๑๑๙.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ๒


จากการที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นปราชญ์หรือผญาในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้คลอบคลุมแทบทุกด้าน เพียงแต่คนรุ่นหลังจะก้าวทันความคิดของพระเดชพระคุณท่านหรือไม่? และสามารถเข้ามาต่อยอดกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อสถานการณ์ที่ทันยุคทันสมัยโดยใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

     นอกจากงานวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแล้ว ผู้เขียนยังได้จัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมภูกามยาว ในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา ซึ่งได้ให้การอบรมแก่กับเด็กและเยาวชนโดยการจำลองสถานการณ์ให้ฝึกนำเที่ยว ซึ่งพอจะสรุปได้ ดังนี้

               การจัดโครงการสืบสานวัฒนธรรมภูกามยาวดังกล่าว ผู้เขียนใช้ชื่องานว่า “การศึกษาแนวทางการส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองพะเยา” โดยมีสภาพความเป็นมาของงานว่าเมืองพะเยามีแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญอย่างมากมาย จนถือว่าวัดศรีโคมคำเป็นเพชรน้ำหนึ่งในแถบถิ่นลุ่มน้ำอิง และผู้คนถือว่าพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นเอกลักษณ์และตำนานแห่งเมืองพะเยาไปด้วย ที่เมื่อพูดถึงเมืองพะเยาย่อมเข้าใจในบทบาทของพระเดชพระคุณท่านในประเด็นดังกล่าวนี้ได้ดี

     แต่แหล่งการเรียนรู้เหล่านั้นยังขาดการส่งเสริมในเชิงการพัฒนาการไปสู่เด็กเยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นอย่างมาก  จนแทบไม่เห็นความสำคัญและมองผ่านแหล่งวัฒนธรรมดังกล่าวเพียงแค่สัญลักษณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น

     ผู้เขียนจึงต้องการที่จะให้เกิดภาพการแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นดังกล่าวขึ้น จึงได้เข้ามาศึกษาเพื่อนำเสนอต่อไป  โดยมีวัตถุประสงค์ ว่า

     ๑.      เพื่อศึกษาแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญอันเป็นวัฒนธรรมของเมืองพะเยาด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น

     ๒.    เพื่อศึกษารูปแบบการนำเสนอของมัคคุเทศก์อาสานำชมแหล่งการเรียนรู้

     ๓.     เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองพะเยา

ในครั้งนั้นผู้เขียนได้กำหนดขอบเขตการศึกษาเอาไว้ ดังนี้

                ๑.ขอบเขตด้านประชากร/กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน  ๑๐  สถาบัน  จำนวน  ๑๕๐  คน โดยกลุ่มตัวอย่างทั้ง  ๑๕๐  รูป/คนนั้น  ผู้เขียนได้มอบหมายให้แต่ละสถาบัน  พิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชน  สถาบันละ  ๑๕  รูป/คน  โดยทางผู้เขียนได้ตั้งเกณฑ์คุณสมบัติ  ดังต่อไปนี้

     ก.      เป็นผู้สนใจงานวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองพะเยา

     ข.      สามารถนำเทคนิคการเป็นผู้นำชมไปเผยแผ่ได้

     ค.      เป็นสมาชิกของชมรมในสถาบัน

     ง.       มีภาวะผู้นำสูง

 

            ๒.ขอบเขตด้านเนื้อหา ผู้เขียนได้กำหนดเนื้อหาที่ต้องการรู้ไว้ ๓ ประการ คือ

                ก.ศึกษาประวัติศาสตร์  ตำนาน  ภูมิหลังของแหล่งการเรียนรู้นั้น ๆ 

                ข.ศึกษาถึงเทคนิคการเป็นผู้นำชมแหล่งการเรียนรู้ที่ดี

                ค.ศึกษาถึงแนวทางส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้

 

          ๓. ขอบเขตด้านพื้นที่ (แบบจำลองการศึกษา) มีทั้งหมด ๕ จุด คือ

                ก.วัดศรีโคมคำ  ๔  จุด

                ข.หอวัฒนธรรมนิทัศน์  ๑  จุด

 

     ในการศึกษาครั้งนั้น ผู้เขียนลองให้คำจำกัดความไว้คร่าว ๆ ว่า

                คำว่า “แนวทางการส่งเสริม”            หมายถึงแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองพะเยา

                คำว่า “แหล่งการเรียนรู้”                    หมายถึงแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญของเมืองพะเยา จำนวน  ๕  จุดคือ  หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ, พระอุโบสถกลางน้ำ, พระเจ้าตนหลวง, พระพุทธรูปหินทราย และสวนศิลป์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่ได้สร้างสรรค์เอาไว้และได้บูรณะเพิ่มเติม

                คำว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”                 หมายถึงการตีความหมายปริศนาธรรมที่เป็นเรื่องราว สิ่งของ วัตถุโบราณ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้มีโอกาสเก็บสะสมและสร้างขึ้นไว้ภายในบริเวณหอวัฒนธรรมนิทัศน์และวัดศรีโคมคำ  ซึ่งมีการคาดคะเนว่าน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา ๓ ประการคือ

                ๑.ได้ศึกษาถึงแหล่งการเรียนรู้และวัฒนธรรมที่สำคัญของเมืองพะเยาที่เป็นผลงานการสะสมและบำรุงรักษาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์

                ๒.ได้เทคนิคการนำเสนอและได้มัคคุเทศก์อาสานำชมแหล่งการเรียนรู้รุ่นใหม่สู่สังคม

                ๓.ได้แนวทางการส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองพะเยาว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรในอนาคต

 

     เมื่อจะเข้าไปศึกษาค้นคว้านั้น ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาสาระแล้วสรุปประเด็นรวมกันทั้งหมด   ๕   จุด  ซึ่งประกอบไปด้วย

     จุดที่หนึ่ง              เป็นการเปิดโลกทัศน์เมืองพะเยา โดยอาศัยหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เป็นฐานการศึกษา โดยผู้เขียนได้เน้นถึงแนวคิดการจัดตั้ง-ความเป็นมา-พัฒนาการของหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ทั้งนี้ต้องไม่ทิ้งเนื้อหาของการจัดการแสดงในส่วนต่าง ๆ ตามห้องที่จัดแสดงเอาไว้

     จุดที่สอง               วัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งภูกามยาว ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้ใช้พระอุโบสถกลางน้ำเป็นฐานการเรียนรู้ โดยเน้นให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ถึงรูปแบบของศิลปะเมืองล้านนาและความหมายที่ควรจะเป็นผ่านรูปทรงล้านนาประยุกต์  ตลอดจนถึงงานด้านจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพในความคิดและจินตนาการของคุณอังคาร   กัลยาณพงษ์ และคุณภาพตะวัน  สุวรรณกูฎ

     จุดที่สาม               วัฒนธรรมที่รวมใจคนพะเยา ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนได้กำหนดบริเวณพระวิหารหลวงเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ โดยเน้นประวัติความเป็นมา พุทธลักษณะ ความหมาย ตลอดจนถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของพระเจ้าตนหลวง หรือที่เนื่องด้วยประเพณี ศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมที่จัดในแต่ละปี เช่น งานแปดเป็ง งานกฐินพระราชทาน งานสงกรานต์ งานตานก๋วยสลาก เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังให้คุณค่าของพระเจ้าตนหลวงในฐานะเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณแห่งคนลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

     จุดที่สี่                    แอ่งวัฒนธรรมแห่งเมืองพะเยา ในจุดนี้ผู้เขียนได้กำหนดบริเวณศาลารายรอบพระวิหารหลวง ที่เปรียบเหมือนพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปหินทรายจำนวนมาก ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ได้เก็บรักษาเอาไว้ โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญประติมากรรมพระพุทธรูปหินทรายและความเป็นมา  ตลอดจนถึงแนวคิดพัฒนาการและบ่อเกิดวัฒนธรรมแห่งเมืองพะเยา 

     จุดที่ห้า                  แหล่งความรู้คู่ประติมากรรม ในจุดนี้ผู้เขียนได้กำหนดบริเวณสวนศิลป์ที่อยู่ใกล้ประตูทางด้านเหนือของวัด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ประตูเปรต โดยเน้นให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาตามแนวคิด “วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิพระร่วง” โดยทางพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ให้มีการจัดสร้างสวนศิลป์เอาไว้ให้คนไทยได้ศึกษาถึง “บาป-บุญ-คุณ-โทษ” ตลอดจนถึงความมุ่งหมายของปฏิมากรรมนั้น ๆ จนสามารถทำให้เกิดการอุปมาอุปมัย จินตนาการที่สร้างสรรค์

      ส่วนเครื่องมือที่ผู้เขียนใช้ก็คือ การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง  (เพศ  อายุ สถาบัน รายจ่าย/เดือน  สถานภาพผู้ปกครอง) และเป็นหัวข้อการสัมภาษณ์หรือสนทนา ในหลักการ ๓ ประการ คือ

                                ก.หลักการมัคคุเทศก์ที่ดี

                                ข.การแนะนำแหล่งเรียนรู้

                                ค.วิธีเผยแผ่ประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

     จากการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลงานที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ทำเอาไว้ตลอดระยะเวลา ๔๒ ปีของท่าน (หลวงปู่ย้ายมาอยู่วัดศรีโคมคำ ปี ๒๕๑๒) ทำให้วัดศรีโคมคำมีแหล่งการเรียนรู้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการเจียรนัยให้เกิดเป็นมณีอันมีค่าโดยเฉพาะผู้บริหารในระดับจังหวัด  และผู้คนในท้องถิ่นที่ยังไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าที่มีอยู่ จนกลายเป็นภาวะของการละเลยและการเอาใจใส่อย่างแท้จริง จนทำให้แหล่งการเรียนรู้เหล่านั้นขาดการส่งเสริมพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น

 

                จากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้พบว่า ในข้อมูล ๒ ประเด็น คือ

๑.สรุปจากข้อมูลเชิงคุณภาพ 

                                จุดที่  ๑   หอวัฒนธรรมนิทัศน์         ผลการศึกษาผู้เข้าร่วมสัมมนามองว่าเป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวทางด้านสังคม  วัฒนธรรมประเพณีของเมืองพะเยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  และถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับจังหวัดของเมืองพะเยามากกว่า การมองว่าเป็นเพียงวิถีชีวิต เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยว  ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญและความเสื่อมของเมืองพะเยาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน       

                                จุดที่  ๒  พระอุโบสถกลางน้ำ          ผลการศึกษาผู้เข้าร่วมสัมมนามองว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังและศิลปะแบบล้านนาประยุกต์เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและสวยงามประกอบกับทำเลที่ตั้งของตัวพระอุโบสถมีความน่าดึงดูดกว่าเรื่องอื่น ๆ อันเป็นสิ่งที่คนพะเยาภาคภูมิใจ

                                จุดที่  ๓  พระเจ้าตนหลวง                ผลการศึกษาผู้เข้าร่วมสัมมนามองในเรื่อง  ๓  เรื่องมีความสำคัญพอ ๆ กัน คือ  การเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เป็นพระพุทธปฏิมากรที่ยิ่งใหญ่ในล้านนา และเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของคนพะเยา มากกว่าการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และประเพณีประจำปี

                               จุดที่  ๔  พระพุทธรูปหินทราย         ผลการศึกษาผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มองว่าเป็นการแสดงถึงศิลปะ  รูปแบบการแกะสลักหรือเป็นศิลาจารึกมากที่สุด  รองลงมาคือมองว่าเมืองพะเยาเป็นแหล่งที่มีวัฒนธรรมหินทรายที่สำคัญที่สุด และที่สำคัญได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นเอกลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของเมืองพะเยาในอดีต

                              จุดที่  ๕  สวนศิลป์              ผลการศึกษาผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มองว่าเป็นสถานที่ ที่ทำให้เกิดการสะท้อนให้เห็นภาพของการมีบาป-บุญ-คุณ-โทษ มากกว่าเป็นเรื่องของความรู้  จินตนาการ หรือข้อคิดเตือนใจ  ทั้งนี้มีการกระทำของตัวเองเป็นเครื่องวัดระดับจิตวิญญาณด้วย

 

๒.สรุปจากข้อมูลเชิงปริมาณ

     ด้านการใช้เทคนิคของผู้นำชม (ไกด์) ผู้เข้ารับการสัมมนาได้ใช้เทคนิค ๑๒  ประการ  เรียงลำดับ  ดังนี้  อธิบายเป็นขั้นเป็นตอนให้เข้าใจ  (๒๓.๐๗)  นำชมให้เห็นของจริง  (๑๐.๙๘)  ผู้นำชมต้องมีความรู้  (๑๐.๙๘)  ผู้นำชมต้องมีสื่ออุปกรณ์เสริม  (๙.๘๙)  การสอดแทรกมุกตลก  (๘.๗๙)  มีทักษะและสร้างแรงจูงใจ  (๖.๕๙)  นอกนั้นจะมีระดับที่เท่ากันคือ (๓.๒๙)  ประกอบไปด้วย  ขึ้นอยู่กับบุคลิกผู้นำชม, การพูดชัดถ้อยชัดคำ,การมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมและผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

 

ด้านปัญหาและอุปสรรค

                ผู้เข้ารับการสัมมนาได้ให้ทรรศนะในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้  ๑๐  อันดับแรก เรียงลำดับ  ดังนี้  ระยะเวลาในการสัมมนามีน้อย  (๓๖.๔๑)  อากาศร้อน-หอวัฒนธรรมนิทัศน์- (๙.๘๗)  ไม่แม่นในเนื้อหา –ผู้บรรยายประจำจุดพระเจ้าตนหลวง (๖.๑๗)  ฟังไม่ทันหรือได้เนื้อหาไม่ครบ  -เวลาน้อย  (๖.๑๗)  สถานที่ไม่สะอาด-สวนศิลป์  (๔.๙๓)  ไม่กล้าแสดงออก  (๔.๓๒)  ระยะทางของแต่ละจุดไกลกัน  (๔.๓๒)  ความไม่สนิทสนมกัน  (๓.๗๐)  สถานที่อยู่ในช่วงบูรณะ-พระวิหาร  (๓.๗๐)  และจำนวนผู้เข้าสัมมนากับวิทยากรประจำฐานไม่มีสัดส่วนไม่เหมาะสม  (๓.๐๘)

 

ด้านแนวทางการส่งเสริม

                ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ให้ทรรศนะในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้  ๑๐  อันดับแรก  เรียงลำดับ  ดังนี้  ปลูกฝังให้เยาวชนคนในท้องถิ่นเข้ามาศึกษาเรียนรู้  (๙.๙๒)  ควรให้มีการอบรมมัคคุเทศก์เป็นประจำ  (๙.๑๖)  มีการประชาสัมพันธ์สถานที่  (๗.๖๓)  จัดให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู  (๖.๘๗)  จัดแจงสถานที่ให้เรียบร้อย  (๔.๕๘)  ติดป้ายบอก,เตือน,โฆษณา  (๔.๕๘)  มีกิจกรรมเสริม  (๓.๘๑)  จัดให้มีวิทยากรประจำจุดพร้อมบรรยาย  (๓.๘๑)  อีก  ๕  ประเด็นที่ได้ (๓.๐๕) คือ ควรเสนอเป็นแผ่นผับ, จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว, มีการผลิตเอกสารเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้, ผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะเป็นสื่อเผยแผ่เอง, มีการจัดวางสินค้า OTOP  ร่วมอยู่ด้วย  และอีก  ๖  ประเด็นที่ได้ค่า (๒.๒๙)  คือ ควรจัดให้มีสื่อทันสมัยประกอบ,  มีการตกแต่งสถานที่ให้น่าสนใจ, ระบุคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น, จัดตั้งชมรมมัคคุเทศก์อาสา, ส่งวิทยากรไปตามสถาบันการศึกษา, ควรมีเรือหรือรถบริการนำชม

                จากการที่กล่าวมาทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นปราชญ์หรือผญาในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้คลอบคลุมแทบทุกด้าน เพียงแต่คนรุ่นหลังจะก้าวทันความคิดของพระเดชพระคุณท่านหรือไม่? และสามารถเข้ามาต่อยอดกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อสถานการณ์ที่ทันยุคทันสมัยโดยใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 445198เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท