นวัตกรรมโรคหลอดเลือดสมอง


การฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

นวัตกรรม โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

Email [email protected]   036 – 722313

(นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ)

 

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่หลอดเลือดในสมอง หรือไขสันหลัง หรือเส้นประสาท ที่ได้รับการบาดเจ็บ หรือมีการอักเสบ ปัญหาที่พบบ่อย เป็นโรคที่สมองขาดออกซิเจน อันเนื่องมาจาก เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตันหรือแตก ทำให้การทำงานของสมองส่วนต่างๆผิดปกติ สมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมหน้าที่ต่างๆของร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด พฤติกรรม และความจำ นอกจากนี้ยังทำให้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายในส่วนที่สมอง ส่วนๆนั้น ควบคุมอ่อนแรง

          ความผิดปกติ ของร่างกายที่เกิดขึ้นจะเป็นมากหรือน้อย ขึ้นกับว่าสมองส่วนใดขาดเลือดไปเลี้ยง และขาดเลือดไปเลี้ยงมากน้อยขนาดใด ตัวอย่างเช่น หากสมองด้านหลังขาดเลือดไปเลี้ยง ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นหรือเห็นภาพ  สัญญาณเตือนภัย ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกที่หน้า แขน หรือขา เวียนศีรษะหรือหมดสติ ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน พูดไม่ชัดหรือลิ้นแข็ง ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน

การฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

            การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ป่วยจะต้องมีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูร่างกาย และการทำกายภาพบำบัด คือ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกฝนทักษะต่างๆ และเพิ่มความมั่นใจ และทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด การเพิ่มความรู้ให้แก่ประชาชน ให้รู้จักโรคหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้น อาจนำไปสู่การป้องกันที่ดี การรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว การฟื้นฟูสภาพที่ดี เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมอง(อัมพฤกษ์ อัมพาต) ซึ่งเป็นสาเหตุระดับต้นๆของประเทศไทย

แนวทางการจัดการด้านสุขภาพ

  1. การผนึกกำลังของทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ภาคเอกชน ครอบครัว และชุมชน ให้เกิดพลังที่จะทำการช่วยเหลือ ระดมความคิด การฟื้นฟู  ซึ่งมีการสร้างความรู้และให้ความรู้ เป็นการขับเคลื่อน เรื่องสุขภาพ โดยการเคาะประตูบ้านทุกหลังเรือนให้ความรู้และให้รับทราบปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน
  2. จิตอาสาที่เป็นญาติ/ครอบครัวของผู้ป่วยหรืออาสาสมัครที่เป็นคนในชุมชน ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่นสิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละสิ่งที่ตนมี จิตอาสา นั้นมีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว เพราะทุกคนมีความปรารถนาที่จะทำความดี แต่บางครั้ง....ความอยากทำดีนั้น ถูกสกัดด้วยความกลัว กลัวจะทำไม่ได้ กลัวคนอื่นหัวเราะเยาะ กลัวเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้
  3. ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อหวังให้เกิดแนวทางเลือก ความรู้ของชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาด การเอาทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก

-          การแพทย์แผนไทย คือวิถีการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี มีการใช้สมุนไพรในรูปแบบอาหารและยา ใช้ในการอบ ประคบ อาบ แช่น้ำสมุนไพร การนวดและอาจหมายถึง กระบวนการทางการแพทย์ ที่เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัย บำบัด หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และหมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย ประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดกันสืบต่อกันมา

-          การแพทย์พื้นบ้าน เป็นการดูแลสุขภาพ เกิดจากการเรียนรู้ธรรมชาติ ลองผิดลองถูก และจดจำมาบอกเล่าสืบต่อกันมา มีความแตกต่างกันไปตามสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อต่างๆ

-          การแพทย์ทางเลือก วิธีการรักษาโรคที่ไม่อาศัยการใช้ยา การผ่าตัดหรือวิธีอื่นๆที่ใช้ในแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการและการรักษาโรคให้หายได้ เช่น ฝังเข็ม จัดกระดูกสันหลัง จับจุดประสาท นวดแผนโบราณ ใช้ความร้อน ใช้ความเย็น ฝึกวิชาซีกง ฝึกมวยจีน และนั่งสมาธิ

4.อาศัยพลังชุมชน การสร้างความเป็นธรรมให้แก่ชุมชนของตนเอง การดูแลเรื่องสุขภาพ ที่ส่งเสริมให้บุคคล องค์กร และชุมชน มีความสามารถในทางเลือกและกำหนดอนาคตชุมชนและสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อม แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ เน้นเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระดับสังคมด้วย คือการดูแลสุขภาพตนเอง คือการสร้างพลังให้ประชาชนสามารถกำหนดหรือจัดการกับสุขภาพตนเองได้

5.ต้องประเมินเป้าหมาย การฟื้นฟู ของแต่ละราย

-          การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองกับผู้ป่วย/ผู้ดูแล/ญาติ

-          การทำกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น การนวดไทย เป็นการบรรเทาอาการปวดเมื่อย เจ็บป่วยของร่างกายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการนวดทำให้ผู้ป่วย ได้ฟื้นฟูสภาพร่างกายหรือการเคลื่อนไหวของร่างกายได้โดย ไม่ติดขัดของข้อต่อ กล้ามเนื้อ เอ็น การกายภาพบำบัดเบื้องต้น ให้กับผู้ป่วยได้รับความรู้สึก ในการขยับแขนขา รวมถึงการหัดเดิน การทรงตัวของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี การอบสมุนไพร เมื่อความดันโลหิตของผู้ป่วยปกติเท่านั้น

-          การออกกำลังกาย ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย

-          สุขภาพจิต สภาพจิตใจของผู้ป่วย และการให้กำลังใจของญาติ พี่น้อง เพื่อนบ้าน

-          ติดตามเยี่ยมบ้าน ตามศักยภาพที่สามารถทำได้

-          ญาติผู้ดูแล มีการดูแลอย่างถูกต้องอย่างต่อเนื่อง

-          การจัดสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยที่บ้าน

-          ทำกายอุปกรณ์ เพื่อให้ฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยเลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น(อุปกรณ์เสริมต่างๆในการช่วยเหลือตนเอง ของผู้ป่วย)

-          การรับประทานอาหาร หรือสารอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ หรืออาหารที่มีกากใยย่อยงาน

 แนวทางการป้องกันหรือเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

  1. ควบคุมความดันโลหิต ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างน้อย 1 – 2 ครั้ง/ปี เพราะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  2. งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งสารนี้จะทำให้หัวใจเต้นเร็วหลอดเลือดหดตัว หรือโรคหัวใจ
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด การดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง
  4. ไม่รับประทานอาหารคบเคี้ยว ที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาล ที่จะทำให้น้ำหนักเพิ่ม
  5. งดอาหารที่ใส่สีหรือปรุงแต่งสีที่ไม่ได้จากธรรมชาติ
  6. งดอาหารที่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลา ปลาร้า เกลือ และอาหารที่มีส่วนของเกลือผสม เช่นมันฝรั่งทอด  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และกะทิมะพร้าว ไข่แดง
  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น การออกกำลังกายยังช่วย คลายเครียดและในการควบคุมความดันโลหิตและน้ำหนักตัว ความอ้วนเป็นสาเหตุการเกิดโรค เช่นไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ การออกกำลังกายมีผลการลดปัจจัยเสี่ยง ต่อการที่จะเกิดโรค
  8. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  ควรทานผักผลไม้สดให้มาก ปลอดสารพิษ หลีกเลียงอาหารไขมันสูง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลเช่นปลาหมึก หนังไก่ ขาหมู ของทอด น้ำมันหมู
  9. ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากมีโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหากปล่อยให้น้ำตาลสูง โดยไม่ควบคุม เส้นเลือดจะแข็งตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น
  10. ปัจจัยเสี่ยง ที่แก้ไขไม่ได้ อายุ เพศ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ (อายุ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุด จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆในร่างกายเริ่มเสื่อม เพศ เกือบทุกช่วงอายุ ชายเป็นมากกว่าเพศหญิง เพราะพฤติกรรมต่างๆ เชื้อชาติ คนผิวดำมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว พันธุ์กรรม พบว่าผู้ที่มีบิดา มารดาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนปกติ)
  11. สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย ใจ

 

หมายเลขบันทึก: 442719เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะลองทำเพื่อรับประทาน สุขภาพจะได้แข็งแรง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท