ถูกคนรวยตีกรอบให้ดูแต่ศิลปะที่แย่ๆ


ถูกคนรวยตีกรอบให้ดูแต่ศิลปะที่แย่ๆ

สังคม ยังคงพูดถึงเรื่อง ละครเรื่อง เรยา และดอกส้มสีทอง ซึ่งหลายคนบอกว่า สะท้อนสังคมแบบมือถือสากปากถือศีล จากบทสำภาษ คำ ผกา หรือ คุณลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง
บทสนทนาเริ่มจากละครสุดฮิตแต่ไปจบที่การเมืองของชนชั้นนำ ลองอ่าน ต่อไปนี้

เห็นอะไรในวิวาทะเรื่อง ดอกส้มสีทอง

ละคร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นหรือตกใจอะไร กับกระแสต้านของผู้คนจนกลายเป็นประเด็นนี้ขึ้นมาในสังคมไทย และพล็อตเรื่องดอกส้มสีทอง ก็ไม่ใช่พล็อตละครเรื่องใหม่ในสังคมไทย อย่างเมื่อก่อนก็มีเรื่องสงครามนางฟ้า ที่มีการวิพากษ์ว่าเราจะปล่อยให้มีความหยาบคาย ไม่เคารพผู้อื่น แย่งผัวชาวบ้าน ออกมาโลดแล่นในจอโทรทัศน์ พอมาเป็นเรื่องนี้ก็เลยไม่รู้สึกตื่นเต้น
และโดยธรรมชาติของละครไทย อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ยังมีความเป็นลิเกสูง คือ แยกขาวกับดำ ให้เห็นความดีความชั่วชัดเจน แต่เมื่อละครต้องแข่งกันสูงขึ้น คำพูดและอารมณ์ในละครก็จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเรียกเรตติ้ง ส่วนกรณีคำพูดที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มันมาจากไหน เราคิดเองหรือเราได้มาจากนิยายหรือจากละครที่เราดูเรื่อยมาเป็นสิบๆ ปี ตรงนี้ยังไม่เคยมีใครทำวิจัยเลยว่า การแสดงออกทางอารมณ์ของคนไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำไมจึงเปลี่ยน เราเอาอารมณ์ความรู้สึกมาจากไหน เข้าใจว่าคนไทยเมื่อร้อยปีก่อน ไม่ได้มีวิธีการแสดงความรักต่อกันเหมือนแบบที่ปัจจุบันทำอยู่ ทำให้คิดว่าละคร เพลง บทกวี มีส่วนสร้างให้คนแสดงความรู้สึกออกมาอย่างไร เช่น ยุคก่อนคนไทยไม่เคยแสดงความรักด้วยการจูบ ต่อมาเมื่อเราเรียนรู้วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งว่า ความโรแมนติกเกิดขึ้นด้วยอารมณ์นี้ แสงไฟอย่างนี้ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราถึงจะจูบกัน เราไม่ได้เกิดมาแล้วรู้เลยว่าเราจะจูบกันได้อย่างไร ดังนั้นละครกับคนดูมันโต้ตอบกัน การที่จะเขียนบทละครได้ ก็ต้องเอามาจากสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือดูละครแล้วก็เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

เจ้าแม่ทีวีบอกว่า ละครต้องเน่า ยิ่งเน่ายิ่งดี

ไม่อยากให้ไปมองเรื่องน้ำเน่าหรือไม่น้ำเน่า แต่อยากให้มองว่า เราไม่เคยตระหนักว่าการแสดงออกทางอารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากศิลปะ วรรณกรรมที่มีอยู่รอบตัวเรา และในศิลปะวรรณกรรมเหล่านั้นก็ให้คุณค่าในตัวมันเอง เช่น ถ้าเป็นคนดี เวลาโกรธก็จะแสดงออกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นตัวร้ายก็แสดงออกอีกอย่างหนึ่ง เรื่องอย่างนี้มันเป็นการหล่อหลอมทางสังคม ไม่อยากให้ตัดสินว่ามันดีหรือไม่ แต่ให้รู้เท่าทันมันมากกว่า ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมจากสังคม ศิลปะ และวรรณกรรมเหล่านั้น

ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รุมยำดอกส้มสีทอง มองว่าการจัดเรตติ้งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ขอให้มีมาตรฐานเดียวกันเท่านั้นเอง แล้วขอให้การอธิบายการจัดเรตติ้งเป็นรูปธรรมด้วย คือ อย่าแค่อธิบายว่ามันจะกระทบกระเทือนกับความเป็นไทยที่มันจับต้องไม่ได้ อธิบายให้ชัดไปเลยว่าจะมีกระทบต่อเด็กอย่างไร เรารู้สึกว่าเด็กมันยังคิดเองไม่ได้ ถ้าเรื่องมันมีกิเลสตัณหามาก ขอให้ฉายห้าทุ่มได้หรือไม่ ทั้งนี้ไม่อยากให้แบนด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะทำให้ศีลธรรมของสังคมเสื่อมเสีย

ถึงที่สุดแล้วถ้าเด็กมันจะถ่างตารอดูตอนเที่ยงคืนโดยไม่มีผู้ปกครองดูด้วยก็ ปล่อยไป เพราะมันก็เกินกำลังของรัฐในการควบคุมดูแล ถ้าเกินกำลังรัฐประชาชนจะต้องเป็นผู้คานอำนาจรัฐ ว่ารัฐมีขอบเขตอำนาจควบคุมแค่นี้ แต่ไม่สามารถแทรกซึมดูกิจกรรมในห้องนอนเราได้ เป็นต้น หรือการที่รัฐมีอำนาจในการเขียนคำเตือนบนซองบุหรี่ แต่ไม่สามารถห้ามคนสูบบุหรี่ได้ เอแบคโพลล์ บอกว่า เด็ก 6 ขวบ ชอบดู เพราะมันดี มีบทด่ากัน จูบกัน หาผู้ชายมานอน

ไม่น่าวิตก เนื่องจากมันเหมือนเป็นการสำรวจเพียงบางส่วน เพราะเด็กอีกสามสิบล้านคนในประเทศยังไม่ได้ทำการสำรวจ มีเด็กเพียงคนเดียวที่พูดอย่างนี้ มันบอกอะไรไม่ได้ แล้วการถามเด็กเราก็ไม่เห็นกระบวนการถามว่ามีการชี้นำอะไรหรือเปล่า มันเป็นปัญหาของเด็กคนเดียว ไม่ใช่ทั้งสังคม แล้วเราจะประเมินเด็กอย่างไร เด็กคนนั้นอาจจะฉลาดเกินวัย รู้อะไรมากกว่าเด็กคนอื่นๆ อย่างไรก็ตามศิลปะมันสะท้อนสังคม ว่าสังคมเป็นอย่างไร ศิลปะก็เป็นอย่างนั้น ถ้าสังเกตว่าในลาตินอเมริกาก็มีละครอย่างนี้ ละครฟิลิปปินส์ก็เป็นแบบนี้ พล็อตละครแบบนี้มักอยู่ในประเทศที่ยังไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับการศึกษานอกโรงเรียนที่ดี เช่น คอนเสิร์ตดีๆ ละครดีๆ การที่คนจะมีโอกาสเปิดหูเปิดตามักจะไม่เกิดในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจ หรือในประเทศโลกที่สามอย่างที่เราเป็นอยู่ เหมือนคนจนมันจะถูกทำให้จนไปตลอด และจะถูกคนรวยตีกรอบให้ดูแต่ศิลปะที่แย่ๆ

นอกจากนี้ศิลปะแย่ๆ จะถูกสถาบันทั้งหลาย ทั้งรัฐบาล การศึกษา ครู พระ หมอ ด่าศิลปะของคนจนว่าไม่มีรสนิยม ถึงได้ดูแต่ละครตบจูบวนเวียนไปเรื่อยๆ ถึงอย่างนั้นก็ตามสังคมพร้อมเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงศิลปะดีๆ หลากหลายมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครทำ รัฐบาลเคยคิดจะทำห้องสมุดชุมชนดีๆ หรือไม่ เคยคิดจะทำหอศิลป์ที่ทุกคนสามารถเดินเข้าไปอย่างไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ อยู่ผิดที่ผิดทางหรือไม่ ทุกวันนี้แม่ค้าขายส้มตำไม่กล้าเดินเข้าหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ มันควรเป็นสำนึกของประชาธิปไตย ที่สร้างความรู้สึกเท่าเทียมกันในการเข้าถึงศิลปะเหล่านี้ ตกลงว่า เราอยู่ในประเทศที่ทำให้ประชาชนไม่ค่อยฉลาด ระบบการศึกษาในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่ไม่ทำให้เรารู้สึกว่า ประวัติศาสตร์มีผลอะไรกับชีวิตเรา

เมื่อ โลกเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอล ความคิดเราเปลี่ยนไปขนาดไหน เวลาห้านาทีที่เคยเร็วมาก เดี๋ยวนี้เรารออะไรเกินห้านาทีไม่ไหวแล้ว ซึ่งมันมีผลต่อการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้นการศึกษาก็คือต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ คือประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ กับประวัติศาสตร์ของวิชาประวัติศาสตร์ หรือปรัชญาประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เคยมีพื้นที่ให้ได้เรียนรู้กันเลยในสังคมไทย จริงๆ สังคมในโลกนี้ไร้ระเบียบมาก สิงคโปร์ มาเลเซีย ล้วนเป็นประเทศใหม่ แม้จะไม่มีมัมมี่ก็เป็นประเทศได้ มัวแต่ไปคิดว่าจะเป็นประเทศจะมีรากก็ต่อเมื่อมีอู่อารยธรรม ซึ่งไม่จำเป็น เพียงแค่ให้รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เราจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร สัมพันธ์กับคนอื่นได้ไหม อารยธรรมคนอื่นล่ะเป็นอย่างไร คนไทยรู้เรื่องนี้น้อยมาก ยังเชื่อว่าอาหารไทยอร่อยที่สุดในโลก แล้วรู้จักอาหารฝรั่งเศสดีแค่ไหน รู้จักอาหารจีนแค่ไหน? เรารู้จักตัวเราและรู้จักคนอื่นน้อยมาก ฉะนั้นเราต้องเริ่มต้นจากการไปลบภาพเก่าๆ เกี่ยวกับตัวเอง และยอมรับตัวเอง และไม่เห็นแปลกกับการที่เป็นประเทศเกิดใหม่ มีหลายภาษา เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ยังเปลี่ยนตัวอักษรมาใช้ตัวอักษรโรมัน ก็ไม่เห็นว่าเป็นปมด้อย เพราะไม่มีอักขระเป็นของตัวเอง และการปฏิวัติภาษาเหล่านั้นมันทำให้เกิดภาษาประจำชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางเผ่าพันธุ์ และเป็นเครื่องมือต่อต้านอาณานิคม และไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยจะไปบอกว่า เราเหนือกว่าเขา ทุกวันนี้รู้สึกว่าสงสารคนไทย ที่รู้สึกว่าทำให้โง่ติดต่อหลายทศวรรษโดยชนชั้นนำ เพราะยิ่งโง่เท่าไหร่ ยิ่งง่ายต่อการถูกปกครอง ถูกสยบต่ออำนาจมากเท่านั้น

"มุมมองที่น่า สสนใจ ภาระการนำเสนอและการเสพด้วยความยั้งคิด ของเรามันขาดศีลและธรรม ถ้ามั่นไม่ใช่แค่บทละครแล้วล่ะครับ ใครจะเป็นผู้รับผลกรรมของละครเรื่องนี้ วอนอย่าคิดถึงแต่ผลกำไรอย่างเดียว ผมวิงวรด้วยหัวใจ"

คำสำคัญ (Tags): #เรยา
หมายเลขบันทึก: 444345เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2011 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท