การเรียนรู้อย่างสร้างสุข


เมื่อวันที่ 16-18 มีนาคมที่ผ่านมา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดสัมมนาคณาจารย์ประจำปี ที่ภูวนาลีรีสอร์ท เขาใหญ่  ในการสัมมนาครั้งนี้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "การเรียนรู้ที่เป็นสุข" ด้วย โดยมี ผศ. ดร. จรินทร์ ปภังกรกิจเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

จุดประสงค์ของการจัดเสวนาหัวข้อนี้  ก็เพื่อนำเสนอผลการสำรวจความเห็นของนักศึกษาทันตแพทย์ต่อการจัดการเรียนรู้ของหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเครือข่ายการเรียนรู้อย่างสร้างสุข  ภายใต้แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขได้ดำเนินการสำรวจใน 8 สถาบันในช่วงเดือน ก.พ. 2554

ผลการสำรวจหลักๆ พบว่า นักศึกษาเห็นว่าโรงเรียนทันตแพทย์มีการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเป็นคน "ดี"  และคน "เก่ง" แต่ไม่เอื้อต่อการเป็นคนที่มี "สุข"  โดยประเด็นที่มีผลต่อการมีความสุข เรียงตามลำดับได้แก่ หลักสูตรแน่นและมีเวลาว่างน้อย  ความสามารถในการจัดการบริหารเวลา  และวิธีส่งเสริมการเรียนการสอนของอาจารย์ในงานคลินิก

นอกจากนี้อ. จรินทร์ยังได้นำเสนอคลิปวิดีโอของครูญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่แม้จะมีอายุมากแล้ว  แต่กลับเป็นครูที่นักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนรักท่านมากๆ  ทั้งนี้เพราะท่านมีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก และความเข้าใจเด็กๆ ในชั้นเรียนทุกคน  ท่านเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้แสดงตัวตนออกมา  รับฟังเรื่องราวของนักเรียนด้วยความเห็นใจ ด้วยความรู้ที่เท่าทัน  สามารถชี้นำทางแก่เด็กๆ ได้เหมาะสมกับวัย

ในการนำเสนอ  อ. จรินทร์ได้นำเอา มุมมองของนักศึกษาต่ออาจารย์ที่ทำให้เขามีความสุขในการเรียน  มาเล่าให้กับคณาจารย์ได้ฟังกัน เป็นบางส่วนที่คัดลอกมาจากผลสำรวจ  การได้รับฟังถึงสิ่งดีๆ ของครูดีๆ เช่นนี้ ก็ทำให้เราทุกคนรู้สึกอิ่มเอิบไปด้วย

ในตอนท้ายของการเสวนา  อาจารย์หลายท่านได้แสดงความเห็นที่หลากหลายต่อ "การเรียนรู้ที่เป็นสุข" ดังเช่น

"ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  นักศึกษาต้องรู้จักเผชิญกับมัน  เราควรสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเขาในการเผชิญกับความทุกข์ด้วย"

"ในฐานะของศิษย์ที่เพิ่งจบมาเป็นอาจารย์ คิดว่าทุกคนเครียดในขณะเรียน แต่ละคนสามารถจัดการกับชีวิตได้ไม่เท่ากัน  คนที่เลือกวิธีหาทางออกที่ผิดมักล้มเหลว  นักศึกษามักปรึกษาเพื่อนๆ ก่อนเป็นลำดับแรก"

"การเรียนรู้อาจไม่มีความสุขเสมอไปก็ได้  โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ในความจริงคงมีแต่การเรียนรู้ที่ ทุกข์น้อย มากกว่า"

"นักศึกษาไม่ได้ชอบอาจารย์ใจดี หรือเกลียดอาจารย์ดุเสมอไป  ตราบใดที่อาจารย์ดุว่าด้วยเหตุด้วยผล"

"บางครั้งที่ตัวเองจินตนาการไปเอง ทำให้เกิดความทุกข์ในการเรียน ควรใช้หลักธรรมะมาช่วย"

"รู้สึกว่าตัวเองเป็นอาจารย์ที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าตอนจบใหม่ๆ  อาจเป็นเพราะมีความคาดหวังกับนักศึกษามากขึ้น ทำให้ต้องพูดอะไรๆ ซ้ำๆ ซากๆ  หวังว่าเด็กจะเข้าใจในภายหลังว่าอาจารย์หวังดี"

"เด็กที่มีเป้าหมายในการเรียนที่ชัดเจนจะมีความสุข  เพราะเขาจะสนุกกับการค้นหาและรับฟังข้อติชมของอาจารย์"

"อาจารย์ทันตแพทย์ไม่เคยผ่านการฝึกเป็นครูมาก่อน ทำให้บางครั้ง ขาดประสบการณ์ไม่สามารถสื่อสารกับนักเรียนถึงความตั้งใจที่ดีได้"

"คิดว่าความเครียดของการเรียนทันตแพทย์ อยู่ที่ปัญหาของการสื่อสาร"

"ความเครียดไม่ใช่สิ่งร้ายกาจเสมอไป  หลายครั้งเป็นตัวกระตุ้นให้เราพัฒนา แต่เราต้องไม่ทำให้ความเครียดนั้นกลายเป็นความทุกข์ไปหมด"

"การเรียนรู้ที่เป็นสุข แท้จริงคือ การเรียนรู้อย่างเข้าใจ"

"นักศึกษาเขาดูเราเป็นตัวอย่าง  ครูต้องทำและเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน ต้องเป็นคนที่มีความสุขด้วย"

จรินทร์ 30 พ.ค. 54

หมายเลขบันทึก: 441459เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ครูในดวงใจ (1)

อ.สมพร มีความเป็นกันเอง แนะนำให้ผมรู้ว่า ไม่ต้องกังวลกับอะไร ท่านจะพูดเสมอว่า “เอางี้ เราลองทำอย่างนี้สิ...... เอางี้ เธอลอง.........อย่างนั้นสิ” ดังนั้น เวลาที่ปรึกษาท่าน ทุกๆ ปัญหาก็ดูเหมือนจะแก้ไขไปได้ด้วยดี ท่านมีรอยยิ้ม เล่าเรื่องราวต่างๆ ปะปนไปกับคำแนะนำอยู่เสมอ สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกประทับใจ และมีความสุขในการเรียนรู้มาจนทุกวันนี้

ธีระศักดิ์

ครูในดวงใจ (2)

การเรียนรู้ความสุข : ความสุขก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เช่นเดียวกันกับความทุกข์ 

ความสุข คือ การเลือกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับความทุกข์

การแยกแยะแล้วเลือก  นำไปสู่ความทุกข์

ธรรมชาติของเราจะแยกแยะสิ่งต่างๆ ที่เรารับรู้อยู่ตลอดเวลา : ขันธ์ 5 : รูป-เวทนา

"เด็ก" มีธรรมชาติคือ "Full of Life" มีความ สดใหม่ และอยากเรียนรู้

ขอขอบคุณ คุณครูติช นัท ฮันห์  ที่สอนให้เข้าใจการเรียนรู้

 

สมเกียรติ

ครูในดวงใจ (3)

ข้าพเจ้ามีความประทับใจในครู/อาจารย์หลายท่าน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย แต่ที่จะกล่าวถึงครูท่านนี้ คือ ครูในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งสอนวิชาภาษาไทย โดยบุคลิกของท่านแล้วเป็นคนใจดี พูดเพราะ และเป็นมิตร มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งซึ่งทำให้ข้าพเจ้าประทับใจไม่ลืม คือ หลังจากการสอบกลางภาค อาจารย์ประกาศแจ้งคะแนนในห้องสอบ ปรากฏว่าข้าพเจ้าสอบตก จึงรู้สึกตกใจและประหลาดใจ เนื่องจากคิดว่าตนเองทำข้อสอบได้ จึงได้ไปขอดูคะแนนที่ห้องพักครู ท่านจึงนำใบกระดาษคำตอบซึ่งเป็นข้อสอบปรนัยมาให้ดู พบว่าตนเองได้ทำข้อสอบข้ามไป 1 ข้อ ทำให้คำตอบของข้ออื่น ๆที่ตามมาเลื่อนไปหมด แต่ด้วยความกรุณาของครู ท่านจึงให้สอบใหม่ ข้าพเจ้าจึงไม่มีปัญหาในวิชานั้น

            ในฐานะของครูผู้หนึ่ง เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้นักศึกษามีปัญหา ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึง "ความเมตตา กรุณา" ที่ครูท่านนี้มีต่อข้าพเจ้า และนี่คือ "แม่พิมพ์" ที่ทำให้ข้าพเจ้าดำเนินรอยตามเสมอมา

 

เพ็ญศรี

ครูในดวงใจ (4)

จริงๆแล้วมีอาจารย์หลายท่านมากๆเป็นคุณครูในดวงใจ   อาจารย์ท่านหนึ่ง ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล   บอกว่าเรายังไม่ได้เปายิงฉุปกันเลยนะ

ถ้าอาจารย์ชนะต้องไปผ่าตัด Brain ถ้าแพ้ก็แล้วแต่ เหตุการณ์นี้ประทับใจมากเพราะอาจารย์ท่านนี้ทำให้รู้สึกว่า ขณะนั้นจะทำอย่างไรดี เป็นการตัดสินใจที่ยากมากจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

           จะเลือกอะไรดี  คำว่า  "เปายิงฉุป" น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยผ่อนคลายได้ดีมากที่สุดในขณะนั้น  เมื่อมีชีวิตหลังผ่าตัดเสร็จกลับมาใหม่ อาจารย์ท่านนี้ไปเยี่ยมบอกว่าเรายังไม่ได้เปายิงฉุปกันเลยนะแล้วอาจารย์ก็ยิ้ม จึ่งคิดว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจดจำไว้ในดวงใจกับคุณครูผู้นี้ ด้วยความเคารพรักตลอดกาล

 

อรท้ย 

ครูในดวงใจ (5)

ผมนึกถึงครู มีนา ตันเจริญ ครับ ครูทำให้ผมสนุกกับการเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์  เริ่มต้นชั่วโมงแรก ครูทำให้พวากเราหัวเราะด้วยประโยค "ในห้วงอวกาศที่แสนจะเวิ้งว้าง โหวงเหวง และโหววๆ ..."

น้ำเสียงของครูเร้าใจ ผ่านลำโพงวิทุยยี่ห้อธานินทร์ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนทุกคนเป็นอย่างดี

ท้ายชั่วโมง ครูจะบอกให้พวกเรากลับไปสรุปสิ่งที่เรียนในวันนั้น  ผมจำได้ว่าผมอยากเขียนสิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนในวันนี้มาก เขียนเท่าไรก็ยังไม่หมด

ครูมีนายังพาพวกเราไปท้องฟ้าจำลอง ได้เห็นดาวมากที่สุดในชีวิต นับร้อย นับพัน 

วันนี้ ไม่มีครูมีนาแล้ว ชื่อดวงดาวหลายๆ ดวง  กลุ่มดาวหลายๆ กลุ่ม เราอาจจำไม่ได้ แต่ผมไม่เคยลืมบรรยากาศ "ความสุข" ในชั่วโมงของครูมีนาได้เลย...

จรินทร์

ครูในดวงใจ (6)

คุณครูในดวงใจของข้าพเจ้าคือ อาจารย์วัชระ เพ็ชรคุปต์ ปัจจุบันสอนวิชาทันตกรรมจัดฟัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อาจารย์จะสนใจและดูแลการเรียนและให้ความรู้แก่นักศึกษาอย่างเต็มที

สิ่งทีข้าพเจ้าประทับใจก็คือ อาจารย์ให้คำแนะนำแก่นักเรียนทุกคน ไม่ว่าใครมีปัญหาอะไร ท่านจะช่วยเหลือศิษย์ทุกคน

ข้าพเจ้ารู้ดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำลงไปนั้น ท่านไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลย  เพียงเห็นความสำเร็จของลูกศิษย์เท่านั้น  ท่านก็มีความสุขมากแล้ว  และในวันนี้ตัวข้าพเจ้าเอง  ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากท่านในหลายๆ เรื่อง  ข้าพเจ้าก็คงไม่มีวันนี้

สักวันหนึ่ง ข้าพเจ้าจะกลับไปขอบคุณท่าน และจักประพฤติตนตามแบบอย่าง  ข้าพเจ้าเชื่อว่า ยังมีคนที่รอความช่วยเหลือเหมือนข้าพเจ้าอีกมาก

ทัศนีย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท