เรากำลังไปไหนกัน 2


เรากำลังไปไหนกัน 2

 

 

เรากำลังไปไหนกัน

 

“โลกแห่งแบบ” ความจริงที่มนุษย์ควรแสวงหา กับวิธีการ

เพลโต [Plato] ให้ความสำคัญกับความจริงอันเป็นความจริงในมโนคติที่มีอยู่จริง สิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่สัมผัสอยู่นี้นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นสิ่งสูงสุดหรือจริงแท้ หากแต่เป็นสิ่งเลียนแบบจากความจริงสูงสุด เรียกว่าโลกแห่งแบบ สิ่งที่เพลโตเชื่อว่า สิ่งที่มนุษย์มีประสบการณ์ได้ด้วยผัสสะนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นสอดคล้องได้เป็นจริงต้องตรงกันทุกคนหรือเสมอเหมือนเท่ากันหมด หรือให้เข้าใจตรงกันได้ เพราะประสบการณ์ของมนุษย์แต่ละคนนั้นที่ต่อโลกไม่เท่ากันหรือไม่เท่าเทียมกัน เพราะอาจเกี่ยวเนื่องกับตัวตนของมนุษย์ หรือโลกทางกายภาพ ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์มีประสบการณ์อยู่นี้นั้นเมื่อพิสูจน์ด้วยอายตนะแล้วย่อมไม่สามารถก่อให้เกิดความเที่ยงตรงต่อกันของมนุษย์ทุกคน ดังนั้นเพลโตจึงเห็นว่า ความจริงแห่งผัสสะที่มนุษย์เห็นว่าจริงนั้นแท้จริงเป็นสิ่งเลียนแบบความจริงบางอย่างที่มีอยู่หากแต่สูงกว่าผัสสะ แนวคิดของเพลโตอาจเข้าใจได้ว่า แท้ที่จริงต้องมีความจริงที่หลากหลายหากสิ่งต่างที่มีอยู่ในโลกนั้นหลากหลายไปด้วย อย่างไรก็ตามความหลากหลายยังคงมีความจริงเป็นอย่างเดียวกันก็คือมีสิ่งที่เป็นจริงมากกว่าสิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ เพลโตคงเห็นว่า หากมนุษย์เข้าใจถึงแก่นแท้ของความจริงแล้ว การดำรงชีวิตของมนุษย์จะเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างที่เป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง เพราะในสมัยของเพลโตนั้นผู้คนส่วนใหญ่มุ่งความต้องการแสวงหาทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียงเท่านั้น ความจริงที่เป็นจริงก็ขึ้นอยู่ด้วยความเห็นของตน ดังที่แต่ละคนเห็นว่าจริงเท่านั้น ยิ่งความจริงที่มาจากผู้ที่มีอำนาจปกครอง ย่อมสามารถเชื่อว่าเป็นความจริงสูงสุดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดของเพลโตนั้น การเข้าถึงความจริงโลกแห่งแบบก็สามารถเข้าใจได้ด้วยว่า อาจจะเป็นอัตโนมติว่าเป็นโลกแห่งแบบเฉพาะบุคคลได้ด้วย เพราะสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นโลกแห่งแบบนั้นย่อมจะหาสิ่งที่จะเป็นหลักฐานอย่างการพิสูจน์ด้วยผัสสะไม่ได้ หากแต่สามารถคิดได้ว่าคงจะพิสูจน์ได้ด้วยจิตใจ หรือ การใช้ชีวิตว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือ หากเป็นผู้ที่ยังติดยึดในทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงโลกแห่งแบบ กล่าวคือต้องผู้ที่มักน้อย สันโดษ พอเพียงใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ กล่าวคือมีกิเลสน้อย แต่ถึงกระนั้น สามารถเข้าใจเนื้อความของสิ่งที่เพลโต [Plato] เน้นย้ำซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับมาจากโสกราตีส ผู้เป็นอาจารย์ได้ก็คือ การตรวจสอบความจริงร่วมกัน ความจริงนั้นก็คือสิ่งที่เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพราะความจริงบางอย่างเป็นสิ่งที่เชื่อหากแต่ไม่ใช่ความจริง บางอย่างอาจเป็นความจริงแต่ไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเชื่อ

อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายในการเข้าถึงความจริงอันเป็นนิรันด์คือโลกแห่งแบบคือการใช้วิธีคิดที่เรียกว่า วิธีการของโสกราตีส เป็นวิภาษวิธี เป็นการมุ่งเพื่อค้นหาความจริงในเรื่องนั้นๆ ร่วมกันโดยการตั้งข้อสงสัย ซักถามในแง่มุมต่างๆ แล้วหาคำนิยามให้สอดคล้องกับลักษณะของสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรให้ชัดเจน โดยใช้วิธีอุปนัยที่หาสิ่งที่เป็นสิ่งเฉพาะเพื่อสรุปยืนยันว่ามีความเป็นจริงโดยยึดส่วนมาก และสุดท้ายใช้วิธีการนิรนัยเมื่อสรุปมาแล้วสามารถนิยามหรือจำกัดความได้ชัดเจน สื่อความได้ตรงกันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ของโสกราตีส เชื่อว่าสามารถค้นพบความจริงได้เมื่อใช้วิธีการดังกล่าวนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองด้วยวิธีการดังกล่าวก็ย่อมเป็นความจริงในแง่ของข้อตกลงร่วมกันเท่านั้นคือพอยอมรับได้เท่านั้น เพราะหากเป็นความจริงแล้วย่อมไม่อาจเกี่ยวข้องกับตัวบท [Texts] หรือประเด็น [Thesis] ในการวิเคราะห์ที่จะต้องหาจากสิ่งอื่นมาสนับสนุนว่าเป็นจริงได้อย่างไร เพราะมิฉะนั้นแล้วความจริงที่เสนอนั้นอาจโน้มเอียงไปกับสิ่งที่มาสนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่จริงมากกว่าตัวบท หรือประเด็นที่กำลังกล่าวถึงอยู่ว่าเป็นสิ่งที่จริงเมื่อเป็นบทสรุป [synthesis] เพราะสิ่งที่จริงนั้นยังเกี่ยวเนื่องด้วยสิ่งอื่น

ความจริงที่มนุษย์ควรแสวงหามีอยู่ในโลกนี้ 

อริสโตเติล [Aristotle] เป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นศิษย์ที่ยิ่งใหญ่ของเพลโต [Plato] เห็นแตกต่างต่างกับอาจารย์ที่เห็นว่าโลกแห่งความจริงคือโลกนี้ เป็นโลกที่มนุษย์กำลังเป็นอยู่หาใช่โลกแห่งแบบที่ไหน หรือที่ใดที่แตกต่างไปจากนี้หรือโลกหน้า สิ่งที่มนุษย์ควรให้ความสนใจนั้นคือการจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร ความจริงของอริสโตเติลจึงให้ค่ากับสิ่งที่มนุษย์ต้องให้ความสำคัญในตนเองจึงอาจเป็นการเข้าใจได้ว่า ความจริงนั้นไม่ได้อยู่ห่างไกล สูงสุดเอื้อม หากแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ยังเกี่ยวข้องและพัวพันอยู่นั่นเอง แนวคิดของอริสโตเติล จึงกลายเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางไม่ใช่ให้ความสำคัญกับโลกแห่งประสบการณ์เพียงอย่างเดียวแล้ว ดังนั้น คุณค่าของมนุษย์จึงเกี่ยวข้องกับโลกและคุณค่าของโลกอาจเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ค่ากับสิ่งนั้นอย่างไรพร้อมกันไปด้วย ความเป็นศูนย์กลางในการกำหนดสิ่งอันเป็นไปของโลกอาจทำให้มนุษย์เป็นผู้ที่มีสิทธิ์เหนือต่อสิ่งอื่นๆ ไม่เพียงต่อสัตว์ พืช หรือธรรมชาติ แต่อาจทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันไปได้ด้วยอีก ความเข้าใจที่อาจเข้าใจได้ว่า ความจริงของโลกแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีอยู่ในโลกนี้นั้นเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์หรือเป็นความจริงเพียงสิ่งเดียวหรือไม่ ความมีอยู่ของโลกเท่านั้นจึงทำให้มนุษย์มีความหมายหรือเป็นเพราะมนุษย์ทำให้โลกมีความหมายขึ้นมาได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วโลกจะเป็นดั่งที่มนุษย์ให้เป็นมิใช่มนุษย์เป็นดั่งที่โลกเป็น  ถ้าหากประสบการณ์ทางผัสสะที่มนุษย์ให้ต่อโลกนั้นแตกต่างกันแล้วความจริงก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย เพราะผัสสะนั้นมีหน้าที่ในการทำงานแตกต่างกันไป เช่นตาทำหน้าที่ดู หูทำหน้าที่ฟัง เป็นต้น ดังนั้นเมื่ออายตนะทำหน้าที่ต่างกัน ความแตกต่างของผัสสะย่อมส่งผลต่อการรายงานผลสัมฤทธิ์ของงานที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อประมวลผลออกมาย่อมยืนยันได้ว่าหากสิ่งนั้นเป็นจริงด้วยกันแล้ว (ตาเห็นรูปบอกว่าจริง หูได้ยินเสียงก็บอกว่าจริง) ความจริงในบทสรุปย่อมเป็นสิ่งที่จริงด้วยกันทั้งสิ้น เกณฑ์มาตรฐานในการรองรับความจริงของสิ่งต่างๆก็ย่อมแตกต่างกันได้ด้วย กล่าวคือจริงด้วยกันทั้งหมด แต่ยอมรับว่าความจริงนั้นหลากหลาย กล่าวคือจริงด้วยกันทั้งหมด ความหมายคือความหลากหลายคือความจริง [diversity is unity] หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็ย่อมเข้าใจได้ว่า ความจริงย่อมขึ้นอยู่กับมนุษย์แต่ละคนพร้อมกันไปด้วยว่าแต่ละคนเข้าใจและรับรู้ความจริงนั้นอย่างไร  ความจริงจึงขึ้นอยู่กับมนุษย์แต่ละคนตัดสิน หากเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมมีแนวคิดโน้มเอียงไปตามแนวคิดของพวกโซฟิสต์ [Sophist] อย่างโปรทากอรัส [Protagoras] ที่เชื่อว่า “มนุษย์เป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง” แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดของอริสโตเติลไม่ได้เหมือนกับพวกโปรทากอรัสที่เชื่อว่ามนุษย์เท่านั้นสำคัญสูงสุด เป็นผู้ให้ค่าต่อสรรพสิ่ง ไม่มาตรฐานใดไม่ขึ้นอยู่กับมนุษย์ไม่ว่าดีหรือชั่ว หากแต่ในเกณฑ์ดังกล่าวนั้นของอริสโตเติล มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนคือทางสายกลาย [Golden way] คือ ทางสายกลางนั้นอยู่ระหว่างความสุดโต่งสองข้าง เช่น ความพอดีจะอยู่ระหว่างความเกินกับความหย่อน  หากแต่จุดมุ่งหมายของอริสโตเติลมีความสอดคล้องกับการมีชีวิตที่ดีกับการกระทำเพื่อการมีชีวิตที่ดีจะต้องเป็นด้วยกัน ชีวิตที่ดีจะต้องเป็นจุดจบ [End] ในการแสวงหาสำหรับมนุษย์ แต่เมื่อไหร่ที่มนุษย์ยังถามต่อว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างไรนั้น สำหรับอริสโตเติลแล้วสิ่งที่ดีจริงจะไม่สิ่งที่ไม่สิ้นสุด กล่าวคือต้องไม่สามารถตอบต่อไปได้อีกแล้ว

 

ประโยชน์นิยมสิ่งที่มนุษย์ควรแสวงหา 

แนวคิดเรื่องการแสวงหาเพื่อมุ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก ตามหลัก “มหสุข”ดังที่นักคิดอย่าง จอห์น สจวตมิลล์ [John Stuart Mill]ได้กล่าวถึงลัทธินี้ที่มุ่งการกระทำใดก็ตามก็เพื่อคนจำนวนมากที่สุดให้ได้รับความพึงพอใจ หากการกระทำใดก็ตามไม่เป็นไปตามหลักการเพื่อคนหมู่มากหลักการนั้นย่อมไม่เชื่อว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์อันแท้จริง แนวคิดดังกล่าวจึงนำไปสู่เกณฑ์ในการตัดสินว่า ในแต่ละสังคมนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในความดีและความชั่ว การให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ดังนั้นเกณฑ์การตัดสินดังกล่าวของมิลล์จึงไม่สามารถเป็นเกณฑ์การตัดสินที่สามารถใช้ได้กับทุกสังคม หากแต่เกณฑ์การตัดสินนั้นแปรเปลี่ยนไปตามบริบท แนวคิดดังกล่าวนี้จึงสามารถเรียกได้ว่า เป็น “สัมพัทธนิยม” ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของอิมมานูเอล ค้าน ที่เห็นว่าเกณฑ์การตัดสินความจริงนั้นจะต้องเป็นสิ่งสากลที่สามารถใช้ได้กับทุกบริบทของสังคม

 

มนุษย์กับการแสวงหาความจริงสากล

แนวคิดของอิมมานูเอล ค้าน [Immanuel Kant] ปฏิเสธแนวคิดแบบสัมพัทธนิยมที่เน้นความจริงที่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม หรือความเชื่อ หากแต่ในแนวคิดของค้านนั้นเน้นการแสวงหาความเป็นกฎสากลที่สามารถเป็นบรรทัดฐานให้กับทุกสังคมได้ แนวคิดของค้านจึงเป็นกฏที่ตายตัว กฎสากลของค้านเน้นสิ่งที่เป็นความเชื่อในจิตของผู้กระทำไม่ว่าในกรณีใดที่ผู้มุ่งกระทำได้กระทำให้เกิดผลที่จะให้เป็นสิ่งสากลที่เกิดขึ้น โดยเว้นเสียซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่เกิดไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไร เช่น การช่วยเหลือผู้ที่ตกลงไปในน้ำ หากเรารู้จักผู้ที่ตกลงไปในน้ำว่าเป็นคนร่ำรวยมาก และการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อการได้รับรางวัลตอบแทน การกระทำดังกล่าวนั้นไม่เชื่อว่าเป็นความดีหรือการกระทำที่เป็นกฎสากล เพราะการกระทำดังกล่าวมุ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หากแต่การทำดังกล่าวเมื่อเกิดอะไรขึ้นไม่วาจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ยากดีมีจนก็ตาม การกระทำต้องมีจิตเสมอกัน ดังนั้นแนวคิดของค้าน จึงดูเหมือนว่าเป็นการเน้นเจตนาดีว่าเป็นกฎสากล เจตนาดีในที่นี้น่าจะเป็นเจตนาที่จะมุ่งทุกการกระทำที่สามารถเป็นไปเพื่อความเท่าเทียม [equilibrium]  ในทุกกรณีเมื่อตัดสินใจที่กระทำ หากแต่ประสบการณ์จริงในชีวิตของมนุษย์ที่จะรู้สึกนึกคิดให้เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้นโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึกถึงความเท่าเทียมในขณะนั้นย่อมเป็นสิ่งจำกัดหรือยากจะให้เป็นไปดังที่ค้านต้องการได้

สนทนาพาที

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 442552เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท