เทคนิคการแปลข่าว


 

การแปลข่าว

การแปลข่าวโดยทั่วไปใช้วิธีแปลแบบถอดความ มุ่งความถูกต้องด้านเนื้อหาเป็นหลัก ไม่พิถีพิถันในเรื่องรูปแบบโครงสร้างทางภาษา บางครั้งการแปลข่าวอาจเป็นเพียงการสรุปข่าวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การแปลข่าวในที่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้ผู้เริ่มศึกษาได้ฝึกฝนโดยละเอียด ดังนั้น จึงแปลไปตามโครงสร้างของภาษา คือ เน้นความถูกต้องภาษาต้นฉบับ เช่นเดียวกับการอ่าน การแปลแบ่งออกเป็นตอนตามโครงสร้างของข่าว คือ แปลหัวข่าว แปลข่าวนำและแปลเนื้อข่าว

ขั้นตอนการแปลข่าว

1. อ่านข่าวให้เข้าใจ ซึ่งถือเป็นขั้นสำคัญที่สุด เมื่ออ่านไม่เข้าใจก็แปลไม่ได้ ถ้าเป็นข่าวง่ายควรอ่านอย่างน้อยสองครั้ง แต่ถ้าเป็นข่าวเข้าใจยากควรอ่านหลายๆ ครั้ง จนกว่าจะเข้าใจเรื่องดีขึ้น

2. สมมติเหตุการณ์ ถ้าต้องการจะบอกข่าวชิ้นนี้ให้คนอื่นได้รับทราบด้วยจะเล่าให้เขาฟังอย่างไรเขาจึงจะเข้าใจตามที่เราต้องการจะให้ทราบ ดังนั้น จึงสมมติเหตุการณ์ขึ้นมา

3. ร่างเรื่องที่จะเล่า เมื่อกำหนดได้แล้วว่าจะเล่าอย่างไร จากนั้นก็เขียน่างเรื่องที่จะเล่าออกมาให้เป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่าย

 

 

 

4. ดึงประเด็นที่สำคัญออกมา พยายามหาจุดที่สำคัญให้ได้แล้วดึงออกมาซึ่งเป็นจุดที่ผู้อ่านต้องการจะทราบมากที่สุด

5. คำนึงถึงน้ำเสียงเรื่องที่แปล เมื่อแปลเรื่องใด ต้องดูว่าเป็นข่าวเบาหรือข่าวหนัก เป็นข่าวประเภทใด แล้วแปลให้เข้ากับน้ำเสียงและบรรยากาศของข่าวประเภทนั้นๆ

6. คำนึงถึงคุณสมบัติของข่าว ในการแปลข่าวจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของข่าวอยู่เสมอ ซึ่งมีดังนี้ ความถูกต้อง (accuracy) ความสมดุล (balanced) ความเที่ยงธรรม (fair) ไม่เอาตัวพัวพัน (objection) ชัดเจน (clear) กะทัดรัด (concise) เพิ่งเกิด (current)

อย่างไรก็ตาม การแปลมีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นฝึกหัดไปจนถึงระดับอาชีพ ผู้แปลจะแปลได้ดีแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษาและประสบการณ์เป็นสำคัญ สำหรับผู้เริ่มฝึกนั้นเน้นการแปลตามโครงสร้างของภาษาเป็นหลัก คือแปลตามที่อ่าน จากนั้นจึงดัดแปลงในขั้นต่อๆ ไป

ข้อแนะนำในการแปลข่าว

การแปลข่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเช่นเดียวกับข่าวต้นฉบับ เสมือนว่าข่าวที่แปลนั้นเป็นต้นฉบับเอง ดังนั้น การแปลข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยก็จะต้องแปลให้เป็นภาษาข่าวของไทยด้วย มีการใช้คำว่า รูปประโยคและวัฒนธรรมอย่างไทย ในที่นี้ได้ให้ข้อแนะนำบางประการสำหรับผู้เริ่มฝึกอ่านและแปลข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ดังต่อไปนี้

1. หลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำซาก เพื่อให้ผู้อ่านสนใจและไม่เบื่อ พยายามใช้คำแปลกใหม่และไม่ซ้ำซากคำๆ เดียวกัน ประโยคหรือโครงสร้างอย่างเดียวกัน อาจจะแปลใช้คำต่างๆ กันแต่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือใช้รูปประโยคหรือโครงสร้างแตกต่างกันออกไป คือให้มีความหมายหลากหลายในการใช้คำและโครงสร้างของภาษา

2. การตัดทอนสรุปข่าวเป็นไปตามหลัก ในการแปลแบบสรุปข่าวนั้นจะต้องหาคำหลักหรือจับใจความสำคัญให้ได้ก่อน จากนั้นจึงตัดส่วนขยายซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยออกไป เพราะว่าในการสรุปข่าวจะเสนอเฉพาะส่วนสำคัญเท่านั้น

3. ทราบความหมายของคำเฉพาะและคำสำนวน (idiom) ภาษาของข่าวใช้คำเฉพาะมากมาย โดยเฉพาะคำเกี่ยวกับตำแหน่งและหน่วยงานเวลาแปลจะต้องให้มีความหมายตามที่ใช้ในภาษานั้นๆ เช่น Permanent Secretary ปลัดกระทรวง Director General อธิบดี Bangkok Metropolitant Administration กรุงเทพมหานคร Provincial Admin.Dept. กรมการปกครองและในข่าวมีการใช้คำสำนวนมากมายเช่นกัน ผู้แปลจะต้องทราบความหมายที่ถูกต้องของคำประเภทนี้ เช่น have nothing to do with ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ รn line with สอดคล้องกัน

 

 

 

4. กระจายประโยค ภาษาของข่าวส่วนมากใช้ประโยคยาว มีการใช้ประโยค complex และ participle มากมาย ผู้แปลจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ประโยค complex และ participle นั้นทำหน้าที่อะไร มีความหมายอย่างไร พยายามแปลให้เป็นประโยคภาษาไทยสั้นๆ หลายประโยคเพื่อให้เข้าใจง่าย

5. ลำดับคำขยายให้ถูกต้อง เพื่อให้กะทัดรัดและประหยัด ดังนั้น ภาษาข่าวจึงมีการใช้คำขยายมากในการแปลจะต้องทราบว่าคำใดเป็นคำหลัก คำใดเป็นคำขยาย และในกรณีที่มีคำขยายหลายตัวก็ต้องทราบว่าคำใดสำคัญที่สุดและคำใดสำคัญรองลงไป ในการแปลก็จะต้องเรียงลำดับคำขยายให้ถูกต้องตามหลักโครงสร้างของภาษาไทย เช่น the electronic horseracing machine parts import scandal เรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวกับการนำเข้าชิ้นส่วนของตู้ม้าเกมไฟฟ้า

 

ที่มา : "วิธีอ่านและแปลข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ" โดย สวาสดิ์ พรรณนา

หมายเลขบันทึก: 442422เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท