454 อินเดียเก่งอีกแล้ว:ประชุมระหว่างประเทศเรื่องช้าง กลุ่ม E-8


ช้างเพื่อนที่แสนดีของมนุษย์

 

 

ช้าง ๆๆ ช้างๆ น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า....เพลงนี้คนไทยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างรู้จักและร้องได้ทุกคน เป็นเพลงพื้นบ้านที่แสดงถึงความใกล้ชิดของมนุษย์กับช้างซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้ ช้างเป็นเพื่อนกับมนุษย์มานานแสนนานตั้งแต่ในประวัติศาสตร์ยุคดึกดำบรรพ์ ในความเป็นเพื่อนนี้ มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากช้างอย่างคุ้มค่า ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยทุนแรง ก็เป็นช้างเพื่อนยากนี่ละที่คอยช่วยมนุษย์ด้วยแรงกายที่ใหญ่โต ทำงานสารพัดไม่ใช่เฉพาะลากซุงลากก้อนหินดังที่เราพบเห็นบ่อยๆ เท่านั้น แต่ช้างอยู่ในชีวิตประจำวันของสังคม ของประเทศชาติ ตั้งแต่สูงสุดคืออาณาจักรช้างเผือก ช้างมีฐานะคู่บ้านคู่เมือง มียศฐาบรรดาศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานตำแหน่งให้ ช้างช่วยทำสงครามกอบกู้บ้านกู้เมือง ช้างช่วยพิธีกรรมทางศาสนา ช่วยทำเกษตรกรรม รวมทั้งในยุคหลังช้างถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์พื้นบ้านและนำมาใช้งานเพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องนัก เช่นนำไปแสดงในละครสัตว์ นำไปเร่รอนแสดงตามเมืองเพื่อหาเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ช้างถูกทำลายความเป็นสัตว์ตามธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย

  

พลเมืองช้างในโลกนี้ในปัจจุบันน่าจะมีประมาณล้านเชือก   (* ตัวเลขช้างในโลกยากที่จะประมาณการเพราะลดลงอย่างรวดเร็วจากการถูกมนุษย์ล่า เช่นแอฟริกาทวีปเดียวเคยมีช้างมากกว่า 1.4 ล้านเชือก)       โดยแบ่งเป็นโซนๆ  แอฟริกามีมากที่สุดประมาณ 690,000 เชือก ในส่วนของเอเซียมีช้างประมาณ  60,000 เชือก     โดยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 2700 เชือก  และอยู่ในอินเดียจำนวน      36,000 เชือก         

ดัวยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์ช้างในโลก อินเดียได้ริเริ่มจัดประชุมระหว่างประเทศเรื่องช้างในระดับรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกที่เดลีในวันที่ 24 พค .2554 ที่ใช้ชื่อเก๋ไก๋ว่า Elephant-8 Ministerial Meet หรือ E-8 ซึ่งผมบังเอิญได้ไปร่วมในพิธีเปิดด้วย

ต้องขอชื่นชมนโยบายของอินเดียในเรื่องนี้ ที่มีความเป็นผู้นำและกล้าที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ทั้งของส่วนตัวและส่วนรวม มีการเชิญผู้แทนระดับสูงของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้าง จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ บอสวานา คองโก อินเดีย อินโดนีเซีย เคนยา ศรีลังกา แทนซาเนียและประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาดำเนินการอรุนักษ์ช้างในภูมิภาคของตนโดยการสร้างเครือข่ายร่วมมือในระดับสากล

นาย Shri Jairam Ramesh รัฐมนตรีของรัฐว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ได้กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นร่วมกันในความพยายามระดับสากลเพื่อสร้างความมั่นใจในอนาคตของช้างไม่เฉพาะในอินเดียแต่ใน 50 ประเทศที่มีช้างอาศัยอยู่ ช้างเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของหลายประเทศรวมทั้งอินเดียด้วย จึงมีความยินดีที่อินเดียได้มีบทบาทนำในการอนุรักษ์ช้างครั้งนี้

วาระที่สำคัญที่จะมีการพิจารณาได้แก่การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการปราบปรามการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฏหมายตลอดจนหาวิธีจะให้ที่คนกับช้างจะอยู่ร่วมกันพึ่งพากัน หาวิธีที่จะสำรวจและติดตามประชากรช้างในธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและโครงการในระยะยาวคือการสร้างจิตสำนึกให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับคุณค่าของช้าง และแน่นอนว่าอินเดียซึ่งเป็นเจ้าภาพมีวาระอยู่ในใจแล้วว่าจะผลักดันให้วงการช้างระหวางประเทศเดินไปทางใด ได้มีการเสนอให้มีการจัดงาน 50/50 ฟอรัมขึ้นในปี 2013 ที่เดลีเพื่อเป็นเวทีในการประสานงานบริหารจัดการช้างในระดับสากลในช่วงเวลา 50 ปีข้างหน้าใน 50 ประเทศทั่วโลก

สำหรับอินเดีย ซึ่งมีช้างมากถึงร้อยละ 50 ของจำนวนช้างในเอเชียทั้งหมดให้ความสำคัญกับช้างมากได้ประกาศโครงการรณรงค์เรื่องช้างมาตั้งแต่ 1992 สนับสนุนการจัดพื้นที่คุ้มครองช้าง พื้นที่หากินของช้างและการอยู่ร่วมกันของคนกับช้าง มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจช้างขึ้นมาชุดหนึ่งซึ่งได้จัดทำรายงาน ปี 2010 และเสนอให้มีการตั้งสำนักงานคุ้มครองช้างแห่งชาติ National Elephant Conservation Authority (NECA) เช่นเดียวกับกรณีของเสือซึ่งอินเดียประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์มาแล้ว มีการ ประกาศให้ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นมรดกแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าของอินเดียก็ได้รณรงค์โครงการ Haathi Mere Saathi หรือช้างเพื่อนของมนุษย์ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง ผู้สนใจไปชมเว็บไซด์ได้ที่ www.haathimeresaathi.org

 

ช้างอยู่ในวิถีชีวิตของคนอินเดียซึ่งนับถือฮินดูอย่างลึกซึ้งโดยช้างถูกยกฐานะให้เป็นเทพเจ้าองค์สำคัญองค์หนึ่งคือพระพิฆเนศร์  ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า คช  Gajah และในฮินดีคือ ฮาตี Haathi สำหรับคนอินเดียแล้ว ไม่ว่าจะประกอบพิธีใดๆ ในสังคม ก็ต้องมีเทพคเณชามีส่วนอยู่ด้วยทุกครั้งไป เด็กจะสอบก็บูชาคเณชา คนจะแต่งงานก็บูชาคเณชา คนจะเปิดธุรกิจหรือพิธีทางสังคมไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือการสัมมนาวิชาการ ก็จะบูชาคเณชา ฯลฯ แต่สิ่งที่คนศรัทธาและบูชาเทพเจ้าช้างอย่างสูงสุดนั้น คนกลับลืมช้างเป็นๆ ที่อยู่ตามป่าตามเขาหรือที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้ตามบ้านอย่างไม่มีระบบ ทำให้ช้างในฐานะเทพเจ้ากับช้างจริงๆไม่ค่อยจะมีสภาพเหมือนกันเลย  

 ในส่วนของประเทศไทย ผมได้พบกับผู้แทนจากกองคุ้มครองสัตว์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.รณฤทิธ์ มณีฉายและ ดร.มัทนา ศรีกระจ่างนักชีววิทยาอาวุโส สำนักงานคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทยมาร่วมประชุมด้วย ดร.มัทนาบอกว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ช้างเช่นกัน มีคณะกรรมการกำกับและดูแลช้างแห่งชาติ ขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกทั้งมีเอนจีโอและภาคเอกชนจำนวนมากที่เข้ามาร่วมในการดูแลอนุรักษ์ช้างไทย ถามถึงปัญหาเงินทุนก็ทราบว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ต้องบอกว่าไทยดูแลช้างได้ดีและดีมากกว่าหลายประเทศ ผู้สนใจไปดูข้อมูลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย http://www.thailandelephant.org/th/index.html

 ผมเห็นว่านโยบายของอินเดียในการจัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยช้างครั้งนี้น่าชื่นชมเพราะเป็นการไม่ลืมบุญคุณของช้างซึ่งเป็นสัตว์สำคัญของมนุษย์และธรรมชาติ และด้วยความที่อินเดียมีประชากรมากนับพันล้านและเพิ่มขึ้นทุกวัน การเพิ่มของประชากรมีส่วนกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของสัตว์ป่าเนื่องมาจากการขยายพื้นที่อาศัยและทำกินของประชาชน การถางและทำลายป่า หรือปลูกพืชทางเศรษฐกิจทำให้พื้นที่ดั่งเดิมซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าเช่นช้างและเสือถดถอยไปมาก จะเรียกว่าช้างถูกภัยคุกคามโดยคนก็ได้ นอกจากนั้นความเจริญต่างๆ ไม่ว่าถนนหนทาง รถไฟ รถยนต์ ล้วนเป็นภัยต่อช้าง และมีส่วนทำให้ช้างเสียชีวิตไปมาก จากอุบัติเหตุต่างๆ รวมทั้งปัญหาการลักลอบตัดงาช้างและนำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าเครื่องประดับ ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ช้างยังตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

ปัญหาสำคัญเหล่านี้ที่ทำให้อินเดียอยู่นิ่งเฉยไม่ได้จึงต้องหาทางบริหารจัดการประชากรช้างให้เป็นระบบ มีคุณภาพ อยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนและสอดคล้องกัน ไม่มีการทำลายป่าทำลายสัตว์ในป่า

อินเดียจึงเห็นว่าปัญหาเรื่องช้างไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของอินเดียเท่านั้นแต่เป็นปัญหาระดับสากลที่ทุกประเทศจะต้องร่วมกันซึ่งเป็นทีมาของการจัดประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก นับเป็นความคิดที่ดีมาก 

ในมุมมองของผม เห็นว่าการอนุรักษ์ช้างเป็นสิ่งที่ทุกประเทศในโลกที่มีช้างต้องให้ความสำคัญ ด้วยคุณค่าของช้างที่มีให้มนุษย์มาโดยตลอดตั้งแต่โบราณมาแล้ว โดยเฉพาะประเทศไทย ไม่ว่าจะยุคใด ช้างก็เป็นสิ่งที่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพยกย่องและบูชาของแผ่นดิน สยามถึงกับได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งช้างเผือกซึ่งแสดงถึงบารมีของพระมหากษัตริย์มาทุกยคุทุกสมัย ช้างได้ทำคุณและประโยชน์ต่อบ้านเมืองมามากมาย ลองนึกดูว่าถ้าเกิดวันหนึ่งมนุษย์ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยเช่นทุกวันนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุภัยธรรมชาติใดก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ เช่นที่เกิดที่ญี่ปุ่น เราก็ยังมีช้างให้ช่วยงานมนุษย์ได้เหมือนในอดีต ในอินเดีย ทัชมาฮัลที่ใหญ่โตสวยงามมีชื่อเสียงระดับโลกก็สร้างด้วยแรงงานและหยาดเหงื่อของช้างกว่า 3000 เชือก ยังไม่นับในอีกหลายประเทศที่มีปราสาทพระราชวังต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ ก็ล้วนมีช้างเป็นส่วนหนึ่งทั้งนั้น

มนุษย์เราคงต้องหันมามองช้างด้วยใจที่เมตตาและเป็นมิตรมากขึ้น และตระหนักว่าช้างก็คือเพื่อนที่ดีของมนุษย์ ช้างกับป่าเป็นของคู่กัน ตราบใดที่เราเห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเราได้อนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้น เราก็เท่ากับได้รักษาอนาคตของมนุษย์เราเองรวมทั้งให้กับลูกหลานด้วย มารักช้างกันเถิดครับ หยุดทำร้ายช้างเพียงเพื่อจะเอางามาขาย หยุดเอาเปรียบและนำช้างมาหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง

ทางที่ถูกช้างน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติเช่นเดียวกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ จึงน่าจะแต่งตั้งบรรจุช้างให้เป็นพนักงานของรัฐประจำป่าแต่ละแห่งซะเลย ถ้าใครดูเรื่องก้านกล้วย ก็จะทราบว่าช้างได้ยศเป็นเจ้าพระยาปราบหงสาวดีทีเดียว

ในความเห็นของผม ช้างนอกจากจะเป็นอะไรสารพัดดังที่กล่าวมาแล้ว ช้างก็สามารถเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เช่นในกรณีของอินเดียที่จัดการประชุมระหว่างประเทศครั้งนี้ ผมให้เครดิตอินเดียเต็มๆ อินเดียรู้จักการวางแผน แม้ในเรื่องช้างก็กำหนดทางเดินเอาไว้ล่วงหน้าถึง 50 ปี ประเทศไทยเองน่าจะเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนและในโลกได้ ในเรื่องการดูแล ควบคุมและอนุรักษ์ช้างและเราก็ควรริเริ่มโครงการต่างๆ ที่ได้ทำไว้ด้วยดีแล้วนั้น เผยแพร่ในวงกว้างทั้งในประเทศและในต่างประเทศเพื่อให้มีการต่อยอดองค์ความรู้  ให้ทั่วโลกได้รู้ว่าไทยเองก็ยังเป็นแผ่นดินแห่งช้างเผือกเช่นเดิมและถือเป็นประเทศเดียวในโลก (ไม่นับช้างที่เป็นเทพเจ้าในฮินดู) ที่ยกย่องช้างจริงๆ ให้มีศักดิ์มีศรีเทียบเท่ามนุษย์  มาถึงตรงนี้ ถ้าอินเดียเสนอจัดประชุมช้างระดับโลกในปี 2013 ได้ ไทยเองก็น่าจะจัดได้เหมือนกัน  สุรินทร์อาจจะได้มีโอกาสจัดงานประชุมระดับโลกในอนาคตก็เป็นได้ หากเรารู้จักหาโอกาสเป็น.....เช่นอินเดีย

 *ขอบคุณภาพประกอบจากอักชาดาร์หม*

หมายเลขบันทึก: 440714เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 02:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณพลเดชคะ

ขอขอบคุณสำหรับข้อความที่เกี่ยวกับช้าง น้าจ้าไม่รู้เป็นไร เห็นช้างทีไร เกิดความสงสารช้าง โดยเฉพาะเวลาดูดวงตาของเขา กับสัตว์อื่นก็จาไม่เป็นนะคะ.

แล้วตอนนี้ ทางเมืองไทยมีกฎหมายห้ามเอาช้างมาเดินขออาหารตามถนนแล้วยังคะ? ฝรั่งบางคนเห็นแล้วก็ตื่นเต้น แต่บางคนก็เกิดอาการสงสารช้างให้เงินกับคนเลี้ยงช้าง เห็นแล้วอยากเข้าไปห้าม แต่มองดูสายตาของช้างกับคนเลี้ยงช้าง น้าจ้าเลยอึ้งๆ ได้แต่สะเทือนใจ.

ตอนนี้น้าจ้ามีเวลาเลยได้เข้ามาอ่านข้อความดีๆ ขอให้ความปรารถนาหลังรีไทร์ของคุณเป็นความจริงนะคะ

น้าจ้าครับ

ตั้งแต่ผมได้ไปเยือนอัสสัมเมื่อ 2 ปีก่อนและได้สัมผัสกับช้างอัสสัมที่อุทยานแห่งชาติคาซิรังก้า ทำให้ยิ่งเพิ่มความผูกพันกับช้างครับ กอร์ปกับเราชาวพุทธก็บูชาพระพิฆเนศร์เป็นทุนอยู่แล้ว เวลาสร้างผลงานศิลปะ ก็มักจะมีดอกบัวหรือไม่ก็ช้าง(พระพิฆเนศร์)อยู่ด้วย เมื่อได้ไปรับรู้เรื่องราวของช้างในโลกนี้ ที่ประชากรช้างถูกภัยคุกคาม ไม่เฉพาะจากธรรมชาติแต่จากฝีมมือมนุษย์ด้วย ทำให้ผมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยกัน เข้าใจช้าง เห็นใจช้างและหากช่วยในส่วนที่เราทำอะไรได้ก็จะช่วยครับ

เรื่องช้างถูกนำมาหาเงินในเมืองยังเป็นปัญหาที่เห็นกันอยู่ครับ คงต้องหาวิธีช่วยกันหลายทาง ช่วยกันคิดว่าเป็นเพราะควาญช้างไม่มีเงินอย่างเดียวหรือทำให้ต้องเอาช้างมาหากินแบบนี้ ประเทศหรือรัฐบาลจะจัดสรรเงินทุนหรือตั้งกองทุนสำรองชีพสำหรับช้าง(และควาญช้าง)เหมือนคนบ้างจะได้ไหม

อินเดียถึงขนาดบอกที่ประชุมว่าตั้งใจว่าในอนาคตจะไม่ไห้มีช้างแม้ในสวนสัตว์ด้วย แต่จะหาที่อยู่ในธรรมชาติให้ช้างอยู่...ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าชื่นชม ช้างอยุ่ในธรรมชาติของเขาจะมีความสุขมากกว่าอยู่ในสวนสัตว์แน่นอน เช่นซาฟารีในแอฟริกา ก็เป็นตัวอย่างที่ดี

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท