อุดมศึกษากับความถูกต้องชอบธรรม



          บทบรรณาธิการของ นสพ. แนวหน้า แสดงความห่วงใยผลกระทบต่อสังคมไทยจากการซื้อขายปริญญา   เป็นข้อเขียนที่ดีมาก   และผมขอนำมาขยายต่อว่า วงการอุดมศึกษาต้องเอาใจใส่เรื่องคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติงานของตนให้มากกว่านี้   เพราะอุดมศึกษาเป็นที่บ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ออกไปทำหน้าที่ดูแลชาติบ้านเมืองในอนาคต

          หากกลไกบ่มเพาะบิดเบี้ยวเสียเอง   บัณฑิตที่ออกไปก็ย่อมบิดเบี้ยวไปหมด  ยิ่งโดนสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนให้ “เลี่ยงบาลีนิดหน่อย” เพื่อผลประโยชน์   บัณฑิตเหล่านี้ก็จะทำสิ่งผิดคุณธรรมจริยธรรมได้โดยไม่รู้สึกผิด   ความชั่วร้ายในสังคมก็จะยิ่งระบาดหนักยิ่งกว่าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

          ตลอดชีวิตการทำงานในมหาวิทยาลัยของผม   ผมจะบอกผู้ร่วมงานอย่างตรงไปตรงมาว่า กติกาเชิงคุณธรรมจริยธรรมของการทำงานในมหาวิทยาลัยต้องเข้มงวดเคร่งครัดยิ่งกว่าสังคมภายนอก   เพราะเราทำหน้าที่สร้างบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม   หากสังคมมหาวิทยาลัยย่อหย่อนด้านคุณธรรมจริยธรรม   ก็จะเป็นตัวอย่างให้นักศึกษา   ไม่ว่าเราจะพร่ำสอนหลักการดีเพียงไร ก็จะไร้ผล   เพราะเขาจะรู้ว่าเราดีแต่พูด   หรือพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง   การปฏิบัติเป็นตัวอย่างมีอิทธิพลสูงกว่าคำสอนมากมายนัก

          ดังนั้น การทำผิดในลักษณะของการทุจริตในการดำเนินการมหาวิทยาลัย   หากมีหลักฐานว่าเป็นการจงใจ ต้องลงโทษขั้นสูง หรืออย่างรุนแรงเสมอ ไม่มีการปรานี   ผมถือหลักการนี้สมัยทำหน้าที่บริหารงานคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   และดำเนินขั้นตอนสอบสวนลงโทษไล่ข้าราชการที่ทุจริตไปหลายคน แม้จะสงสาร แต่ก็ต้องทำ   เพื่อดำรงสังคมมหาวิทยาลัยให้มีระดับคุณธรรมจริยธรรมสูง

          ผมจึงเห็นด้วย กับการลงโทษผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการขายปริญญาหรือประกาศนียบัตร ด้วยโทษขั้นสูงสุด หากสอบสวนได้ว่า ทำผิดจริง   โดยโทษนี้ต้องเป็นคดีอาญา และถือเป็นการฉ้อโกงประชาชน และประเทศชาติ 

          ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่เอาใจใส่ตรวจสอบและขจัดเหลือบสังคมที่หากินโดยมิชอบอยู่โดยรอบกิจการของมหาวิทยาลัย   มีผู้เล่าว่า ไปงานประชุมวิชาการใหญ่โตที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง   และนั่งรถผ่านป้ายประกาศรับทำวิทยานิพนธ์ อยู่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยนั้น ที่เป็นป้ายขนาดใหญ่มาก ที่เรียกว่า คัดเอ๊าท์   ที่จริงวันนั้นผมไปด้วย แต่ไม่เห็น มิฉะนั้นจะมีรูปโปสเตอร์นั้นมาให้ดูด้วย   ผมคิดว่า การที่ผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้นไม่เอาใจใส่ หรือทำเป็นไม่เห็น เป็นการส่งเสริมการทุจริตทางวิชาการทางอ้อม   และจะนำมาซึ่งความเสื่อมของมหาวิทยาลัยนั้น

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ พ.ค. ๕๔

         
        

หมายเลขบันทึก: 445196เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท