คิดเรื่องงาน (68) ทีม..เป้าหมายเดียวกัน


หาก “ทีม” มอง “เป้าหมาย” ไม่เป็นหนึ่งเดียว ก็คงยากยิ่งต่อการที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมนั้นๆ ไปได้

การขับเคลื่อนโครงการปฐมนิเทศนิสิตโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมและกีฬาครั้งล่าสุด
(วันที่ 18-20 พฤษภาคม 2554)  เป็นอีกครั้งที่ผมไม่ละเลยที่จะให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ และทีมงาน ได้หันกลับไปทบทวนการจัดกิจกรรมโครงการเดียวกันนี้ที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนนั้น  ผมเคยได้อ่านบทสรุปการจัดกิจกรรมจากผู้รับผิดชอบมาบ้างแล้ว  แต่ก็ทำเฉยแบบไม่รู้ไม่ชี้  เพื่อทดสอบว่าทีมงานของผมได้หวนกลับไปศึกษาข้อมูลเดิมอันหมายถึง “ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ และปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ”  มาต่อยอดในครั้งนี้บ้างหรือไม่ ?

 

  

ทบทวนอีกรอบ : มอบคืนนิสิต

  

ก่อนการจัดกิจกรรมในปีนี้  ผมให้อิสระกับทีมงานออกแบบกิจกรรมที่จะมีขึ้นอย่างเต็มที่ แต่เมื่อขออนุมัติหลักการเสร็จสิ้นแล้ว  ผมก็ขยับชวนผู้รับผิดชอบมาถามแบบง่ายๆ ว่ากิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละฐานนั้น มีอะไรบ้าง ? และใครเป็นผู้รับผิดชอบ ? คำตอบที่ว่านั้นก็คือ “มีฐานการเรียนรู้ประมาณ 6 ฐาน และเจ้าหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบ”เมื่อเป็นเช่นนั้น  ผมจึงตั้งประเด็นให้ผู้รับผิดชอบงานได้กลับไปคิดว่าปัญหาเรื่องฐานการเรียนรู้ของปีที่แล้วคืออะไร? 


ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “นิสิตรุ่นพี่มีบทบาทในการเป็นวิทยากรประจำฐานค่อนข้างน้อย” แน่นอนครับ, สาเหตุหลักที่ทำให้รุ่นพี่มีบทบาทในการจัดการเรียนรู้ให้แก่น้องใหม่ค่อนข้างน้อยก็มีสองสาเหตุหลักก็คือ (1)  ทางอุทยานแห่งชาติขันอาสาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในฐานต่างๆ เกือบทั้งหมด  (2) ที่เหลือเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต เป็นผู้บริหารจัดการ ส่วนนิสิตรุ่นพี่ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในฐานการเรียนรู้

 

Large_dsc_0213

Large_dsc_0511



กรณีดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมระหว่างบุคลากรกับนิสิต ซึ่งก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีเหมือนกัน แต่คิดในอีกมุมนิสิตอาจจะดูเกร็งๆ ไม่เป็นอิสระ และไม่กล้าที่จะแสดงศักยภาพ หรือตัวตนของตนเองได้อย่างเต็มที่ด้วยก็เป็นได้

 

ด้วยเหตุนี้  ผมจึงจำต้องฝากเป็นนโยบายแบบกว้างๆ ว่า “ให้คืนพื้นที่การเรียนรู้อันเป็นฐานต่างๆ ให้กับนิสิตรุ่นพี่ไปเสียทั้งหมด”  เพื่อให้นิสิตรุ่นพี่ได้ใกล้ชิดกับน้องใหม่ให้มากๆ จะได้เกิดความสนิทสนม รักใคร่ปรองดอง  ผูกพันและช่วยเหลือกันได้

 

แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  ผมต้องการเปิดพื้นที่ให้นิสิตรุ่นพี่ได้ฝึกการทำงานกันเป็นทีม และฝึกการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองเสียบ้าง  ไม่ใช่รับบทบาท “พระรอง” เหมือนปีที่แล้ว  ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่าเจ้าหน้าที่ก็เห็นด้วยอย่างไม่อิดออด  เมื่อเป็นเช่นนั้นนิสิตรุ่นพี่จึงขยับขึ้นมาเป็น “พระเอก” อย่างทันทีทันใด ด้วยการต้อง “รับผิดชอบ” เป็น “เจ้าของ” ฐานการเรียนรู้ต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเต็มสูบ  หรือเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือ “คิดเอง ทำเอง"

 

Large_dsc_0879

 

 

เป้าหมายร่วม 

 

เมื่อคืนพื้นที่การทำงานให้นิสิตรุ่นพี่ทั้งที่มาจากกีฬาและศิลปวัฒนธรรมได้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว  เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงถอยกลับมาสวมบทบาท “พี่เลี้ยง” อย่างเต็มสถานะ  พร้อมๆ กับการออกแบบกิจกรรมเสริมที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปเติมสีสัน หรือสร้างโจทย์การเรียนรู้ให้กับนิสิตใหม่ด้วยตนเอง  ดังนั้นจึงกลายเป็นสีสันของการเรียนรู้ที่น่าจะครบทั้ง “บันเทิง...เริงปัญญา” 

 

วันที่ 12 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2554  ทั้งผมและทีมงาน ตลอดจนนิสิต กลับมาประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานกันอีกรอบ  ครั้งนี้ผมฝากแนวคิดให้เจ้าหน้าที่และแกนนำค่ายได้สะท้อนเรื่องราวอันเป็นนโยบายเรื่อง “อัตลักษณ์” (MSU FOR ALL : พึ่งได้) และคุณธรรม 4 ประการของนิสิต “มมส”  (ประพฤติดี มีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)  ไปสู่นิสิตใหม่อย่างเต็มที่ เพราะนั่นคือทิศทางของการพัฒนานิสิตที่เพิ่งประกาศใช้สดๆ ร้อนๆ

 

Large_dsc_0708

 


นอกจากนั้นยังชวนให้แต่ละคนประมวลภาพการจัดกิจกรรมในปีที่ผ่านมากันอีกรอบ เพื่อสำรวจ “ทุนหรือเสบียงทางความคิด” กันอีกครั้ง  เพื่อให้สามารถ “สะสางและต่อยอด” ได้อย่างมีพลัง

 

สิ่งที่ทุกคนมองตรงกันมากที่สุดก็คือ ปีที่แล้ว “สต๊าฟรุ่นพี่” มีจำนวนน้อย ! ไม่สามารถดูแลนิสิตรุ่นน้องได้อย่างทั่วถึง และบทบาทในการทำงานไม่เด่นชัดนัก เพราะมีกระบวนการของเจ้าหน้าที่จากอุทยานและกองกิจการนิสิตเป็นผู้ขับเคลื่อน !
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ปรากฏเด่นหราเลยก็คือ สภาพดินฟ้าไม่อำนวย (ฝนตก)  อาหารไม่เพียงพอ (เพราะนิสิตตักไปรับประทานจำนวนมาก)

 

ครับ, เมื่อเห็นประเด็นตรงกันเช่นนี้  ผมจึงย้ำว่าปัจจัยภายใน “ทีม”  สามารถจัดการได้อย่างไม่ร่ำไร  นั่นก็คือเพิ่มจำนวนสต๊าฟและมอบสิทธิ-ให้เสรีภาพต่อนิสิตรุ่นพี่ในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม  โดยหลักๆ เน้นที่กิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารค่ายฯ  ซึ่งให้นิสิตเป็น “พระเอก”  ไปแบบเต็มๆ  แต่มีข้อแม้ว่าต้องมอบหมายคนในทีมมาร่วมรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ช่่วยเจ้าหน้าที่ เช่น ที่พัก อาหาร การจัดเตรียมอุปกรณ์ เอกสาร และหยูกยา เป็นต้น


Large_dsc_0751

Large_dsc_0729



เมื่อผ่านพ้นประเด็นดังกล่าวแล้ว  ผมก็จุดประเด็นใหม่ให้ขบคิดกันอีกหน นั่นก็คือการตั้งคำถามถึง “วัตถุประสงค์” ของการจัดกิจกรรม

  

ผมเริ่มต้นจากให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้แถลงต่อสต๊าฟที่เป็นนิสิต  จากนั้นก็ให้แกนนำนิสิตสะท้อนวัตถุประสงค์ของขาบ้าง  เป็นการ “เปิดเปลือย”  ความคิด ความรู้สึกร่วมกัน  ซึ่งสุดท้ายก็ประมวลเป็น “หนึ่งเดียว” ร่วมกัน อาทิ มุ่งให้นิสิตใหม่ได้รู้และเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อการเป็นนิสิตโครงการฯ  มุ่งให้นิสิตใหม่เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนและการใช้ชีวิต  มุ่งให้นิสิตใหม่กับนิสิตรุ่นพี่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน ผ่านมิติของ “พี่ดูแลน้อง” หรือ “น้องจะดูแลพี่” ก็ไม่ว่ากัน

 

ครับ, มันเป็นวิธีง่ายๆ ที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจะทำอะไรสักอย่าง หาก “ทีม” มอง “เป้าหมาย” ไม่เป็นหนึ่งเดียว  ก็คงยากยิ่งต่อการที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมนั้นๆ ไปได้  และกระบวนการที่ผมพยายามให้คิดร่วมกันเช่นนี้ ก็อยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งสิ้น  ไม่มีพรมแดนในทางสถานะ อาวุโส...แต่มีแก่นยึดอยู่ที่ความสุข,ความดีงาม,โดยมีนิสิตใหม่เป็นปลายทางของการคิดคำนึง

 

Large_dsc_0441

Large_dsc_0819

Large_dsc_0546



อย่าลืมประเมินตัวเอง...

 

ไม่เพียงเท่านั้น  ผมยังทิ้งประเด็นให้ร่วมคิดกันต่ออีกว่า “ฐานการเรียนรู้” ที่นิสิตสร้าง หรือจำลองขึ้นนั้น  ควรมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า “ทำขึ้นเพื่ออะไร ด้วยวิธีการใด...ตอบโจทย์อันเป็นเป้าหมายของการทำงานอย่างไรบ้าง..” 

 

ประเด็นที่ผมเปิดเปลือยขึ้นนั้น  ไม่ใช่ประเด็นของการที่จะบีบรัดให้นิสิตและเจ้าหน้าที่ต้องเครียด หรืออธิบายต่อผมให้มากความ หากแต่เป็นการย้ำเตือนให้รู้ว่าการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายนั้นมันต้องมี “กลยุทธและกระบวนการ” ที่ “น่าสนใจ” และต้องฉลาดพอที่จะให้ผู้เรียนรู้สึก “สนุกและมีความสุข” ให้มากที่สุด  ไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นการบรรยาย หรือจัดกิจกรรมแบบ “สายเดี่ยว” เน้น “วิทยากร” สื่อสารโดดๆ รวมถึงการย้ำเน้นให้นิสิตมีพื้นที่ในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากๆ เพราะสถานที่การจัดกิจกรรมนั้น มีเรื่องราวให้ศึกษามากมายเหลือเกิน อาทิ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเพณีและวัฒนธรรมอีสาน เป็นต้น



Large_dsc_0755

 

เหนือสิ่งอื่นใด, เป้าหมายที่ผมไม่อาจละวางได้ก็คือ พัฒนาการของเจ้าหน้าที่และนิสิตรุ่นพี่ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในเชิงสร้างสรรค์ขึ้น  ไม่ใช่ประเมินผลแต่เฉพาะนิสิตใหม่ว่าได้อะไรบ้าง  แต่หลงลืมที่จะประเมินตัวเองไปเฉยเลย  (อย่างนี้ก็ไม่ไหว)

  

ครับ, ผมย้ำเช่นนั้น  เพราะผมต้องการให้เจ้าหน้าที่และนิสิตให้ความสำคัญกับการ “ทบทวนตัวเอง”  ให้มากๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนผลกลับเข้าหาตัวเองว่าเกิดพัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกี่มากน้อย หากทำอะไรแล้วยังย่ำยึดอยู่จุดๆ เดิม เหมือนการจมจ่อมอยู่กับโคลนตมในหนองเดิมๆ ก็คงไม่ไหว !

  

และที่สำคัญ  ผมไม่อยากมีวัฒนธรรมการทำงานในแบบเหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง แบบไปไม่ถึงฝั่ง  เพราะผมเชื่อว่า คนเราต้องวิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ช้าเร็วก็ควรต้องมีพัฒนาการ..

 Large_dsc_0781

Large_dsc_1028

Large_dsc_0594

 

กรณีที่ว่านี้  ผมอธิบายเพิ่มเติมกับทุกคนว่า  หากทำงานแล้วไม่เกิดกระบวนการเติบโตในตัวตนของเราเอง  ก็คงยากยิ่งต่อการพัฒนางานและองค์กรด้วยเหมือนกัน  ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้  องค์กรต้นสังกัดต้องรับเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ๆ ในระดับประเทศอีกหลายงาน จึงต้องฝากให้กิจกรรมครั้งนี้ เป็น “แบบเรียน” แห่งการ “เรียนรู้” ที่ต้องเรียนรู้อย่างจริงๆ จังๆ  เพื่อให้เกิดความพร้อมในภารกิจอันยิ่งใหญ่นั้นให้ได้มากที่สุด +


ครับ, ไม่มีใครจะทำงานได้คนเดียว ...ทีมคือกลไกที่สำคัญและท้าทายจริงๆ...

 

งานครั้งนี้ จึงย่อมหมายถึง "ทีม" ที่เป็นบุคลากรกับบุคลากร  ทีมนิสิตกับนิสิต และทีมนิสิตกับบุคลากร  ตลอดจนนิสิตใหม่ ก็สามารถก้าวเข้ามาเป็นทีมเดียวกับคณะทำงานได้เหมือนกัน

ทุกอย่างเริ่มที่การเปิดใจ !

เปิดใจได้ ก็เป็นทีมได้

 

 

หมายเหตุ

1.ภาพจากทีมงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
2.นอกจากกิจกรรมบรรยายเรื่องบทบาทหน้าที่ของนิสิตในสังกัดโครงการฯ แล้ว ยังมีกิจกรรมสันทนาการ เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน,กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน,กิจกรรมเรียนรู้ตามอัธยาศัย ฯลฯ
3.ผลการประเมินโครงการออกมาในมุมบวก สนุกสนาน เบิกบาน ได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียน การใช้ชีวิต

 



 

หมายเลขบันทึก: 441931เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

เป็นกิจกรรมที่มีกระบวนการ P D C A ที่สมบูรณ์ ดูบรรยากาศจากกิจกรรมแล้วน่าสนุก ไม่ซีเรียส

พูดถึงเรื่อง "ทีม" นั้นสำคัญมากครับ หากทีมงานดี ผลลัพธ์ของงานก็ออกมาดี ผมหมายถึงปลายทาง

เเต่ในระหว่างทาง ทีมงานก็มีหน้าที่เอื้อกันเพื่อการเติบโตทั้งความรู้เเละจิตวิญญาณครับ

วันก่อนผู้พัน..ท่านได้ปรึกษาผม เรื่อง "วงโปงลาง มมส." ครับ

ไปเชียงราย คงได้นั่งสนทนากัน :)

  • การทบทวนตัวเองเพื่อกระตุ้นเตือนให้เราได้ใช้ต้นทุนในการทำงานแบบต่อยอด ไม่ใช่เพียงการทำตามแนวทางที่ย่ำอยู่กับการต้องแก้ปัญหาเดิมๆ
  • ผมคิดว่าภาวะของการทำงานเป็นทีมที่แท้จริงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเฮไหนเฮนั่นแต่หมายถึงทุกคนได้เอาประสบการณ์ทั้งดีและลบมาเทใส่กันด้วยความจริงใจเพื่อคัดเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดไปต่อยอดนั่นคือทีมที่แท้จริง
  • และสิ่งสำคัญที่สุดผมคิดว่าการทำงานครั้งนี้นอกจากจะหมายถึงกระบวนการทบทวนตัวเองเพื่อต่อยอดแล้ว ประการหนึ่งที่เห็นคือ การปิดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิต น้องกับพี่ ที่แนบเนียนที่สุดแล้ว

ขอบคุณมากครับกับความรัก ความผูกพันธ์ ที่สำคัญการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด

เรียน ท่านสาดตาจาน (ครับ)

  • บันทึกของผมยังเป็นแค่การสะท้อนให้เห็นแนวทางหลักๆ คือ "การวางแผน" (P)
  • ส่วนปัญหาเก่า ถูกนำมาสะสางและขยายผลในสิ่งดีๆ นั้น ก็น่าจะหมายถึง (C-A)
  • ผมเลยไม่แน่ใจว่าครบกระบวนการ PDCA หรือยัง เพราะไม่อยู่ในเหตุการณ์
  • แต่เข้าใจว่าการทำงานนั้น ทีมงานคงได้ประชุมรายวัน (AAR) บ้างกระมัง
  • ...แล้วท่านฯ...จะช่วยขยายให้เห็นชัดๆ ทั้งครบวงจรได้หรือเปล่าครับ

สวัสดีครับ คุณเอก..จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ปลายทางสำคัญมาก แต่เรื่องราวระหว่างทางก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การขับเคลื่อนในทุกระยะ จึงจำต้องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันให้ได้มากที่สุด

ผมมีโจทย์ชัดเจนตั้งแต่แรกเกี่ยวกับเรื่อง "ทีม" ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมของนิสิตกับนิสิต เจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ และนิสิตกับเจ้าหน้าที่

กรณีเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่นั้น  มีทั้งสายกีฬา และสายศิลปวัฒนธรรม
ครั้งนี้ จึงพยายามเปิดประเด็นให้เห็นว่าทั้งสองส่วนต้องผนึกกำลังและเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงๆ จังๆ เผื่อว่าปีหน้า ต้องแยกกลุ่มปฐมนิเทศ จะได้มีทักษะในการที่จะจัดกิจกรรมเหล่านี้ได้

ส่วนนิสิตกับเจ้าหน้าที่นั้น  ผมไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำงานร่วมกัน บนเป้าหมายเดียวกัน

ขอบคุณครับ

ครับคุณเอก...

เรื่องโปงลาง ก็คงได้คุยกัน
ส่วนเรื่องไปอุบล ก็คงได้คุยเช่นกัน
เพราะอยากพานิสิตไปเรียนรู้กับนักเรียนมากเลยทีเดียว
โดยเฉพาะโรงเรียนต้นแบบเช่นนั้น ยิ่งน่าสนใจ
บางทีนิสิตอาจได้แนวคิด "พกตังค์" มาเรียนน้อยลงบ้าง

ขอบคุณครับ

นาฏศิลป์คือความงามนิรันด์

โครงการนี้เป็นการไปค่ายที่ไปเพื่อพัฒนาตนเองพัฒนาน้องและพัฒนากระบวนการทำงานของรุ่นพี่รุ่นน้องและพี่ๆเจ้าหน้าที่ความรู้ความสนุกสนานต่างๆที่พี่ๆนำสู้รุ่นน้องนั้นไม่ได้หวังความสนุกสนานแต่อย่างเดียวแต่แฝงไปด้วยความรู้การสานสัมพันธ์เสริมประสบการไห้น้องเป็นการทำงานกันที่อิสระแต่อยู่ภายใต้กรอบของนิสิตโควตาที่เข้าใจชีวิตของนักกิจกรรม

กิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมที่เน้นให้รุ่นพี่มีบทบาทหน้าที่มากกว่าครั้งที่แล้วมากจริงๆครับ เพราะครั้งที่แล้วรุ่นที่ไปก็มีบทบาทน้อยลอยไปลอยมาไม่ทำอะไร เพราะมีเจ้าหน้าที่อุทยานและเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิตเป็นผู้ดำเนินงาน แต่ครั้งนี้รุ่นพี่ได้วางแผนรูปแบบกิจกรรมเองในทีมโดยมีพี่เลี้ยงคือเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต ทำให้รุ่นพี่ได้รู้จักคุ้นเคยกับรุ่นน้องได้มาก กว่าครั้งที่แล้ว

ชื่นชมวิธีการดึงการมีส่วนร่วมของนิสิต และแนวคิดในเรื่องการจัดการตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง..ขอให้กำลังใจค่ะ..

ครับ คุณขุนแผ่นดินเย็น

การหยิบปัญหาขึ้นมาเป็นโจทย์ ดูเหมือนเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย หรือไม่ก็เหมือนคนก้ามไม่พ้นเรื่องนั้นๆ ...

แต่ในกระบวนการที่ผมพูดและใช้นั้น  ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็น "ทุน" ที่เราต้องหยิบจับมาใช้  ในเมื่อยังเป็นเรื่องเดิมในบริบทเดิมที่เราต้อง "ทำ" เราก็ท้าทายกับมันเลยว่าจะข้ามพ้นไปให้จงได้

ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะกลายเป็นชุดความรู้ใหม่ทันที เราใช้ได้ คนอื่นก็ใช้ได้ (ประยุกต์ใช้ได้)

หลายๆ ครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม เรามักประเมินผลจากคนเข้าร่วมว่ารู้สึกเช่นใด
แต่ในความเป็นจริงผมมองว่าเรา "ลืม" ประเมินตัวเองไปเยอะเลย
นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารถึงในบันทึกนี้ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณครับ

ครับคุณนาฏศิลป์คือความงามนิรันด์

ฟังแบบนี้แล้วก็ชื่นใจครับ เพราะถือว่าผมบรรลุวัตถุประสงค์ หรือโจทย์ของตัวเองในเชิงนโยบายแล้วชัดเจน  เห็นความสุขของคนทำงาน เห็นความเป็นอิสระที่มีกติกาของคนทำงาน เห็นการมองเป้าหมายร่วมที่เหมือนกัน ต่างตรงวิธีการไปสู่เป้าหมาย

กิจกรรมที่พี่ๆ จัดให้น้องก็สนุกสนาน แฝงหลักคิดความเป็นทีมไว้ค่อนข้างเยอะ
กิจกรรมของเจ้าหน้าที่ก็เสริมบรรยากาศ สร้างสีสันและฝากแฝงแนวคิดสำคัญไว้หลากเรื่อง  ซึ่งทั้งสองส่วนผสมผสานได้ลงตัวอย่างน่าชื่นชม

ชื่นใจครับ, แบบนี้ถึงเทศกาลเทางามสัมพันธ์ หรืองานอื่นๆ ก็ไม่หวั่นไหว แล้วครับ

  • ในฐานะเป็นผู้ที่รับผิดชอบโครงการก็มีความรู้สึกว่ามีสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานกันเป็นทีม 
  • และครั้งนี้เป็นโครงการอีกโครงการหนึ่งที่ทำงานแล้วมีความสุขและสนุกมาก ๆ ในความสนุกสนานและความสุข   แน่นอนว่าโครงการครั้งนี้เกิดขบวนการในการทำงานที่เป็นรูปธรรมกับนิสิตโควตารุ่นพี่เพิ่มมากขึ้น   เจ้าหน้าเป็นเพียงผู้ให้กรอบแนวคิดในการทำงานและให้นิสิตได้เกิดขบวนการคิดร่วมกัน และแก้ปัญหาเป็นเมื่อมีอุปสรรคในการทงาน  และในปีนี้น้อง โควตาก็สามารถผ่านการทำงานมาได้อย่างน่าชื่นใจ   พี่ๆโควตา  สามารถหลอมรวมน้องทั้งสองโควตาให้เป็นหนึ่งเดียวได้อย่างน่าชื่นชม   รุ่นพี่ทั้งสองโควตาก็ทำงานเป็นทีมเดียวกันอย่างขยันขันแข็ง  อย่างนี้แหละที่เรียกว่าลูกแห่งบ้านเหลืองเท่า    ในฐานผู้รับผิดชอบโครงการขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้งานนี้สำเร็จได้ด้วยดี  ขอบคุณจริง ๆ  

สวัสดีครับ ศิลปินลูกอีสาน

  • เห็นตอนแรกบอกว่าสต๊าฟไม่พอ ก็เลยขยายกรอบอัตราเพิ่มให้เล็กน้อยตามทุนรอน และข้อจำกัดต่างๆ
  • การเพิ่มของสต๊าฟ ก็โยงถึงภาระหน้าที่ของแต่ละคนว่าสมดุลกันหรือเปล่า และมอบหมายภาระกันได้ตรงตามศักยภาพสักกี่มากน้อย
  • เท่าที่สังเกตการณ์  ก็ดีใจที่เห็นพี่ๆ รวมตัวกันเป็นทีม
  • สนุกกับงาน มีความสุขกับงาน  มีความสุขกับการดูแลน้องๆ
  • รู้แต่เพียงว่าก่อนงานปิด รุ่นพี่ก็โดยเจ้าหน้าที่ฯ ย้อนศรกันจนได้เลือดได้น้ำตาเลยมิใช่เหรอ...
  • ครับ, นั่นคือสีสันของการทำงาน...
  • กิจกรรมนิสิต รสชาติชีวิต ปัญญาชน

 

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

พื้นที่ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้  เป็นพื้นที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ครูบ้านนอก" เวอร์ชั่นล่าสุด  มีการเชิญเจ้าของพื้นที่มาบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตให้นิสิตได้เรียนรู้ร่วมกัน เห็นว่านิสิตฟังแล้วถึงขั้น "ร้องไห้" เลยทีเดียว

ตื่นเช้ามาทีมงานให้นิสิตเดินเท้าศึกษาพื้นที่เหล่านั้นด้วยตนเอง แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ ศึกษาเรียนรู้ตามอัธยาศัย แต่ต้องกลับมาพร้อมเรื่องเล่าในรูปแบบที่ตนเองถนัด

สิ่งเหล่านี้สอนความเป็นทีม,สอนให้เรียนรู้ด้วยตนเอง,..ฯลฯ

 

ที่อุบล ผมยินดีประสานงานให้ครับ เเละ จะร่วมในการเดินทางไปที่โรงเรียนด้วยครับ

ครับคุณแดนไท

ผมเห็นด้วยกับทัศนะนี้มาก "เกิดขบวนการในการทำงานที่เป็นรูปธรรมกับนิสิตโควตารุ่นพี่เพิ่มมากขึ้น   เจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้กรอบแนวคิดในการทำงานและให้นิสิตได้เกิดขบวนการคิดร่วมกัน และแก้ปัญหาเป็นเมื่อมีอุปสรรค"

บางทีก็ต้องขออภัยที่ต้องให้ปรับวิธีคิดและกระบวนการบางอย่าง แต่เมื่อผลออกมาในทำนองนี้ ก็น่าจะเข้าใจและเห็นแนวทางของการทำงานอย่างที่ควรจะต้องเป็น

สำคัญต้องย้ำกับตัวเองว่าก่อนลงมือทำสิ่งใด ต้องหันกลับไปมองรอยเท้าเดิมในเรื่องนั้นๆ ให้มากที่สุด มองให้เกิดพลังบวก มองให้เกิดความท้าทายที่จะสนธิพลังให้ดีขึ้นและก้ามให้พ้นปัญหาเดิมๆ...

และอยากจะฝาก ถ้าจะให้ดี อยากให้เอาแกนนำค่ายครั้งนี้มานั่งกินข้าวและคุยกัน AAR และถอดบทเรียนแบบสนุกๆ บ้างก็ดี  เขาจะได้เห็นกระบวนการที่ทำมา และเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ลองดูนะครับ

ครับคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ผมเองก็ดีใจครับ...
และมีความสุขที่จะพานิสิตไปเรียนรู้ในมุมแบบนั้น

หากพูดถึงประเด็นของทีม "ความเป็นทีม" คงต้องอาศัยองค์ประกอบที่ลงตัวนะครับ...

ซึ่งต้องเป็นองค์ประกอบที่มากกว่าแค่องค์ประกอบทางกายภาพครับ...

แต่เป็นองค์ประกอบที่ผสมผสานระหว่าง "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" "การให้เกียรติ" "การเรียนรู้บทบาท" "ความรับผิดชอบร่วม" และ "การให้อภัย" นะครับ...

และที่สำคัญทีมคงต้องร่วมกันเดินสู่ "เป้าหมายร่วม" ซึ่งเป็น "เป้าหมายเดียวกัน" ที่เกิดจากความเห็นร่วมของทุกคนในทีมนะครับ...

กับการขับเคลื่อนงานของนิสิตมหาวิทยาลัยที่มีจุดร่วมในความเป็นพี่น้องร่วมสถาบัน ผ่านศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยแล้ว...

ผมว่าผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นคงมากกว่าแค่กับตัวนิสิตและมหาวิทยาลัยนะครับ...

แต่ผลลัพธ์ที่สำคัญซึ่งเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมเป็นการสะท้อนอีกบทบาทของเยาวชนและมหาวิทยาลัยที่พึงกระทำนะครับ...

สวัสดีครับ คุณDirect

ได้ใจมากเลยครับกับแนวคิดนี้ "องค์ประกอบที่ผสมผสานระหว่าง "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" "การให้เกียรติ" "การเรียนรู้บทบาท" "ความรับผิดชอบร่วม" และ "การให้อภัย"

มันคล้ายกับที่ผมเคยเขียนไว้ในคราวก่อนโน้นประมาณว่า

ให้ใจ : จริงใจ ให้เกียรติ
ให้โอกาส : มอบหมายภารกิจให้เสมอภาค และตรงทักษะของทีม
ให้อภัย : หากมีข้อผิดพลาดใดจากการงานก็พร้อมให้อภัย และร่วมแก้ไข ปรับปรุง

ขอบคุณมากครับ

 

 

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ สามารถหลอมรวมนิสิตทั้งสองโควตาเข้าหากันได้เป็นอย่างดี มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือคำว่านิสิตโควตา ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร มาจากไหน  ณ ที่แห่งนี้เราคือเพื่อนกัน มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน

เสมือนกับทีมทำงานวันนั้น มองตาก็รู้ใจจิงๆว่าต่อจากนี้หรือวินาทีนี้เราจะทำอะไร เพราะอะไร และเพื่อใคร รวมถึงอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือน้องๆนิสิตที่จะก้าวข้ามจากนอกรั้วเข้าสู่บ้านหลังที่สองของเค้า ณ ที่แห่งนี้ นั่นเอง

ถึงบางครั้งจะมีบางเศษเสี้ยวที่ไม่เข้ากันบ้าง แต่เรามองข้ามสิ่งนั้นไปเพื่อมุ่งสู่จุดหมาย ส่วนเศษเสี้ยวนั้นให้เปรียบเหมือนสิ่งเล็กๆที่สักวันก็คงเลือนหายไป

อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ร่วมกันในปีต่อไป เพราะอย่างน้อยที่สุดมันทำให้น้องๆนิสิตโควตาที่มาใหม่รู้จักเพื่อนๆต่างสถานะมากขึ้น ลดเลือนความแตกแยกของสังคมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

เท่าที่สัมผัสมากับการจัดกิจกรรมเป็นครั้งที่ 2 พัฒนาการและการเรียนรู้ประสบการณ์จากครั้งที่แล้ว ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆขึ้นเรื่อยๆ และได้คุยกับทีมงานเรื่องบทบาทและหน้าที่ (ทีมงาน) มากกว่าเดิม พี่ต้องรอดูแล้วกันว่าปีต่อไปเราจะทำอะไรกัน

ได้เห็นพัฒนาการ ความกล้าแสดงออก กล้าคิดและกล้านำ ของน้อง ๆ ที่เป็นรุ่นพี่ ที่มีต่อน้องใหม่ ครับ เห็นกระบวนการทำงานของเขา อาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ทุกอย่างก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ สุดท้ายทุกอย่างก็บรรลุด้วยดี ทุกคนชื่นมื่น แต่เสียดายที่ผมจำเป็นต้องกลับก่อนครับ เลยไม่เห็นบรรยากาศวันสุดท้าย

เท่าที่ผมมอง ในปีนี้มีหลายอย่างที่ต่างไปจากปีที่ผ่านมา เช่น

- บทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนของนิสิตรุ่นพี่ทั้ง 2 โควตา

- รูปแบบกิจกรรมส่วนใหญ่มาจากแนวคิด ของรุ่นพี่เอง

- พฤติกรรมการหลอมรวมระหว่างนิสิตทั้ง 2 โควตา

ฯลฯ

ผมเชื่อแน่ว่าในปีต่อ ๆ ไป นิสิตรุ่นพี่ จะทำงานเองได้และดีกว่าที่เราทำ...!

ครับ นุ้ยcsmsu

จุดเด่น : งานครั้งนี้คือการทำให้นิสิตใหม่ทั้งสองกลุ่มใกล้ชิด รู้จักกัน สองบุคลิกภาพมาใช้ชีวิตร่วมกัน ในกฎกติกาเดียวกัน  และนั่นก็หมายถึงการได้รู้จักเพื่อนใหม่ได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอให้มีการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ทั้งมหาวิทยาลัยฯ

ในทำนองเดียวกัน งานในครั้งนี้ ก็ช่วยให้บุคลกรทั้งสองส่วนได้ทบทวนจุดยืนในทางการทำงานว่าปีนี้จะทำอะไรบ้าง และปีหน้าจะขับเคลื่อนกันแย่างไร จะสร้างทีมอย่างไร เพื่อรองรับกระบวนการพัฒนานิสิต

ครับ, ส่วนกรณีว่าอยากให้รวมสองกลุ่มด้วยกันนั้น ก็คงฝากคิดกันต่อครับว่าจะลงเอยแบบใด สำคัญต้องสรุปงานอย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อนว่าดีและด้อยอะไรบ้าง ซึ่งนิสิตต้องมีส่วนในการสรุปเรื่องเหล่านี้ได้ หลังประชุมเชียร์ก็คงได้ "ถอดบทเรียน" ร่วมกันในคณะทำงานกระมังครับ

 

 

ครับ ก้อง...สะเร็น

ดีใจมากครับที่ระดับบุคลากรเริ่มมองและคุยเรื่อง "บทบาทหน้าที่" เข้มข้นขึ้น ให้กำลังใจละกันนะครับเพราะเรื่องการ "สร้างทีม" สำคัญมาก ไม่ใช่แค่สร้างทีมบุคลากรเท่านั้น แต่การสร้างทีมที่เป็นนิสิตรุ่นพี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน หากนิสิตรุ่นพี่ในสายโควตากีฬาสามารถรวมพลังกันได้ จัดกิจกรรมและบริหารจัดการกระบวนการต่างๆ ได้ ก็จะช่วยพัฒนาเขาในทางทีดี เป็นพลังเสริมทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกำไรจากการเรียนรู้ใน "สนามแข่งขัน"

 

 

ครับ คนเดินทาง

ปีหน้าบทบาทนิสิตรุ่นพี่ต้องชัดเจนและเต็มร้อยมากกว่านี้  แต่กระบวนการปีนี้ก็คือการเตรียมความพร้อมของรุ่นพี่นั่นเอง

แต่ก่อนจะถึงปีหน้า สิ่งสำคัญก็คือการสรุปงานและถอดบทเรียนในกลุ่มคนทำงานนั่นแหละ ถ้าจะให้ดีหากสามารถหยิบจับนิสิตรุ่นน้องมาร่วมกระบวนการด้วยก็ยิ่งดี เพราะมุมมองจะกว้าง (ครอบคลุม) และลึก

บทเรียนที่ผ่านมา ไม่ว่าระดับบุคลากร หรือนิสิตก็คือ ทำแล้วไม่มีการถ่ายทอดความรู้ให้คนในองค์กรร่วมกันอย่างเป็นระบบ ไม่มีประสิทธิภาพ ใครทำคนนั้นก็เก็บงำไว้ประดับตัวเองไม่ "แชร์" และสร้าง "ผู้นำรุ่นสอง" ขึ้นมารองรับ

ผมเชื่อว่า วันนี้และขณะนี้ เราเดินทางมาถูกทิศถูกทางแล้วนะ  เพียงแต่คนทุกคนต้องถามตัวเองว่าที่ผ่านมาเรียนรู้อะไรบ้าง มีอะไรติดตัวมาใช้ไป และที่สำคัญพร้อมหรือยัง...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท