ยอด “คุณเอื้อ”


อ. จิระพันธุ์ พิมพันธุ์ ผอ. รร. จิระศาสตร์วิทยา

ยอด “คุณเอื้อ”

           คณะกรรมการได้ตัดสินให้ อ. จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์  ผอ. รร. จิระศาสตร์ อยุธยา เป็นยอดคุณเอื้อแห่งเดือน สค. ๔๘  ในรางวัลจตุรภาคี    จึงขอนำเอาบทความเกี่ยวกับ อ. จิระพันธุ์ และ รร. จิระศาสตร์ ที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “สานปฏิรูป” มาลงไว้    ใครอยากอ่านอย่างได้อรรถรสโปรดซื้อนิตยสารมาอ่านได้นะครับ    หรือจะบอกรับก็ได้ที่ [email protected], [email protected] ราคาเพียงเล่มละ ๔๐ บาท คุณภาพคับแก้ว

วิถีสู่ “ดวงดาว” ของชาวจิระศาสตร์วิทยา

โดย วิวัฒน์  คติธรรมนิตย์

หากจะวัดความสำเร็จของโรงเรียนหนึ่งๆ จากรางวัลและการยกย่องแล้ว จิระศาสตร์วิทยาย่อมไม่น้อยหน้าโรงเรียนใด ด้วยเคยคว้ารางวัลพระราชทานมาแล้วทั้ง 3 ระดับ (อนุบาล ประถม มัธยม) มีผู้บริหารและครูจำนวนมากได้รับรางวัลยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ มีนักเรียนที่ได้รับรางวัลมากมายในแต่ละปี

ในวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงาน “ตลาดนัดความรู้” ที่จิระศาสตร์วิทยา โรงเรียนเอกชนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ได้รับฟังเจ้าภาพเอ่ยด้วยความภาคภูมิใจว่า ตนเองมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จในนาม JIRASART MODEL เป็นตัวแบบการจัดการเรียนการสอนที่ขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

            คำประกาศต่อคณะครูและแขกที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในตลาดนัดนี้ มี Port folio จำนวนเกือบร้อยแฟ้มเรียงรายเป็นประจักษ์พยานให้ศึกษาเรียนรู้  และเป็นคำเชื้อเชิญให้ “สานปฏิรูป” สนใจศึกษาถึงวิถีการจัดการความรู้ของจิระศาสตร์วิทยาว่า ทำอย่างไรจึงหนุนเสริมให้ครูนับร้อยชีวิตผลิบานผลงานออกมาสู่ประชาคมการศึกษาได้เช่นนั้น

สารพันกิจกรรมการเรียนรู้

“ผู้ปกครองที่เพิ่งนำลูกเข้าเรียนที่จิระศาสตร์มักจะสงสัยว่าทำไมโรงเรียนเราจึงมีกิจกรรมให้เด็กทำมากมายนัก จะเรียนได้ครบตามหลักสูตรกระทรวงหรือ” ดร.สุทธาทิพ ไชยรัตนะ ผู้บริหารสำนักวิชาการและกิจการนักเรียน โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา กล่าวถึงข้อกังวลของผู้ปกครองส่วนหนึ่งต่อการที่โรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเองตลอดเวลา ทั้งในสถานที่ นอกสถานที่ โดยมีบริบท “อยุธยามรดกโลก” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา โบราณสถานจำนวนนับร้อยแห่ง พิพิธภัณฑ์เรือไทย และรวมถึงสวนพฤกษศาสตร์ ที่โรงเรียนจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติโดยเฉพาะ

เช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป ในแต่ละภาคการศึกษา โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาจะประชุมครูเพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตร วางแผนการเรียนรู้ในแต่ละสาระวิชา  ดร.ชนาทิพ ย้อนระลึกถึงเมื่อ 7-8 ปีก่อน ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาว่า โรงเรียนมีเป้าหมายที่จะบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันให้มากที่สุด เพื่อให้เด็กเรียนรู้แบบเป็นองค์รวม

“ช่วงแรกมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ครูยังทำงานไม่เป็นเนื้อเดียวกัน แม้จะมีการผสมผสานกับสาระอื่นๆ  แต่การวัดประเมินผลยังเป็นเฉพาะวิชา  ต่อมาโรงเรียนพยายามปรับการทำงานให้มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน โดยจัดหลักสูตรเป็นช่วงชั้น จัดการประชุมครูเป็นช่วงชั้นรวมกัน หาทางบูรณาการข้ามสาระ มีการทำงานเป็นทีม ไปจนถึงคิดค้นการวัดประเมินผล โดยให้เด็กทำงานหนึ่งชิ้นแล้วบูรณาการในสาระต่างๆ เป็นชิ้นงานเดียวกัน มีการวัดประเมินผลร่วมกัน ทำให้ลดภาระงานของเด็ก ครูก็ลดการสอนที่ซ้ำซ้อนไม่ต่อเนื่อง”

อาจารย์จุรี วรไชยยนต์ อาจารย์ประจำช่วงชั้นที่ 1 อธิบายเสริมว่า คุณครูจะต้องสำรวจก่อนว่าสาระความรู้ที่เด็กจะได้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ คืออะไร อยู่ในสาระและมาตรฐานของหลักสูตรระดับใดบ้าง  ครูแต่ละช่วงชั้นจะต้องร่วมกันวางแผนการสอนให้เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อนกัน อย่างเช่น การไปสวนพฤกษศาสตร์ คุณครูแต่ละะท่านจะต้องสร้างผังความคิดรวบยอดก่อนว่าเด็กจะได้เรียนรู้แนวคิดหลักในสาระอะไรบ้าง และจะสามารถบูรณาการสาระการเรียนรู้ของคุณครูท่านอื่นเข้ามาได้ตรงไหนอย่างไร ครูจะต้องสร้างใบงานให้เด็ก เพื่อวางแนวให้เด็กได้เรียนรู้ตามจุดประสงค์ งานที่มอบหมายให้เด็กจะต้องหลากหลาย สะท้อนศักยภาพของเด็กแต่ละคน จากการไปเรียนรู้ที่สวนพฤษศาสตร์เพียงแหล่งเดียว เด็กจะสามารถเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์  ไปจนถึงเรื่องของจริยธรรม ความเมตตากรุณา และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้  อีกทั้งยังสามารถเรียนจนครบจุดประสงค์ของหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้นได้โดยไม่ซ้ำซ้อนกัน

ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ ผู้บริหารสำนักนโยบายและแผน โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา กล่าวถึงกระบวนการในการพัฒนาการเรียนการสอนว่า ในช่วงปิดภาคเรียนจะมีการประชุมสัมนาบุคลากร ส่งครูไปอบรมเพิ่มเติม แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จากนั้นจะเริ่มทบทวนหลักสูตร ให้ครูเตรียมกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้จากการประสบการณ์ตรงและจากการปฏิบัติจริงให้มากที่สุด  โรงเรียนจึงพยายามกระตุ้นส่งเสริมให้ครูจัดกิจกรรมต่างๆ โดยอาศัยแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ แหล่งธรรมชาติ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และแหล่งวิทยาการสมัยใหม่ อาทิ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพครูและนักเรียน อาทิ โครงการห้องเรียนสีเขียว โครงการศูนย์อัจฉริยภาพเด็ก โครงการโรงเรียนสีขาว โครงการการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ โครงการการศึกษาเชิงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น  โดยให้ครูมีอิสระในการจัดกิจกรรม  ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้มากที่สุด

“การบริหารจัดการในยุคปัจจุบันนี้ผู้บริหารเป็นเสมือนผู้ประสาน ดูแล อำนวยความสะดวก ให้ผู้ร่วมงานในองค์การ/หน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่เป็นพันธกิจขององค์กรให้ประสบผลสำเร็จ โดยใช้กระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือให้ทุกคน ‘ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนา และร่วมอาสาเป็นเจ้าภาพ’ ”  ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ กล่าวถึงแนวทางการบริหารที่โรงเรียนนำมาใช้ และเผยว่าเคล็ดลับสำคัญคือ การทำงานเป็นกลุ่มกิจกรรมขนาดเล็ก หรือสตาร์ (Star - Small Team Activity Relationship)

‘สตาร์’ เฟ้นหาดาวจรัสแสง

กลุ่มสตาร์นับเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในระดับย่อยที่สุดที่อาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้คิดค้นขึ้น โดยให้ครูในแต่ละสายชั้นรวมกลุ่มกันเองเป็นกลุ่มขนาดเล็ก มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานด้านการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อสร้างกระบวนการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดภาะความเป็นผู้นำ

กลุ่มสตาร์หรือกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เอื้ออาทร จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโดยมีแนวดำเนินการดังนี้คือ ให้สมาชิกที่สนใจในการปัญหาหรือต้องการพัฒนางานที่เหมือนๆ กันหรือคล้ายคลึงกัน เข้าร่วมกลุ่มกันประมาณ 5-6 คน กลุ่มจะเลือกประธาน รองประธานและเลขานุการ ที่เหลือเป็นสมาชิก ในแต่ละวันจะหาโอกาสพบปะพูดคุยกันหรือประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อระดมสมองกำหนดประเด็นปัญหาหรือแนวทางการพัฒนางาน พร้อมทั้งช่วยกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา/พัฒนางานโดยใช้แผนภูมิก้างปลา กำหนดให้หัวปลาเป็นปัญหา ก้างปลาเป็นสาเหตุของปัญหา และหางปลาเป็นผลการแก้ไขปัญหา/การพัฒนางาน เช่น แก้ไขปัญหาเด็กอ่านไม่คล่อง ครูในช่วงชั้นเดียวกันจะร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา แล้วนำผลการดำเนินการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของแต่ละคน แล้วนำไปขยายผลในการประชุมประจำเดือนของโรงเรียน

อาจารย์อัมพา มงคลยศ สมาชิกกลุ่มสตาร์ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ยกตัวอย่างการทำงานของกลุ่มสตาร์ว่า กลุ่มสตาร์มักจะอาศัยการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง เพื่อช่วยกันดูว่าเด็กในสายชั้นของตนมีปัญหาการเรียนและพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เช่น หากมีปัญหาเรียนอ่อนอาจจะต้องใช้วิธีสอนเสริม บางกลุ่มอาจสนใจการเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยให้กับเด็ก เช่นในด้านกิริยามารยาท อาจจัดทำเป็นโครงการ “สัปดาห์วาจาไพเราะ” มีการเชิญครูที่มีความรู้ความชำนาญมาให้ความรู้และสาธิตให้นักเรียนได้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นกิจกรรมย่อยๆ อาทิ ไหว้สวย พูดจาไพเราะ มีการยกย่องให้รางวัลกับเด็กที่ประพฤติถูกต้องตามเกณฑ์ เป็นต้น

ในการดำเนินงานนั้น กลุ่มจะเลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามระดับความสำคัญ และร่วมมือกันแก้ปัญหาจนสำเร็จลุล่วง การดำเนินงานของกลุ่มสตาร์จึงเปรียบเสมือนการวิจัยและพัฒนา ช่วยให้โรงเรียนได้ค้นพบแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลาย สอดคล้องกับสภาพของเด็กแต่ละคน จากนั้นในแต่ละเดือนกลุ่มสตาร์ทั้งหมดจะร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าได้ใช้เทคนิควิธีการอย่างไรในการพัฒนาเด็กในเวทีการประชุมของโรงเรียน คุณครูในสายชั้นอื่นที่มีสภาพคล้ายกันก็อาจจะนำเอาวิธีการเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนของตน

กลยุทธสำคัญที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งเปรียบเสมือน “คุณอำนวย” ในภาษาการจัดการความรู้ของ สคส. ใช้ในการผลักดันกลุ่มสตาร์ หรือ “คุณกิจ” ให้ทำงานจัดการความรู้อย่างมีพลวัตคือ กำหนดให้มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานและเลขานุการกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ครูทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่สามารถแสดงบทบาทความเป็นผู้นำได้เท่าเทียมกัน เป็นการเสริมสร้างให้ครูทุกคนกล้าที่จะแสดงออก มีเวทีที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกที่มีคุณค่า ได้ทำประโยชน์ให้โรงเรียน เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน โดยฝ่ายบริหารจะอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องเวลาการทำงานของกลุ่ม และทรัพยากรที่จะต้องใช้ดำเนินงานพัฒนาผู้เรียนในกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มคิดค้นขึ้นมา และเมื่อสิ้นภาคการศึกษา ฝ่ายบริหารจะร่วมกับกลุ่มสตาร์ สกัด “ขุมความรู้” โดยรวบรวมสังเคราะห์แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนาของกลุ่มสตาร์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในภาคเรียนต่อไป

นั่นหมายถึงว่า ครูทุกคนในกลุ่มสตาร์สามารถที่จะเป็น “ดาวจรัสแสง” ได้ หากแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม

คนมีศักดิ์ศรี…คนมีพลัง

อาจกล่าวได้ว่า “สตาร์” เป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับเล็กที่สุดในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียน โดยมีคณะกรรมการสายชั้น คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสภาครู และคณะกรรมการครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร เป็นคณะกรรมการในระดับสูงขึ้น  ทำงานตามบทบาทหน้าที่ และมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำ

อาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ อธิบายถึงแนวคิดในการสร้างกลุ่ม “ครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร” ว่า “ถ้าไม่สามัคคีกันจะไปไม่รอด ดิฉันจึงให้มีการรวมกลุ่มครู คนรถ คนงาน คละกัน กลุ่มละ 24 คน ถือว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน มีการตั้งชื่อครอบครัว สร้างอุดมการณ์ และเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม ประชุมกันเดือนละครั้ง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างความรักความสามัคคีระหว่างบุคลากรที่ทำงานต่างกันได้ เกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  โรงเรียนต้องการขุมพลังสมองของทุกคน ถ้ายิ่งได้ขุมพลังสมองมากเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น  ดิฉันเชื่อว่าทุกคนสามารถคิดริเริ่มช่วยจิระศาสตร์วิทยาได้ คนรถคนงานบางคนอยากจะช่วยสอนนักเรียนด้วย” และว่า กลุ่มในลักษณะนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนรถ คนงาน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในโรงเรียน เป็นการแสดงถึงการยอมรับว่าเขาเป็นคนเหมือนกัน แม้จะไม่มีโอกาสเรียนสูงๆ  แต่เมื่อเข้ากลุ่ม “ครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร” แล้วอาจมีสถานภาพเป็นประธานกลุ่ม ที่คุณครูและผู้บริหารต้องเคารพความคิดเห็น สามารถเป็นฝ่ายริเริ่มกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ค่ายคุณธรรมในวันเข้าพรรษา จัดกีฬาสีประจำเทอม จัดการแสดงลิเกและการแสดงอื่นๆ ในวันปีใหม่ หรือเมื่อปิดเทอมก็มีการจัดไปทัศนศึกษาดูงานด้วยกัน นอกจากนี้ในการประชุมประจำทุกเดือนจะมีการอวยพรวันเกิด มีของขวัญให้ทุกคนที่เกิดในเดือนนั้น กิจกรรมกลุ่มนี้เองที่อาจารย์จิระพันธุ์เชื่อมั่นว่า “ทำให้โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาซึ่งมีคนสามร้อยกว่าคน แต่ไม่เคยมีการทะเลาะให้เห็น”

นอกเหนือจากกลุ่มครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทรแล้ว โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยายังเป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีสภาครูมาตั้งแต่ปี 2518 และปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ สภาครูมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการบริหารงานร่วมกับคณะผู้บริหาร เป็นการกระจายอำนวจการบริหารงานโรงเรียน ให้ครูมีส่วนร่วมในการบริหารงาน โดยเป็นผู้แทนครูและบุคลากรโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาในการบริหารงานร่วมกับผู้บริหาร ร่วมกำหนดกฎ ระเบียบปฏิบัติของบุคลากร พิจารณาความดีความชอบของครูและบุคลากรรวมกับคณะผู้บริหาร พิจารณาจัดสวัสดิการครูและบุคลากรร่วมกับคณะผู้บริหาร และพิจารณาแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรร่วมกับคณะบริหาร เป็นต้น

การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในโรงเรียนผ่านกลุ่มและกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนตั้งอยู่บนฐานคิดของอาจารย์จิระพันธุ์และผู้บริหารที่ว่า ครูและบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นคน มีคุณค่า และมีศักยภาพในการเรียนรู้สูง หากมีการจัดกระบวนการที่เหมาะสมในการกระตุ้นให้ครูและบุคลากรใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ในการทำประโยชน์ให้กับโรงเรียน  อาจารย์จิระพันธุ์จึงใช้กลยุทธวิธีการที่แยบคายในการบ่มเพาะความรักสามัคคีในหมู่คณะจิระศาสตร์วิทยา ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ทั้งด้านวิชาการ ด้านวัฒนธรรมประเพณี และด้านการบริหารงานที่มีการกระจายอำนาจ ใช้หลักประชาธิปไตยในการปกครอง ให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ทำให้ครูและบุคลากรของโรงเรียนทุกคนมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของจิระศาสตร์วิทยา

ในช่วงที่ผ่านมา หากเครื่องมือ “จัดการความรู้” ของชาวจิระศาสตร์วิทยาที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสะกัดขุมความรู้ออกไปใช้ในการปฏิบัติแล้ว  ในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา จากการจัด “ตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 2” สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้เสริมพลังในการจัดการความรู้ให้กับชาวจิระศาสตร์และสมาชิกที่เข้าร่วมตลาดนัดความรู้ด้วย “ธารปัญญา” และ “บล็อก” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงนักจัดการความรู้

ในวันนี้ แม้ว่าจิระศาสตร์วิทยาจะยังคงเป็นโรงเรียนที่มีกิจกรรมมากมายละลานตาในสายตาของผู้ปกครอง แต่กำลังจะเป็นกิจกรรมที่ผ่าน “การจัดการความรู้” ด้วยเครื่องมือที่ใหม่ๆ มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงขอเชิญประชาคมการศึกษาจับตาดูความเคลื่อนไหวของจิระศาสตร์วิทยาและมวลมิตรใน “ตลาดนัดความรู้” ครั้งต่อๆ ไป

เรื่องของตลาดนัดความรู้ รร. จิระศาสตร์วิทยา ดูได้ที่ http://gotoknow.org/jirasart  และผมเคยบันทึกประสบการการไปร่วมตลาดนัดความรู้ที่ รร. จิระศาสตร์ฯไว้ที่  http://gotoknow.org/archive/2005/08/01/09/50/48/e1818    ที่น่าประทับใจคือบันทึกการไปสังเกตการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่สวนพฤกษศาสตร์ของ รร. จิระศาสตร์ฯ อ่านได้ที่นี่ http://gotoknow.org/archive/2005/09/08/08/57/43/e3606  
วิจารณ์ พานิช

หมายเลขบันทึก: 4435เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2005 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท