มองวัฒนธรรมความแค้นฝังใจผ่านประวัติศาสตร์ไทย-ในประเทศเพื่อนบ้าน


ทำไมผู้เขียนถึงกล่าวว่าศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณีหลายอย่างอย่าง ว่าได้รับอิทธิพลมาจากไทย ก็สังเกตได้จากข้อวัตรปฏิบัติ การตกแต่เสนาสนะ เครื่องใช้ หนังสือ หรือไม่ก็ได้นำรูปแบบทางการศึกษามาจากล้านนาไทยแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่ของไตลื้อเลย (อันนี้เป็นข้อสังเกตุส่วนตัว)

     วันก่อนได้คุยกับพระอุ่น ปิยธมฺโม เป็นพระที่เดินทางมาจากวัดเชียงเมืองหุน ตำบลเมืองหุน อำเภอเมืองฮาย จังหวัดสิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ที่ได้เข้าไปอาศัยสังกัดอยู่กับวัดป่าเจต์ หรือ ป่าเชต์ ที่ย่อมาจาก "วัดป่าเชตวัน" ในยุคพุทธกาล  และทางเจ้าอาวาสวัดป่าเจต์ คือครูบาหลวงจอมเมือง ได้ส่งให้มาเรียนหนังสือที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา ทำให้นึกถึงบรรยากาศที่ไปเยี่ยมเยือนสิบสองปันนา  ๓  ครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๓

     เมื่อคุยไปคุยมา ทำให้ทราบว่า ครูบาแสงหล้า ที่อยู่วัดแถว ๆ ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่าตรงข้ามกับอำเภอแม่สายของไทย ท่านเป็นคนเมืองฮาย จังหวัดสิบสองปันนา ประเทศจีนนี้เอง ซึ่งทำให้ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมหลายอย่างของอำเภอเมืองฮายเป็นลูกผสมระหว่างอิทธิพลของไทยและอิทธิพลของพม่า แต่เอนเอียงไปทางพม่าหน่อยหนึ่ง เนื่องจากครูบาแสงหล้าท่านเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนา และทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างให้กับบ้านเกิดของท่าน โดยมีความแตกต่างจากเมืองเชียงรุ้งซึ่งจะอธิบายต่อไปในโอกาสหน้า

     ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามณฑลยูนานมีเมืองเอกคือคุณหมิ่ง และจังหวัดสิบสองปันนา ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ขึ้นอยู่กับมณฑลยูนาน โดยจังหวัดนี้มีทั้งหมด ๓ อำเภอ คือ อำเภอเชียงรุ่ง (เทียบเท่ากับอำเภอเมืองของจังหวัด) อำเภอเมืองฮาย และอำเภอเมืองล้า ดังนั้น หลายคนอาจสับสนเนื่องจากระดับตำบลก็เรียกว่าเมืองเช่นกัน เช่น ตำบลฮำ ก็เรียกเมืองฮำ ตำบลโลง ก็เรียกเมืองโลง ทีแรกผู้เขียนเข้าใจว่าจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ขนาดตำบลก็มีความยิ่งใหญ่เท่าอำเภอหรือจังหวัด 

     ครั้งเมื่อผู้เขียนไปสาธาณรัฐอินเดียเมื่อ ๑๗ ปีที่แล้วก็เช่นกันแค่ตำบล และอำเภอของเขากว้างใหญ่มาก จึงเข้าใจแบบนั้นมาตลอด แต่เมื่อผู้เขียนไปสำรวจพื้นที่ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็เรียกตำบลและอำเภอว่าเมืองเหมือนกัน เช่น อำเภอปากแบ่ง ก็เรียกว่าเมืองปากแบ่ง ซึ่งระบบการปกครอง และการให้คำนิยามของเขา ไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ และจำนวนประชากร แต่ขึ้นอยู่กับการให้ความหมาย ดังนั้น เราต้องพยายามเข้าใจวิธีคิดของเขาด้วยเช่นกัน เช่น ไทยขับพวงมาลัยซ้าย ลาว-จีน ขับพวงมาลัยขวา อะไรประมาณนั้น

     ส่วนอำเภอเชียงรุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของสิบสองปันนานั้น ได้รับอิทธิพลจากประเทศไทยชัดเจน เนื่องจากพระผู้ใหญ่ของเมืองที่เป็นศูนย์กลางได้แก่ ครูบาจอมเมือง สถานภาพเทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัด (หากไม่นับรวมนิกายต่าง ๆ แล้วถือเอาเฉพาะนิกายเถรวาท ท่านมีสถานภาพเทียบเท่าสมเด็จพระสังฆราชเลยทีเดียว) และครูบาคำถิ่น สถานภาพเทียบเท่ารองเจ้าคณะจังหวัด  คือพระผู้นำระดับสองทั้งสองท่านได้เข้ามาเรียนในสำนักเรียนวัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน โดยเป็นศิษย์ของครูบาธรรมจักร หรือครูบาพรหมาฯ นั้นเอง

     ทำไมผู้เขียนถึงกล่าวว่าศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณีหลายอย่างอย่าง ว่าได้รับอิทธิพลมาจากไทย ก็สังเกตได้จากข้อวัตรปฏิบัติ การตกแต่เสนาสนะ เครื่องใช้ หนังสือ หรือไม่ก็ได้นำรูปแบบทางการศึกษามาจากล้านนาไทยแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่ของไตลื้อเลย (อันนี้เป็นข้อสังเกตุส่วนตัว)

     และสอดคล้องกับพระคำ ปญฺญาวุฑฺโฒ ที่มาจากวัดบ้านไคร้หลวง ตำบลเมืองแซ่ อำเภอเมืองฮาย เช่นกันที่กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับพะเยากับสิบสองปันนาแล้ว แตกต่างกันเยอะมากในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงคนไทยมีน้ำใจ ไปไหนมาไหนมีการทักทาย สิบสองปันนาตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เร่งพัฒนาเศรษฐกิจทำให้คุณค่าทางจิตที่มีมาแต่เดิมเริ่มหาย คนจีนเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำมาหากินมากขึ้น ทำให้คนในท้องถิ่นไม่มีความผูกพันกัน คนจีนเสียงดังและในเมืองมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์

     ผู้เขียนสังเกตว่าพระที่มาเรียนที่พะเยา มีทั้งหมด ๑๐ รูป มีชื่อที่คล้าย ๆ กัน เช่น พระคำ, พระคำของ, พระคำกอง, พระคำอ่อน, พระคำต่อม ฯลฯ ไม่มีนามสกุล เมื่อถามไปถามมาได้รับคำตอบว่าคนจีน (หมายถึงกลุ่มชนที่อยู่ในประเทศจีน ที่ไม่ใช่คนไต) จะมีชื่อและนามสกุลใช้ แต่คนไตลื้อสิบสองปันนาไม่มี แต่จะใช้สร้อยเรียกอย่างคนล้านนาในอดีต เช่น อาจารย์คำถิ่น ก็รู้ว่าท่านชื่อคำ แต่ท่านเป็นคนบ้านถิ่น เมื่อมีคนชื่อคำมาอยู่รวมกันหลาย ๆ คน ต้องมีสร้อยต่อท้าย ท่านจึงได้ชื่อว่า "พระคำถิ่น" ไปเสียชะอย่างงั้น คราวหน้าผู้เขียนจะไปถามว่า คำของ, คำกอง, คำอ่อน, คำต่อม มาจากความหมายใดบ้าง คงน่าสนุกไม่น้อย (อันนี้ฝากไว้เป็นการวัด-ไม่ใช่การบ้าน)

     ตัวเมืองฮาย เป็นเมืองเก่าแก่ มีวังเก่าอยู่เรียกว่า "วังเจ้าคำลือ-นางบัวคำ" โดยมีตำนานที่น่าสนใจคือ เจ้าคำลือเป็นคนเมืองแซ่ นางบัวคำเป็นคนเจียงเจิง ทั้งสองมีความรักต่อกัน แต่แต่งงานกันไม่ได้ด้วยกฏเกณฑ์ของบรรพชน ที่ได้แช่งเอาไว้ว่าคนทั้งสองเมืองคือเมืองแซ่และเมืองเจียงเจิงห้ามแต่งงานกัน ทั้งสองจึงลักลอบได้เสียและอยู่ด้วยกัน เมื่อพ่อของนางบัวคำรู้เข้าจึงได้จับนางถ่วงน้ำ ทั้ง ๆ ที่ตำบลเมืองแซ่และตำบลเมืองเจียงเจิงก็ขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองฮายเหมือนกัน แม้ปัจจุบันนี้ (๒๕๕๔) ชาวบ้านตำบลทั้งสองก็ไม่เคยให้ลูกหลานแต่งงานกันเลย

     เรื่องนี้คงมีความแค้นฝังใจตั้งแต่บรรพบุรุษ คงเหมือนกับบรรพบุรุษไทยที่พยายามสร้างภาพยนต์ สร้างเรื่องเล่าต่าง ๆ ให้ลูกหลานได้มีความแค้นต่อพม่าที่เข้ามารุกรานไทยและเกณฑ์คนไทยไปเป็นข้าพร้อมกับการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาถึง ๒ ครั้งสองคราว และคงไม่ต่างกันกับคนลาวที่พยายามปลูกฝังให้คนลาวจงเกียดจงชังคนไทยที่ไปทำลายเมืองเขาพร้อมกับโดยยกย่องเจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษ และคนกัมพูชาก็มีความแค้นกับไทยมิใช่น้อย

      เรื่องดังกล่าวนี้สำนวนทางล้านนาเรียกว่า "สัตตูเจ่นป่อ" หมายถึงเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว แต่ความแค้นได้ถูกปลูกฝังให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยสืบต่อกันมาทางการบอกเล่า และตอกย้ำให้มีความแค้นฝังใจจากรุ่นสู่รุ่น

    

หมายเลขบันทึก: 442548เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท