๑๑๘.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ๑


เป็นวัดแห่งการเรียนรู้ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ส่งนักวิจัยเข้ามาศึกษาและพิมพ์เผยแผ่ในหัวข้อ “รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนากรณีศึกษาวัดศรีโคมคำ ประเภทการจัดแหล่งเรียนรู้” ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๖ ซึ่งทางวัดได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ช่วยนักวิจัยคอยให้ข้อมูล เสนอแนะ และร่วมทำงาน

 

บทที่  ๒

           

     คำว่า วัฒนธรรม มาจากคำสองคำคือ วัฒน แปลว่าเจริญก้าวหน้า, งอกงาม กับคำว่า ธรรม แปลว่าคุณงาม, ความดี, บ่อเกิดความดี เป็นต้น เมื่อรวมกันแล้วจะได้ความว่าบ่อเกิดแห่งความดีที่เจริญงอกงาม หรือสภาพแห่งความเจริญที่เป็นคุณงามความดีแห่งกลุ่มชน นั่นเอง

     สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมเอาไว้  ๒  ลักษณะคือ

     “....๑.ความหมายทั่วไป (General  Definition) วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของคนในสังคมที่เป็นแบบแผนการประพฤติปฏิบัติและการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สมาชิกในสังคมเดียวกันสามารถเข้าใจ  ซาบซึ้ง  ยอมรับ  และใช้ปฏิบัติร่วมกัน  อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้น ๆ ๒.ความหมายเชิงปฏิบัติการ  (Operation  Definition)  วัฒนธรรมหมายถึงความเจริญงอกงาม  ซึ่งเป็นผลจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  มนุษย์กับสังคมและมนุษย์กับธรรมชาติ  สามารถจำแนกออกเป็น  ๓  ด้าน คือ  จิตใจ  สังคม  และวัตถุ มีการสั่งสมและสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง  จนกลายเป็นแบบแผนที่สามารถเรียนรู้และก่อให้เกิดผลิตกรรมและผลิตผล ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อันควรแก่การวิจัย  อนุรักษ์  ฟื้นฟู  พัฒนา  ถ่ายทอด  ส่งเสริม  เสริมสร้างเอตทัคคะและแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างเสริมดุลยภาพระหว่างมนุษย์  สังคม  และธรรมชาติ  ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสันติภาพ  สันติสุข และอิสรภาพอันเป็นพื้นฐานแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ...” [1]

     ความเป็นปราชญ์ในฐานะนี้มีผู้กล่าวถึงและจัดทำเป็นรูปเล่มที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว  ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวเอาไว้โดยย่อเท่านั้น

 

..................................................

            ๒.๑.วัดศรีโคมคำ 

..................................................

                                เป็นวัดแห่งการเรียนรู้  ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ส่งนักวิจัยเข้ามาศึกษาและพิมพ์เผยแผ่ในหัวข้อ  “รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนากรณีศึกษาวัดศรีโคมคำ  ประเภทการจัดแหล่งเรียนรู้” ประจำปีงบประมาณ  ๒๕๔๖  ซึ่งทางวัดได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ช่วยนักวิจัยคอยให้ข้อมูล เสนอแนะ และร่วมทำงาน

                ในที่นี้จะขอยกเอาบทความเรื่อง  “แนวทางในการสร้างวัดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ ” [2]  มานำเสนอเพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น  ดังนี้

                แม้ทางวัดศรีโคมคำจะมีพื้นที่กว้างขวาง  โดยจัดออกเป็น  ๒  ส่วน คือส่วนของวัดศรีโคมคำ มีเนื้อที่  ๗๔  ไร่  พื้นที่ลานหน้าวัดอีก  ๑๘  ไร่  ส่วนที่เป็นพระธาตุจอมทองอีก  ๑๐๘  ไร่ เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้วกว่า  ๒๐๐  ไร่  [3] แต่พื้นที่ทั้งหมดก็ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมชุมชนแทบทุกตารางนิ้ว  โดยจะขอแบ่งออกเป็นบริเวณ  หรือเขต ดังต่อไปนี้

 

                ๑) บริเวณพระธาตุจอมทอง   ซึ่งอยู่ห่างจากวัดศรีโคมคำไปทางทิศเหนือประมาณ  ๑  กิโลเมตรตั้งอยู่บนดอยใจกลางเมืองพะเยา  บริเวณดังกล่าวนี้สามารถมองดูตัวเมืองพะเยา, กว๊านพะเยา ได้รอบทิศทางชัดเจน  สามารถเดินทางขึ้นสู่พระธาตุได้  ๓  ทางคือ  ทางด้านหน้าขึ้นบันไดนาค  และมีทางเบี่ยงที่เป็นทางลาดยางรถยนต์สามารถขึ้นได้  ทางด้านทิศหลังพระธาตุสามารถขึ้นได้ทางแขวงการทางใกล้ศาลากลางจังหวัดพะเยา และทางถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ด้านหอจดหมายเหตุแห่งชาติ   บริเวณนี้อาจแยกได้เป็น  ๖  จุดดังนี้

  • จุดชมวิว  ซึ่งนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเรียนรู้ถึงระบบนิเวศวิทยาของเมืองพะเยาก็สามารถเดินทางพากันมากราบพระธาตุจอมทองแล้วชมทิวทัศน์ได้
  • สวนสมุนไพร  ซึ่งมีการสำรวจและได้จัดทำป้ายชื่อไว้ทุกต้น  เด็ก ๆ และประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าศึกษาได้ตลอดเป็นลักษณะสวนสมุนไพรเปิดตลอด  ๒๔  ชั่วโมง
  • ศูนย์ปฏิบัติธรรม  ในปัจจุบันมีนิสิตมหาวิทยาลัยสงฆ์  ได้เข้าฝึกอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ทุกปี  และญาติธรรมผู้สนใจได้มีกิจกรรมการปฏิบัติอยู่ทุก ๆ  เดือน
  • เป็นสถานที่ออกกำลังกายของชาวพะเยาทั้งเช้าและเย็น  เราจะเห็นชาวบ้านทั้งวิ่งทั้งเดิน ทั้งขี่จักรยานออกกำลังกายทุกวัน
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ทางวัดได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นที่ตั้งของหอ ฯ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของประชาชนและเป็นที่เก็บรวบรวมเอกสารเหตุการณ์ต่าง ๆ ของ  ๘  จังหวัดภาคเหนือ
  • อุทยานพระพุทธศาสนา  ทางจังหวัดพะเยาได้จัดให้บริเวณพระธาตุจอมทองเป็นอุทยานทางพระพุทธศาสนาพร้อมเสนองบประมาณเพื่อจัดทำประมาณ  ๒๐  ล้านบาท

 

๒) บริเวณอุทยานการศึกษา             บริเวณนี้แบ่งเป็นแหล่งการศึกษาถึง  ๓  จุดด้วยกัน

  • โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี  แผนกธรรม มีพระเณรเข้ามาศึกษาทั้งภาคปกติโดยมีการเรียนการสอนตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี - โท และเอก  ภาคพระนวกะที่มีหลักสูตรพิเศษต่างหากเพราะเป็นการบวชระยะสั้น  ๆ   ส่วนแผนกบาลีมีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นบาลีไวยากรณ์  ,  ประโยค ๑-๒,  ประโยค  ป.ธ.๓,  ๔,  ๕,  ๖  ส่วน  ๗-๙  เรียนตามอัธยาศัย  และในวันเสาร์อาทิตย์นักเรียนบาลียังได้เสริมการเรียนรู้ทางโลกโดยทางวัดได้จัดให้มีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาเปิดสอนด้วย
  • ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  ซึ่งในแต่ละปีจะมีเด็กขอเข้าเรียน  ๓๐๐-๔๐๐  คน  จากโรงเรียนทั้งประถม มัธยม  และอาชีวะ มากถึง  ๑๘-๒๐  โรงเรียนในเขตรอบ  ๆ  กว๊านพะเยา
  • สวนศิลป์  เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่สามารถสื่อให้เห็นถึงความดีความชั่ว  จากนามธรรมที่ไม่สามารถถูกต้องสัมผัสได้มาเป็นรูปธรรมที่ให้แนวคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

                ๓) บริเวณพระวิหาร  บริเวณนี้ที่น่าสนใจมีอยู่  ๔  จุด คือ

  • องค์พระเจ้าตนหลวง   เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองล้านนาที่มีอายุเก่าแก่รวมแล้ว  ๕๐๐  กว่าปี  โดยมีพระพุทธลักษณะครบบริบูรณ์  มีคนเล่าว่าในอดีตใครไปนมัสการองค์พระเจ้าตนหลวงแล้วถ้ามีบาปหนาจะมองไม่เห็นพระพักตร์ขององค์พระ  แต่ถ้าใครมีบุญจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน
  • เวทีแสดงธรรม  ทุกวันพระวันธัมมัสวนะจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาก่อนให้พรญาติโยมจากพระภิกษุภายในวัดซึ่งจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันมาเทศน์ให้ฟัง  ณ  ที่นี้เองผู้ที่ต้องการสาระจากหลักธรรมก็จะมากันพอสมควร
  • ที่จัดจำหน่ายหนังสือธรรมะ  เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผู้มากราบนมัสการพระเจ้าตนหลวงจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่  เมื่อสนใจหนังสือเล่มไหนนักเขียนท่านใด  ผู้ซื้อก็จัดการซื้อเองขายเองด้วยตัวเองโดยทางวัดจะจัดแค่หนังสือและตู้บริจาคเอาไว้เท่านั้น  นอกนั้นเป็นภาระของผู้ซื้อเอง  เรียกว่าเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่ดีได้อีกวิธีหนึ่ง
  • พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปหินทราย  อันนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งอาณาจักรภูกามยาวเลยทีเดียวเพราะมีแห่งเดียวในโลก  บางท่านบอกว่าศิลปกรรมหินทรายทางภาคอีสานก็มีมากมาย  ข้าพเจ้าก็ไม่เถียง  แต่เขานำหินทรายไปสร้างเทวรูปแบบเขมรในลัทธิศาสนาพราหมณ์  แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปขอให้สันนิษฐานได้เลยว่านี้แหละคือศิลปเมืองพะเยาเขาละ  !

 

๔) บริเวณพระอุโบสถกลางน้ำ  บริเวณนี้แบ่งได้  ๓  จุดด้วยกัน  คือ

  • ตัวพระอุโบสถซึ่งเป็นพระอุโบสถทรงไทยล้านนาประยุกต์ดูแล้วสวยงามมากเมื่อมองดูตอนเวลาเย็น ๆ จะเห็นตัวพระอุโบสถตัดกับกว้านพะเยาและภูเขาขนาดใหญ่ด้านหลังแล้วสามารถสร้างจินตนาการที่ตระการตาได้ ตัวพระอุโบสถนี้อุปถัมภ์โดยคุณขรรค์ชัย   บุญปาน แห่งเครือมติชน  และที่สำคัญหาที่ไหนไม่ได้อีกคือภาพจิตรกรรมฝาผนัง งดงามมากที่วาดโดยศิลปินแห่งชาติคือคุณอังคาร  กัลยาณพงษ์  และคุณภาพตะวัน   สุวรรณกูฏ
  • ต้นไม้พูดได้          นอกจากจะให้ความร่มรื่นจากร่มเงาแล้วยังให้ความรู้จากศาสตร์ที่หลากหลายมีข้อความอันเป็นสุภาษิตเตือนใจบ้าง  คำคมที่ให้ข้อคิดสะกิดใจบ้าง
  • วังปลา  มีปลาหลากหลายชนิดที่กรมประมงและชาวบ้านที่นำมาปล่อยเพื่อเป็นสิริมงคลตามเทศกาลต่าง ๆ ทั้งต่ออายุ  สืบชาตา  และในบริเวณเดียวกันก็มีหมอดูหลากหลายประเภทดูทั้งลายมือลายเท้า  ไพ่  เป็นต้นที่ยึดต้นไม้ใกล้ ๆวังปลาเป็นแหล่งทำมาหากิน  แรก ๆ ก็ดูขัด ๆ กันอย่างไรชอบกล แต่นาน ๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องการความสบายใจและดูกันสนุก ๆ ต้องการรู้อนาคตของตัวเองเผื่อว่าจะได้หาทางป้องกัน หรือระมัดระวังตัวยิ่งขึ้น

 

๕) บริเวณมหาวิทยาลัยสงฆ์ 

     บริเวณนี้เป็นสถาบันทางการศึกษาระดับสูงของพระพุทธศาสนา  ปัจจุบันเปิด

หลักสูตรในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยเน้นพระไตรปิฎกในการเรียนการสอนผู้ที่ต้องการรู้ถึงเนื้อหาสาระของหลักธรรมหรือประวัติศาสตร์ทางศาสนาต่าง ๆ ปัจจุบันเปิดกว้างให้คฤหัสถ์สามารถเข้ามาศึกษาต่อได้แล้ว  นอกจากนี้ทางวัดยังได้สร้างศาลาปฏิบัติธรรมขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติของผู้สนใจทั้งหลายและถือว่าเป็นศูนย์ปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดพะเยาด้วย          

                นอกจากนี้แล้วทางวัดศรีโคมคำร่วมกับเทศบาลเมืองพะเยา  ได้ปรับปรุงบริเวณวัดให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการอีก  ๒  ส่วน  คือ

               

๖) ลานแสดงสินค้าหน้าวัด

                วัดได้จัดสร้างกลุ่มอาคารร้านค้าและลานจอดรถให้โดยมีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน  ๑๘  ไร่เพื่อให้เป็นศูนย์รวมสินค้าพื้นบ้านและผลิตภัณฑ์  OTOP  หรือ  ๑  ผลิตภัณฑ์  ๑  ตำบล หรือตามแต่ความสะดวกของพ่อค้าแม่ค้าที่อาจจะเสนอสินค้าประเภทเครื่องใช้ ของอุปโภคบริโภค  ของที่ระลึกอย่างอื่นก็ได้

               

๗) กว๊านพะเยา (บริเวณติดด้านหลังวัด)

                ปัจจุบันทางเทศบาลเมืองพะเยากับการท่องเที่ยวได้จัดสรรเงินงบประมาณในการสร้างเขื่อนหลังวัดเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทำกิจกรรมบริเวณกว๊านพะเยาในวงเงินจำนวนถึง  ๑๙  ล้านบาท

 

....................................................................

            ๒.๒.หอวัฒนธรรมนิทัศน์

......................................................................

                บริเวณนี้เป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่สามารถของจังหวัดพะเยา โดยมีแนวคิดว่าดูที่เดียวเที่ยวได้ทั้งจังหวัดเลยก็ว่าได้  เพราะสถานที่แห่งนี้ถือว่าเป็นประตูสู่อาณาจักรภูกามยาว  ๙๐๐  กว่าปี  ได้ความรู้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์  ศาสนา  วัฒนธรรมประเพณี  ทั้งยุคต้น-ยุคกลาง-ยุคปัจจุบัน-ความหวังหรือยุคอนาคตของพะเยาอีกด้วย  รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนพะเยาที่มีความผูกพันกับกว๊านพะเยา 

     อาจถือว่าเป็นผลแห่งการสร้างองค์ความรู้ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ในฐานะปราชญ์ท้องถิ่น  และสามารถทำให้ผู้ที่สนใจในอดีตเมื่อเข้ามาศึกษาค้นคว้าก็เปรียบดังการเปิดแว่นสายตาก้าวเข้าสู่อาณาจักรภูกามยาวทั้งในส่วนของอดีต-ปัจจุบัน และอนาคต  อย่างสมบูรณ์แบบและครบวงจรเลยทีเดียว

 

..................................................................

            ๒.๓.หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

....................................................................

                                แม้พระเดชพระคุณหลวงปู่ไม่ได้จัดสร้างเองแต่ก็เป็นผู้สนับสนุนอย่างมากในการให้เกิดการจัดสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลแหล่งประวัติศาสตร์และความเป็นไปได้รวมทั้งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของวัดเป็นสถานที่ก่อตั้งโดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือให้อนุชน  นักเรียน  นิสิต  นักศึกษา  ได้ค้นคว้าและเติมเต็มทางด้านสติปัญญา



[1] พิมพ์พรรณ  เทพสุเมธานนท์, รศ.และคณะ. การศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๒), หน้า  ๖๗๘-๖๗๙.

[2] พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร  ถิรธมฺโม). แปดเป็งประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงเมืองพะเยา. (พะเยา  : นครนิวส์การพิมพ์, ๒๕๔๘),  หน้า  ๑๐๑-๑๑๐.

[3] จำนวนดังกล่าวนี้เป็นการประเมินจากเอกสารที่มี  ถ้าคำนวนตามคำบอกเล่าของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์  คาดว่ามีมากกว่า  ๕๐๐  ไร่

 

หมายเลขบันทึก: 445197เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท