หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : ...ปลูกต้นไม้สายใยรัก(สโมสรนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์)


 

หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน :
ว่าด้วยลูกฮัก และห้องเรียนชีวิต

 

 

ในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งปรากฎการณ์ของการพัฒนานิสิตที่ควรต้องจดจำมากเป็นพิเศษ  อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การประกาศยุทธศาสตร์ของการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือนอกชั้นเรียน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ นั่นเอง

การมียุทธศาสตร์เช่นนั้น  มันช่วยให้ "ทีม" มีจุดหมายปลายทาง หรือ "เป้าหมาย" ที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว ...

 

Large_img_9377

 

ปีการศึกษา ๒๕๕๓  สิ่งที่ผมและทีมงานบุกเบิกนำร่องอย่างบ้าบิ่นก็คือโครงการ "มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน"  หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในแวดวงกิจกรรของที่นี่ก็คือ "หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน"

 

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นิสิตได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านรายรอบมหาวิทยาลัย  ด้วยการฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" (ลูกในบ้าน...ว่านในสวน) โดยคณะต่างๆ จะมีหมู่บ้านในสังกัดหนึ่งหมู่บ้าน  หลังการฝากตัวเป็นลูกฮัก ก็จะมีกิจกรรมให้นิสิตและชาวบ้านได้ทำร่วมกัน ซึ่งในระยะแรกจะเป็นกิจกรรมที่เกิดจากความต้องการของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง

 

อย่างไรก็ดี นอกจากกิจกรรมที่จะมีขึ้นอันเป็นกิจกรรมที่เกิดจากความต้องการของชุมชนแล้วนั้น  ผมยังกำหนดกรอบกว้างๆ ให้นิสิตต้องทำกิจกรรมในหมู่บ้านเพิ่มเติม เช่น  การปรับภูมิทัศน์  การสำรวจข้อมูลชุมชน เน้นการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในเรื่องอันเป็นวิถีวัฒนธรรมและประเพณี  พร้อมๆ กับการเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลแห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต

ซึ่งกิจกรรมที่ว่านี้ ก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของการ “รับน้องใหม่” ด้วยเหมือนกัน 

และกิจกรรมที่ว่านี้ก็เป็นกิจกรรมเชิงรุกของการยึดโยงให้ชุมชนได้เป็นเสมือนห้องเรียนอีกห้องหนึ่งของชีวิต ซึ่งเรียกว่า “ห้องเรียนชีวิต” หรือ “สถานีชีวิต” ที่นิสิตและคนในชุมชนจะได้ร่วมเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน

 

 Large_img_9896

 

 

เอาชุมชนเป็นโจทย์ เอาโจทย์ชุมชนเป็นตัวตั้ง


ดังที่ผมกล่าวข้างต้นว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นระยะต้นจะเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านต้องการ ซึ่งผมย้ำกับนิสิตว่าเมื่อทำกิจกรรมไปแล้ว ใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านไปแล้ว ก็ให้พยายามศึกษาเรียนรู้ว่ามีอะไรที่สามารถร่วมกัน “สรรค์สร้าง” ขึ้นมาได้บ้าง

นั่นเป็นกลยุทธง่ายๆ ของการลงชุมชน ด้วยการเอาโจทย์ของชุมชนเป็นตัวตั้ง  แต่ก่อนที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้  ระยะแรกผมก็ลงชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้ประชุมหารือกันว่ามีความต้องการให้นิสิต หรือมหาวิทยาลัยได้เข้าไปช่วยเหลืออะไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลมา ผมก็พานิสิตมาวิเคราะห์ร่วมกันว่า “สิ่งที่ชาวบ้านต้องการนั้น คณะใดมีความรู้และเชี่ยวชาญบ้าง!” 

 

ด้วยเหตุนี้ การลงสู่ชุมชนจึงไม่ใช่ลงแบบ “โยนหินถามทาง”  หรือ “ไปแบบไม่รู้เหนือ...รู้ใต้”  หากแต่มีทิศทางที่ชัดเจนรองรับอยู่แล้ว ...อย่างน้อยนิสิต หรือบุคลากรในคณะ ก็สามารถใช้ความรู้ในวิชาชีพไปประยุกต์ให้บริการแก่ชาวบ้านได้ และที่สำคัญก็คือต้องไปในฐานะของผู้เรียนรู้ มิใช่เป็นนักบุญ หรือนักเสกสร้างใดๆ

 

Large_img_9436

 

ครับวิธีคิดของผมก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราไปที่ไหนสักแห่ง  เราก็ควรต้องใช้สถานที่แห่งนั้นเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ ซึ่งก็ตรงกับที่ผมพูดเป็นวาทกรรมเรื่อยมาว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้”

 

และบางทีวิธีคิดแบบนี้ก็ซ่อนความหมายของการเป็นผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนไปในตัว หรือในอีกมุมก็เสมือนการสอนให้เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ เหมือนโบราณได้กล่าวสอนไว้อย่างน่าฟังว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยมาตั้งรกรากอยู่ในชุมชนแถวนี้ ก็คงต้องเป็นแรงสนับสนุนกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านแถวนี้ให้มาก  ซึ่งผมเองก็มักฝากย้ำให้นิสิตได้คิดแบบขำๆ เสมอมาว่า “อยู่บ้านท่าน อย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควาย ไล่ขวิดลูกท่านเล่น”  

สิ่งเหล่านี้ด้วยเป็น คุณธรรม จริยธรรม ที่ทั้งผมและทีมงานพยายามปลูกฝังผ่านกิจกรรมเรื่อยมา  และยังคงไม่ถอดใจที่จะสร้างบทเรียนในทำนองนี้ไปเรื่อยๆ

 

 Large_img_9372

 

 

ปลูกต้นไม้สายใยรัก : ฝากตัวเป็นลูกในบ้าน...ว่านในสวน 

 

กรณีชุมชนบ้านดอนนา ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นชุมชนภายใต้ความรับผิดชอบของสโมสรนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์  ซึ่งชาวบ้านต้องการให้นิสิตได้ช่วยเหลือ (เรียนรู้ร่วมกัน) ในเรื่องเกี่ยวกับการทำ “สวนสมุนไพร สวนไผ่และปลูกต้นไม้ทั้งไม้ประดับและไม้กินได้”


ก่อนลงพื้นที่ผมฝากให้นิสิตได้ประสานกับชาวบ้านให้บ่อยครั้ง กิจกรรมควรเริ่มต้นจากการฝากตัวเป็น “ลูกฮัก” เสียก่อน สำรวจข้อมูลพื้นฐานชุมชนเป็นระยะๆ พาน้องใหม่ไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียงในการ “ประชาสัมพันธ์” กิจกรรมไปในตัว  และอาจควักเอาจุดแข็งในวิชาชีพมาเสริมกิจกรรมเพิ่มเติมอีกได้ เช่น การตรวจสุขภาพ หรือแต่การสอนหนังสือหนังหาให้เด็กๆ สลับไปมาในแต่ละช่วงที่ลงทำกิจกรรม  โดยอาจไม่จำเป็นต้องทุ่มคนทั้งหมดลงที่กิจกรรมหลักของชุมชนเสมอไปก็ได้ ...

เพราะบางทีอาจเกิดภาวะ “คนล้นงาน” ก็เป็นได้ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องไม่ลืมที่จะเดินตาม “โจทย์” อันเป็นความต้องการของชุมชนเสียก่อน ส่วนรูปแบบอื่นๆ นั้น ผมเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ จะมีสิ่งที่ “ค้นพบ” และนำไปสู่การสร้างสรรค์ร่วมกันได้เอง

 

Large_img_9928

 

อย่างไรก็ดี  จากการได้ติดตามและลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจและประเมินการขับเคลื่อนกิจกรรมนั้นพบว่าในเบื้องต้นนั้น  นิสิตได้ลงสู่ชุมชนและทำกิจกรรมกับชาวบ้านมาในระดับหนึ่ง แต่กิจกรรมยังไม่บรรลุเป้าเสียทั้งหมด ซึ่งเกิดจากปัจจัยร่วมของทั้งสองส่วน

แต่ก็เป็นที่น่าชื่นชมว่านิสิตยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมตามสภาวะต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม  ในช่วงที่ยังไม่สามารถก่อรูปร่างของสวนสมุนไพรได้อย่างเป็นรูปธรรม พวกเขาก็จัดหาต้นไม้ต่างๆ ไปปลูกไว้ตามครัวเรือน เสมือนเป็น “ต้นไม้สายใยรัก” ของ ”ลูกฮักกับพ่อฮักและแม่ฮัก”  ซึ่งต้นไม้ที่ว่านั้นส่วนใหญ่ก็เป็นประเภท “กินได้” แทบทั้งสิ้น 

และที่สำคัญส่วนใหญ่ก็เป็นต้นไม้ที่ชาวบ้าน “ต้องการ”  ...
และผมเองก็เคยได้ขับรถตระเวนส่วนตัวพานิสิตออกจัดหาต้นไม้เหล่านั้นมาแล้วในระยะหนึ่ง 

ผมชื่นชอบกิจกรรมนี้มาก  เพราะโดยส่วนตัวสัมผัสซึ้งแล้วว่า “การปลูกต้นไม้ เป็นการปลูกชีวิต”   และถึงแม้จะไปไม่ทันได้ร่วมกิจกรรมกับพวกเขา  แต่เท่าที่ประเมินจากชาวบ้านก็ล้วนแล้วแต่ “รักและเอ็นดู” นิสิตเหมือน “ลูกในบ้าน..ว่านในสวน” กันทั้งนั้น

ผมมองว่าต้นไม้เหล่านี้น่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และการเติบโตที่ว่านั้น ก็น่าจะหมายถึงการเติบโตของสายใยความผูกพันของนิสิตกับชาวบ้าน เป็นสายใยความผูกพันที่ยึดโยงกันอย่างแน่นเหนียว..นำพาให้เกิดการไปมาหาสู่กันเรื่อยๆ  ต่างคนต่างเติมเต็มการเรียนรู้ ให้แก่กันและกัน  เยียวยาและเสริมพลังบวกให้กันและกัน

และนั่นแหละคือสิ่งที่ผมเฝ้ามองและปรารถนาให้มีขึ้น !

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์  การละเล่นรอบกองไฟ ฯลฯ ผมจะยังไม่กล่าวถึง เพราะถือว่าดีเยี่ยมอยู่แล้ว

หรือแม้แต่ปัญหา “ทักษะการทำกิจกรรมในชุมชน”  ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเสริมแรงทางปัญญากันอีกรอบ  ซึ่งผมก็ได้คุยกับนิสิตแล้วว่า “เราต้องทำกระบวนการใหม่” เพื่อให้เราแกร่งต่อการเรียนรู้-

 

 Large_img_8999

 

ครับ, งานนี้ยังไม่จบ มันเพียงเริ่มต้นเท่านั้น..

 

 

หมายเลขบันทึก: 442331เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ชอบโครงการนี้มากเลย อยากออกไปแบบนี้บ้าง ประมาณว่า อาจารย์หนึ่งท่าน หนึ่งหมู่บ้าน แล้ว ออกไปพร้อมกับนิสิต ไปเรียนรู้เรื่องชุมชน ขอบคุณครับ..

อ่านแล้วคิดถึงบรรยากาศการออกค่ายสู่สังคมและค่ายวิชาเวชศาสตร์ชุมชนสมัยตอนเรียนหนังสือค่ะ....

เราไม่ได้เข้าไปเป็นผู้ให้ แต่เข้าไปเรียนรู้ร่วมกัน ^_^

      คิดอยู่แล้วว่าจะเขียนว่า "ชอบหลักคิด และแนวการดำเนินกิจกรรม" ของโครงการนี้ พอได้อ่านความเห็นของลูกขจิตก็บอกว่าชอบเหมือนกัน แล้วเขียนก่อนอาจารย์แม่เสียด้วย จะหาว่าอาจารย์แม่ลอกไม่ได้นะคะ เคยทำงานเป็นรองหัวหน้าคณะครุศาสตร์ฝ่ายกิจการนักศึกษา (ปัจจุบันมีชื่อตำแหน่งว่ารองคณบดี) เมื่อ 22 ปีมาแล้ว และได้ริเริ่มหาทางแก้ปัญหาการไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษา เช่นงานกีฬาคณะก็จะมีเฉพาะนักศึกษาที่เป็นนักกีฬาเข้าร่วม ส่วนคนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะถือโอกาสกลับบ้าน ก็เลยใช้วิธีปลุกเร้าจิตสำนึกในการทำอะไรเพื่อกลุ่มเพื่อสังคมซึ่งตนเองก็จะได้รับประโยชน์กลับมาเช่นกัน  จากนั้นก็ให้แต่ละคนเขียนในใบรายชื่อนักศึกษาแต่ละหมู่เรียนว่า ตนเองเลือกที่จะทำหนาที่อะไร เช่นเป็น นักกีฬา...(ระบุประเภทกีฬา) เป็นฝ่ายเชียร์ เป็นสวัสดิการ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ ปฏิคม จัดขบวนพาเหรด เป็นต้น ซึ่งทุกคนต้องทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พบว่าแก้ปัญหาได้ดี จะฝากบันทึกนี้ให้อาจารย์ที่เพิ่งรับงานในตำแหน่งดังกล่าวได้อ่านเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้นะคะ ส่วนการสนับสนุนชาวบ้านด้านการปลูกต้นไม้ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ก็กำลังคิดโครงการเพราะหมู่บ้านที่ตั้งฟาร์มชาวบ้านยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้  คงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันนะคะ      

แวะมาชื่นชม ทักทายเพื่อนร่วมทางเดินในชุมชนเหมือนๆกัน เยี่ยมบ้านทั้งกลุ่มดี กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วยจะพบสิ่งมหัสจรรย์มากมายทีเดียวค่ะ

สุดยอดเลยครับอาจารย์ เทอมนี้ผมกลับไปที่ลำปาง วางแผนไว้เหมือนกันครับว่าจะพานักศึกษาในรายวิชาไปลงชุมชน ยิ่งได้มาอ่านมาเห็นแบบนี้ มั่นใจขึ้นเยอะเลยครับ เพราะอาจารย์ถางทางไว้อย่างดีทีเดียว

พี่พนัสค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วมีความสุขกับการทำงานของพี่และน้องๆ นักศึกษาจังเลยค่ะ

ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ได้ปลูกฝังการอยู่ร่วมกับชุมชนให้น้องๆ แล้ว อยากให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้สนับสนุนเหมือนที่ มมส. ทำบ้างจังค่ะ เพราะนี่คือพลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเยาวชนของชาติค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ พี่ ที่ร่วมแบ่งปันกิจกรรมดีๆ ให้ได้สัมผัสผ่านตัวหนังสือที่มีค่ามากมายค่ะ ^__^

ปลูกเถอะนะพ่อปลูก..โย้น..โย้น..

ปลูกเถอะนะแม่ปลูก..โย้น..โย้น..

ปลูกเถอะนะลูกปลูก..โย้น..โย้น..

มาปลูกต้นว่าน.. กันเถอะเจ้าเอย..

อย่ามัวลังเล..เดี๋ยวเดียวก็เขียวขจี..

อย่ามัวลังเล..เดี๋ยวเดียวก็เขียวขจี..

ชอบมากค่ะ..

Large_6213

โครงการหนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน ได้นำมาต่อยอดโดยงานบริการหอพักนิสิต มมส. ในชื่อโครงการหอพักสู่ชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ตอบรับนโยบาย 3D เป็นอย่างดี เพราะวัตถุประสงค์โครงการคือให้นิสิตและเด็กในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด ได้เรียนรู้คุณธรรม จริยธรรมผ่านการเล่านิทานและการเรียนการสอนของนิสิตและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่ นอกจากนี้ ยังสร้างความสุขให้กับผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก เพราะการได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะของเด็กๆในหมู่บ้าน ช่วยให้เรานึกถึงภาพอันเยาว์วัยอีกครั้ง..ความสุขที่หาได้ไม่ยากในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กๆในชนบทอย่างเรา ช่างมีความทรงจำอันดีงามให้นึกถึงอยู่เสมอ

  • สวัสดีค่ะ
  • เป็นโครงการดีที่จะนำไปแนะนำโรงเรียนค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

หลังโครงการ "หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน" ดำเนินการไปได้สักระยะ ท่านอธิการบดีฯ ได้ประกาศนโยบายเชิงรุกเสริมทัพเข้ามาอีก ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้คณะละ 100,000 บาท เพื่อให้คณะได้ไปทำ "วิจัย" ร่วมกับ "ชุมชน"  ซึ่งอาจเป็นหมู่บ้านในโครงการนี้ฯ หรือหมู่บ้านใดๆ ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม  โดยส่วนหนึ่งก็มีไม่น้อยที่ลงพื้นที่ตามโครงการฯ ที่ผมนำร่องไว้

ล่าสุด สนับสนุนโครงการ "หนึ่งคณะ หนึ่งศิลปวัฒนธรรม" อีกเหมือนกัน ซึ่งขณะนี้กำลัวตั้งหลักอยู่ว่าจะ "ขับเคลื่อนยังไง" 

แต่ที่แน่ๆ..นี่คือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์การรับน้องใหม่เหมือนกัน

ส่วนที่อาจารย์ฯ สะท้อนแนวคิดเรื่อง "หนึ่งคณะ หนึ่งอาจารย์" นั้น  ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คงได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเป็นแน่

สวัสดีครับ คุณblue_star

ผมชื่อนชมกับแนวคิดนี้ครับ "เราไม่ได้เข้าไปเป็นผู้ให้ แต่เข้าไปเรียนรู้ร่วมกัน"

แต่ถึงแม้จะไปสู่การ "ให้" ก็คงอยู่ในสถานะของการ "เรียนรู้" การ "ให้" เสียมากกว่า

หลายต่อหลายครั้ง การออกค่ายอาสาพัฒนา ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทบทวนตัวเองของชุมชนได้อย่างมหัศจรรย์ เช่น ชาวบ้านหันกลับมาชำระเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตัวเอง หันกลับมาเรียนรู้และเชิดชูคนดีในหมู่บ้านของตัวเองไปในตัว

นั่นคือความจริงที่ผม "ค้นพบ" จากค่ายฯ -ครับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์แม่ฯ (ผศ. วิไล แพงศรี)

ขออนุญาตเรียกเช่นนั้นนะครับ...

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งกับการที่อาจารย์ฯ แม่จะนำบันทึกนี้ของผมส่งต่อไปยังองค์กร เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  เพราะเฉพาะที่อาจารย์ฯ แม่เล่ามานั้นก็ถือว่าเป็น "ปัญญาปฏิบัติ" ที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว

กรณีให้นักศึกษาจดบันทึก หรือรายงานเรื่องราวตัวเองในกิจกรรมหนึ่งๆ โดยระบุตำแหน่งหน้าที่ที่เขาได้ร่วมปฏิบัตินั้น  สะท้อนให้เห็นแนวคิดการปลูกฝังเรื่อง "บทบาท หรือสถานะ" ให้พวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย สอนให้เรารู้ว่าเมื่อมีบทบาทและก็ต้อง "รับผิดชอบ" ต่อบทบาท หรือหน้าที่นั้นๆ ให้ดีที่สุด

และที่สำคัญก็คือการสร้างกระบวนการให้เขาได้ถามตัวเองว่า  "ทำแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง" ทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมอย่างไรบ้าง ?

เแกเช่นกับประเด็นของการสร้างกระบวนการให้ชุมชนมี "ส่วนร่วม" กับกิจกรรมที่เราจัดขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะนั่นคือความเข้มแข็งและยั่งยืนที่หลายๆ ส่วนท้าทายที่จะทำให้ได้

การทำให้ชุมชนรู้สึกเป็นส่วนร่วม ก็หมายถึงการกระตุ้นให้เกิดความ "ตระหนัก,เห็นค่า และความสำคัญ" ที่มีต่อชาวบ้าน ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเขามีความรู้สึกกับการเป็นเจ้าของร่วมกัน ก็ง่ายต่อการที่จะทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาดูแลและสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง

...ขอบพระคุณครับ..

สวัสดีครับ พี่ sunny

ผมชอบกิจกรรมเยี่ยมบ้านของนิสิตมากเลยครับ ช่วงหนึ่งที่เคยดูแลเรื่องทุนการศึกษา ก็พาเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมยามถามข่าวผู้ปกครองนิสิตถึงชายคาบ้านเลยทีเดียว บันทึกวิดีโอมาตัดต่อเป็นสื่อการเรียนรู้ไปในตัว พบเห็นเรื่องราวที่เป็นทั้งสุขนาฏการรม และโศกนาฏกรรมที่หลากหลายรูปแบบ  พบเห็นหัวจิตหัวใจของผู้คนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ และแบกรับอะไรๆ อย่างมหัศจรรย์

กรณีหมู่บ้านดอนนานั้น  การมอบหมายคณะสาธารณสุขศาสตร์ไปลงชุมชนนั้น ผมถือว่าถูกต้องและเหมาะสมเป็นอย่างมาก  เนื่องจากเรื่องสมุนไพร และสุขภาพนั้นก็เกี่ยวโยงกับวิชาชีพของคณะฯ อยู่แล้ว นิสิตสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการให้บริการแก่สังคม และถือโอกาสในการ "เรียนรู้" เรื่อง "ภูมิปัญญา" ของชาวบ้านในเรื่องเหล่านี้ไปในตัว  เป็นการเสริมพลังบวกของการเรียนรู้ที่ดีงาม มิหนำซ้ำยังผูกโยงถึงการเชิดชูภูมิปัญญาไปด้วยเช่นกัน

ให้กำลังใจกับวิถีการงานในชุมชน นะครับ

และขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ และคงได้แลกเปลี่ยนกันสืบไป...

สวัสดีครับ อ.หนานวัฒน์

คงมีโอกาสได้เจอและเรียนรู้ร่วมกันบ้างนะครับ ไม่นานนี้ผมอาจจะมีโปรแกรมค่ายแถวเหนือ บางทีอาจนำนักศึกษามาคุยกันบ้างก็ได้ เป็นเครือข่ายเล็กๆ ของการเรียนรู้...

ให้กำลังใจและชื่นชม นะครับ

เรียนท่านอาจารย์

  • คุณยายอยากไปร่วมกิจกรรมแบบนี้จังเลยค่ะ
  • " เหนือคำบรรยาย" ค่ะอาจารย์
  • ได้อะไรมากมายจากโครงการนี้ค่ะ อยากให้ทำต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท