การเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาของพุทธทาสภิกขุ


ท่านพุทธทาส เป็นที่ยอมรับว่าท่านเป็น “ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา” ท่านวิเคราะห์หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาและเผยแผ่หลักคำสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ฟังหรืออ่านผลงานของท่านเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและวงวิชาการได้อย่างกว้างขวาง ผลงานทางการเมืองการปกครองของท่านนั้นที่โดดเด่นได้แก่ งานเขียนเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” แนวคิดทางการเมืองของท่าน มีพื้นฐานแนวความคิดอิงหลักทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นด้านหลักแนวคิดทางการเมืองแบบ “ธัมมิกสังคมนิยม”

การเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาของพุทธทาสภิกขุ 

 

          ท่านพุทธทาส เป็นที่ยอมรับว่าท่านเป็น “ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา” ท่านวิเคราะห์หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาและเผยแผ่หลักคำสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ฟังหรืออ่านผลงานของท่านเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและวงวิชาการได้อย่างกว้างขวาง ผลงานทางการเมืองการปกครองของท่านนั้นที่โดดเด่นได้แก่ งานเขียนเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” แนวคิดทางการเมืองของท่าน มีพื้นฐานแนวความคิดอิงหลักทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นด้านหลักแนวคิดทางการเมืองแบบ “ธัมมิกสังคมนิยม” มีดังนี้คือ[๑]

 

๙.๑.๑ ว่าด้วยการก่อรูปอุดมคติทางการเมือง

 

                    ท่านกล่าวว่า[๒] หลักธรรมะที่จะใช้เป็นที่พึ่งแก่โลกในทางการเมืองได้นั้น สามารถนำมาจากหัวใจของทุก ๆ ศาสนา ทุกศาสนามีหัวใจเป็นสังคมนิยม ทุกศาสนาสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ๆ ไม่ใช่เพื่อคนเดียว หัวใจของศาสนาจึงเป็นลักษณะของสังคมนิยม ไม่ใช่ปัจเจกนิยม

                             ธัมมิกะ แปลว่า “ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ” ธรรมะคือความถูกต้อง ถูกต้องอย่างที่ไม่มีทางที่จะผิด สังคมนิยมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะนี่ เป็นหัวใจของทุกศาสนาอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว จะต้องนำออกมาใช้หมดทุก ๆ ศาสนา มารวมกันเป็นระบบธัมมิกสังคมนิยมของโลก ใช้กับคนทั้งโลก ระบบธัมมิกสังคมนิยมจะเป็นที่พึ่งในโลก แล้วในที่สุดจะมองเห็นกันได้ว่า เราเป็นสหธรรมิกกันได้ การก่อรูปว่าด้วยอุดมคติทางการเมือง แยกประเด็นได้ดังนี้


                        ๑) การเมืองและอุดมคติทางการเมือง

                        คำว่า “การเมือง” มาจากคำว่า politics ทำให้มองเห็นความหมายได้ง่าย เพราะ คำว่า politics นี้มีความหมาย “เกี่ยวกับคนมาก” หรือเกี่ยวกับเรื่องที่มาก ๆ และจะต้องนึกไปถึงความจริงอันหนึ่งว่า พออะไรมีเพิ่มมากขึ้นละก็เป็นเกิดปัญหาทันที poli แปลว่า “มาก” นี้ หมายถึงอะไรก็ได้ บัดนี้เอามาใช้ประกอบขึ้นเป็นคำสำหรับอุดมคติอันหนึ่ง ที่จะใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีคนมาก ดังนั้นก็ต้องมีระบบทางศีลธรรม หรือทางศาสนา เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ถ้าคำว่า “การเมือง” หมายความอย่างนี้ก็นับว่าดี คือว่าเป็นกลาง วางไว้สำหรับจะแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคนมาก

                   ส่วนคำว่า “อุดมคติทางการเมือง” มีคนกล่าวถึงอุดมคติเป็นจำนวนมาก จนเกิดขึ้นหลายๆ ระบบเป็นอุดมคติทางการเมืองที่แข่งขันกันขึ้นมาเสนอตัวเป็นผู้จัดสันติภาพโลก จนกระทั่งเราไม่รู้จะเอาระบบไหนดี จึงมีปัญหา

                   อุดมคติทางการเมืองจะต้องเกี่ยวข้องกับศีลธรรม ระบบการเมืองที่แท้ก็คือ ศีลธรรม ถ้าระบบการเมืองนั้นถูกต้อง นั่นก็คือศีลธรรมที่มีแล้วอย่างถูกต้อง ระบบสังคมนิยมนี้ คือ ระบบที่ประกอบด้วยศีลธรรมยิ่งกว่าระบบใด[3]

                        ๒) การเมืองตามแนวทางศาสนา

                    สิ่งที่เรียกว่า การเมือง มีความหมายตามแนวทางของศาสนาว่า การเมือง คือ การจัดอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อคนมากจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก[4] สิ่งที่เรียกว่าการเมือง คือ ระบบศีลธรรมอันเร้นลับ การดูอย่างนี้มีประโยชน์และเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้านำมาทำให้ถูกต้องก็จะมีประโยชน์ ถึงอย่างนั้นก็ยังจะต้องแยกออกให้ง่าย ให้เห็นได้ง่าย ให้ง่ายแก่การที่จะศึกษาหรือปฏิบัติศีลธรรมในรูปแห่งการเมือง และหากให้ดีกว่านั้นอีกก็ให้การเมืองมาอยู่ในรูปของศาสนาเสียเลย เพราะว่าคำว่า “ศาสนา” ก็คือ ภาวะสมบูรณ์ของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ความเต็มรูปของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมคือ ศาสนา

 

            ๙.๑.๒ ธัมมิกสังคมนิยม

 

                    ๑) ความหมายของธัมมิกสังคมนิยม ธัมมิกสังคมนิยมเป็นระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวบุคคล และจะต้องประกอบไปด้วยธรรมะ ระบอบการปกครองของโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวบุคคล จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบด้วยธรรมะ กล่าวโดยสรุป ธัมมิกสังคมนิยม เป็นระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบด้วยธรรมะ

                    ๒) สังคมนิยมในพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาส ได้กล่าวถึงสังคมนิยมในพระพุทธศาสนา ดังนี้คือ

                        คำว่า สังฆะ แปลว่า หมู่ หรือ พวก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติระบบวินัย เป็นระบบที่ผูกพันกันไว้เป็นหมู่เป็นพวกไม่แยกออกจากกัน โดยมีเครื่องยึดเหนี่ยวให้อยู่ร่วมกัน เช่น หลักธรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้หมู่สงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

                        ๒.๒) การปฏิบัติตนให้สันโดษเป็นรากฐานของสังคมนิยม ระเบียบวินัยทางพระพุทธศาสนามุ่งให้พระสงฆ์ปฏิบัติตนอย่างสันโดษ พอดี รู้จักพอดีในการเป็นอยู่ เช่น จะต้องมีจีวร ๓ ผืน มีมากก็อาบัติ เป็นต้น การปฏิบัติตนให้สันโดษ พอดี ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เหลือ และสามารถจุนเจือหรือช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ยากจนกว่าได้ดีมาก จึงเป็นรากฐานของสังคมนิยมในที่สุด

                        ๒.๓) การอยู่กันเป็นสังคม การช่วยเหลือหรือเสียสละเพื่อผู้อื่น ระเบียบวินัยทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ชัดเจนว่า จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสียสละเพื่อผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่สังคม นั่นก็คือมีเจตนาของสังคมนิยมมากในทุกด้าน การอยู่กันเป็นสังคมนี้เป็นความต้องการของธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือหรือพึ่งพิงซึ่งกันและกันได้

                        ๒.๔) ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา ก็คือ หลักทศพิธราชธรรม ที่ประกอบด้วย ทาน ศีล บริจาค ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน การควบคุมตนเอง ความไม่โกรธ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความอดทน และการปฏิบัติตามธรรม

 

            ๙.๑.๓ แนวทางสู่ธัมมิกสังคมนิยม

 

                    ๑) ธัมมิกสังคมนิยมที่ถูกต้อง ประกอบด้วย

                        ๑.๑) ต้องไม่เป็นทาสของวัตถุ

                        ๑.๒) เจตนารมณ์ของการเมืองต้องเป็นศีลธรรม

                        ๑.๓) อุดมคติทางการเมืองจะต้องประกอบไปด้วยธรรม

                    ๒) การแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ

                        ๒.๑) การแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล บุคคล คือหน่วยสังคมแต่ละหน่วย แต่ละคนนั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

                             (๑) มีการศึกษาดี ถูกต้อง

                             (๒) มีสุขภาพอนามัยดีทั้งทางกาย ทางจิต และทางวิญญาณ

                             (๓) มีครอบครัว มีความเป็นอยู่อย่างครอบครัวที่ถูกต้องทั้ง ๖ ทิศ

                             (๔) มีเศรษฐกิจดี กินอยู่พอดี เหลือทำประโยชน์เพื่อนมนุษย์

                             (๕) มีธรรมเป็นหน้าที่ ทำงานด้วยความสนุก

                             (๖) รักเพื่อนมนุษย์

                             (๗) มีสัมมาทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ที่ถูกต้อง

                             (๘) เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเยือกเย็น

                    บุคคลแต่ละคนที่ประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบที่ดีที่สมบูรณ์ สำหรับจะสร้างโลก สร้างสันติภาพได้

                        ๒.๒) การแก้ไขปัญหาในระดับสังคม จะต้องเป็นระบบสังคมที่มีความถูกต้อง นั่นคือ ระบบการปกครอง และระบบการควบคุมมนุษย์จะต้องถูกต้องเป็นไปโดยธรรม ประกอบด้วย

                             (๑) มีเศรษฐกิจที่ถูกต้องในสังคมนั้น

                             (๒) มีระบบการอยู่ร่วมกันระหว่างคนด้วยกับคนเด่น

                             (๓) มีระบบการเมืองที่ถูกต้อง

                             (๔) ระบบการปกครองที่มีธรรมะเป็นหลัก

                             (๕) ระบบศีลธรรมเป็นไปตามหลักศาสนา

                             (๖) มีระบบการศึกษาถูกต้อง (การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์)

                             (๗) มีระบบนิเวศวิทยาที่ดี

                    กล่าวโดยสรุป แนวคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาส แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ แนวคิดที่ให้คุณค่าทางด้านจิตใจ ที่มุ่งเน้นการเมืองที่ประกอบไปด้วยธรรม และแนวคิดที่ให้คุณค่าด้านการปกครอง ที่มุ่งเน้นการปกครองโดยใช้หลักของศีลธรรมที่เป็นไปตามหลักของศาสนา เช่น หลักทศพิธราชธรรม เป็นต้น



[๑] ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ, อ้างใน www.buddhadasa.org/html/articles/1_bdb/dhm_soc.html

[๒]พุทธทาสภิกขุ “ศาสนิกชนต้อนรับการเมืองฯในทศวรรณนี้ฯได้อย่างไร” เทปธรรมบรรยายพิเศษ, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๓  

ณ สวนโมกข์

[3]โดนัลด์ เค. สแวเรอร์ (บรรณาธิการ) “สังคมนิยมตามหลักแก่งพระศาสนา” ธัมมิกสังคมนิยม, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙), หน้า ๔๗-๔๙.

[4]พุทธทาสภิกขุ, “ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง” ธรรมสัจจสงเคราะห์ (ธรรมโฆษณ์), (กรุงเทพมหานคร: ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๒๑), หน้า ๓๑๖.

หมายเลขบันทึก: 442972เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท