธารณะชน ก็น่าอ่าน

http://www-formal.stanford.edu/jmc/progress/hydrogen.html

ถือเป็นการต่อเชื่อมกับบทส่งท้ายของหนังสือโยงใยที่ซ่อนเร้นได้เนียนสนิทพอดี

 

หมายเลขบันทึก: 44637เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะอาจารย์

เล่มแรก..ยังไม่เคยเห็นค่ะ

เล่มที่สอง..อ่านค้างไว้หน่อยหนึ่ง ..The Hidden connections ...แปลโดยวิศิษฐ์-ณัฐพล วังวิญญู และสว่าง พงศ์ศิริพัฒน์ ราคา 320 บาท เป็นหนังสือที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ด้วย...ดิฉันซื้อเพราะตามงานของฟริตจ๊อฟ คาบร้า จากชุดจุดเปลี่ยนของศตวรรษ์ และชอบคำนำที่ อาจารย์ประเวศ วะสี เขียนตอนหนึ่งว่า "ธรรมชาตินั้นฉลาดที่สุด เพราะธรรมชาติไม่มีกิเลส ธรรมชาติจงมีเหตุมีผลหรือสมเหตุสมผลที่สุด สรรพสิ่งที่โยงใยและดำเนินไปตามธรรมชาติจึงสมเหตุสมผลที่สุด มีดุลยภาพและมีความยั่งยืน"

อ่านที่อาจารย์สรุปแล้ว...นึกอยากอ่านหนังสือให้จบโดยเร็ว...ขอบคุณค่ะ

The Hidden Coonections มีแต่หาได้อ่านโดยละเอียดไม่

มิน่าล่ะคะ

คนที่เขาซื้อมาวาง ๆ และพยายามให้หนังสือมาโผล่อยู่ในสายตาเรา เขาถึงได้นินทาต่อหน้าแบบไม่ค่อยเกรงใจทำนองว่า  นักอ่าน(ตัวจริง)น่าจะอ่าน ไม่ใช่เลือกอ่านแต่ประเภท-ถูกจริต

ต้องไปอ่าน ตอนนี้อ่านสรุปแล้วรู้สึกว่าน่าจะอ่านง่ายขึ้น

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท