วิชาการว่าด้วย Global Health


          จากการไปร่วมประชุม WHA 64 ที่เจนีวา ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๐ พ.ค. ๕๔   ผมมีข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยไทยอ่อนแอเรื่องวิชาการว่าด้วย Global Health   เวลานี้ความรู้นี้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข   เพราะเรามี นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นอาจารย์ใหญ่ เรียนรู้ Global Health จากการเข้าไปคลุกงาน   อีกท่านหนึ่งที่ผมถือว่ารู้เรื่องนี้มากรองลงไป คือ รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงาน Global Health ทีมเดียวกันกับ นพ. สุวิทย์และวิโรจน์

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Global Health อย่างเป็นทางการที่สุดคือ WHO   และในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาได้เกิด Global Fund ซึ่งทำงานแคบหรือโฟกัสกว่า   คือเฉพาะเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย   และยังมีหน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาจับเรื่อง Global Health มากขึ้นจนดูเหมือนบทบาทของ WHO จะด้อยลงไป   แต่ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะเขียน

          ผมตีความเอาเองว่า เรื่อง Global Health มองมุมหนึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ   เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัตน์ ที่โรคภัยไข้เจ็บมันก็โลกาภิวัตน์ด้วย   แม้แต่โรคไม่ติดต่อ (NCD – Non-communicable Diseases) เพราะไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค   มันก็ “ระบาด” ไปด้วยกันทั่วโลก ผ่านทางกระบวนการโลกภิวัตน์ของพฤติกรรม วิถีการดำรงชีวิต และวิถีการตลาดหรือเศรษฐกิจทุนนิยม

          มองอีกมุมหนึ่ง Global Health เป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศร่ำรวยที่มีธุรกิจเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์ยา (ซึ่งเป็นคุณแก่สุขภาพของผู้คน)  และมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นพิษต่อสุขภาพ (เช่นยาสูบ สุรา สารเคมีเป็นพิษ)   กับประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการพัฒนาสุขภาพของผู้คนเป็นหลัก  ไม่เก่งเรื่องการทำมาหากินจากระบบสุขภาพ

          ประเทศร่ำรวยมองระบบสุขภาพด้วย ๒ มุมมอง/เป้าหมาย   คือเป้าหมายที่สุขภาพของคน และที่เป้าหมายการทำมาหากินจากการผลิตยา หรือสินค้าอื่นๆ ด้านสุขภาพ   แต่ประเทศยากจนมองที่เป้าหมายเดียว คือเป้าหมายสุขภาพของคน เป็นหลัก

          ข้อสรุปนี้คงจะเป็น over-simplification    

          เมื่อมุมมองต่างกัน ผลประโยชน์ต่างกัน ก็ย่อมมีการต่อสู้กัน  ในเวทีต่อรองเจรจาเพื่อกำหนดกติกาโลกว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ   ที่ผมมองว่ามหาวิทยาลัยไทยยังไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่รับใช้สังคมไทยอย่างเป็นระบบจริงจัง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ที่เด่นด้านสุขภาพ

          Global Health เป็นสหวิทยาการ   มหาวิทยาลัยที่ต้องการทำงานวิชาการด้านนี้ต้องคิดหาวิธีจัดทีมงาน และวิธีทำงานวิชาการด้านนี้ขึ้นเอง   ไม่มีสูตรสำเร็จ   โดยน่าจะปรึกษาบุคคล ๓ ท่านที่ผมเอ่ยชื่อไว้แล้ว   สูตรหรือหลักการที่ผมคิดว่าสำคัญคือต้องทำงานวิชาการขึ้นมาจากการเข้าไปคลุกกับกิจกรรมจริง   ซึ่งมีมิติต่างๆ มากมาย   เช่นงานของประชาคมอาเซียน  งาน World Health Assembly ที่ผมจะเขียนบันทึกเล่าที่นี่

          เอามาบันทึกไว้ สำหรับให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคิดอ่านสร้างสรรค์วิชาการด้าน Global Health ให้แก่ประเทศ และแก่โลกต่อไป   โดยผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขามีสถาบันที่ทำงานด้าน Global Health กันมาก   เราไม่ควรลอกเขา เพราะเขาทำงานวิชาการรับใช้สังคมของเขา   เราต้องคิดสูตรวิชาการ Global Health แบบของเราเอง   ซึ่งน่าจะเป็นวิชาการ Global Health แบบ pro poor หรือเน้นรับใช้สังคมหรือประเทศยากจน

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ พ.ค. ๕๔

คำสำคัญ (Tags): #540606#global health
หมายเลขบันทึก: 442645เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท