บทความจาก รศ. ดร. ดำรง ลีนานุรักษ์


บทความจาก รศ. ดร. ดำรง ลีนานุรักษ์ 

 

เรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาและการบ่มเพาะจริยธรรมจากเด็กนักเรียน
พลาสติกเกล็ดปลา

 


                                                         ดำรง  ลีนานุรักษ์
                                                        มหาวิทยาลัยแม่โจ้

 


          ความชื่นชมและดีใจของคนไทยที่มีต่อเด็กนักเรียนสามคนจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ที่ไปได้รางวัลเกียรติยศด้านนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาวชนที่นครลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ ด้วยผลงาน “พลาสติกจากเกล็ดปลาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คงจะเริ่มจางคลายลง แล้วเหลือเป็นสัญญาหนึ่งที่มีแต่รูปธรรมของตัวพลาสติกเกล็ดปลาที่เด็กทำเป็นเรื่องเล่าขานต่อไป

          เหตุการณ์ความสำเร็จที่โดดเด่นของนักเรียนจากรร.บ้านนอกที่เกิดครั้งนี้ ไม่ควรให้เป็นเสมือนดอกไม้ไฟสวยๆในท้องฟ้าที่ฮือฮากันแล้วก็จบไป

          บทความนี้ต้องการที่จะสื่อถึงเหตุปัจจัยที่น่าจะเป็นส่วนหลักๆที่หนุนเนื่องให้เด็กเหล่านี้ก้าวถึงจุดนี้ได้ และภายใต้เหตุปัจจัยเหล่านั้น เราผู้ใหญ่ทั้งหลายลองน้อมเอาเข้ามาวิเคราะห์วิจัยดูเพื่อการเรียนรู้ ผู้ใหญ่เราอาจจะได้เรียนรู้อะไรดีๆจากเด็กก็ได้นะครับ


          ๑ เรื่องการจัดการศึกษา  เราจะพบว่าโรงเรียนสุราษฎร์พิทยาเป็นโรงเรียนปรกติสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าใครอยากทำความรู้จักโรงเรียนบ้านนอกที่ปั้นเด็กนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้คุณภาพระดับแข่งชนะระดับโลกดูได้ที่หน้าเว็บของโรงเรียนได้ที่ http://www.srp.ac.th/2550/history.php

          ความชื่นชมอันดับแรกคือหน้าเว็บที่สื่อสารข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบและมีความเป็นมืออาชีพของนักจัดการการศึกษาที่ได้มาตรฐานไม่แพ้หน้าเว็บของวิทยาลัยหรือแม้บางมหาวิทยาลัยเลย

          ข้อมูลในหน้าเว็บได้ชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาครูผู้สอน ระบบการเรียนการสอน และการผนวกให้กิจกรรมการเข้าวัดผสมผสานกลมกลืนไปกับระบบการศึกษา ทั้งหมดรวม๙ประการที่ต้องยกหัวแม่มือให้ว่ายอดมาก ในรายละเอียดคงต้องให้อ่านกันเองในหน้าเว็บดังกล่าว แต่ต้องกล่าวเน้นคือกิจกรรมทั้ง๙ไม่ใช่กิจกรรมตามน้ำตามการมอบหมายชองส่วนกลาง เครดิตของการสร้างและผลักดันให้เกิดของกิจกรรมเหล่านี้คงต้องยกให้ คณะผู้บริหารและคณะกรรมการโรงเรียน (มีพระภิกษุ๒รูปเป็นกรรมการโรงเรียน)และคณาจารย์ทั้งหลาย


          เชื่อว่าความสำเร็จของเด็กทั้งสาม ส่วนหลักอันหนึ่งเป็นเพราะความมุ่งมั่นเอาใจใส่ของคณะครูที่ปรึกษาและที่เกี่ยวข้อง ภายใต้บรรยากาศของการบริหารการศึกษาที่เอื้อให้ทำได้ ส่วนนี้ในเรื่องการศึกษาตามหลักของพระพุทธศาสนาเรียก กัลยาณมิตตา หรือความเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกช่องทาง หรือเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง(พุทธธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต)


          กัลยาณมิตรนี้เป็นเพียงส่วนปัจจัยภายนอก(ของผู้เรียน)ที่เรียกว่าปรโตโฆษะหรือเสียงเพรียกจากภายนอก จากผู้เป็นกัลยาณมิตร

 
          ตัวผู้เขียนเองได้เคยกล่าวในหลายครั้งเมื่อพูดถึงความเป็นครู อาจารย์ที่สอนหนังสือ หรือเมื่อสอนอบรมเกษตรกรเรื่องวิชาชีพว่า คนเป็นครูต้องมีจิตวิญญาณของพระโพธิสัตว์เป็นพื้น นั่นคือมีความเมตตาและกรุณาเป็นใหญ่และเด่น เราจึงจะมีจิตที่น้อมโน้มลงไปช่วยเขาได้ การขาดจิตวิญญาณของพระโพธิสัตว์ ก็จะทำให้จิตวิญาณครูพร่องไป


          จึงถือได้ว่าเด็กทั้งสามได้ถูกบ่มเพาะมาภายใต้สภาวะที่เกื้อหนุนของครูทั้งหลายที่เป็นกัลยาณมิตร ที่เชื่อได้ว่าเข้าใจในความเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีได้ สร้างให้เกิดขึ้นได้ในมนุษย์


          ในเว็บของโรงเรียนดังกล่าวข้างบนถ้าท่านคลิ๊กไปที่หัวข้อข้อมูลโรงเรียน ที่หน้าเว็บนี้ท่านจะพบว่าตราสัญลักษ์ของโรงเรียนคือรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมสองเส้นคู่ขนาน ที่ถูกอธิบายจากทางโรงเรียนว่าเปรียบเสมือนชีวิตและการศึกษา ที่ต้องเป็นคู่กันไปโดยมีสายใยเชื่อมโยงไปสู่ศาสนา ที่ให้คุณธรรมและจริยธรรมแก่ชีวิต ด้านล่างมีข้อความ "สุทฺธิ ปญฺญา เมตฺตา ขนฺติ" และชื่อโรงเรียน "สุราษฎร์พิทยา"


                                                        
                                  

         

 

 

          ๒ การพ่มเพาะจริยธรรม  ที่หัวข้อรู้จักสุราษฎร์พิทยาในหน้าเว็บข้างบน ที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าทางโรงเรียนได้ระบุถึง๙กิจกรรมเด่น กิจกรรมที่๙กล่าวว่า “เดิมโรงเรียนได้มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนักเรียนทุกคนมีโอกาสนำปิ่นโตไปวัดตลอดพรรษาทุกปี มาเป็นเวลาสืบเนื่องยาวนานเป็น ๑๐ ปี และในปีการศึกษา ๒๕๔๕-๒๕๔๗ ได้ดำเนินการที่เรียกว่า โรงเรียนวิถีธรรม เพื่อ สื่อหมายรวมถึงทุกศาสนา และได้มาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวิถีพุทธ” เพื่อความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปีการศึกษา ๒๕๔๘-๒๕๔๙ และได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบวิถีพุทธของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี
เขต ๑”


          นี่นับได้ว่าเป็นรากเป็นเชื้อของการบ่มเพาะจริยธรรมของโรงเรียน พระท่านว่าบุคคลที่สอนง่าย เข้าใจอะไรง่าย หรือมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ดี จะมีจิตใจที่อ่อนนุ่ม ดังที่ท่านว่ามีจิตที่นุ่มนวลควรแก่การงาน บุคคลที่จะมีจิตใจที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ได้ เขาต้องผ่านถูกสอนและอบรมให้มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นผู้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะเป็นพื้น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานี่เป็นการสอนให้เด็กฝึกทางกายและวาจา(กิริยา มารยาท) ที่นำไปสู่การฝึกใจหรือการฝึกจิตในขั้นที่สูงขึ้นต่อไปถ้าเด็กมีโอกาสและมีศรัทธา


          ในการให้คำสัมภาษณ์ของเด็กทั้งสามที่พบในหนังสือพิมพ์มติชน ได้สื่อให้เห็นคุณธรรมหรือจริยธรรมที่มีอยู่ในตัวเด็ก ที่ได้จากการบ่มเพาะและขัดเกลาภายใต้หลัก “วิถีธรรม” ของโรงเรียน เช่น


          นายพรวสุ พงษ์ธีระวรรณ ได้กล่าวว่า .....การได้รับรางวัลครั้งนี้มาจากการทุ่มเทค้นคว้าวิจัยเป็นปีๆ.........


          น.ส.อารดา สังขนิตย์ กล่าวว่า เคล็ดลับของพวกเราคือเวลาทำงานอย่าคิดว่าถึงจุดที่ว่าพอแล้ว พยายามพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าคิดว่าเป็นน้ำเต็มแก้วจะได้เติมเข้าไปตลอดเวลา..........


          น.ส.ธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ กล่าวว่า กว่าพวกเราจะได้มาถึงจุดนี้ได้ อยากบอกเพื่อนๆ อย่าอยู่แต่ในห้องเรียนอย่างเดียว อย่าเรียนแต่กวดวิชาเพียงเท่านั้น ให้ออกมาทำกิจกรรมบ้าง จะเสริมการเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ในอนาคตอยากเป็นครูสอนและอยากจะให้เยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น


          ใครฟังแล้วรู้สึกอย่างไรก็คงผันแปรไปได้มากมายในความเป็นปัจเจก แต่สำหรับผู้เขียนได้ความรู้จากเด็กทั้งสามในเหตุการณ์นี้ที่จะไปปรับตัวเองในการสอนเรื่องการแทรกจริยธรรม หรือธรรมในบริบทการสอนของตัวเองได้มาก


          จากคำให้สัมภาษณ์สั้นๆนี้ได้บอกให้เรารู้ว่าเด็กเหล่านี้ได้มีคุณสมบัติหรือคุณธรรมในระดับจิตใจดังต่อไปนี้


 หนึ่ง คุณสมบัติของความใฝ่รู้สู้งานยาก การมีความสุขกับงานที่ทำหรือรักงานที่ทำ
 มีความเพียร พยายามไม่ย่อท้อ หรือยอมจำนนกับอุปสรรค
 มีจิตใจที่มั่นคงไม่วอกแวก ตั้งมั่นอยู่กับงานไม่ถูกความสนุกสนานของสิ่งเร้าอี่นที่เด็กๆในวัยนี้ชอบกันมาดึงให้เขวไป
 ได้หมั่นคิดวิเคราะห์วิจัยถึงสิ่งที่พลาดที่ผิด แล้วทดลองหรือวิจัยใหม่ คือชอบวิจัยค้นคว้า อันเป็นคุณสมบัติที่ดีที่ควรมีในตัวหรือจิตใจของนักวิจัย


          ทั้งสี่ข้อนี้ตามที่เรียงกันมาก็คือคำอธิบายของ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ซึ่งก็คือองค์ธรรมทั้งสี่ของอิทธิบาทสี่นั่นเอง ซึ่งเป็นธรรมมะ หรือคุณสมบัติของจิตที่จะทำให้งานสำเร็จ (หมายเหตุ: ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ว่าความจริงตามศัพท์เดิมคือวีริยะแต่ได้เพี้ยนไปเป็นวิริยะตามคำภาษาไทย)

          นี่สะท้อนให้เห็นว่า จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เด็กเหล่านี้ได้ถูกหล่อหลอมมาให้มีอิทธิบาทสี่อยู่ในจิตใจของเขา ดังนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลจากปัจจัยภายในที่มีอยู่ของอิทธิบาทสี่นั่นเอง


          การเกิดขึ้นของอิทธิบาทสี่ในตัวหรือจะเรียกให้ถูกต้องว่า มีในจิตใจของเด็กนี้ จะไม่สามารถมีขึ้นมาได้จากการสอนของครูที่ให้ความรู้ความเข้าใจเพียงด้านเดียว เพราะการสอนของครูคือส่วนของปรโตโฆษะ หรือเสียงเพรียกจากภายนอก อันเป็นองค์ประกอบจากภายนอกเท่านั้น


          การเรียนรู้ในขั้นเบื้องต้นที่เรียกว่าขั้นสัญญา หรือจำได้หมายรู้ เช่นว่าอิทธิบาทสี่คืออะไร แบบที่เราท่านรู้ๆกันอยู่ เมื่อถามว่าอิทธิบาทสี่คืออะไร ก็จะตอบได้ว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  อาจจะจำคำแปลได้แม่นยำเสียอีก แต่ตัวความรู้นี้ยังไม่มีหรือเกิดขึ้นในจิตใจ และไม่ส่งผลให้องค์ธรรมเหล่านี้(ที่เป็นแค่สัญญา)กลายเป็นแรงขับภายในที่มีผลต่อหรือเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกระทำของเรา


           การเรียนรู้ในทางพระพุทธศาสนาที่อยู่ในระดับที่เข้าใจในระดับจิตใจ และเกิดเป็นผลที่เรียกว่ารู้แจ้งเป็นความรู้ที่โพล่งขึ้นมาแบบ อ๋อ....รู้แล้ว ต้องอาศัยความมีโยนิโสมนสิการ นั่นคือการใช้ความคิดเห็นถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (ดูพุทธธรรม)


          โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายในที่สำคัญของการเรียนรู้ที่เรานักจัดการศึกษาที่ส่วนใหญ่ได้เรียนทฤษฎีการเรียนการสอนจากตะวันตกมามักมองข้ามไป หรือมีพูดถึงอยู่แต่ก็เพียงแตะๆไม่เข้าใจแก่นแกนของมัน ทำให้กลไกภายในของตัวเด็กในการคิด วิเคราะห์ ตีความ และสังเคราะห์ในขั้นตอนการเรียนรู้ไม่ได้ถูกยกมาให้เด่นในขบวนการเรียนการสอนของไทยเรา ทั้งๆที่เรามีภูมิปัญญาพุทธ ที่สอนเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งๆที่เป้าหมายหนึ่งของการจัดการศึกษาที่บ้านเราและทางตะวันตกต้องการ คือการมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลที่เกิดมีขึ้นในตัวผู้เรียน

          ในกรณีของโรงเรียนสุราษฎร์พิทยานี้แม้ผู้เขียนเพียงจับโยงข้อมูลจากหน้าเว็บและความสำเร็จของเด็กสามคนมาหนุนกัน อย่างน้อยก็เป็นกรณีศึกษาในการวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค หรือโชคดี อีกทั้งสัญญาณที่ส่อออกมาถึงอิทธิบาทสี่ที่มีในเด็กไม่ใช่เรื่องกล่าวเลื่อนลอยไร้ที่มา

 

          ถ้าขาดแม้เพียงฉันทะเพียงอย่างเดียว หรือขาดวีริยะแม้เพียงอย่างเดียว หรือขาดจิตตะแม้เพียงอย่างเดียว หรือขาดวิมังสาแม้เพียงอย่างเดียวเขาทั้งสามก็คงก้าวไปไม่ถึงดวงดาวเป็นแน่ ความสำเร็จที่น่าชื่นชมที่เป็นตัวงานที่มีคุณค่าในกรณีนี้ จึงเป็นเรื่องของการบ่มเพาะคุณธรรมที่ดีงามให้เกิดขึ้นในตัวหรือจิตใจของเด็กได้ของโรงเรียน ส่วนรางวัลนั้นถือว่าเป็นของแถม



ตีพิมพ์ในหน้า๗ มติชนรายวัน วันจันทร์ที่๓๐ พ.ค. ๒๕๕๔

 

 

       
                                                      

                           
                       

หมายเลขบันทึก: 446284เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท