สำหรับพระอริยะ ไม่มีใครผิด


สำหรับพระอริยะไม่มีใครผิด

 

สุทฺทสํ  วชฺชมญฺเญสํ  อตฺตโน  ปน  ทุทฺทสํ

โทษของคนอื่นเห็นง่าย  แต่โทษของตนเห็นยาก

        คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธพระพุทธภาษิตบทนี้อย่างแน่นนอน  เพราะทุกคนต่างก็แสวงหาแต่ความผิดของคนอื่น  โดยไม่ได้ใส่ใจถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำไปแล้วว่าถูกหรือผิดอย่างไร  ดังบทกลอนบทหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้อย่างน่าฟังและน่าคิดว่า

โทษคนอื่นแลเห็นเช่นภูเขา

โทษของเราแลเห็นเท่าเส้นขน

ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเราเหลือทน

ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร

        ยิ่งโดยเฉพาะสังคมปัจจุบัน มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งสีแบ่งชนชั้นด้วยแล้ว  ความแตกแยกก็จะเกิดกับสังคมได้ง่าย  ผู้ที่กระทำผิดแต่เป็นผู้มีอำนาจกลับเป็นเรื่องไม่ความผิด  แต่ถ้าเป็นคนไม่มีทรัพย์สินเงินทอง หรือพวกพ้อง  แม้ผิดเล็กน้อยก็กลับเป็นความผิดใหญ่หลวง  นี่คือความเป็นจริงที่ปรากฎ ณ ปัจจุบันนี้

        ในอดีตกาล มีสามเณรรูปหนึ่ง  เมื่อบวชแล้วได้ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ด้วยความเคารพ แต่ด้วยความที่เธอเป็นปุถุชน  เมื่อปรนนิบัติไปก็คิดไปต่างๆ นานา จนเกิดความฟุ้งซ่าน  วันหนึ่งเธอได้คิดที่จะลาสิกขา  จนสามารถก่อร่างสร้างตัวได้แล้ว  อยากได้ภรรยาคนหนึ่ง  และอยู่กับภรรยาของเขาอย่างมีความสุข  จนได้ให้กำเนิดบุตรกำลังน่ารัก  วันหนึ่งเขาทำงานเหนื่อยมาก  ภรรยายก็เลี้ยงลูกอยู่บ้านก็เหนื่อยเช่นกัน  เขาสั่งให้ภรรยายทำงานชิ้นหนึ่งให้  แต่ภรรยายคัดค้าน  จึงได้ลงมือตบตีภรรยายของตนเอง  ทั้งๆที่ นั่นคือความคิด และเธอก็กำลังเคลิบเคลิ้มอยู่ในความคิดนั้น คือ อินในบท  จนไม่สามารถเก็บอารมณ์ที่เกิดในความคิดนั้นได้

          แต่ในความเป็นจริง  เธอกำลังนั่งพัดพระอุปัชฌาย์อยู่ เพราะกำลังอินในบทนั้นนั่นเอง  เธอได้ใช้พัดฟัดหัวพระเถระอย่างแรง  พอรู้ตัวก็เริ่มวิ่งหนีเพราะกลัวความผิดที่ตนเองทำ  แต่พระอุปัชฌาย์ให้สติเธอได้  จากคำสนทนาอย่างเข้มข้นตรงนี้เอง  ทำให้มองเห็นว่า  พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านมีความคิดอย่างไรกับคนที่ประทุษร้ายท่าน  ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ละก็....  คงจะต้องได้วางมวยกันอย่างแน่นอน  เหมือนกับคนที่เขากำลังทะเลาะแบ่งพรรคแบ่งสีกันอยู่ทุกวันนี้  พูดกันอย่างสาดเสียเทเสีย  จนแทบจะมองไม่เห็นว่าฝ่ายไหนดี  ฝ่ายไหนไม่ดี 

           พระเถระกลับมองโลกตามความเป็นจริงด้วยเมตตาจิตของท่าน  ว่า

เนเวตฺถ  ตุมฺหากํ  โทโส อตฺถิ,  น  มยฺหํ  วฏฺฏสฺเสเวโส  โทโส  ฯ (ธรรมบท ภาค ๔ หน้า  ๖๙)

            "ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น  จะเป็นความผิดของท่านก็ไม่ใช่  จะเป็นความผิดของเราก็ไม่ใช่  เป็นความผิดของวัฏฏะต่างหาก"

            หากในสังคมของเราจะมองตามความเป็นจริง  แก่นแท้ของแต่ละเรื่องละก็  ความวุ่นวายต่างๆ  คงจะไม่เกิดขึ้น  เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้  ฉะนั้น  ควรที่จะพิจารณาตนเอง  ดูแลตนเอง  ปกครองตนเองให้ดีที่สุด  ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด

ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน

ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน

อย่าแชเชือนเตือนตนให้พ้นภัย.

 

หมายเลขบันทึก: 446251เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาศึกษาว่า ไม่ผิดได้อย่างไรครับ พระคุณเจ้า

มีบาลีอ้างข้อที่ท่านกล่าวว่าไม่ผิด คือ

เนว โกปํ น โทสมกาสิ (ธรรมบทภาค ๔ หน้า ๖๙)

ซึ่งเป็นข้อความที่ต่อจากคำที่ท่านพูดแล้ว

แปลว่า "(เพราะท่าน) เนว โกปํ ไม่กระทำความโกรธ น โทสมกาสิ ไม่กระทำการประทุษร้ายตอบ"

นั่นแสดงว่า ท่านเป็นผู้มีเมตตาจิต ดังคำยกย่องต่อมาอีกว่า น เม ภนฺเต เอวรูโป คุณสมฺปนฺโน ทิฏฺฐปุพฺโพ (ธรรมบทภาค ๔ หน้า ๖๙) "ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณเช่น ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นมาก่อน พระพุทธเจ้าค่ะ"

กล่าวโดยสรุป ก็คือ ท่านเป็นพระอริยเจ้า มีจิตที่บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว

และมีเมตตาต่อทุกสรรพสัตว์ เท่าเทียมกันหมด เหมือนที่พระพุทธองค์เคยได้ตรัสเปรียบเทียบความเมตตา

ที่พระเทวทัตต์ ซึ่งคอยประทุษร้ายพระพุทธองค์ตลอด ทั้งที่รู้ว่า พระพุทธองค์มิเคยได้คิดประทุษร้ายตอบ

ดังพระบาลีธรรมบทภาค ๑ หน้า ๑๓๖ ว่า

วธเก เทวทตฺตมฺหิ โจเร องฺคุลิมาลเก

ธนปาเล ราหุเล จ สพฺพตฺถ สมมานโส

พระผู้มีพระพระภาคเจ้า มีพระทัยสม่ำเสมอในทุกสรรพสัตว์

ไม่ว่าจะเป็นนายขมังธนูก็ดี พระเทวทัตต์ก็ดี จอมโจรองคุลีมาลก็ดี

ช้างธนบาลก็ดี ราหุลกุมารก็ดี

ฉะนั้น ข้อที่ว่าไม่ผิดนั้น ก็เพราะไม่คิดประทุษร้ายตอบ จะตัวท่านเองกำลังถูกประทุษร้ายก็ตาม.

เรา ๆ ท่าน ๆ ยังมีกิเลสหนาอยู่จึงเป็นเช่นนั้น ปล่อยไปตามกรรมเถิด กัมมุนา วัตตะตี โลโก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท