เครือข่ายเบาหวานกับ KM R2R : วันที่สอง


สามเหลี่ยมแต่ละชิ้นของแต่ละคนเหมือนความรู้จากงาน R2R ที่เมื่อเอามาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะนำไปสู่เป้าหมาย R2R2P ที่ต้องการได้

เตรียมงานวันที่สอง 

วันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔

เราเริ่มการประชุมเมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น.ด้วยการแนะนำตัวผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมประชุมในวันนี้ เช่น ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ อาจารย์ นพ.เพชร รอดอารีย์ รศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีระพันธ์ นพ.จักรกริช โง้วศิริ แล้วเชิญทุกคนเข้ากลุ่ม ๓ กลุ่มตามที่แบ่งไว้เมื่อวานนี้ กิจกรรมในวันนี้ยังมี นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข มาร่วมด้วย

กิจกรรมประกอบดาว

พวกเราแจกชิ้นส่วนดาวที่เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ให้กลุ่มละ ๑ ชุด แบ่งให้ทุกคนๆ ละ ๑ ชุดย่อย (มีหลายชิ้น) ให้เวลาแต่ละคนประกอบชิ้นส่วนของตนเองให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ของใครของมัน บางคนหมุนซ้ายหมุนขวาก็ประกอบไม่ได้ซักที ดูเหมือนชิ้นส่วนจะขาดบ้างเกินไปบ้าง เสียงคุยเสียงแนะกันเซ็งแซ่ทีเดียว

พวกเราต้องยืนยังว่าชิ้นส่วนย่อยทุกชุดประกอบเป็นรูปสามเหลี่ยมได้แน่นอน ดูเหมือนอาจารย์เทพจะทำได้ก่อนใครในกลุ่ม เมื่อหมดเวลาใครยังทำไม่ได้ก็ให้เพื่อนช่วย

หลังจากนั้นให้ทุกกลุ่มประกอบชิ้นส่วนสามเหลี่ยมทั้งหมดให้เป็นรูปดาวหกแฉก ต้องใช้เวลาอีก ภก.ศุภลักษณ์ ศุภเอม (คุณเอก) ซึ่งอยู่กลุ่ม ๒ วาดรูปดาวหกแฉกในกระดาษ กลุ่มนี้มองเห็นภาพจึงประกอบชิ้นส่วนได้มากที่สุด

หมอฝนให้ทุกกลุ่มย้ายไปดูงานของกลุ่มใกล้เคียง แล้วช่วยกันให้คำแนะนำแก่เพื่อน ก่อนจะกลับเข้ากลุ่มของตนเอง ทำงานต่อให้เสร็จ ผู้เข้าประชุมร่วมมือและตั้งใจมากในการทำกิจกรรมตามโจทย์ที่ให้

 

 การทำงานของแต่ละกลุ่ม ภาพที่ ๔ ตอนไปดูงานที่กลุ่มเพื่อน

เมื่อทุกกลุ่มทำงานเสร็จ เราจึงตั้งคำถามให้ผู้เข้าประชุมช่วยกันสะท้อนคิด เชื่อมโยงว่าสามเหลี่ยมแต่ละชิ้นของแต่ละคนเหมือนความรู้จากงาน R2R ที่เมื่อเอามาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะนำไปสู่เป้าหมาย R2R2P ที่ต้องการได้ ทุกคน (เจ้าของงาน R2R ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รับผิดชอบโครงการ) ต้องช่วยกัน

เราได้รู้ว่าในระหว่างการประกอบชิ้นส่วนให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ผู้เข้าประชุมบางคน เช่น อาจารย์สมพนธ์ แอบดูของเพื่อน คนที่ทำของตนเองไม่ได้ รู้สึกอยากให้เพื่อนช่วย คนที่ทำงานของตนเองเสร็จแล้ว รู้สึกอยากจะช่วยเพื่อนที่ยังทำไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าเขาอยากให้ช่วยหรือเปล่า ฯลฯ ตอนให้ไปดูงานกลุ่มอื่น เพื่อไปให้คำแนะนำแก่เขา กลับไปดูว่ากลุ่มนั้นเขาทำอย่างไร จะเอาไปใช้ในกลุ่มของตนเองบ้าน เป็นต้น

กิจกรรมนี้ได้ทั้งความสนุกสนานและให้ข้อคิดไปพร้อมกัน

นำเสนอผลการ ลปรร.

หลังพักรับประทานอาหารว่าง เวลาประมาณ ๑๐ น. แต่ละกลุ่มนำเสนอว่าการ ลปรร.ในกลุ่มย่อยเมื่อวานนี้ได้ความรู้อะไรบ้าง เราให้เวลากลุ่มละ ๑๕ นาที ทำให้ผู้เข้าประชุมทุกคนได้รู้รายละเอียดการทำงานและผลที่เกิดขึ้นของทุกโครงการ

 

ส่วนหนึ่งของผู้นำเสนอ

เราพบว่าวิธีการนำเสนอโดยผู้แทนกลุ่ม ใช้เวลาน้อยแต่อาจไม่ได้รายละเอียดมาก การให้เจ้าของเรื่องนำเสนอเอง อาจเผลอลงรายละเอียดของตนเองมากเกินไปทำให้ใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนดให้ การให้คนฟังในกลุ่มและเจ้าของเรื่องสลับกันนำเสนอ ดูจะดี ได้ถ่ายทอดความประทับใจของผู้ฟังทำให้เจ้าของเรื่องเจ้าของโครงการมีความภาคภูมิใจมากขึ้นอีก

ค้นหาเส้นทางจาก R2R สู่ R2R2P

ผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมงาน สวรส. ผู้รับผิดชอบโครงการ R2R2P เจ้าของงาน R2R และการปฏิบัติดีๆ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะกันอย่างกว้างขวาง ด้วยบรรยากาศของกัลยาณมิตร ตั้งแต่ช่วงเวลาหลังการนำเสนอและต่อในภาคบ่ายจนเกือบ ๑๕.๐๐ น.

มองเห็นเส้นทางลางๆ ของการพัฒนาจากความรู้ที่สกัดออกมาได้เพื่อนำไปสู่ Policy หรือ Public action ต่อจากนี้จะมีมืออาชีพ (นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์) มาสังเคราะห์ต่ออีกชั้นหนึ่ง

ข้อมูล AAR ที่ผู้เข้าประชุมบางคนได้พูดและเขียน ซึ่งคุณวรรณพร บุญเรือง ช่วยสรุปให้ (อ่านที่นี่) แสดงว่าผู้เข้าประชุมได้มากกว่าที่เราคาดไว้

พวกเราทีมงานเครือข่ายเบาหวานเองก็ได้เรียนรู้วิธีคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างมากมาย รู้สึกชื่นชมทุกท่านที่มาให้เสนอแนะและข้อคิดดีๆ ที่เรานึกไม่ถึง เรา “ได้” ความรู้ความคิดที่จะเอาไปใช้ในการทำงานของเครือข่ายเบาหวานไม่น้อยเลย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 442559เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท