การจัดการศึกษาตามปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressive Education)


การออกแบบการสอนเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

  

รุ่งอรุณแห่งปรัชญาพิพัฒนาการ   

 

            ศาสตราจารย์จอห์น  ดุย  (Jonn  Dewey)  แห่งภาควิชาปรัชญา  มหาวิทยาลัยชิคาโก    (The University of Chicago) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญ  ที่เฝ้ามองสถานการณ์ด้านการศึกษาในช่วง ค.ศ.  1890  ขณะนั้นได้เกิดวิกฤตการณ์ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาและนักเรียนหลายเรื่อง อาทิ  หลักสูตรดั้งเดิมประสบความล้มเหลว  เพราะไม่อาจสร้างความสนใจและแรงจูงใจแก่นักเรียนได้  อีกทั้งยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมอุตสาหกรรมใหม่  อัตราการออกจากโรงเรียนของนักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้น  ปัญหาอาชญกรรมของวัยรุ่นและปัญหา   การอ่านเขียนไม่ได้สูงขึ้น (Tozer, Violas และ Senese, 1993: 140) ในฐานะที่ จอห์น ดุย (Jonn  Dewey)  เป็นนักปรัชญากลุ่มพิพัฒนาการนิยม  (progressivism)  ซึ่งผลักดันและนำเสนอแนวคิดที่สำคัญว่า  การจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่มิได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ให้งอกงามขึ้น หรือการศึกษาแบบประเพณีนิยมที่มุ่งเน้นการฝึกหัดอย่างเคร่งครัด  และให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการท่องจำนั้น        คือความล้มเหลวอย่างยิ่ง  ข้อเสนอของ จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  รวมถึงการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาของเขา  นำไปสู่การสร้างโรงเรียนสาธิตหรือโรงเรียนห้องปฏิบัติการแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก  (The  University of Chicago Laboratory Schools)  ในปี ค.ศ.  1896  หลังจากที่ได้พัฒนาปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการอยู่ถึง 8 ปี  (Day,  2006: online)  โรงเรียนสาธิตแห่งนี้ มีพันธกิจที่สำคัญตามที่ จอห์น ดุย (Jonn  Dewey)  กำหนดไว้คือ  เพื่อค้นพบระบบการบริหาร  การพิจารณาและเลือกสาระการเรียนรู้  วิธีการเรียนรู้  วิธีการสอนและการฝึกหัดระเบียบวินัยที่มีประสิทธิภาพ  และวิธีการนำโรงเรียนไปสู่ความเป็นชุมชนแห่งการร่วมมือ  ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาศักยภาพและความสามารถตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลควบคู่กันไปด้วย พันธกิจดังกล่าวนี้  ถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม  ซึ่งคำว่า  “พิพัฒนาการ” (progressive)  นี้  ได้นำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการจัดการศึกษาจากหลักสูตรแบบประเพณีนิยมขณะนั้น  ที่มุ่งเน้นการเตรียมเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและถูกจำแนกแบ่งชั้นจากระบบเศรษฐกิจ  กับการจัดศึกษาแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

            นักนวัตกรรมการศึกษาอีกท่านหนึ่ง  ที่มีชื่อเสียงมากในฐานะผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตซึ่งเป็นโรงเรียนตามปรัชญาพิพัฒนาการนิยมคือ  ฟรานซิส  ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)   บุคคลผู้นี้เป็นผู้นำปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการมาปฏิบัติในโรงเรียน   ระหว่างปี ค.ศ.  1875  ถึง  ค.ศ.  1880  เขาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ณ เมืองควินซี (Quincy)  มลรัฐแมสซาชูเสตส์  (Massachusetts)  หลังจากที่ศึกษาด้านแนวโน้มการศึกษาในเยอรมันนี   เขาปฏิเสธการเรียนรู้แบบท่องจำ  และเชื่อว่าความรู้ที่ปราศจากความเข้าใจเป็นความรู้ที่ไม่มีคุณค่า  นอกจากนี้  เขายังเห็นว่าโรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่แห่งการยอมรับและสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน  ระบบการศึกษาของ ฟรานซิส  ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)         ที่เรียกว่าระบบควินซีของปาร์เกอร์  (Parker’s Quincy System)  นั้น  ได้รับความนิยมในฐานะตัวอย่างการจัดการศึกษาตามปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการในช่วงต้นศตวรรษที่  20  และนักการศึกษาเรียกการศึกษาลักษณะนี้ว่าการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นศูนย์กลาง   (child-centered)   หรือการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐาน (experience-based learning)  (Schugurensky,  2002:  online)

 

             ฟรานซิส  ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)  นำหน่วยการเรียนรู้  (learning units)  ซึ่งมีลักษณะเป็น “แนวคิดหลัก”  (theme) และเชื่อมโยงกับความรู้อื่นๆ  มาใช้ในการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา  และนำผลงานวรรณกรรมของนักเรียน  วรรณคดีและวรรณกรรม  ตลอดจนสื่อต่างๆ  ของครู  มาใช้แทนตำราการฝึกอ่านและเขียนสะกดคำ  ปี ค.ศ. 1883  เขาย้ายจากมลรัฐแมสซาชูเสตส์  (Massachusetts)  เพื่อเป็นผู้อำนวยโรงเรียนฝึกหัดครูตำบลคุกเคาตี  (Cook County Normal School)  ณ เมืองชิคาโก (Chicago)  โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถาบันฝึกหัดครูระดับประถมศึกษาตามแนวคิดของเขา   (University of Chicago Library, Special Collections Research Center, 2006: online)  จากนั้นในปี  ค.ศ.  1894  หนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีการสอนเด็กของเขาที่ชื่อ “การพูดคุย      บนการสอนเด็ก” (Talks on Pedagogics)  ได้ตีพิมพ์เผยแพร่  และมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของนักปรัชญาการศึกษา อาทิ  ฟรอเบล (Froebel)  เปสตาลอซซี (Pestalozzi) และแฮร์บาร์ต  (Herbart)  และในปีเดียวกันนี้เอง  จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  ได้ย้ายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan)  เพื่อมาเป็นประธานสาขาปรัชญา  จิตวิทยาและการศึกษา  ณ มหาวิทยาลัยชิคาโก  (The University of Chicago)  และได้ส่งบุตรเข้าศึกษาในโรงเรียนของ   ฟรานซิส  ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)  ด้วย

 

             ต่อมาในปี  ค.ศ.  1899   เอมมอน  เบลน  (Emmon  Blaine) ได้ร่วมงานกับ  ฟรานซิส   ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)  เพื่อก่อตั้งโรงเรียนสาธิตประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก  (The University of Chicago)  ซึ่งมีพันธกิจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษา โดยได้รับคำเชิญจากศาสตราจารย์วิลเลียม ฮาร์เปอร์  (William  Harper)  อธิการบดีมหาวิทยาลัยในขณะนั้น  ซึ่งกำลังสนใจที่การจัดการศึกษาด้านครุศึกษาในมหาวิทยาลัย  และต่อมาได้พัฒนามาเป็นคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก  (School of Education, University of Chicago)  ในที่สุด  (Dewey, 1902: online) โรงเรียนสาธิตของ จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  และโรงเรียนสาธิตของ ฟรานซิส  ปาร์เกอร์  (Francis  Parker) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้  จึงกลายมาเป็นต้นแบบของโรงเรียนสาธิตทั่วโลกนับแต่ต้นศตวรรษที่  20   

 

            จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  เริ่มผลักดันปรัชญาพิพัฒนาการนิยมเข้าสู่แนวคิดการศึกษากระแสหลักของสหรัฐอเมริการ่วมกับนักการศึกษาคนอื่นๆ  อาทิ ชาร์ลส์  อีเลียต (Charles Eliot) และ อับบราฮัม  เฟลกเนอร์  (Abraham Flexner)   ณ  เมืองโคลัมเบีย  (Columbia)  และในปี  ค.ศ.  1917  จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนลินคอลน์  (Lincoln School) แห่งคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  (Columbia University)  เพื่อให้เป็นห้องปฏิบัติการด้านการจัดการศึกษาที่พ้นจากกรอบของหลักสูตรประถมและมัธยมศึกษาขณะนั้น  โรงเรียนสาธิตแห่งนี้ยกเลิกสาระการเรียนรู้หรือเนื้อหาที่ล้าสมัย    และใช้สาระการเรียนรู้ที่ประยุกต์เข้ากับความต้องการของการใช้ชีวิตในยุคสมัยใหม่  4  กลุ่ม  คือ  วิทยาศาสตร์  อุตสาหกรรม  สุนทรียศาสตร์และหน้าที่พลเมือง  ครูจะต้องประยุกต์สาระการเรียนรู้ดังกล่าวให้สัมพันธ์กับชีวิตในโลกปัจจุบัน  (contemporary world)  ดังนั้นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้จึงต้องเรียนรู้วิชาการผ่านจากประสบการณ์ในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชน  อาทิ  ตลาด  โบสถ์  สถานีขนส่ง  เป็นต้น  (Heffron,  2009: online)

 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น  หลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้  จึงได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นหน่วยการเรียนรู้การปฏิบัติงาน  (units of work)  ซึ่งเปลี่ยนโครงสร้างสาระการเรียนรู้แบบดั้งเดิมให้มีลักษณะสอดคล้องกับประสบการณ์และพัฒนาการของนักเรียน  ตัวอย่างเช่น  นักเรียนเกรดหนึ่งและเกรดสองจะต้องศึกษาเกี่ยวกับชีวิตในชุมชนหรือสังคมที่เรียกว่า  “การศึกษาชีวิตในเมือง”  (a  study  of  city  life)  ด้วยการทำโครงงานการออกแบบและสร้างเมืองของตนเอง  นักเรียนเกรดสามจะต้องทำโครงงานที่ก้าวหน้าขึ้นด้วยการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันริมแม่น้ำฮัดสัน  (Hudson River)       หน่วยการเรียนรู้นี้เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงมากของโรงเรียน  เนื่องจากเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่นักเรียนจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์  การอ่าน  การเขียน  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ศิลปะและวรรณกรรมไปพร้อมกัน  หน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยจะมีความยืดหยุ่นมากเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ  ได้ตามความสนใจและความต้องการ  มีการเชื่อมโยงลักษณะสำคัญของอารยธรรมปัจจุบัน  (contemporary civilization)  และส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมในเชิงร่วมมือ  ตลอดจนให้โอกาสนักเรียนแต่ละคนทำวิจัยหรือสำรวจข้อมูลที่สนใจต่างๆ  ด้วยตนเอง  (Kliebard, 2004:  142) 

 

            ปี  ค.ศ.  1919 สแตนวูด  คอบบ์ (Stanwood Cobb)  และคณะได้ก่อตั้งสมาคมการศึกษาพิพัฒนาการ  (Progressive Education Association)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และผลักดันแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นศูนย์กลางนี้สู่ระบบการศึกษา  แม้ว่าสมาคมนี้จะยุติบทบาทลงในปี  ค.ศ.  1955  แต่ก็ได้นำเสนอผลการวิจัยที่มีชื่อเสียงมาก  คือ  การประเมินผลโปรแกรมการศึกษาพิพัฒนาการ  ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เวลาวิจัยถึง  8  ปี  (the eight-year study)  โดยเปรียบเทียบนักเรียนที่ศึกษาในโปรแกรมการศึกษาพิพัฒนาการมากกว่า  1,500  คนกับนักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนทั่วไป  ในสถาบันอุดมศึกษากว่า  300  แห่ง  ผลการศึกษาพบว่า  เมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา นักเรียนที่ศึกษาในโปรแกรมพิพัฒนาการมีผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  ศักยภาพและความสามารถในทุกด้านสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนทั่วไป  (Schugurensky,  2002: online) 

 

            ช่วงกลางของศตวรรษที่  19  โรงเรียนของรัฐบาลได้นำหลักสูตรหรือโปรแกรมการเรียน    การสอนแบบพิพัฒนาการมาใช้มากขึ้น  แม้ว่า  จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  จะมีความเชื่อว่าการจัดการศึกษาแบบพิพัฒนาการนั้น  ยังไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปพื้นฐานของการศึกษากระแสหลักได้  อย่างไรก็ตามอิทธิพลจากแนวคิดของในเรื่องการศึกษาของเยาวชนตามปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการ  ได้ก่อให้เกิดนักคิดและนักการศึกษาจำนวนมาก  ที่พยายามประยุกต์หลักการของปรัชญาไปแปรเป็นการปฏิบัติในสถานศึกษา
 
สนธยาแห่งปรัชญาพิพัฒนาการ

 

                เนื่องจากปรัชญาพิพัฒนาการนั้นถือกำเนิดบนพื้นฐานของความคิดของนักปรัชญา  สถานะเช่นนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนของตัวปรัชญาเอง  เพราะปรัชญาต้องการอาศัย “การตีความ”  และ       “การประยุกต์”  ดังนั้นนักการศึกษาจำนวนมากที่นำปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการไปปฏิบัติ  จึงสร้างแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป  และทำให้การประเมินผลการจัดการศึกษาตามปรัชญานี้กลายเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง  นอกจากนี้  ยังเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการศึกษาทั้งในด้านหลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ว่าไม่อาจพัฒนาความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี  ค.ศ. 1955  ถือเป็นปีที่เกิดการถกเถียงและวิจารณ์การจัด           การเรียนรู้ตามปรัชญาพิพัฒนาการอย่างรุนแรง  นักการศึกษาหลายคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับโปรแกรมการสอนอ่านที่เน้นแต่การอ่านจากบริบทในสังคม   หรือแนวคิดที่ให้เสรีกับนักเรียนมากเกินไป      เป็นต้น  กระแสโจมตีดังกล่าว  ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมสปุทนิก  (Sputnik) ขึ้นไปโคจรในอวกาศได้ในปี  ค.ศ.  1957 อันเป็นเสมือนการประกาศชัยชนะเหนือสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น  เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะต้องเร่งการแข่งขันในด้านความรู้  และหันกลับไปสู่การศึกษาที่เน้นให้เนื้อหาด้านวิชาการอีกครั้ง  โดยได้รับอิทธิพลของนักจิตวิทยากลุ่มพุทธิปัญญานิยม  (cognitive  psychology)  ขณะนั้น  อาทิ  เจอโรม  บรูเนอร์  (Jerome Bruner)   และเจอร์โรลด์  แซคคาเรียส (Jerrold Zacharias)  เป็นต้น 

 

            นอกจากปัจจัยในด้านการเมืองแล้ว  ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการยังได้รับผลกระทบจาก  สภาวะเศรษฐกิจถดถอยและมาตรการทางภาษีในปี ค.ศ.  1970  ตลอดจนการเผยแพร่รายงาน  “ประเทศกำลังเสี่ยง” (A Nation At Risk)  ในปี  ค.ศ.  1983  อันนำไปสู่การพิจารณาทบทวนมาตรฐานการเรียนรู้ด้านคุณภาพของผู้เรียน  และการปรับปรุงผลการเรียนรู้โดยการใช้แบบสอบมาตรฐานซึ่งล้วนแต่ขัดแย้งกับแนวคิดของ  จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  และ ฟรานซิส   ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)  ทั้งสิ้น  (Zilversmit,  2005: online)

 

            แม้ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการจะไม่อาจฝ่ากระแสการเมืองและการแข่งขันในช่วงสงครามเย็นได้  ผนวกกับการเผยแพร่ศาสตร์จิตวิทยาด้านสติปัญญาการรู้คิด  (cognitive  psychology)  แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งที่นักจิตวิทยาด้านสติปัญญาการรู้คิดโดยเฉพาะ  เจอโรม  บรูเนอร์  (Jerome Bruner)  ได้สร้างงานวิจัยหรือพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นจากแนวคิดจิตวิทยาพัฒนาการของ จีน  พิเอเจต์ (Jean  Piaget)  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับแนวคิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey) และพัฒนามาเป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาที่เรียกว่า  “โครงสร้างนิยม”  (constructivism)  ซึ่งมีหลักการว่า  นักเรียนต้องเป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการสร้างความหมายจากสิ่งต่างๆ  ด้วยตนเอง  ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้จึงต้องให้นักเรียนเป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์ (active)  มากกว่าให้นักเรียนเป็นผู้รับ  (receptive)  (Hutcheon 2008: online)  ด้วยเหตุนี้  ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการจึงดูเสมือนว่าจะยังไม่หายไปจากการจัดการศึกษาเสียทีเดียว  กระทั่งเมื่อปลายศตวรรษที่  20  แนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามปรัชญาพิพัฒนาการได้รับความสนใจอีกครั้ง  เมื่อปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศคลี่คลายลง  และปัจเจกชนในสังคมกำลังพยายามแสวงหา  “ความรู้ที่แท้จริง”  สำหรับคนรุ่นใหม่และสังคมใหม่อีกครั้ง 
 
หลักการจัดการศึกษาที่ยังดำรงอยู่

 

             จากการศึกษาในเชิงประวัติข้างต้น  ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า  โรงเรียนสาธิตเกิดขึ้นเพื่อเป็นคำตอบของปัญหาการจัดการเรียนรู้ในสังคมสหรัฐอเมริกา  ซึ่งได้รับอิทธิพลของปรัชญากลุ่ม     อุดมคตินิยม  (idealism)  ผนวกกับอิทธิพลของจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม  (behaviorism)         เพื่อแสดงออกถึง  “ความไม่เห็นด้วย” หรือ  “มุมมองที่ต่างไป” จากการศึกษากระแสหลัก           ความไม่เห็นด้วยนี้  มีจุดเริ่มจากความเชื่อใน  “ปรัชญาการศึกษา”  จากประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญต่อไปว่าโรงเรียนสาธิตในประเทศไทย  ยังคงดำเนินการจัดการศึกษาตามตามแนวคิดปรัชญา  พิพัฒนาการ อันเป็นปรัชญา  ณ แรกเริ่มจัดตั้งหรือไม่  หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว  ปัจจัยใดที่ทำให้เปลี่ยน  เปลี่ยนเพื่ออะไร  และเปลี่ยนแล้วดีกว่าเดิมหรือไม่  เพราะอะไร 

 

             ถึงแม้ว่าความนิยมในปรัชญาพิพัฒนาการจะมีแนวโน้มขึ้นลง  แต่หลักการจัดการศึกษาของ  จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  และ ฟรานซิส   ปาร์เกอร์  (Francis  Parker)  ซึ่งใช้ในการจัดระบบการศึกษาในโรงเรียนห้องปฏิบัติการแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago Laboratory Schools)  ทั้งในด้านการบริหาร หลักสูตรและการสอนนั้น ยังคงดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อนักการศึกษาและผู้จัดการศึกษาในทุกๆ  ระดับ  ซึ่งสามารถประมวลสรุปได้ดังนี้  (Harms  และ  DePencier, 1996: online)
              1.  การพิจารณาการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น  ต้องมุ่งพิจารณาที่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนมากว่าการพิจารณาเนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้   เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม  (social  process)  ที่ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์และการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะกลุ่มย่อย  (small  group)
              2.  การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเกิดจากการใช้โครงการเป็นฐาน  ผู้เรียนจะต้องใช้การลงมือปฏิบัติ  เช่น  จัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการเล่น  การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากการสำรวจธรรมชาติ  เป็นต้น 
              3.  เป้าหมายของการจัดการศึกษา  ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะความเป็นเลิศในทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่จะต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ  (problem  solving) 
              4.  การจัดการศึกษาจะต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรับผิดชอบ  ทั้งในระดับสังคมภายในโรงเรียนและสังคมส่วนรวม 
              5.  กระบวนการเรียนรู้ที่จัดภายในโรงเรียน ต้องเชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือชีวิตประจำวันของนักเรียน
              6.   การเรียนรู้ในเชิงวิชาการนั้น  ไม่ควรจัดหลักสูตรแต่เฉพาะวิชาหลักหรือ      วิชาแกน  แต่ยังจะต้องคำนึงถึงวิชาด้านความเป็นมนุษย์  เช่น  ศิลปะ  กีฬา  ดนตรีและกิจกรรมที่หลากหลายเพิ่มเติมจากในหลักสูตร
              7.  ผู้จัดการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ครูศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  และใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพ  สนับสนุนให้ครูมีอิสระและเสรีภาพ  และมีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย    

 

            หลักการจัดการเรียนรู้ข้างต้น  มีแนวคิดสำคัญคือ  การจัดการศึกษาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการสำคัญว่ามนุษย์จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในสังคม  และมนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำกิจกรรมการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง    จากแนวคิดดังกล่าว  นักปรัชญาพิพัฒนาการจึงเห็นคุณค่าของทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์  และเชื่อว่านักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีหากปฏิบัติตนดังเช่นนักวิทยาศาสตร์   ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาของ จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  ได้แก่  1)  รับทราบและตระหนักในปัญหา  (become aware of the problem)        2)  พิจารณาและวินิจฉัยปัญหา   (define the problem)  3)  สร้างสมมติฐานเพื่อแก้ไขปัญหา   (propose hypotheses to solve it)  4)  ประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากสมมติฐานด้วยประสบการณ์เดิมของบุคค  (evaluate the consequences of the hypotheses from one's past experience)         และ 5)  ทดสอบวิธีการแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้  (test the likeliest solution)  (Paszkowska,  2003: online) 

 

               รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ข้างต้น  ส่งผลให้การจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  เนื่องจากครูตามปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการจะไม่จัดการเรียนรู้แต่เพียงการอ่านให้ฟังหรือใช้วิธีฝึกหัด  แต่จะเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของนักเรียนให้มากที่สุด  โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ตรง  แนวคิดในการจัดการศึกษาตามปรัชญาพิพัฒนาการเช่นนี้  ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า  “การเรียนรู้จากการปฏิบัติ”  (learning  by  doing)

 

               จอห์น  ดุย  (Jonn  Dewey)  มีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาว่าจะต้องมีอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาประชาธิปไตยและธรรมชาติของเด็ก   ในประเด็นแรกเขาเชื่อว่าปรัชญาประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการนำไปสู่การศึกษาที่แท้จริง  เพราะการจัดการศึกษาบนพื้นฐานของปรัชญานี้  นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นและความสนใจของตนเองได้อย่างอิสระมากกว่าปรัชญาการเมืองอื่นๆ  ดังนั้นโรงเรียนจะต้องเป็น  “ห้องปฏิบัติการสำหรับประชาธิปไตย”  (laboratory  for  democracy)  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ   ชื่นชมและปฏิบัติตนตามครรลองของปรัชญา  ด้วยเหตุนี้  นักเรียนจึงต้องเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ  ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาประชาธิปไตย ส่วนในประเด็นธรรมชาติของเด็ก  (the  nature  of  the  child)  นั้น  เขามีความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความกระตือรือร้นในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม  มีธรรมชาติแห่งการสร้างหรือประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ   มีความสามารถในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์  และมีความสนใจใคร่รู้และต้องการค้นพบสิ่งต่างๆ รอบตน   

 

               จากแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาประชาธิปไตยและธรรมชาติของเด็กข้างต้น  จอห์น  ดุย (Jonn  Dewey)  จึงเสนอว่าห้องเรียนที่แท้จริง  ควรเป็นสถานที่ที่นักเรียนได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมทางสังคมด้วยกัน  และนักเรียนสามารถตัดสินใจในประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆ  ด้วยตนเอง  กิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ควรเป็นกิจกรรมที่นักเรียนและครูช่วยกันพิจารณาและเลือก  แต่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความสนใจของนักเรียนเป็นสำคัญ  เพราะนักเรียนจะพร้อมและมุ่งแสวงหาความหมายจากกิจกรรมการเรียนรู้เหล่านั้นด้วยตนเอง  แม้ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคหรือปัญหาในระหว่างกระบวนการเรียนรู้  สิ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ที่เพิ่มพูนจากการทำกิจกรรมจะนำไปสู่ความสนใจใหม่  และนำนักเรียนเข้าสู่วงจรแห่งการเรียนรู้  (cycle  of  learning) ด้วยตนเองในที่สุด (Tozer, Violas และ Senese, 1993: 141-143)

 

              แนวคิดและข้อเสนอดังที่ได้กล่าวมา  สามารถสรุปหลักการจัดการศึกษาตามปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการโดยทั่วไปได้  ดังนี้

 

                      1.  หลักสูตรต้องมีลักษณะบูรณาการ  และมีลักษณะเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่เป็น    แนวคิดหรือหัวข้อเรื่อง  (thematic units)  ซึ่งมีความหลากหลาย  สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของนักเรียน  ตลอดจนสัมพันธ์กับสภาพและปัญหาของสังคมปัจจุบัน

 

                      2.  การจัดการเรียนรู้ต้องเป็นกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ      มุ่งฝึกทักษะการแก้ปัญหา  (problem  solving)  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  (critical  thinking)     โดยนักเรียนจะต้องทำงานเป็นกลุ่ม  (Group  work)  ตามแนวคิดการเรียนรู้แบบร่วมมือ  (cooperative learning) เพื่อพัฒนาทักษะด้านสังคม  ส่งเสริมให้นักเรียนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต     ตามแนวคิดชีวิตคือการศึกษา  ใช้หลักปรัชญาประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในทุกขั้นตอนและประเมินผลโดยวัดจากคุณภาพของโครงการหรือผลงานของนักเรียน 

 

                     3.  มีเป้าหมายเพื่อสร้างค่านิยมและคุณลักษณะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและวัฒนธรรมประชาธิปไตย    บูรณาการโครงการหรือกิจกรรมการให้บริการทางสังคมสู่สถานศึกษาและกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาในสังคมเป็นสำคัญ

 

            พัฒนาการของปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านทฤษฎี        การสอนเด็ก  (pedagogy)  ในช่วงปลายศตวรรษที่  19  และยังคงปรากฏในหลายรูปแบบกระทั่งปัจจุบัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการออกกฏหมาย  “อย่าให้มีเด็กหลงเหลือ”  (No  Child  Left  Behind)  ซึ่งเป็นกฏหมายการศึกษาที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา  การจัดการศึกษาตามปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการจึงกลายเป็นการศึกษาทางเลือกใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง 

_____________________

การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความไปเผยแพร่ ควรทำตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณ และความเป็นมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 443718เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท