เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองไทยเดิม ตอนที่ ๓ เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “เขมรไทรโยค”


เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “เขมรไทรโยค” เท่าที่รวบรวมได้มี ๓ เพลง ได้แก่ เพลงไทรโยคแปลง เพลงอุทยานรักไทรโยค และเพลงรักใต้ร่มไทร

 

เพลงเขมรไทรโยค

 

เพลงเขมรไทรโยคเป็นเพลงไทยเดิมอัตราจังหวะ ๓ ชั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นจากเพลงขอมกล่อมลูก ๒ ชั้นทำนองเก่าที่ใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงละครมาแต่โบราณ โดยทรงตั้งใจแต่งเป็นเพลงเขมรไทรโยคในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น ส่วนบทร้องทรงแต่งจากความทรงจำตั้งแต่โดยเสด็จประพาสน้ำตกที่ตำบลไทรโยค (ปัจจุบันคือน้ำตกไทรโยคใหญ่ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี) มาเป็นแนวพระนิพนธ์ นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๑ เนื่องจากลีลาท่วงทำนองของเพลงเขมรไทรโยคเหมาะที่จะเป็นเพลง ๓ ชั้น ปรมาจารย์ทางดนตรีไทยจึงให้ตีหน้าทับปรบไก่ ๓ ชั้นโดยอนุโลม และคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเพลงไทยเดิมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเพลงลาวดวงเดือน

 

ทำนองเพลงเขมรไทรโยค

 

ท่อน ๑

---- -ดํ-ล --ดํล ซฟ-ซ --ลซ ฟร-ฟ -ร-ซ -ฟฟฟ
-ล-ด -ร-ฟ --ลซ ฟซ-ล -ดดด -รฟซ -ลดํซ ลซฟร
---- ---ล --ดํซ ฟซลดํ ---- ซลดํรํ -ดํ-มํ -รํรํรํ
ฟํรํดํล -ซ-ฟ --ลซ ฟซ-ล -ดดด -รฟซ ลดํซ ลซฟร
-ร-ร ซลดร ดรฟด -ร-ฟ ---- ดรฟซ ลซดํฟ -ซ-ล
---- ฟซลดํ ---รํ ฟํรํดํล ซลดํล ซฟ-ซ ---ซ -ซซซ
ซลซซ ซลซซ ฟซลซ ฟร-ฟ ---- ดรฟซ -ฟ-ล -ซซซ
---- -ดํ-ล -ลดํล ซฟ-ซ -ซฟซ ลซฟร -ด-ม รรรร

ท่อน ๒

---รํ -ดํ-ล -ฟํ-รํ -ดํ-ล ดํรํดํซ ดํลซฟ มรดร มฟซล
---- ฟซลดํ --รํรํ ฟํรํดํล ซลดํล ซฟ-ซ ---ซ -ซซซ
-ซ-ล -ดํ-รํ -ดํ-มํ รํรํรํรํ --รซ ลทดํรํ รํรํรํรํ -รํ-รํ
ดํรํดํซ ดํลซฟ มรซร มฟซล รํดํดํดํ -รฟซ ฟลซฟ ลซฟร
-รฟร ดรฟซ ฟลซฟ รซฟร (-รฟร ดรฟซ ฟลซฟ รซฟร)
ฟซลดํ ลรํลดํ ลซลดํ ลซฟร (ฟซลดํ ลรํลดํ ลซลดํ ลซฟร)
--ลซ ฟซลดํ --ฟํรํ ดํลซฟ (--ลซ ฟซลดํ --ฟํรํ ดํลซฟ)
--ลซ ฟร-ฟ (--ลซ ฟร-ฟ) --ลซ ฟร-ร -รดร ฟลซฟ

 

(โน้ตในวงเล็บสำหรับเครื่องตามเช่นขลุ่ยเพียงออ ซออู้ เล่นล้อเครื่องนำ เช่นซอด้วง จะเข้)

 

เนื้อร้องเพลงเขมรไทรโยค

 

เที่ยว ๑

“บรรยายความตามไท้เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์ 
(เอย น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น)

ไม้ไหล้หลายพันธุ์คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโกรกธาร

น้ำพุพุ่งซ่า ไหลมาฉาดฉาน 
เห็นตระการ มันไหลจ้อกโครม โครม มันไหลจ้อกจ้อก จ้อกจ้อก โครมโครม

 

(หมายเหตุ เนื้อร้อง “ไม้ไหล้” หมายถึง “ไม้” ส่วน “ไหล้” เป็นอุทานเสริมบทที่เติมเข้ามาให้สอดคล้องกันเหมือนกับคำว่า “แขนแมน” มีนักร้องบางท่านร้องว่า “ไม้ไร่” คงเป็นการเข้าใจผิดว่ามีการทำไร่ในป่าไม้ หรือไม่ก็เป็นการออกเสียง “ร” “ล” ไม่ชัด)

 

เที่ยว ๒

น้ำใสไหลจนดูหมู่มัสยา กี่เหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม 
(เอย น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น)

ยินปักษาซ้องเสียงเพียงประโคม เมื่อยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง

เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง หูเราฟัง มันร้องดังกระโต้งฮง มันดังก้อก ก้อก ก้อก ก้อก กระโต้งฮง”

 

 

เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “เขมรไทรโยค”

 

เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “เขมรไทรโยค” เท่าที่รวบรวมได้มี ๓ เพลง ได้แก่ เพลงไทรโยคแปลง เพลงอุทยานรักไทรโยค และเพลงรักใต้ร่มไทร

 

เพลงไทรโยคแปลง

 

เพลงชื่อ “ไทรโยคแปลง” มี ๒ เพลง เพลงแรก คำร้องโดยร้อยแก้ว ทำนองโดยจำปา เล้มสำราญ ขับร้องโดยวัฒนา บุณยเกียรติ เนื้อเพลงขึ้นต้นว่า “งามใดใครจะเปรียบ ใดไม่เทียบเปรียบเจ้างามงอน เหมือนอัปสรหยาดฟ้ามาเสกสรรค์สวรรค์ เหมือนช่างปั้นมาเสริมสวยไว้” แต่เพลงนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน และยังหาลิงค์ให้ฟังไม่ได้ คงต้องหาฟังจากต้นฉบับ

 

เพลงไทรโยคแปลงเพลงที่ ๒ ซึ่งดังกว่าเพลงแรก เป็นเพลงของวงดุริยโยธิน เฉลา ประสพศาสตร์ ขับร้อง ต่อมาีจินตนา สุขสถิตย์ ขับร้อง แต่เมื่อหยาด นภาลัยนำมาขับร้อง ตั้งชื่อว่า “ไทรโยค”

 

“งามไทรโยคงาม  ธรรมชาติสร้าง สุดสล้างสะพรั่งตา ดุจดังเทวามาเสกสรรค์ เหมือนอุทยานในชั้นฟ้า ชมหมู่พฤกษาน่าน้าวใจ งามวิไลแลละลิ่วทิววนา แม้นม่านฟ้ามากั้นไว้ แก่งโขดเขาไพร แลไสลสลับเหลื่อมล้ำ ง้ำชะโงกโกรกสอง รองรับกันเป็นชั้นช่อ มองยิ่งล่อพนอตา พาเพลินพิศเพียงเพ่งมอง ยิ่งจ้องยิ่งมองยิ่งซึ้ง
ยลปักษา พาคู่เคล้าเฝ้าพนอ คลอสำเนียงเคียงประโคม โลมเล้าบรรเลงพรั่งพร้อมเพลงไพร น้ำใสไหลบ่ามัจฉาแหวกธาร น้ำตกซ่านกระเซ็นซัดสาดฟอง สูงแลหยาดละออง สองทางโกรกธาร เสียงกังวาน เห็นตระการ ไหลดังฉาดฉาน ฉาดฉาน ไหลดังฉาดฉ่า สาดซ่าเนืองนอง”

 

 

เพลงอุทยานรักไทรโยค

 

เพลงอุทยานรักไทรโยค คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองโดยสมาน กาญจนะผลิน ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงเขมรไทรโยค ๓ ชั้น เพลงนี้ใช้ชื่อต่างกันเป็น ๓ แบบ ชาญ เย็นแข – พูลศรี เจริญพงษ์ ขับร้องใช้ชื่อว่า “อุทยานรักไทรโยค” (บางแห่งก็ว่า “ไทรโยค”) ชรินทร์ นันทนาคร - เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง ใช้ชื่อว่า “อุทยานรักไทรโยค” ธานินทร์ อินทรเทพ – รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ขับร้องใช้ชื่อ “อุทยานรักแห่งไทรโยค”

 

เนื้อร้องเพลงอุทยานรักไทรโยค

“(ญ) งามไทรโยคงาม ธรรมชาติสร้าง สด (สุด) สล้างสะพรั่งตา
(ช) แอบอุ่นเนื้อนงพงาพาสุขสันต์ เหมือนอุทยานในชั้นฟ้า
(ญ) ชมหมู่พฤกษา พาเหนี่ยวน้าวใจ
(ช) ร้อยพันกลิ่นประทินป่า พาซาบซ่าน หรือเปรียบปานแก้มเจ้าได้
(ญ) แน่ะบัวบังใบ แลไสลสลับเหลื่อมล้ำ
(ช) เหมือนเตือนใจพี่จำ แต่บัวสองงามตูมเต่งตั้ง สล้างตา เย้ยมวล ปทุมา หลบตาอิจฉาเจ้าสิ้น
(ญ) สาย (สวย) ไทรโยคพลิ้วพระพายชายโบก พาไทรไหวโยกโบกไหว
(ช) ดังโฉมยุพาพาใจ ไหวโยกโบกเอน พร่ำเพ้อละเมอเห็นแต่น้องนงพงา เห็นมัจฉาแหวกว่ายเวียนวน คิดใคร่ยลน้องเป็นมัจฉา (ว่ายแหวกธารา)
(ญ) น้องอายหมู่ปลา
(ช) น้องเป็นมัจฉา พี่จะขอเป็นธารา แนบเนื้อเจ้าปลา เรื่อยไป ให้เจ้าแหวกว่าย รื่นใจเริงสราญ”

 

 

เพลงรักใต้ร่มไทร         

 

เพลงรักใต้ร่มไทรเป็นเพลงดังอมตะเพลงหนึ่ง พยงค์ มุกดา (พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๕๕๓) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนอง โดยดัดแปลงทำนองมาจากเพลงเขมรไทรโยค ๓ ชั้น สุเทพ วงศ์กำแหง – สวลี ผกาพันธ์ ขับร้องเป็นคู่แรก

 

ครูพยงค์ มุกดา เป็นนักประพันธ์เพลงคนหนึ่งที่มีความสามารถสูงมากทั้งการแต่งคำร้อง ทำนอง และขับร้องเอง ท่านแต่งเพลงได้ทุกสไตล์ ทั้งแบบลูกกรุงลูกทุ่ง ทั้งแบบรัก โศก อ่อนหวาน กินใจ ตลกขบขัน ท่านเป็นหนึ่งในนักประพันธ์เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมที่ผมยกให้เป็นสุดยอดของนักประพันธ์เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิม ซึ่งผมเห็นว่ามี อยู่ ๔-๕ คน เช่น สมาน กาญจนะผลิน สง่า อารัมภีร พยงค์ มุกดา ชลธี ธารทอง เป็นต้น

 

เนื้อร้องเพลงรักใต้ร่มไทร

“(ช) เห็นไทร พลิ้วใบเมื่อต้องลม ชี้ชวนให้เจ้าชมพลอดรักพรรณา (พรรณนา)
(ญ) ม่านไทรย้อยห้อยระย้า พาร่มเย็น เหมือนหนึ่งเป็นวิมานเมืองฟ้า
(ช) ลมโชยหวน มวลดอกไม้นานา หอมไม่เกินไปกว่านวลแก้มน้อง
(ญ) อุ๊ยอย่าต้อง ของหวงห้าม
(ช) พี่เชยเพียงนิด ไยน้องปิดห้ามปราม
(ญ) มิควรหยาบหยาม
(ช) ชมเพราะความเสน่หา
(ญ) อายฟ้าดินเถอะพี่ขา
(ช) ดวงตาฟ้าดิน นั้นควรจะอิจฉา ท่านหาความรักไม่ได้
(ญ) คำช่างหวาน (ฮัม) นั้น (นาน) คงเบื่อลืมเยื่อใย
(ช) รัก (ฮัม) พี่นี้มาจากใจ เปรียบปานร่มไทรใหญ่และยงยืน
(ญ) แม้ม้วยดินสิ้นโลกไทรโยคคลอน รักอาจถอนกลายเป็นอื่น
(ช) รักเดียวแน่วแน่

(ญ) มิแปรขมขื่น
(ช) สาบานต่อหน้า

(ญ) รักอย่าเป็นอื่น
(ช) มิยอมมีอื่น

(ญ) งั้นชื่นปรางได้
(พร้อม) ณ ร่มไทร สองดวงใจ ขอวอนสวาทให้ยั่งยืน เหมือนไทรที่ร่มรื่น ชื่นสุขเสมอเอย”

 

(หมายเหตุ การสะกดคำว่า “พรรณา” ที่ถูกต้องตามแบบของภาษาไทยคือ “พรรณนา” ออกเสียงว่า “พัน-นะ-นา” แปลว่า “กล่าวเป็นเรื่องเป็นราวอย่างละเอียดให้ผู้ฟังนึกเห็นเป็นภาพ”)

 

 

วิพล นาคพันธ์

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 440718เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท