ชีวิตที่พอเพียง : 86-2. ความเหงา


ชีวิตผมไม่เหงาเลย เพราะผมมี chaos อย่างอ่อน เป็นเพื่อนใจ ให้ได้ครุ่นคิดตลอดเวลา หรือจะตีความอีกแบบหนึ่ง ผมสนุกอยู่กับจินตนาการอยู่ตลอดเวลา

ชีวิตที่พอเพียง  : 86-2. ความเหงา

     วันนี้เป็นวันแม่    มีโอกาสอยู่บ้าน   อ่านหนังสือ J. Krishnamurti : a life หน้า 469 ตอบคำถามเรื่องการตกหลุมรักและการมีความสัมพันธ์ แต่รักไม่สมหวัง    รู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวเมื่อขาดเขา   

    กฤษณมูรติตอบว่าตัวต้นเหตุไม่ใช่ "เขา"    แต่เป็นที่ใจเรา    เพราะใจเรามี ความพร่อง ที่กฤษณมูรติเรียกว่า emptiness  จึงต้องไปหาบุคคล หรือวัตถุสิ่งของ กิจกรรมภายนอกเอามาใส่ใจ    ผมมองว่าเป็นอาการของคนที่อยู่ในสภาพที่ชีวิตมันว่างเปล่า  ขาดสิ่งยึดโยงใจ

     หันกลับมาถามตัวเองว่าเคยรู้สึกเหงาครั้งสุดท้ายเมื่อไร    จำไม่ได้   คงจะต้องนานมากแล้ว

     ผมเคยสงสัยตัวเองมานาน ว่าทำไมเรารู้สึกว่ามีเรื่องให้คิด ให้ทำ ให้สนุกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา    โดยที่มีเพื่อนๆ บอกว่าไม่มีอะไรทำ และเหงา  

     ผมไม่เหงาเพราะมีหนังสือให้อ่านอีกมากมาย    ซื้อสำรองไว้   เดาว่าคงจะตายไปก่อนอ่านได้หมดทุกเล่ม 

     แต่ที่ดีกว่านั้นคือจะคอยมีคนมาชวนทำเรื่องแปลกๆ ที่คนเขาไม่ค่อยได้ทำกัน

     ดังกรณีเรื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility - CSR)  ที่ผมคงจะได้มีโอกาสเข้าไปทำในปีหน้า

    เมื่อวานซืน ผมเรียน อ . หมอประเวศ ว่า ประเทศไทยเราไม่มีการจัดการระบบอุดมศึกษา     หน่วยงานที่ดูแลอุดมศึกษาของชาติดูแลแบบที่ไม่มีทางทำให้อุดมศึกษาสร้างความก้าวหน้าให้แก่สังคมไทยได้    เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า intangible assets ของสังคมที่ซ่อนอยู่ในความเป็นมนุษย์   และซ่อนอยู่ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์    การจัดการระบบอุดมศึกษาไทยทำกันแบบทื่อๆ และตกหลุมการจัดการในยุค Modern หรือยุคกลไก   ล้าหลังไป 50 ปี  (อย่าคิดว่าความเห็นนี้จะถูกต้องนะครับ    อาจผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้   และไม่ได้จงใจลบหลู่คนกลุ่มใด    แต่เป็นวิธีคิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครับ)

      อ. หมอประเวศ ยุทันที ให้คิดอ่านจัดทีมพัฒนาความเข้าใจระบบอุดมศึกษา   หรือการวิจัยระบบอุดมศึกษา     ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก    และต้องมีแทคติกมาก    เพราะเป็นการทำงานนอกแบบหรือไม่เป็นทางการ    ไม่มีอำนาจใดๆ   

       การทำงานแบบไม่มีอำนาจแต่มีการยอมรับนี้ สคส. เป็นตัวอย่างที่น่าแปลกใจมาก     และเข้าใจว่าทำให้ อ. หมอประเวศให้เครดิตผมมาก

      ผมก็กลับมาคิดไปเรื่อยๆ ว่าถ้าเราจะรับใช้สังคมโดยการพัฒนาความเข้าใจเรื่องระบบอุดมศึกษาเราจะวางแนวทางการทำงานอย่างไร     โดยบอกตัวเองไปพร้อมๆ กันว่าคงไม่ได้ทำหรอก ทำไม่ไหวหรอก    ที่ทำอยู่แค่นี้ก็เกินกำลังอยู่แล้ว     และที่ยิ่งกว่านั้น ไม่แน่ใจว่าที่ไปเที่ยวกล่าวหาว่าคนอื่นทำผิดนั้น     จริงๆ แล้วคนที่คิดผิดคือผม

       ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า    ชีวิตผมไม่เหงาเลย  เพราะผมมี chaos อย่างอ่อน เป็นเพื่อนใจ ให้ได้ครุ่นคิดตลอดเวลา    หรือจะตีความอีกแบบหนึ่ง ผมสนุกอยู่กับจินตนาการอยู่ตลอดเวลา

       ภรรยาบอกว่า  เป็นอาการของคนบ้าชนิดหนึ่ง

วิจารณ์ พานิช
๑๒ สค. ๔๙
วันแม่

หมายเลขบันทึก: 44525เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2006 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบพระคุณอาจารย์คะ...

ได้ข้อคิด...กลับไปใช้กับชีวิต...ได้ดีทีเดียวคะ

กะปุ๋ม

    ขอบพระคุณมากครับ
แม้ท่านอาจารย์จะอยู่แถวๆยอดเจดีย์  และผมเตาะแตะอยู่แถวๆฐานเจดีย์  แต่ภูมิใจและมั่นใจครับว่าเป็นเจดีย์องค์เดียวกัน 
    มีคนชอบถามว่าผมคิดทำอะไรนักหนาดูเหมือนไม่ได้หยุดหย่อน  ไม่รู้จักพักผ่อนบ้างหรือไง ผมก็งงๆ แล้วก็คิดได้ว่า การได้คิด ได้ลอง ได้ทำ สิ่งที่เราสนใจและเห็นว่าเป็นประโยชน์ออกนอกตัวเรา มันเป็นการพักผ่อนอยู่ในตัวแล้ว เหมือนเล่นกีฬา ความเหงาก็เลยหาช่องเข้ามาได้ยากมาก เคยเขียนกลอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว  และ ณ วันนี้ก็ยังเป็นจริงอยู่ครับ

    อันความเหงา  เป็นอย่างไร  ไม่ค่อยรู้
เพราะหน้าที่  มีอยู่  และมากหลาย
ไร้ช่องว่าง  ให้ความเหงา  มาเยี่ยมกราย
อยากเหงาบ้าง  แต่เสียดาย  ไม่มีเวลา !

 

อ่านบทความของอาจารย์แล้ว มีกำลังใจทำงานอีกมาก (ยังทำน้อยกว่าอาจารย์มาก)  ผมสนใจเรื่องการศึกษาเหมือนกัน ด้วยเหตุที่ลูกเรียนอยู่ประถม มีความรู้สึกว่ามีโอกาสพัฒนาเด็ก ๆ มาก เพราะเด็กยังต้องการเรียนรู้และเชื่อฟังคุณครูมาก อยากฟังแนวคิดในการพัฒนาตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม ก่อนไปถึงระดับอุดมศึกษาที่เห็นด้วยกับอาจารย์ว่าขาดการเชื่อมโยงมาในสังคมและมีสิ่งที่ควรเรียนรู้อีกมากนอกจากในตำรา ซึ่งจะนำมาใช้ได้ส่วนหนึ่งในชีวิต 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท