แนวคิดการวัดประเมินผลการเรียนรู้ในมุมมองของหลักสูตรและการสอน


กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการวัดประเมินผลต้องก้าวไปสู่การประเมินพัฒนาการของปัจเจก
มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต
 
 
เฉลิมลาภ ทองอาจ
 
          การวัดและประเมินผลถือเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการจัดการศึกษา ที่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเป็นระบบมีอิทธิพลสูงสุด ต่อการดำเนินการใดๆ ของผู้สอนและนักเรียน ตัวอย่างเช่น ครูมุ่งสอนเฉพาะเนื้อหาและวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนผ่านการทดสอบระดับชาติ  นักเรียนมุ่งเรียนพิเศษเสริมเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ผ่าน  โดยสภาพการณ์เช่นนี้ กรอบแนวคิดของการศึกษาก็เหลือแต่เพียง “การทำข้อสอบให้ผ่าน” เพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยให้ได้  คุณค่าของการพัฒนาความงอกงามในจิตใจ  การสร้างสันติสุขแก่ตนเองและผู้อื่น  การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หรือประเด็นสำคัญอื่นๆ จะกลายเป็นประเด็นรอง หรือที่รุนแรงที่สุดคือ กลายเป็นประเด็นที่ไม่มีเยาวชนคนใดสนใจอีก  จึงไม่แปลกใจที่มีผู้เห็นว่า การประเมินด้วยการทดสอบนั้น ไม่สามารถที่จะตัดสินหรือวินิจฉัยผลผลิต (outcomes) จากกระบวนการทางการศึกษาได้ครบถ้วน  อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะบ่งชี้ทักษะหรือความสามารถของผู้เรียน รวมถึงไม่สามารถใช้ในการปรับปรุงคุณภาพใดๆ ทางการศึกษาได้ เพราะผลจากการประเมินนำมาสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้เรียนที่คลาดเคลื่อน ผิดพลาด และไม่เป็นที่น่าสนใจในระยะยาวทั้งต่อผู้เรียนและสังคมเอง  (Raven, 1991: 13)

 

          คำถามที่น่าสนใจคือ การวัดประเมินผลด้วยการทดสอบ (tests)  เป็นการประเมินที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และควรจะใช้วิธีการใดจึงจะดีกว่า  เมื่อพิจารณาสภาพทั่วไปพบว่า การประเมินด้วยการทดสอบได้รับความนิยมสูง  แท้ที่จริงแล้ว การใช้แบบทดสอบหรือการทดสอบเกิดจากภาพลวงตาประการหนึ่งที่ว่า  หากโรงเรียนใดที่ผู้เรียนมีคะแนนจากแบบสอบในระดับสูง  ก็ย่อมแสดงว่า หลักสูตรและผู้สอนในโรงเรียนนั้นมีประสิทธิภาพ  เพื่อเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพของโรงเรียน หลักสูตรหรือผู้สอน  จึงนิยมให้ผู้เรียนได้รับการทดสอบเพื่อให้เป็นหลักฐาน  โดยนัยนี้สามารถตีความ  ได้ว่า การวัดประเมินผลด้วยการสอบมิได้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาผู้เรียน แต่เป็นการดำเนินการเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินการของฝ่ายอื่นๆ มากกว่าที่จะเป็นการประเมินเพื่อให้ผู้เรียน สามารถประเมินตนเอง รู้ข้อเด่นที่ควรพัฒนา และรู้ข้อด้อยที่ต้องศึกษาและปรับปรุง  นอกจากนี้การใช้การทดสอบยังได้รับการวิจารณ์ด้วยว่า  จะทำให้เกิดภาวการณ์ลดทอนหลักสูตรให้แคบลง เนื่องจากครูจะจำกัดเนื้อหาที่สอนเฉพาะที่สอดคล้องกับแบบทดสอบเท่านั้น (Arends, 2009: 221 ) เป็นเหตุให้ครู  ลดการจัดประสบการณ์อื่นๆ  ที่ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้  โดยหันมาใช้วิธีบอกความรู้ที่ใช้สำหรับทำข้อสอบ     ซึ่งง่ายและสะดวกกว่าแทน  ผลก็คือผู้เรียนเกิดค่านิยมว่า การจัดประสบการณ์ในด้านอื่นๆ ที่อาจจะไม่ปรากฏในแบบทดสอบเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระและไม่จำเป็น  ดังจะเห็นได้จากในชั้นเรียน กระผมในฐานะผู้สอนมักจะได้ยินคำถามหนึ่งเสมอว่า  “เนื้อหานี้จะออกสอบหรือไม่” คำถามดังกล่าวแม้จะมอง    ได้ว่า ผู้เรียนเกิดความสนใจ และก็น่าขบคิดต่อไปว่า ผู้เรียนมิได้สนใจในประสบการณ์เหล่านั้นมากไปกว่าการทดสอบหลังเรียนที่จะเกิดขึ้น  ในที่นี้กระผมจึงสรุปความคิดเห็นต่อการวัดประเมินผลด้วยการทดสอบว่า  การประเมินด้วยการทดสอบเพียงอย่างเดียวนั้น  เป็นการประเมินที่ยังขาดประสิทธิภาพ   อยู่มาก ทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดค่านิยมต่อความรู้และการศึกษาที่แท้จริง  ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาในทุกระดับ

 

          เหตุที่กระผมสรุปว่าการประเมินด้วยการทดสอบเพียงอย่างเดียว เป็นการประเมินที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะการทดสอบเป็นการละเลยศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์  ผู้ที่ทำแบบทดสอบซึ่งวัดเฉพาะความสามารถในด้านใดด้านหนึ่ง (ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็ไม่อาจตอบได้ว่าวัดได้จริง หรือแม่นยำเพียงใด) แล้วไม่ผ่าน มิได้หมายความว่าบุคคลผู้นั้นมีศักยภาพอ่อนด้อย หรือมีความเป็นมนุษย์ที่ด้อยคุณค่ากว่าผู้อื่น  ในประเด็นนี้ Kindsvatter, Wilen และ Ishler  (1996: 336)  ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจสรุปได้ว่า  ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความถูกต้องของการวัดประเมินผลในชั้นเรียน   ก็คือ  ธรรมชาติหรือความซับซ้อนของผู้เรียนแต่ละคนนั่นเอง เพราะผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีความ  แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้  กระผมจึงเห็นว่าหากผู้เรียนต้องได้รับการประเมินด้วยวิธีการเดียวกันโดยสามัญสำนึกก็ถือว่าเป็นการไม่ยุติธรรมต่อพวกเขา     
     
             แล้ววิธีการวัดและประเมินที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร  ในที่นี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดของ Arends (2009: 239) ที่กล่าวถึงการวัดประเมินแบบประเพณีนิยมด้วยการใช้แบบทดสอบว่า              มีข้อจำกัดในการวัดความสามารถในการคิดระดับสูง ทักษะการแก้ปัญหา และสมรรถนะในด้านอื่นๆ    ของความเป็นประชากร  ดังนั้นเราควรที่จะปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการประเมินมาเน้นที่           การประเมินการปฏิบัติ (performance  assessment) ที่หมายถึงการเมินที่ให้ผู้เรียนสาธิตหรือแสดงความสามารถในด้านที่ต้องการประเมินให้ชมในระหว่างการเรียนการสอน เช่น  การให้ผู้เรียนเขียนเรียงความ  ทำการทดลอง  แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ เล่นดนตรี วาดภาพ ฯลฯ เป็นต้น จากนั้นจึงพัฒนามาใช้การประเมินตามสภาพจริง  (authentic assessment)  ซึ่งหมายถึงการประเมินที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ความรู้ที่ได้ศึกษา มาใช้ในบริบทหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง (real-life situation) เช่น การให้ผู้เรียนจัดทำโครงงานตามความสนใจโดยประยุกต์ความรู้จากที่เรียน  การจัดแสดงละคร นิทรรศการ  หรือกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้การประเมินทั้ง          การประเมินการปฏิบัติและการประเมินตามสภาพจริง  จะต้องคำนึงอยู่บนหลักการเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล กล่าวคือ ความสามารถในการปฏิบัติ หรือการประยุกต์ของแต่ละคนย่อมต่างกัน       ความท้าทายจึงอยู่ที่ผู้สอนจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อใช้เป็นมาตรวัดหรือเกณฑ์สำหรับเปรียบเทียบ ซึ่งจะทำให้ผู้สอนและผู้เรียนทราบถึงสิ่งที่ตนเองจะต้องพัฒนาต่อไป      
 ________________________________________
รายการอ้างอิง
Arends, R. I. 2009. Learning  to Teach. 8th ed.  New York: McGraw-Hill. 
Kindsvatter, R., Wilen, W. and Ishler, M. 1996.  Dynamics of effective teaching. 3rd ed.     New York: Longman.

การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปดำเนินการใดๆ ควรทำตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 441379เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2011 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท