บอกคนอื่นเรื่อง “หย่า”


การหย่าคือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตัวคุณเองและคนใกล้ชิด ให้เวลากับตัวเองและคนที่คุณรักตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ ให้เวลาสำหรับการทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

บอกคนอื่นเรื่อง “หย่า”

แปลจาก Break the News โดย Meg Mathur
(ที่มา www.divorcemag.com ส.ค. 48)


คุณกำลังจะหย่า และคุยกับอีกฝ่ายหนึ่งเรียบร้อยแล้ว แต่จะบอกลูก บอกเพื่อนๆ และคนในครอบครัวอย่างไรดี แล้วคนที่ทำงานกับหัวหน้าล่ะจะบอกดีไหม บทความนี้เป็นข้อแนะนำที่ช่วยให้การบอกเล่าเรื่องหย่าเกิดผลเสียตามมาน้อยที่สุด


คอนสแตนซ์ อาห์รอนส์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง การหย่าที่ดี (The Good Divorce) บอกว่า การหย่าแบ่งออกเป็น 5 ช่วง แต่ช่วงที่ทำให้จิตใจสับสนวุ่นวายมากที่สุดคือ 3 ช่วงแรก ได้แก่ ขั้นตอนการตัดสินใจ การบอกคนอื่น และการแยกกันอยู่ “อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการหย่าจะก่อตัวอย่างเข้มข้นเมื่อเราตัดสินใจว่าจะหย่า บอกกับอีกฝ่ายหนึ่ง บอกครอบครัว และเริ่มแยกกันอยู่” เธอตั้งข้อสังเกต “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งสามขั้นตอนนี้จะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับความขัดแย้งในใจ ความไม่แน่นอน การดิ้นรน การแสวงหาทางจิตวิญญาณ และความเครียดที่เกิดขึ้น"


ไม่มีข้อโต้แย้งสำหรับข้อสังเกตนี้ การตัดสินใจหย่าเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์แสนสาหัส เป็นเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนรอบข้างเพื่อต่อสู้กับช่วงวิกฤตของชีวิต แต่จะบอกครอบครัวและเพื่อนๆเรื่องการสิ้นสุดชีวิตคู่แล้วอย่างไร จึงจะไม่ทำให้ต่างฝ่ายต่างทุกข์เพิ่มขึ้น จะบอกเมื่อไหร่ บอกแค่ไหน แล้วควรบอกคนที่ทำงานหรือเปล่า ก่อนอื่นต้องอย่าลืมว่าการบอกเรื่องหย่านั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นเพียงเรื่องพื้นๆที่แต่ละคนต้องนำไปปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ชีวิต การจัดการเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองอย่าง คือ สถานการณ์การหย่าเป็นอย่างไร และจะเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง


บอกครอบครัวและเพื่อนๆ
เวลาตั้งใจจะเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่ากำลังจะแต่งงาน คุณคงนึกเห็นพวกเขามีความสุข ตื่นเต้น และดีใจกับข่าวดีนั้น แล้วถ้าแฟนคุณไม่ใช่คนแย่เหลือรับ ก็คงไม่มีใครอธิษฐานให้คุณสองคนเลิกกันเร็วๆ แต่การเล่าเรื่องหย่าอาจทำให้คุณเจ็บปวดและอึดอัดขัดใจเพราะท่าทีผิดคาดของคนใกล้ตัว หรือพวกเขาอาจไม่มีคำพูดอะไรให้คุณสักคำด้วยซ้ำ

ถ้าการแยกทางกันเป็นไปด้วยดี คุณทั้งคู่อาจไปหาครอบครัวของแต่ละฝ่ายด้วยกันเพื่อบอกเรื่องหย่า แต่หากเลิกกันแบบดุเดือดก็อย่าไปด้วยกันเลย ดังที่ แลร์รี่ นิสสัน ผู้อำนวยการสถาบันจิตบำบัด ที่โตรอนโต ประเทศแคนาดา เตือนไว้ “จะไปทะเลาะกันเปล่าๆ แต่คราวนี้เป็นการทะเลาะต่อหน้าครอบครัวเลย แล้วทุกคนก็จะรู้สึกแย่กับคุณทั้งสองคน”


ไม่ว่าจะไปบอกกับครอบครัวด้วยกันหรือไปคนเดียว ก็ควรเตรียมซ้อมท่าทางและคำพูดล่วงหน้าไว้ก่อน คิดไว้ว่าสบายใจที่จะเล่าแค่ไหน การเล่าเรื่องทะเลาะตบตีหรือการนอกใจจนละเอียดเกินไปก็อันตราย เพราะคนฟังจะโกรธแค้นและเศร้าซึมกับเรื่องที่ได้ยินโดยไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไร และหากคุณทั้งสองคนจะกลับมาคืนดีกันอีก เรื่องแย่ๆที่คนในครอบครัวเก็บไว้ในใจ จะทำให้พวกเขารับไม่ได้ว่าคุณจะกลับมาอยู่ด้วยกันจริงๆ


ค่อยๆเล่าให้ครอบครัวและเพื่อนๆที่รักกันฟังอย่างนุ่มนวล อย่าเริ่มด้วยการชักแม่น้ำเสียยืดยาว แต่ก็อย่าผลีผลามเล่าทันทีที่เจอกัน ควรเผื่อเวลาให้พวกเขาทำใจด้วย ค่อยๆอธิบายเรื่องราวตามความเหมาะสมเท่าที่จะทำได้ นิสสันแนะนำว่า ควรเริ่มต้นเล่าเรื่องนี้กับ “คนใกล้ชิดสนิมสนม อาจเป็นพี่น้องหรือก๊วนตีกอล์ฟก็ได้” เขาอธิบายว่า การเริ่มต้นกับคนที่รักและเป็นกำลังใจให้เรามากที่สุด จะช่วยให้เราผ่านเวลายากลำบากนี้ไปได้ อย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะทำอย่างไร หรือทำอะไรให้เรา ไม่มีใครบอกได้หรอกว่าคนที่ได้ยินเรื่องนี้แล้วจะเป็นอย่างไร เขาอาจตกใจและเสียใจ แต่เมื่อจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว เราก็จะรับรู้ถึงความรักและความปรารถนาดีของพวกเขาได้
ถ้าชีวิตคู่ของคุณไม่หวานตั้งแต่แรก ครอบครัวและเพื่อนๆก็อาจดีใจที่ได้ข่าวหย่า แต่ “ความหวานของชีวิตคู่” ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่จะตีความ ในช่วงที่คุณกำลังโศกตรมแสนสาหัสจากการตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะหย่า คนใกล้ตัวคุณอาจสบายใจที่คิดว่าใครบางคนกำลังจะไปพ้นๆครอบครัวเสียที ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่เขายอมรับเรื่องนี้ได้ง่ายๆ


ถ้าคนในครอบครัวของคุณสนิทกับแฟนคุณมาก พวกเขาอาจรู้สึกแย่ที่ต้องเข้าข้างคุณทั้งที่รู้สึกผูกพันกับอีกคนหนึ่งอยู่ หากเป็นการเลิกกันที่ไม่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย ก็อย่าขอให้คนในครอบครัวตัดความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง และหากมีลูกด้วยกัน ก็ขอให้พยายามสานความรู้สึกดีๆระหว่างพ่อแม่ลูกและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเอาไว้เพื่อลูก

ถ้าคนในครอบครัวของคุณสนิทกับแฟนคุณมาก พวกเขาอาจรู้สึกแย่ที่ต้องเข้าข้างคุณทั้งที่รู้สึกผูกพันกับอีกคนหนึ่งอยู่ หากเป็นการเลิกกันที่ไม่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย ก็อย่าขอให้คนในครอบครัวตัดความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง และหากมีลูกด้วยกัน ก็ขอให้พยายามสานความรู้สึกดีๆระหว่างพ่อแม่ลูกและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเอาไว้เพื่อลูก


เบ็ท โจสโลว์ หย่าเมื่อ พ.ศ. 2534 หลังใช้ชีวิตคู่มา 20 ปี แนะนำไว้ในหนังสือ บทเรียนชีวิต: 50 เรื่องที่ผมเรียนรู้จากการหย่า (Life Lessons: 50 Things I Learned from My Divorce) ว่า

   - จงขอความช่วยเหลือจากครอบครัว แต่อย่าบอกว่าเขาทำอะไรกับแฟนเก่าของคุณ


   - อย่าลืมนึกถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวกับแฟนเก่าของคุณ คิดดูว่าพวกเขาจะทุกข์แค่ไหนที่ต้องตัดขาดกัน

    - ถ้าครอบครัวคุณทำเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว อาจเป็นเพราะพวกเขากำลังพยายามจัดการความรู้สึกของตัวเองอยู่ บอกว่าคุณเสียใจที่เขาเป็นแบบนี้ และให้โอกาสเขาปรับความคิดและความรู้สึก 
“การหย่าของใครสักคนจะกลายเป็นเรื่องสาธารณะอย่างไม่น่าเชื่อ” โจสโลว์บอก “คนที่ปกติไม่เคยสนใจเรื่องส่วนตัวของคุณจะเป็นเดือดเป็นร้อนขึ้นมากระทันหัน แล้วก็มาบอกว่าเขาคิดอะไรโดยไม่ต้องให้ถามเลย” “เวลาเล่าเรื่องหย่าให้เพื่อนฟัง เราเดาไม่ถูกหรอกว่าแต่ละคนจะทำอย่างไร” เธอเตือน “บางคนอาจหายไปเลย บางคนก็ไปเป็นซี้กับแฟนเก่าคุณแทน และบางคนก็ทำให้คุณรู้สึกแย่ได้ทุกครั้งที่คุยกัน จนไม่อยากคุยด้วยอีก”


ถ้าเจอเรื่องแบบนี้ละก็ พยายามทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น “ค่อยๆมองให้เห็นธรรมชาติของความสัมพันธ์กับผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อน ดูสิว่าตอนนี้ใครเปลี่ยนไปบ้าง” เมล ครานต์ซเลอร์ แนะนำไว้ในหนังสือ การหย่า (Divorcing) “ได้เวลาประเมินความสัมพันธ์กับผู้คนเสียที ลองถามตัวเองว่า มีสักกี่คนที่เราคบไปอย่างนั้น อาจเป็นคนรู้จักข้างๆบ้านที่วิถีชีวิตใกล้กัน อย่างเรื่องมีลูก มีครอบครัว มีกี่คนที่เราไม่เคยแบ่งปันความรู้สึกลึกๆด้วย คนที่เราไม่รู้สึกว่าเขาห่วงเราจริงๆ การสูญเสียคนเหล่านี้ก็เหมือนการเลิกนิสัยแย่ๆบางอย่าง แต่ไม่ใช่การสูญเสียมิตรภาพที่แท้จริง


บอกที่ทำงาน
แม้ว่าการหย่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ แต่คุณก็อาจแปลกใจว่าทำไมตัวเองจึงอยากเล่าหัวหน้าและเพื่อนที่ทำงานฟัง การบอกเรื่องนี้กับคนที่ควรบอกก็มีข้อดี เช่น หัวหน้า เพราะคุณอาจต้องใช้เวลางานไปจัดการธุระเรื่องหย่า และหัวหน้าก็อาจเข้าใจได้ว่า ทำไมคุณจึงทำงานไม่ดีเท่าเดิมเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเหตุใหญ่จะมาความรู้สึกของคุณเอง โดยเฉพาะความซึมเศร้าและฟุ้งซ่าน


การบอกฝ่ายบุคคลของบริษัทก็มีข้อดี เพราะอาจได้สิทธิบางอย่างเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ (เช่น การเข้ารับการบำบัด) เท่ากับช่วยให้คุณผ่านเวลาทุกข์ยากได้อีกทางหนึ่ง ฝ่ายบุคคลอาจมีข้อมูลบางอย่างที่คุณต้องการ และเขาอาจแจ้งต้องให้บริษัททราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนเรื่องภาษีและเอกสารการจ่ายเงินเดือน


คุณอาจอยากเล่าให้เพื่อนที่ทำงานบางคนฟังเหมือนกัน “เลือกคนให้ดีล่ะ” เป็นคำแนะนำจาก สก๊อตต์ เฟแกน ผู้ให้คำปรึกษาและผู้จัดการแผนกบัญชีของบริษัทที่ปรึกษา วอร์เรน เชเพลล์ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาเรื่องส่วนตัวของพนักงานในองค์กรต่างๆ คุณอาจมีเพื่อนสนิทที่ทำงาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่ทำงานต้องรู้หรืออยากรู้เรื่องนี้แบบละเอียดยิบ ดังนั้นจงพูดน้อยๆ และพูดเฉพาะเรื่องจริงที่เกิดขึ้น “บริษัทไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องส่วนตัวของพนักงาน ถ้าไม่เกี่ยวกับงาน” เฟแกนบอก


ถ้าคนซุบซิบนินทาเรื่องที่คุณหย่าหึ่งไปทั้งสำนักงาน เฟแกนแนะนำว่า ให้นั่งลงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พวกเขาฟังอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ บอกเขาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เกี่ยวกับคนอื่น แต่ถ้าการหย่าของคุณส่งผลกระทบถึงคนรอบๆตัว และอาจกระเทือนถึงคนที่อยู่ไกลออกไปด้วย ก็เดาได้เลยว่าคนต้องเมาท์กันสนั่นแน่ เฟแกนบอกว่า “จงจดจ่ออยู่กับเรื่องสำคัญจริงๆ อย่าลืมว่าเราจะอ่อนไหวที่สุดในเวลาแบบนี้” ถ้าคำนินทาไม่ได้ทำลายชื่อเสียงหรือทำให้การงานเสียหาย ก็ปล่อยมันผ่านไปเถอะ 


ตอบคำถามเรื่องหย่า
คุณต้องผจญคำถามมากมายเกี่ยวกับการหย่าที่เกิดขึ้นแน่ๆ นิสสันบอกว่า ในสภาวะเช่นนี้เรามีทางเลือกสองทาง หนึ่ง ตอบอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา หรือสอง ตอบว่า “ฉันไม่อยากพูดเรื่องนี้” หรือ “ยังไม่อยากคุยตอนนี้” บางคนก็ชอบถามคำถามน่าอึดอัด บางทีก็เป็นคนในครอบครัวเองนั่นแหละ (“เขาโกหกเธอละสิ” หรือ “เขาเป็นผีพนันใช่ไหมล่ะ”) ถ้าคุณอยากตอบคำถามประเภทนี้ละก็ นิสสันบอกว่า “ตอบให้ละเอียดเลย” แต่ถ้าไม่อยากตอบ “ก็ต้องบอกให้ละอียดเหมือนกันว่าไม่อยากตอบ”


นอกจากคำถามแล้ว คุณอาจเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตัวคุณหรือแฟนเก่า อย่าลืมว่าคุณไม่จำเป็นต้องตอบโต้คำพูดเหล่านั้น บอกพวกเขาอย่างสุภาพและจริงจังว่า คุณยังไม่พร้อม หรือยังไม่อยากคุยเรื่องนี้


“ฉันจำได้ดีตอนที่ตัวเองบอกพ่อแม่ว่า ชีวิตคู่ของฉันเจอปัญหาหนักมากๆเข้าแล้ว และฉันก็พูดต่อว่า ‘แต่หนูไม่อยากได้ยินพ่อแม่พูดเรื่องไม่ดีของแฟนหนูนะ’ แล้วพ่อแม่ก็ยอมทำตาม” แอชตัน แอปเปิ้ลไวท์ ผู้แต่งหนังสือ ทำไมผู้หญิงที่หย่าแล้วถึง “ตัดใจ” เก่ง (Cutting Loose: Why Women Who End Their Marriages Do So Well) บอก “การพูดแบบนั้นไม่น่าฟัง แล้วก็ไม่ยุติธรรมกับพ่อแม่เลย แต่การที่พ่อแม่ยืนอยู่ข้างเราแบบไม่มีเงื่อนไขคือพรวิเศษจริงๆ”


นอกจากสารพัดคำถามและความเห็นแล้ว คุณอาจต้องรับมือกับคำแนะนำต่างๆที่ไม่ได้รับเชิญด้วย คนที่ยังมีทัศนคติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจพูดทำนองว่า “ซื้ออะไรให้เธอสักอย่างสิ” หรือ “แค่นอนกับเขาสักทีแหละจ๊ะ เดี๋ยวอะไรๆก็ดีขึ้นเอง” นิสสันมีคำตอบสำหรับคำแนะนำแย่ๆประเภทนี้ว่า “ฉันยังไม่อยากคุยเรื่องนี้” หรือหากจะพูดให้สุภาพขึ้นก็ตอบว่า “ขอบคุณมากนะที่เป็นห่วง แต่ฉันยังไม่พร้อมจะคุยเรื่องนี้จ้ะ” อย่าลืมว่าการตอบโต้อะไรออกไปเพราะความรำคาญหรือขัดอกขัดใจ อาจทำเรื่องราวบานปลายยิ่งขึ้น จนคุณอาจต้องเสียใจทีหลังที่พูดไปแบบนั้น


พยายามอย่าให้ครอบครัวหรือเพื่อนๆกระพือเรื่องให้ร้อนขึ้นด้วยคำพูดเสียๆหายๆเกี่ยวกับแฟนเก่าคุณ เช่น “ฉันไม่เคยชอบเธอเลย” หรือ “เขาไม่ดีพอสำหรับเธอหรอก” คำพูดทางลบพวกนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ของคุณและแฟนเก่าแย่หนักขึ้นจนหย่ากันดีๆไม่ได้


คุณอาจได้ยินเรื่องทำนองนี้ด้วย “เพื่อนน้องสาวฉันสูบผัวจนหมดตัวตอนมันหย่า แล้วตอนนี้มันก็ได้ไปทุกอย่างเลย” อย่ากังวลหรือหวั่นไหวกับเรื่องแบบนี้ เอ็ม ซู ทาเลีย ทนายความและผู้เขียนหนังสือ ทำอย่างไรจึงไม่ต้องไปหย่าในนรก (How to Avoid the Divorce from Hell) บอกว่า “ไม่มีศาลที่ไหนจะตัดสินเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเว่อร์หรอก คนก็ลือกันไป พวกนั้นรู้แค่ที่พูดนั่นแหละ เรื่องนิดเดียวแต่เอาไปขยายเสียใหญ่โต”


หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มเปลี่ยนจากการทำตัวน่ารำคาญมาเป็นใช้ความรุนแรง บางคนอาจพูดว่า “ฉันไม่มีวันทนกับพฤติกรรมแบบนั้นหรอก” ทาเลีย บอกว่า “คำพูดแบบนี้หมายถึง ถ้าคุณยังทนอยู่ได้ก็โง่แล้ว” แม้ว่าเพื่อนจะแนะนำด้วยความจริงใจ แต่คนอื่นก็ยังเป็นคนอื่น ไม่มีใครรู้หรอกว่าควรทำอย่างไร ถ้าไม่ได้เจอเรื่องนั้นด้วยตนเอง


บอกลูกๆ
จะบอกลูกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับอายุและพัฒนาการของลูก “ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ 3-5 ขวบ จะต้องการข้อมูลชัดๆ” โจน ซินแคลร์ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว และที่ปรึกษาเรื่องส่วนตัวในโตรอนโต บอก “เด็กเล็กๆต้องการรู้ว่าจะมีคนดูแลเขา เขาจะปลอดภัย เขาจะเอาตุ๊กตาไปด้วยได้ และของจำเป็นต่างๆจะยังอยู่ครบ” พูดกับลูกให้ง่ายเข้าไว้ เด็กๆไม่เข้าใจเรื่องยาก และไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดหยุมหยิมส่วนตัวที่ทำให้พ่อแม่หย่ากัน การพูดเรื่องไม่เป็นเรื่องจะทำให้ลูกรู้สึกแย่เปล่าๆ “ไม่ใช่ต้องปิดบังอะไรนะ” ซินแคลร์ บอก “แค่พูดเรื่องที่ลูกอยากรู้ก็พอแล้ว”


การคุยว่าจะทำอย่างไรกับลูกเป็นเรื่องยากมาก ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ด้วยดี ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะหย่ากันไปแล้ว แต่ทั้งสองคนก็จะช่วยกันเลี้ยงลูกต่อไป “อาจจะยากนะ แต่ถ้าคุณรวมทีมคุยเรื่องนี้กับลูกได้พร้อมกันละก็ ลูกจะเห็นว่า อย่างไรคุณก็จะยังเป็นพ่อและแม่ของเขาด้วยกันเสมอ” ซินแคลร์บอก


การเล่าเรื่องหย่าให้ลูกฟังต้องอาศัยการทำการบ้านล่วงหน้านานทีเดียว สิ่งที่เด็กๆอยากรู้มักเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่พื้นๆ เช่น เขาจะไปอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร หมาจะอยู่บ้านไหน จะไปโรงเรียนเดิมได้หรือเปล่า ลองทำแผนชีวิตคร่าวไว้ก่อนจะคุยกับลูก และถ้าจำเป็นต้องย้ายบ้าน ก็ควรหาที่อยู่ใหม่ให้เรียบร้อยก่อน การที่ลูกมีห้องส่วนตัวในบ้านใหม่เรียบร้อยแล้ว จะช่วยให้เขาจัดการกับความเป็นอยู่ของตนเองได้ง่ายขึ้น


สแตน เบนเนอร์ ผู้ให้คำปรึกษาและผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว ซึ่งมีสำนักงานที่โตรอนโตและ  แบรมป์ตัน  ประเทศแคนาดา กล่าวว่า เบาะกันกระเทือนที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันลูกจากปัญหาพ่อแม่หย่ากันก็คือ การทำให้เขามั่นใจเสมอๆ บอกเขาบ่อยๆว่า พ่อแม่รักเขาจริงๆ “บอกลูกจนกว่าแกจะเข้าใจว่า ความรักของพ่อแม่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกเข้าใจแล้วก็บอกอีกหน” เขาเน้น
เมื่อคุณเล่าเรื่องหย่าให้คนอื่นฟัง เรื่องราวนั้นก็จะขยายไปเรื่อยๆตามวงสังคมที่คุณสัมพันธ์ด้วย เพื่อนๆลูกก็เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น โซ สเติร์น อายุ 15 ปี และ อีแวน อายุ 13 ปี สองคนพี่น้อง และแม่ เอลเลน ซู ช่วยกันเขียนถึงวิธีที่เด็กๆจะรับมือกับการหย่าของพ่อแม่ไว้ในหนังสือ โลกไม่แตกเพราะหย่าหรอก (Divorce Is Not the End of the World) พวกเขาแนะนำเด็กๆว่าจะบอกเพื่อนๆเรื่องพ่อแม่หย่ากันอย่างไร “คุณอาจไม่รู้ว่าจะพูดอะไร หรือกังวลว่าเพื่อนจะคิดอย่างไร” โซบอก “คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนขี้แพ้หรือล้มเหลวในชีวิต แล้วก็ได้แต่คิดว่าทำไมถึงเป็นฉันนะที่ต้องพูดว่า ‘พ่อแม่ฉันหย่ากันแล้ว’ แต่พอเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังมากขึ้น เราก็จะพูดออกมาง่ายขึ้นเรื่อยๆ ควรบอกเพื่อนสนิทก่อน ค่อยๆเริ่ม จะฝึกพูดหน้ากระจกก็ได้ หรือขอให้เพื่อนที่รู้แล้วช่วยไปบอกเพื่อนบางคนให้ก็ได้”


เวลารักษาแผลใจ
นี่คือช่วงเวลาที่ลำบากแสนสาหัส คุณอาจรู้สึกว่าต้องเล่าเรื่องหย่าให้ทุกคนฟัง หรือไม่ก็อาจรู้สึกว่าต้องปิดปากเงียบ การรบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนที่รักและห่วงใยคุณฟัง จะทำให้คุณได้แรงใจ ความช่วยเหลือ ความใส่ใจดูแล และความรักจากคนเหล่านั้นเป็นรางวัลของช่วงชีวิต การหย่าคือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตัวคุณเองและคนใกล้ชิด ให้เวลากับตัวเองและคนที่คุณรักตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ ให้เวลาสำหรับการทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ความอดทน ความช่วยเหลือ และความเชื่อใจกันและกัน จะทำให้การเดินทางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4437เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2005 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท