๑๒๐.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาในฐานะเป็นองค์แห่งความรู้


นอกจากพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ จะมีวิชชา ความรู้แล้ว ท่านยังมี จรณะ ความประพฤติด้วย และความประพฤตินี้เองที่สร้างแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังได้ก้าวเดินอย่างมั่นใจ และยอมรับในจริยาวัตรที่งดงามของท่าน ดังภาษิตที่ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมนุสฺเส ที่มีความหมายว่าผู้ฝึกตนเองแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ ส่วนบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ จะประเสริฐในหมู่ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของความรู้และความประพฤติ ได้อย่างลงตัว

 

บทที่  ๓

 

            คำว่า “องค์แห่งความรู้” คือเป็นความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเรียนรู้ สู่กระบวนการคิด จนเกิดทักษะในการถ่ายทอดความรู้นั้น ๆ พระเดชพระคุณหลวงปู่ใหญ่ก็เช่นกัน ท่านมีองค์แห่งความรู้ที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนความรู้ที่ได้มาตกผลึก เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวท่าน แล้วกลั่นออกมาเป็นเอกสารตำราทางวรรณกรรมล้านนาอย่างมากมาย ดังจะกล่าวต่อไป

 

...................................................

๓.๑.ความเป็นนักวิชาการ 

...................................................

                ความโดดเด่นในเรื่องวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยานั้นจะหาผู้ใดที่จะเสมอเหมือนมิได้ จากประวัติและผลงานของพระเดชพระคุณท่านได้ยืนยันในเรื่องนี้ไว้และทำให้เราได้เห็นอย่างชัดเจน  ดังเอกสารความตอนหนึ่งว่า

                “.....เป็นพระสงฆ์ที่มีความเข้าใจและมีความวิริยะอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ / โบราณคดีของอาณาจักรล้านนาและเมืองพะเยามาเป็นเวลานานมากกว่า  ๔๐  ปี  เป็นผู้เปิดประตูเมืองพะเยาในอดีตให้อนุชนคนรุ่นหลัง ๆ ได้เข้าไปศึกษาโบราณสถาน  โบราณวัตถุเพื่อให้ความรู้  ความเข้าใจ  ความหวงแหน  วัฒนธรรมของตนเองอันเป็นมรดกล้ำค่า  โดยได้เก็บสะสมวัตถุโบราณต่าง ๆ มาตั้งแต่  พ.ศ.๒๕๐๘  มีโบราณวัตถุต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  เช่น  จำพวกประติมากรรมศิลปะวัตถุ  ศิลาจารึก  โบราณวัตถุอื่น ๆ  อีกมากมาย....”[1]

                นั้นก็หมายความว่า นอกจากท่านจะมีความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้างานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว ท่านยังมีความมุ่งมั่นต่อภารกิจนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องและจริงจังด้วย

                เพื่อให้ความชัดเจนและความเป็นปราชญ์ของท่านจึงนำเสนอผลงานที่พระเดชพระคุณท่านได้ปริวรรตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วๆไปเอาไว้  ดังนี้[2]

                ๑.ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา  พ.ศ.๒๕๒๔

                ๒.ตำนานเมืองเชียงแสน  พ.ศ.๒๕๒๔

                ๓.อัตถคัมภีร์พุทธโฆษาจารย์และพระราชกำหนด(กฎหมาย)  พ.ศ.๒๕๒๔

                ๔.เมืองพะเยา  พ.ศ.๒๕๒๗

                ๕.พระพุทธรูปและเมืองโบราณของเมืองพะเยา  พ.ศ.๒๕๒๙

                ๖.ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง  พ.ศ.๒๕๓๑

                ๗.จดหมายประวัติศาสตร์ของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา  เรื่อง การสร้างวิหารพระเจ้าตนหลวง  พ.ศ.๒๕๓๒

                ๘.ศรีโคมคำ (พระเจ้าตนหลวง) และพญาเจือง  พ.ศ.๒๕๓๖

                ๙.ความเป็นมาของพะเยาในอดีต  พ.ศ.๒๕๓๗

                ๑๐.ตำนานเมืองเชียงแสน  พ.ศ.๒๕๓๘

                ๑๑.ประวัติศาสตร์  สังคม  วัฒนธรรมเมืองพะเยา  พ.ศ.๒๕๓๘

     ๑๒.เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเชียงราย-พะเยา  พ.ศ.๒๕๓๙

     ๑๓.คำอวยพรปีใหม่  พ.ศ.๒๕๔๑

     ๑๔.ประวัติกว๊านพะเยา  ๒๕๔๒

     ๑๕.ความเป็นมาในอดีตของเมืองพะเยา และประวัติพระยายุทธิศเสถียรเมืองสองแคว  พ.ศ.๒๕๔๓

     ๑๖.ตำนานพระแซกคำ  พ.ศ.๒๕๔๔

     ๑๗.ตำนานวัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุญนาค  จังหวัดพะเยา

     ๑๘.ประเพณีทำบุญล้านนา

     ๑๙.บันทึกสถิติน้ำท่วมเมืองพะเยาและค่าวน้ำท่วม

     ๒๐.คติธรรมคำสอน

     ๒๑.อนายุสสูตร  ที่  ๑-๒  และคติคำสอนโบราณ

     ๒๒.ประวัติคณะสงฆ์เมืองพะเยา

     ๒๓.บันทึกและค่าวซอ การท่องเที่ยวเมืองหลวงพระบาง

     ๓๔.ปรมัตถธรรม

     ๓๕.๑๐๐  ปีเหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ  พ.ศ.๒๔๔๕

 

     นอกจากนี้แล้ว ยังได้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ท่านเป็นนักวิชาการทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในหัวข้อ “พระธรรมวิมลโมลี เพชรแห่งเมืองพะเยา” ว่า

“.....ด้วยความได้เปรียบของการอ่านและการเขียนภาษาล้านนา และด้วยสถานะที่ท่านเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาท่านจึงมีความรู้ความสามารถพิเศษหลาย ๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแปลนพระอุโบสถ  กุฏิ  วิหารแบบล้านนา  รวมไปถึงประวัติศาสตร์และโบราณคดีล้านนา  ที่ท่านตั้งใจศึกษาค้นคว้ามากว่า  ๔๐  ปี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเมืองพะเยา....”[3]

     นอกจากงานปริวรรต  และแต่งหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว ท่านยังได้เสียสละเวลาทรัพย์สินและความอดทน ในการรวบรวมข้อมูลอันเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์เมืองพะเยาเอาไว้อันเปรียบเสมือนตำราเล่มใหญ่ทีเดียว คือ

-วัตถุโบราณประมาณ  ๑,๐๐๐  ชิ้น

-ศิลาจารึกประมาณ  ๓๐  ชิ้น

-ตำรา / คัมภีร์ใบลาน / สมุดข่อย  เป็นจำนวนมาก

     จากผลงานดังกล่าวทำให้เมืองพะเยามีสถานที่สำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายดังหนังสือที่ระลึกงานทำบุญอายุครบ  ๘๕  ปี ของพระเดชพระคุณหลวงปู่  ว่า[4]

“....ผลงานทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและที่รวบรวมจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น  พร้อมกับวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่จังหวัดในส่วนภูมิภาคของไทยจะมีขึ้นได้โดยไม่ง่ายนัก คือ

-หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่โฉนดของวัดศรีโคมคำด้านทิศใต้ติดกับชายกว๊านโดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเสด็จเปิด

-หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมารจังหวัดพะเยา  ซึ่งจัดสร้างขึ้นในพื้นที่บริเวณดอยพระธาตุจอมทองวัดศรีโคมคำ  โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่  ๘  มีนาคม  ๒๕๓๘.....”

     ส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และมหาวิทยาลัยพะเยา ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากฐานข้อมูลของพระเดชพระคุณท่านนี้เอง

     เราจะเห็นว่า  ผลงานของพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้น  ได้แสดงให้ประชาชนชาวจังหวัดพะเยาและชาวล้านนาได้รู้ได้เห็น  ได้ประจักษ์เป็นการเฉพาะก็หาไม่  แท้ที่จริงแล้ว เกียรติคุณมากมายที่ท่านได้รับทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ  ดังเอกสารการเสนอขอปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ว่า

“..จากผลงานดีเด่นทั้งด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาการส่งเสริมการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร  กุลบุตรกุลธิดาการสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธุชนทั่วไป  เช่น  ได้รับพระราชทานโล่ผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมดีเด่น  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ / ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ / ได้รับเข็มและโล่ประกาศเกียรติคุณผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นประจำปี  ๒๕๔๑  เป็นต้น...”[5]

     ดังนั้น ความเป็นนักวิชาการของพระเดชพระคุณหลวงปู่ที่มีผลงานโดดเด่นและหลากหลายนี้เอง สะท้อนให้ท่านเป็นผู้มีวิชชาคือความรู้และจรณะคือความประพฤติอย่างน่าติดตามยิ่ง

 

.................................................

๓.๒.จรณะ ความประพฤติ

............................................

            นอกจากพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ จะมีวิชชา ความรู้แล้ว ท่านยังมี จรณะ ความประพฤติด้วย และความประพฤตินี้เองที่สร้างแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังได้ก้าวเดินอย่างมั่นใจ และยอมรับในจริยาวัตรที่งดงามของท่าน ดังภาษิตที่ว่า ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ  วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน  โส  เสฏฺโฐ  เทวมนุสฺเส  ที่มีความหมายว่าผู้ฝึกตนเองแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ ส่วนบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ จะประเสริฐในหมู่ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  นั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของความรู้และความประพฤติ ได้อย่างลงตัว



[1] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา. ประวัติและผลงานพระธรรมวิมลโมลี. เอกสารเสนอขอดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์, ๒๕๔๕.

[2] พระธรรมวิมลโมลี. ๑๐๐ ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ.๒๔๔๕. ๒๕๔๒, หน้า จ.

[3] ศิริวรรณ มะโนวงศ์และชัยวัฒน์ จันทิมา. ปราชญ์เมืองพยาว. ๒๕๔๓ หน้า ๑๐.

[4] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา. ที่ระลึกงานทำบุญครบ ๘๕ ปี. ๒๕๔๕, หน้า  ๓๘.

[5] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา. เอกสารเสนอขอดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์.

 

หมายเลขบันทึก: 445199เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท