แรงจูงใจ: ก้าวแรกสู่การเรียนรู้ภาษาไทย


แรงจูงใจในการเรียนรู้เป็นพลังที่จะทำให้ผู้เรียนควบคุมตนเองไปสู่การเรียนรู้ด้วยการกำกับตนเองได้ในที่สุด

 

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

           เป็นที่ยอมรับกันว่า  จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้คือ  “ความรัก” ที่จะเรียนรู้  และความรักนั้นควรจะเกิดจากมโนสำนึก คือ เกิดความความต้องการ “ภายใน”  ที่จะพัฒนาตนเองของนักเรียน  เพราะเมื่อนักเรียนมีความต้องการที่ชัดเจนและมั่นคงแล้ว   ก็จะสามารถกำหนดเป้าหมาย       การเรียนรู้ของตนเอง  และสามารถ  “จัดการ”  วิธีการเรียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้  แต่เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาสภาพการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในปัจจุบันจะพบว่า ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก  ในประเด็นที่ไม่อาจทำให้นักเรียนเกิดความสนใจได้  ผลที่ปรากฏคือ นักเรียนมักแสดงอาการเบื่อหน่าย มีพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียน สนทนาพูดคุยเล่นกัน  เป็นต้น             สภาพปัญหาเหล่านี้  หากพิจารณาลงไปถึงสาเหตุแล้ว  คงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ความผิด”     ของนักเรียนทั้งหมด เพราะในการจัดการเรียนรู้  ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบและวางแผน  ด้วยเหตุนี้  ครูจึงต้องย้อนกลับมาไตร่ตรองวิธีการจัดการเรียนรู้ของตนเองว่า  สามารถสร้าง  “แรงจูงใจ” ในการเรียนรู้ของนักเรียนให้เกิดขึ้นได้มากเพียงใด 

 

            การสร้างแรงจูงใจถือเป็นกิจกรรมแรกของการจัดการเรียนรู้  เพราะมีเป้าหมายเพื่อ           “เปิดใจ” นักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วม (engage) ในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง       เพื่อให้นักเรียนสามารถ  “จัดการ” วิธีการเรียนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยเหตุนี้        ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั่วไป  จึงมักจะเริ่มต้นการตอบคำถามสำคัญว่า  “เราจะทำอย่างไรเพื่อให้นักเรียนสนใจเรื่องที่ศึกษา”  จากนั้นคำตอบของปัญหานี้จะได้รับการออกแบบให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้  “ขั้นนำ” ดังที่ปรากฏในการวางแผนการจัดการเรียนรู้โดยทั่วไป  แต่สิ่งประเด็นที่เป็นปัญหาในการออกแบบนั้นก็คือ  ครูมักจะ “คาดคิดไปเอง” ว่ากิจกรรมการเรียนรู้ที่จะจัดเพื่อสร้างแรงจูงใจนั้นเหมาะสม  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว  อาจมิได้ทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจที่แท้จริงก็เป็นได้   

 

           แนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง  “แรงจูงใจ” มิใช่เรื่องใหม่ในวงการการศึกษา  เพราะเป็นวิทยาการที่มีการศึกษากระทั่งสร้างเป็นทฤษฎีของหลายสำนักคิด   และหากพิจารณาในมุมมองพุทธศาสนา  แรงจูงใจก็คือ  “ฉันทะ” ซึ่งหมายถึง  ความต้องการที่จะทำหรือความอยากทำให้ดี (พระธรรมปิฎก, 2546: 42) นั่นเอง  ฉันทะนั้นถือว่าเป็นธรรมขั้นต้นของ  “อิทธิบาท” หรือทางแห่งความสำเร็จในการประกอบกิจการงานต่างๆ  จึงกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องแรงจูงใจนั้นมีความผูกพันใกล้ชิดกับ  มโนทัศน์การออกแบบและการจัดการเรียนรู้  (instructional  design  concept) ของครูภาษาไทยมากพอสมควร  แต่ก็เป็นปัญหาน่าขบคิดต่อไปว่า  ความผูกพันนั้นนำไปสู่ความเข้าใจที่  “แท้จริง”เกี่ยวกับหลักการตามทฤษฎีแรงจูงใจ  และการประยุกต์ใช้ในการออกแบบและจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนหรือไม่เพียงใด  เพื่อตอบปัญหาดังกล่าว  จึงจำเป็นจะต้องศึกษาแนวคิดและทฤษฎีแรงจูงใจ  การสร้างและตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้  ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นลำดับต่อไป

 

          แรงจูงใจ  (motivation)  มีลักษณะเป็น “อำนาจ” อย่างหนึ่ง  ที่โน้มนำความคิดและจิตใจของบุคคลให้มุ่งปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีเป้าหมายและทิศทาง  บุคคลที่มีแรงจูงใจใน   เรื่องใดเรื่องหนึ่งในระดับสูง  จะสนใจและมุ่งปฏิบัติเรื่องนั้นอย่างเต็มความสามารถ  นักจิตวิทยาจึงมักจะนิยามความหมายของแรงจูงใจว่าเป็น ภาวะหรือเงื่อนไขภายใน  (internal state             or condition)  เช่น  ความต้องการ (need)   หรือ ความปรารถนาอันแรงกล้า (desire) ที่กระตุ้นหรือสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมจากภายในที่มีทิศทางอย่างชัดเจน  (Huitt, 2001: online และ Slavin,2003: 329) การศึกษาด้านจิตวิทยาที่พัฒนาไปมาก ทำให้เราทราบว่า  แรงจูงใจนั้นประกอบอยู่ในทุกพฤติกรรมการแสดงออกของนักเรียน  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พฤติกรรม        ทุกอย่างที่นักเรียนแสดงออกนั้น  เป็นผลมาจากการตอบสนองแรงจูงใจของตนเอง 

 

            นักจิตวิทยาแบ่งแรงจูงใจออกเป็น  2 ประเภทคือ  แรงจูงใจภายใน  (intrinsic  motivation) ได้แก่  แรงจูงใจจากความต้องการของตนเอง เช่น  ความต้องการในการทำงานที่ยากให้ประสบความสำเร็จ  และแรงจูงใจภายนอก  (extrinsic  motivation) ได้แก่ แรงจูงใจที่เกิดจากบุคคลอื่น  เช่น  การที่ครูให้ความยอมรับนับถือหรือชื่นชมในผลงานที่ปฏิบัติ  เป็นต้น  ผลจากวิจัยพบว่าแรงจูงใจภายใน  จะมีอิทธิพลมากกว่าแรงจูงในภายนอก  และเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้  (Capel, 2001: 104)  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายหากครูจัดการเรียนรู้ในขณะที่นักเรียนมีระดับแรงจูงในภายในสูง  แต่สภาพการณ์จริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น  เนื่องจากเราต้องยอมรับว่า  สาระการเรียนรู้ส่วนใหญ่ที่จัดไว้สำหรับนักเรียนนั้น  มักเป็นเรื่องใหม่  ซับซ้อน  ส่วนหนึ่งยาก  ไม่สัมพันธ์หรือสัมพันธ์กับชีวิตของนักเรียนน้อยมาก  กอปรกับการจัดการเรียนรู้ที่มิได้คำนึงถึงทฤษฎีแรงจูงใจของครู  ก็ยิ่งทำให้นักเรียนมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนมากยิ่งขึ้น  และเกิดภาวการณ์จูงใจในเชิงลบ  ซึ่งหมายถึงการจูงใจให้ปฏิเสธและไม่ยอมรับสาระการเรียนรู้หรือแม้แต่กระทั่งครูผู้สอน  ดังปรากฏเป็นปัญหาที่กล่าวไว้เบื้องต้น  คำถามที่ควรพิจารณาต่อมาคือ แล้วครูในฐานะผู้จัดการเรียนรู้  ควรใช้สิ่งใดมาเป็นเป้าหมายเพื่อจูงใจนักเรียนให้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยตนเอง 

 

             เพื่อจูงใจให้นักเรียนหันมากำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ของตนเอง  และใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น  ครูควรคำนึงถึงปัจจัยภายนอกที่สามารถนำมาใช้เพื่อโน้มนำนักเรียนให้เกิดแรงจูงใจ  เช่น  1)  ผลสัมฤทธิ์  (achievement)  คือ ระดับความสามารถด้านพุทธิปัญญา  ซึ่งมาจากการทดสอบ  2)   ความยินดี (pleasure) คือ  ความรู้สึกดีใจจาก     การได้รับการยอมรับหรือชื่นชม    3)  การปกป้อง (preventing)  คือ การหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือกิจกรรมที่ไม่สนุกสนานหรือไม่น่าพึงพอใจ  4)  ความพึงพอใจ (satisfaction) คือ ความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีความก้าวหน้า  และ  5)  ความสำเร็จ  (success)  คือ  ภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากใช้ความพยายามอย่างยิ่ง  ในการปฏิบัติงานใดงานหนึ่งแล้วเป็นไปตามที่คาดหวัง   จากแนวคิดนี้  ทำให้เราทราบว่า  ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถ  “สร้างแรงจูงใจ”  ได้  หากครูสามารถสนับสนุนให้นักเรียนมองเห็นเป้าหมาย  วิธีการไปสู่เป้าหมาย  และผลที่จะได้รับจากการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวว่า จะทำให้นักเรียนเกิดความพึงพอใจ  ภาคภูมิใจหรือเกิดความเชื่อมั่นในตนเองอย่างไร  การเรียนรู้ในลักษณะนี้ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย  (meaningful  learning) เนื่องจากนักเรียนเกิดความตระหนักว่า  สิ่งที่กำลังศึกษานั้นมีความเกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์ต่อชีวิต  

 

         นักจิตวิทยาและนักการศึกษาได้สร้างทฤษฏีเกี่ยวกับแรงจูงใจไว้จำนวนมาก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูภาษาไทยจะต้องศึกษา  และนำมามาสร้างเป็นกรอบแนวคิดเบื้องต้น  สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของตนเองต่อไป


 
หมายเลขบันทึก: 441380เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2011 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท