เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองไทยเดิม ตอนที่ ๑


ผู้แต่งเพลงไทยสากลประเภทที่เชี่ยวชาญชำนาญดนตรีไทยหลายท่านที่ดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิมเป็นเพลงไทยสากล ท่านแต่งเพลงใหม่ของท่านแล้วตั้งชื่อเพลงให้มีถ้อยคำที่บ่งบอกว่าเกี่ยวข้องกับทำนองเพลงไทยเดิมเพลงอะไร ทำให้ผู้ฟังที่สนใจไปมากกว่าอรรถรสของเพลงได้มีความรู้ความเข้าใจไปด้วยถึงเพลงไทยเดิมอันเป็นที่มาของเพลงไทยสากลเพลงนั้นด้วย นับว่าเป็นคุณูปการแก่วงการดนตรีไทยมาก
 
ผู้แต่งเพลงทำนองไทยสากลไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกกรุงหรือลูกทุ่งก็ตาม ถ้าทำนองเพลงไทยสากลที่แต่งนั้นตรง หรือเหมือน หรือคล้ายคลึงกับทำนองเพลงไทยเดิม ก็อาจเกิดจากผู้แต่งนั้นรู้จักเพลงไทยเดิมดี จึงนำเอาทำนองเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงเป็นทำนองเพลงไทยสากลของตน จึงบอกที่มาได้ว่าเป็นทำนองเพลงไทยเดิมชื่ออะไร ตัวอย่างเช่นเพลงจดหมายจากแม่ที่ชลธี ธารทองแต่งให้เสรี รุ่งสว่างขับร้อง มาจากทำนองห่วงอาลัย

 

อีกกรณีหนึ่ง ผู้แต่งอาจไม่รู้จักเพลงไทยเดิมนั้นเลย แต่คุ้นเคยทำนองนั้นมาก่อน จึงแต่งตามทำนองนั้น โดยรู้หรือไม่รู้ก็ได้ว่าเป็นทำนองเพลงไทยเดิม ถ้ารู้ว่าเป็นเพลงไทยเดิมแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงไทยเดิมชื่อเพลงอะไร หรืออาจเกิดจากจินตนาการของผู้แต่งโดยนำเอาทำนองเพลงไทยเดิมหลายเพลงมาผสมผสานก็เป็นได้ จึงบอกไม่ได้ว่ามาจากเพลงอะไร ตัวอย่างเช่นเพลงเทพธิดาผ้าซิ่นที่ชลธี ธารทองแต่งให้เสรี รุ่งสว่างขับร้อง มีทั้งทำนองแสนคำนึง เขมรพวง ราชนิเกลิง (กลอนลิเก) ผสมปนเปกันไป

 

อย่างไรก็ดีผู้แต่งประเภทที่เชี่ยวชาญชำนาญดนตรีไทยหลายท่านที่ดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิมเป็นดนตรีสากล เช่น ครูสมาน กาญจนะผลิน สง่า อารัมภีร ธนิต ผลประเสริฐ พยงค์ มุกดา เป็นต้น ท่านแต่งเพลงใหม่ของท่านแล้วตั้งชื่อเพลงให้มีถ้อยคำที่บ่งบอกว่าเกี่ยวข้องกับทำนองเพลงไทยเดิมเพลงอะไร ทำให้ผู้ฟังที่สนใจไปมากกว่าอรรถรสของเพลงได้มีความรู้ความเข้าใจไปด้วยถึงเพลงไทยเดิมอันเป็นที่มาของเพลงไทยสากลเพลงนั้นด้วย นับว่าเป็นคุณูปการแก่วงการดนตรีไทยมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายุคหลัง ๆ ไม่นิยมตั้งชื่อเพลงเช่นนี้อีกเลย

 

การตั้งชื่อเพลงไทยสากลให้รู้ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเพลงไทยเดิมที่นำทำนองมา ทีแรก ๆ ก็ตั้งชื่อตรง ๆ เช่น เขมรปี่แก้ว เขมรละออองค์ คลื่นกระทบฝั่ง จันทร์โลม จำปาทองเทศ ดอกไม้เหนือ ทะเลบ้า ท่าน้ำ ธรณีกันแสง นกขมิ้น พม่าแทงกบ พม่ารำขวาน เพชรน้อย ภิรมย์สุรางค์ เส่เหลเมา ราตรีประดับดาว สาริกาแก้ว สาริกาชมเดือน สีนวล เป็นต้น หากตัดทอนทำนองหรือแปลงทำนองก็จะตั้งชื่อบอกให้รู้ว่าตัดทำนองหรือแปลงทำนอง เช่น ลาวราชบุรีแปลง ไทรโยคแปลง

 

กรณีถัดมาจะตัดเอาชื่อเดิมบางคำมาตั้งเป็นชื่อเพลงใหม่ให้กระชับแต่ยังคงรักษาเค้าชื่อของเพลงไทยเดิมไว้ เช่น กระแต (กระแตเล็ก) จำปาทอง (จำปาทองเทศ) ดวงเดือน (ลาวดวงเดือน) คำหอม (ลาวคำหอม) ดำเนินทราย (ลาวดำเนินทราย) เสี่ยงเทียน (ลาวเสี่ยงเทียน) เป็นต้น

 

ถัดมาซึ่งมีมากที่สุดคือเอาชื่อเพลงเดิมมาบางคำแล้วนำเอาคำใหม่มาผสมให้ตรงกับแนวคิด (Theme) ของเพลงที่แต่งใหม่ เช่น จับกระแต เชือดกระแต เขี้ยวกระแต (มาจากทำนองกระแตเล็ก) อุทยานรักไทรโยค รักใต้ร่มไทร (มาจากทำนองเขมรไทรโยค) พรพรหม พรหมบุปผา (มาจากแขกมอญบางขุนพรหม ๒ ชั้น) อารมณ์หวัง สิ้นหวัง (มาจากทำนองแขกอาหวังชั้นเดียว) เป็นต้น

 

ดังนั้น คอเพลงไทยสากลเมื่อรู้จักเพลงไทยสากลแล้วก็อาจสืบสาวไปรู้จักเพลงไทยเดิมเพิ่มขึ้นอีกด้วย ข้อนี้แหละที่เป็นคุณูปการแก่วงการเพลงไทยเดิมที่ทำให้มีคนรู้จักเพลงไทยเดิมเพิ่มขึ้นจากการเป็นแฟนเพลงลูกกรุงลูกทุ่ง

 

อย่างไรก็ดี อาจมีเพลงลูกกรุงลูกทุ่งบางเพลงที่ชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งควรบ่งบอกว่าทำนองดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิมเพลงใด แต่ข้อเท็จจริงทำนองมิได้มาจากเพลงไทยเดิมชื่อนั้น ๆ หรือคล้ายชื่อนั้น ๆ เช่น เพลงราตรีประดับดาวที่สุเทพ วงศ์กำแหงร้องคู่สวลี ผกาพันธ์ ทำนองมอญดูดาว ๒ ชั้น มิใช่ทำนองราตรีประดับดาว ๓ ชั้น (อาจอนุโลมว่าเป็นเพลงราตรีประดับดาว ๒ ชั้นได้กระมัง) เพลงหนุ่มเกี่ยวข้าวของเมืองมนต์ สมบัติเจริญ ทำนองเพลงเรือมิใช่เพลงเกี่ยวข้าว เป็นต้น

 

ในตอนต่อ ๆ ไปจะนำเสนอเพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองไทยเดิมเป็นทำนอง ๆ ไป ขอได้โปรดติดตามและช่วยแนะนำแสดงความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงให้ถูกต้องสมบูรณ์ จะขอบคุณมากครับ
 
วิพล นาคพันธ์
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔
หมายเลขบันทึก: 440528เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท