มิชิแกน (๗): นครการศึกษา


ทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน

ก่อนไปอเมริกา ผมนั่งฝันว่า ผมเลือก "มิชิแกน" ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่ถูกห้อมล้อมด้วยทะเลสาบขนาดใหญ่ ๔ แห่ง ผมฝันถึงวิวสวยๆริมทะเลสาบ นั่งเล่นใต้ร่วมไม้ใหญ่ริมฝั่งน้ำ ชมความงามของท้องฟ้าครามสลับฟ้าใสของท้องน้ำ รับลมเย็นๆที่พัดต้องผิวกาย เดินเล่นเลาะริมฝั่งน้ำ มองดูเรือลำน้อยใหญ่ หลังเลิกเรียนก็จะเดินไปชมฝั่งน้ำริมทะเลสาบบ่อยๆเพื่อชมความงามในแต่ละห้วงเวลา...แต่ว่า

แค่นั่งเครื่องบินจากแอลเอมาดีทรอยต์ รัฐมิชิแกนก็ใช้เวลาเกือบ ๕ ชั่วโมงแล้ว...ผมกลายเป็นคน "เข็มขัดสั้น" ไปทันที...ไม่ต้องงงครับ ก็ "คาดไม่ถึง" ไงครับ มิชิแกนไม่ใช่รัฐเล็กๆ มีพื้นที่มากเป็นอันดับ ๑๑ ของประเทศ มีเมืองหลายเมือง แต่ละเมืองอยู่ห่างกันมาก เอาแค่แอนน์อาร์เบอร์ที่ผมอยู่กับดีทรอยต์เมืองติดๆกันก็ห่างกันตั้ง ๕๐ ไมล์ (๑ ไมล์ =๑.๘ กม.) ใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมง ก็ราวๆตาก-สุโขทัย ส่วนบริเวณริมทะเลสาบก็ห่างออกไปมากกว่านี้เยอะ ถ้าจะไปเมืองตากอากาศชมทิวทัศน์ทางตอนเหนืออย่างแมกคินอกซ์ ก็ใช้เวลาเกือบ ๕ ชั่วโมงก็เหมือนเดินทางจากตากไปเชียงราย...แล้วผมจะไปเดินเล่นริมทะเลสาบบ่อยๆได้ไง...

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศสหพันธรัฐที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ละรัฐทั้ง ๕๐ รัฐ มีขนาดใหญ่หรือมีศักยภาพเหมือนเป็นประเทศๆหนึ่งๆ ที่ปกครองตนเอง คัดเลือกผู้บริหารของตนเอง เว้นแต่เรื่องการต่างประเทศและการป้องกันประเทศที่ดูแลในภาพรวมโดยรัฐบาลกลาง จากระดับรัฐ ก็เป็นเคาน์ตี้ เป็นเมือง เป็นอำเภอ (District) มีเมืองหลวงของแต่ละรัฐ อย่างมิชิแกนก็มีแลนซิง เป็นเมืองหลวง มีดีทรอยต์เป็นเมืองธุรกิจ และมีแอนน์อาร์เบอร์เป็นเมืองมหาวิทยาลัยหรือเมืองการศึกษา

แอนน์อาร์เบอร์ เป็นเมืองเล็กๆประชากร ๑ แสนคน อยู่ในเคาน์ตี้วอทช์นอว์ และเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเคาน์ตี้วอทช์นอด้วย  ถ้าคิดง่ายๆมิชิแกนเป็นจังหวัด เคาน์ตี้ก็เป็นอำเภอ ส่วนแต่ละเมืองก็เป็นตำบล ส่วนDistrictก็เป็นหมู่บ้าน แต่เปรียบเทียบแบบนี้ก็ดูจิ๋วๆไปหน่อย คิดว่า น่าจะเปรียบ "รัฐมิชิแกน" เป็นประเทศ เคาน์ตี้ก็เป็นเขต เมืองแต่ละเมืองก็เป็นจังหวัดและในแต่ละเมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ อันหลังน่าจะดูดีกว่า มองเห็นขนาดของพื้นที่ได้ใกล้ความรู้สึกนึกคิดมากกว่า

แอนน์อาร์เบอร์ เป็นเมืองใหญ่อันดับ ๖ ของมิชิแกน ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๒๔ ชื่อเมืองตั้งตามชื่อของภรรยาของผู้ก่อตั้ง เป็นเมืองเล็กๆที่มีแม่น้ำฮูรอนไหลผ่าน ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๓๗ (พ.ศ. ๒๓๘๐) มหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ตั้งในดีทรอยต์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๗ ได้ย้ายเข้ามาตั้งยังที่ใหม่ที่เมืองนี้ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ ของไทย เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐมิชิแกน

ผู้ก่อตั้งเมืองทั้งสองคนคือจอห์น อัลเลนกับเอลิชา รัมเซย์ ได้จดทะเบียนตั้งเมืองขึ้นกับWayne County โดยใช้ชื่อว่า "Annsarbour" เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยาของคนทั้งสองที่ชื่อเหมือนกันคือ "แอนน์-Ann" ต่อมาก็กลายเป็น "Ann Arbor" และได้เป็นที่ตั้งที่ทำการเขตหรือเคาน์ตี้วอทช์นอว์ ในปี ค.ศ. ๑๘๒๗

เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน แท๊กซี่ก็พาผมออกจากสนามบินดีทรอยต์วิ่งไปตามถนนสี่เลนระหว่างเมืองสาย ๙๔ (I94) ระยะทางราว ๒๕-๓๐ไมล์ แล้วเลี้ยวตรงทางออกที่ ๑๗๗ เข้าเมืองไปตามถนนเสตท จะผ่านตึกสูงตั้งห่างๆไม่มาก พอเข้าเขตใกล้เมืองจะเป็นบ้านเช่าหลังเล็กๆน่ารักๆเรียงรายสองข้างถนน สลับกับร้านค้าเป็นระยะๆ ถ้าขับเลยไปสามารถไปเข้าตรงทางออกที่ ๑๗๗ ตามถนนเมนได้

การบริหารจัดการเมืองเป็นลักษณะสภาผู้จัดการ (Council-manager) มีนายกเทศมนตรี (Mayor) และมีผู้บริหารเมือง (City Administrator) ผมเข้าใจเอาเองว่า เป็นการบริหารคล้ายๆเทศบาลในบ้านเรา มีสภาเทศบาล มีนายกเทศมนตรีและมีปลัดเทศบาล แอนน์อาร์เบอร์มีชื่อเล่นว่า "เมืองต้นไม้-Tree town" เนื่องจากมีต้นไม้หนาแน่น เฉพาะตามแนวถนนมีราว ๕ หมื่นต้น ตอนนี้เพิ่งผ่านหน้าหนาวไป ต้นไม้จึงยืนต้นโด่เด่ไม่มีใบให้เห็น ถ้าถึงตอนฤดูใบไม้ผลิ น่าจะเขียวชะอุ่มพุ่มไสวไปทั้งเมือง แต่ก่อนที่ผมจะมา ต้นไม้เหล่านี้ก็คงผ่านความหนาวเย็นอันหฤโหดมาแล้ว กับอุณหภูมิที่ติดลบพร้อมกับหิมะที่โปรยปรายลงมา ขนาดว่าผมมาตอนที่เริ่มสิ้นหนาว อุณหภูมิก็ยังคงหนาวอยู่มาก ไม่น่าจะเกิน ๑๐ องศาเซลเซียส กลางคืนผมก็ต้องเปิดฮีตเตอร์นอนอยู่

ความเป็นมา เป็นไปของเมืองจึงผูกพันไปกับมหาวิทยาลัยมิชิแกนอย่างแยกกันไม่ออก ภายในตัวเมืองจะมีอาคารเรียนและอาคารต่างๆของมหาวิทยาลัยแทรกอยู่เป็นกลุ่มๆ โดยกลุ่มใหญ่ของอาคารมหาวิทยาลัยจะอยู่ในเขตกลางเมืองเป็นวิทยาเขตกลาง และถ้าไปทางด้านเหนือของเมืองก็จะมีวิทยาเขตเหนือ และถัดมาทางตอนใต้ไม่ห่างจากวิทยาเขตกลางนักก็มีวิทยาเขตใต้ที่มีมิชิแกนสเตเดียมตั้งอยู่ เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น "เมืองมหาวิทยาลัย" อย่างแท้จริง

สำหรับผมแล้ว คุณค่าของเมืองเล็กๆ สงบ เรียบง่าย เพรียบพร้อมไปด้วยคุณภาพชีวิต ความสะอาดของเมือง ความร่วมรื่นของบรรยากาศ ความเป็นมิตรของผู้คนที่พานพบแม้เพียงผ่านก็รับสัมผัสได้ ความร่าเริงของกลุ่มวัยหนุ่มสาวนักศึกษาหน้าตาหลากหลายชาติพันธุ์ ผสมผสานกับความเก่าแก่ของอาคารสถานศึกษา ความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ความยิ่งใหญ่จึงมีมากกว่าขนาดเมือง จนผมอยากเรียกว่า "นครการศึกษา"

กลับมาดูโรงเรียนธุรกิจรอสส์ที่ผมกำลังจะเข้าเรียนอยู่นี้ อาจารย์เรย์เล่าว่า ชื่อเต็มๆคือ Stephen M. Ross School of Business ตั้งขึ้นตั้งในปี ค.ศ. ๑๙๒๓ ห่างจากวันเกิดมหาวิทยาลัย ๙๙ ปี แรกตั้งมี ๑๕ คณะ รับนักศึกษาระดับปริญญา ๒๖ คน มาบัดนาว (บัดนี้) มีนักศึกษษปริญญษมากกว่า ๒,๘๐๐ คน เปิดสอนใน ๑๒ กลุ่มวิชาทั้งการบัญชี บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ระบบคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ธุรกิจนานาชาติ กลยุทธ์องค์กร การเงิน กฎหมายและการสื่อสาร การตลาด เป็นต้น

มีคำขวัญที่น่าสนใจว่า "เป็นผู้นำทางความคิดและการปฏิบัติ-Leading in Thought and Action" หลักสูตรระดับปริญญาตรีและโททางบริหารธุรกิจได้รับการจัดอันดับติด ๑ ใน ๑๐ ของประเทศ ส่วนMichigan Executive Education Program ที่ผมมาอบรมนี้ก็เช่นกัน  ใครสนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.execed.bus.umich.edu

ช่วงค่ำระหว่างปฐมนิเทศที่ผ่านมา ผมคิดว่าผมจับใจความฟังอาจารย์เรย์และไบรอันได้สัก ๕๐% เท่านั้น ความเข้าใจที่เหลือได้จากการกลับมาอ่านเอกสารซ้ำ ก็อดคิดเข้าจ้างตัวเองไม่ได้ว่า การเรียนรู้ของคนเรา ไม่ใช่จากการฟังอย่างเดียว คนแต่ละคนย่อมมีวิธีการเรียนรูที่เหมาะกับแต่ละคนไป ตอนที่ผมไปบรรยายKMผมก็เสนอว่า "ผู้บริหารและคุณเอื้อ ควรจัดให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ในรูปแบบหรือวิธีที่เหมาะกับแต่ละคน" ทำนอง จริตใครจริตคนนั้น อาจเป็นการศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การอ่านและการลงมือปฏิบัติ"

แต่ถ้าคิดแบบอยากพัฒนาตนเอง ก็ต้องกลับมาดูใหม่ว่า "การเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ควรจะสามารถเรียนรู้ได้หลายๆทาง" โดยเฉพาะ "การฟัง" น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในทุกประเภทการเรียนรู้ที่กล่าวมา ช่วยให้เราสามารถเรียนลัดหรือเรียนรู้จากคนอื่นได้ง่าย และเป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้ง่าย "การที่เราฟังใครก็แสดงว่าเราเคารพคนนั้น การได้รับความเคารพทำให้คนเราบรรลุสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้"

ทักษะการเรียนรูสำคัญๆ ทั้งการพูด การอ่าน การคิด การเขียนและการฟัง สามารถฝึกได้ ผมจึงพยายามคิดสูตรการฟัง "LISTEN" ขึ้นมาช่วยตัวเอง และหวังว่าจะได้ทดลองใช้จริงในวันพรุ่งนี้ในวันแรกของการฝึกอบรมจริง แต่ผมเคยมีประสบการณ์พัฒนา ๒ ทักษะคือ "ทักษะการพูด" กับ "ทักษะการเขียน"

แต่เดิม ผมเป็นคนพูดไม่เก่ง บรรยายไม่ได้ ไม่ค่อยกล้านำเสนอ พอได้พบกับอาจารย์หมอวิจารณ์ ท่านบอกว่า "พิเชฐ ก็พูดเหมือนที่พิเชฐทำนั่นแหละ" แล้วท่านก็ให้ผมไปเล่าเรื่องการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมเครือข่ายจัดการความรู้ฟัง...และให้ผมไปบรรยาย (เล่าเรื่อง) ที่อยุธยา การเล่าสิ่งที่ตนเองทำจริง ทำให้เล่าได้ง่ายและมีอรรถรสมา จนผมสามารถไปบรรยายได้ อีกครั้งก็เรื่องเขียน ท่านก็บอกเหมือนเดิม "ก็เขียนเหมือนอย่างที่ทำ" ผมก็เลยพอเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ อาจารย์วิจารณ์ (พานิช) ท่านจึงเป็นคุณอำนวยที่ช่วยปลุกความกล้าในตัวของผมออกมาได้

เรื่องเมืองมหาวิทยาลัย ผมเคยไปดูที่อาร์มิเดล (มหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์) เขาก็เลือกเมืองเล็กๆ สงบๆบนเขามาตั้ง ต่างจากบ้านเราที่มหาวิทยาลัยอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองการค้าที่พลุกพล่าน ละลานไปด้วยสิ่งยั่วยวนและอบายมุข ผมคิดว่า เมืองเล็กๆ เงียบๆ สงบๆอย่างจังหวัดตาก (ตัวเมืองตาก) น่าจะเป็นเมืองที่ตั้งมหาวิทยาลัยได้ ถ้ามองภาพจังหวัดตากทั้งจังหวัด แต่ละอำเภอจะมีความเหมาะสมในการพัฒนาแตกต่างกันไป

อำเภอเมืองตากน่าจะเป็นเมืองมหาวิทยาลัย อำเภอแม่สอดเป็นเมืองธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม อำเภอแม่ระมาด สามเงาและพบพระเป็นเมืองเกษตรกรรม อำเภออุ้มผาง บ้านตากกับท่าสองยาง ควรเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทางจังหวัดตากได้พยายามดำเนินการเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัย โดยมีแนวคิดการขอยกฐานะมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตาก ซึ่งมีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่ ประวัติความเป็นมาในการผลิตบัณฑิตที่มีชื่อโดยเฉพาะสาขาทางวิศวกรรม แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยปัจจัยอื่นๆอีกหลายประการ

ที่อเมริกา เขาใช้คำว่า "School-โรงเรียน" ใหญ่กว่า "คณะ-Faculty" และ "วิทยาลัย-College" ซึ่งกลับกันกับเมืองไทย ผมคิดเอาเองว่า คำว่า "โรงเรียน" ของเขา น่าจะมีความหมายลึกซึ้งกว่า "โรงเรียน" ที่เรานำมาใช้เรียนสถานศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

แต่น่าจะมาจากคำว่า "School of Thoughts" ซึ่งหมายถึง "สำนักความคิด" นั่นคือ ในแต่ละแห่งจะต้องสามารถสร้างองค์ความรู้เป็นเอกลักษณ์ของสำนักตนเองขึ้นมา ใครจะมาเรียนที่นี่หรือใครจะมาสอนที่นี่ จะได้เรียนรูแนวคิดทฤษฎีหลักการสำคัญๆของสำนักนั้นๆไปด้วย ไม่ใช่แค่สถานที่ที่ "ผู้สอน" อ่านตำราของสถาบันต่างๆมามาถ่ายทอดต่อเท่านั้น แต่เป็น "ที่ที่อาจารย์ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่" ขึ้นมาด้วย หรือที่เรียกกันว่า "Research"

ก่อนล้มตัวลงนอนคืนนี้ ผมเปิดม่าน แง้มหน้าต่างพร้อม เพ่งสายตาฝ่าออกไปนอกหน้าต่าง มองเห็นต้นไม้ที่ไร้ใบเพราะผลัดทิ้งช่วงหนาว ละอองฝนปรอยๆ กับสายลมหนาวที่พัดเข้ามากระทบผิวกาย เย็นยะเยือก ความหนาว ความเหงา ความมืด ส่งผลกระทบจิตใจให้อ่อนแอลง ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่ง มันก็ทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

"เย็นลมหนาว หนาวใจ หนาวจับจิต      เสื้อผ้าปิด มิดชิด ไม่คลายหนาว

ทั้งหนาวฝน หนาวฟ้า มาเป็นคราว        แม้ห่มดาว ห่มเดือน ไม่เคลื่อนคลาย

อุ่นอันใด ไม่เท่า อุ่นไอรัก                   จิตประจักษ์ ห่วงหา ไม่ห่างหาย

อุ่นอ้อมกอด กอดไว้ ไม่เว้นวาย            อุ่นทั้งกาย อุ่นใจ ไม่ลืมเลือน

บินมาไกล ไกลตัว กลัวใจห่าง             เธอผู้สร้าง พลังใจ ใครจะเหมือน

สิบแปดปี พี่กับเจ้า เฝ้าครองเรือน        จิตย้ำเตือน ใกล้ไกล ใจคู่กัน

มาอยู่ไกล ฟากฟ้า มิอาจกั้น                สายสัมพันธ์ รักคู่ อยู่สุขสันต์

จัดเวลา ส่งข่าว เจ้าทุกวัน                    ถึงไกลกัน ใจอยู่ คู่เคียงเธอ..."

 

                                                    พิเชฐ บัญญัติ

                                                    เขียนจากความทรงจำและบันทึกเล่มน้อย

                                                    ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๓.๐๒ น.

หมายเลขบันทึก: 446254เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาอ่าน ไม่เคยไปรัฐนี้เลยครับ...

ยังเขียนไม่จบตอนนะครับ กำลังพยายามเขียนอยู่ แต่เคยเจอปัญหาว่า "เขียนไปตั้งเยอะ" แล้วเน็ตหลุด หายไปเฉยๆ เลยต้องบันทึกลงไว้ก่อน...กันเหนียวครับ

คุณหมอคะ

บันทึกคุณหมอมีเรื่องเล่าสนุกๆ ที่ทำให้ได้เรียนรู้มุมมองต่างๆ และที่สำคัญมีกลอนเพราะๆ อีกด้วย ขอบคุณค่ะ ^_^

สำหรับเรื่องกลัวข้อความหายนั้น หนูรบกวนลองใช้ปุ่มเก็บบันทึกร่าง ที่อยู่ตรงบริเวณด้านล่างจากปุ่มบันทึกค่ะ ระบบจะทำการจัดเก็บข้อความที่พิมพ์ไว้ ระหว่างที่เขียนบันทึกไปก็กดปุ่มเก็บบันทึกร่างเป็นระยะๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท