เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔


๒๓    พฤษภาคม   ๒๕๕๔

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันพุธที่ ๑๘  พฤษภาคม  ๒๕๕๔ เป็นวันเปิดเรียนวันแรกของปีการศึกษา ๒๕๕๔ สพฐ. แจ้งข้อความให้เขตติดตามว่าโรงเรียนได้ปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ทั้งในเรื่องแบบเรียน การมอบเงินค่าเสื้อผ้าเครื่องแบบนักเรียนให้ผู้ปกครอง ได้แต่มอบหมายให้เจ้าของเรื่องติดตามโดยการสุ่ม เพื่อรายงานเบื้องต้นไปยัง สพฐ. อยากออกเยี่ยมโรงเรียนแต่กลัวจะเป็นภาระให้กับเขามากกว่า เพราะเปิดวันแรกคงชุลมุนวุ่นวายไม่สะดวกที่จะต้อนรับแขก ที่สำคัญเราคงเป็นแขกที่ไร้มารยาทในสายตาเจ้าของบ้าน ประกอบกับต้องเดินทางไปจังหวัดนครนายกเพื่อเป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนของศึกษานิเทศก์ ที่วังยาวรีสอร์ทในเวลา ๑๐.๐๐ น.   ท่านรองฯประพฤทธิ์ บุญอำไพ เดินทางไปด้วย แต่วันนี้ไม่ได้พูดคุยอะไรมากนักเพราะเมื่อคืนปวดฟัน ต้องพึ่งยาแก้อักเสบและยาแก้ปวด พอทุเลาลงไปบ้าง ถึงวังยาวรีสอร์ทตามกำหนดเวลา ทราบว่าศึกษานิเทศก์มากันไม่ครบเพราะติดราชการที่อื่นหลายคน ประธาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก มาต้อนรับในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นปริญญาโทบริหารการศึกษา มศว ประสานมิตร เขามีบ้านอยู่ในรีสอร์ทนี้ ๑ หลัง ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ได้บรรยายพิเศษร่วมไปกับการกล่าวเปิด โดยนำนโยบายที่เพิ่งได้รับมาจากการประชุม ผอ.เขต ทั่วประเทศเมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มาเล่าให้ที่ประชุมฟัง เพราะเราก็อยู่ในอันดับที่ไม่ดีเลยในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อยากให้ช่วยกันพัฒนาวิชาชีพศึกษานิเทศก์ให้ครูพึ่งได้อย่างแท้จริง บรรยายจนเที่ยงจึงได้เปิดประชุม พักทานข้าวกลางวันแล้วเดินทางกลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ จนมาถึงสำนักงาน ลงชื่อในแฟ้มเอกสารหอบใหญ่จึงเดินทางกลับที่พัก  แวะหาซื้อยาแก้ปวดฟันเพิ่มเติม เพราะเวลาเกิดอาการกลางคืนสุดจะบรรยาย

วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พฤษภาคม  ๒๕๕๔  เช้ามืดได้รับทราบจากท่านสาคร อำภิน รองนายก อบจ.ปทุมธานี ว่าคุณแม่ของนายกชาญ พวงเพ็ชร เสียชีวิตเมื่อคืนด้วยโรคชรา จึงให้เลขานุการช่วยแจ้งผู้บริหารโรงเรียนทราบว่าจะมีพิธีรดน้ำศพที่วัดป่างิ้วในวันนี้เวลา ๑๖.๐๐ น. คนที่เคารพนับถือกันจะได้ไปร่วมพิธีให้เจ้าภาพได้อุ่นใจในยามสูญเสียบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิต เข้าที่ทำงานขึ้นห้องทำงานเอกสารไปจนเที่ยง ท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ชวนไปทานข้าวที่ลาดหลุมแก้ว มีคุณสุทธิพงศ์ สุขะ คุณมาลี โภชนาทาน เดินทางไปด้วย แผนการจะกินปลาแซมมอนต้องล้มเหลวเพราะร้านปิดปรับปรุง เลยต้องใช้บริการของร้านแปโภชนา มาร้านนี้หากเราเลือกรายการอาหารช้า เจ้าของร้านเขาก็จะบอกว่า คุณจะทานกี่อย่าง เขาจะจัดมาให้ตามความเหมาะสม เราก็ต้องยอมเพราะเชื่อในประสบการณ์  บ่ายทำงานจนเวลา ๑๕.๓๐ น. เดินทางไปรดน้ำศพคุณแม่ของนายกชาญ พวงเพ็ชร มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธี  

วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม  ๒๕๕๔  เช้ามีประชุมผู้บริหารโรงเรียนที่โรงแรมปทุมธานีเพลส ก่อนวาระการประชุมได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานการเลือกตั้งจังหวัดปทุมธานีมาบรรยายให้ฟังถึงกระบวนการเลือกตั้งและการสนับสนุนจากข้าราชการครูในการจัดการเลือกตั้ง  นายกชาญ พวงเพ็ชร ได้มายืนยัน MOU ที่ทำไว้กับเขตพื้นที่การศึกษาในการสนับสนุนครู อาคาร และสื่อการเรียนการสอน ได้นำข้อประชุมจากการประชุม ผอ.เขตทั่วประเทศที่ผ่านมา แจ้งให้ที่ประชุมทราบ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่อง เรื่องแรกการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องที่สอง นโยบายการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยากให้นำทฤษฎีพฤติกรรมทางการศึกษาตามทฤษฎีของ Benjamin S. Bloom มาใช้ในการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลการศึกษา   พฤติกรรมทางการศึกษา หมายถึง พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนภายหลังจากผ่านกระบวนการทางการศึกษาไปแล้ว ซึ่งจะระบุไว้ในจุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อให้ครูผู้สอนได้ตระหนักอยู่เสมอว่าจะสอนอะไร จะสอนไปทำไม สอนให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะออกมาในรูปใด ดังนั้น ในการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาครูจะต้องยึดพฤติกรรมทางการศึกษาเป็นหลัก ในวงการศึกษาปัจจุบัน นักการศึกษาต้องการที่จะประเมินผลการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเมินตามจุดประสงค์ที่สัมพันธ์กับการเรียนการสอน  จุดประสงค์ที่สำคัญของการเรียนการสอน คือ เพื่อให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์ พฤติกรรมเหล่านี้จำแนกและจัดลำดับออกเป็นหมวดหมู่และระดับตามความยากง่ายหมวดหมู่เหล่านี้เรียกว่า Taxonomy of Educational objectives แบ่งเป็น ๓ หมวดคือ
๑. พฤติกรรมพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
๒. พฤติกรรมจิตพิสัย (Affective Domain)
๓. พฤติกรรมทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)‏

๑. พฤติกรรมพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)พฤติกรรมพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หมายถึง การเรียนรู้ทางด้านความคิด ความรู้การแก้ปัญหา จัดเป็นพฤติกรรมทางด้านสมอง และสติปัญญา โดย Benjamin S. Bloom และคณะเป็นผู้คิดขึ้น แบ่งย่อย ๆ ออกเป็น ๖ ข้อย่อย ดังนี้
           ๑.๑ ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความสามารถในการที่จะจดจำ (Memorization) และระลึกได้ (Recall) เกี่ยวกับความรู้ที่ได้รับไปแล้ว อันได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่เจาะจงหรือเป็นหลักทั่ว ๆ ไป วิธีการ กระบวนการต่าง ๆ โครงสร้าง สภาพของสิ่งต่าง ๆ และสามารถถ่ายทอดออกมาโดยการพูด เขียน หรือกิริยาท่าทาง แบ่งประเภทตามลำดับความซับซ้อนจากน้อยไปหามาก
           ๑.๒ ความเข้าใจ (Comprehension) สามารถให้ความหมาย แปล สรุป หรือเขียนเนื้อหาที่กำหนดขึ้นใหม่ได้
          ๑.๓ การนำไปใช้ (Application) สามารถนำวัสดุ วิธีการ ทฤษฏี แนวคิด มาใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากที่ได้เรียนรู้มา
          ๑.๔ การวิเคราะห์ (Analysis) สามารถแยก จำแนก องค์ประกอบที่สลับซับซ้อนออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยต่าง ๆ
          ๑.๕ การสังเคราะห์ (Synthesis) หมายถึง ความสามารถในการรวบรวม หรือนำองค์ประกอบหรือส่วนต่าง ๆ เข้ามารวมกัน เพื่อให้เป็นภาพพจน์โดยสมบูรณ์ เป็นกระบวนการพิจารณาแต่ละส่วนย่อย ๆ แล้วจัดรวมกันเป็นหมวดหมู่ ให้เกิดเรื่องใหม่หรือสิ่งใหม่ สามารถสร้างหลักการกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่ออธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น สรุปเหตุผลตามหลักตรรกวิทยา การคิดสูตรสำหรับหาจำนวนที่เป็นอนุกรม
          ๑.๖ การประเมินค่า (Evaluation) สามารถตัดสิน ตีราคาคุณภาพของสิ่งต่าง ๆ โดยมีเกณฑ์หรือมาตรฐานเป็นเครื่องตัดสิน
๒. พฤติกรรมด้านจิตพิสัย (Affective Domain)‏พฤติกรรมด้านจิตพิสัย (Affective Domain) หมายถึง การเรียนรู้ทางด้านจิตใจที่แสดงออกมาในรูปของ ค่านิยม เจตคติ ความสนใจ ความซาบซึ้ง พฤติกรรมด้านนี้เริ่มจากการรับรู้สิ่งแวดล้อม และหลังจากนั้น บุคคลจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมีผลปรากฏออกมาจะนำไปสู่การสร้างความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งนั้น ในที่สุดจะกลายเป็น ความคิด อุดมคติ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมในชีวิตของบุคคลนั้น ๆ แครทโฮล ( Davis R. Krathwohl ) และคณะเป็นผู้คิดขึ้น พฤติกรรมนี้เริ่มเป็นขั้น ๆ ดังนี้    
           ๒.๑ การรับ (Receiving) ลำดับแรกนี้ คือความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่ปรากฏให้เห็นตามธรรมชาติและสิ่งเร้า นั่นคือ ความสมัครใจที่จะรับ หรือให้ความสนใจต่อธรรมชาติและสิ่งเร้า จุดประสงค์ (objective) โดยทั่ว ๆ ไปในขั้นนี้ก็คือ ให้นักเรียนมีพัฒนาการในการยอมรับ (อย่างใจกว้าง) ถึงความแตกต่างกันของสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา เช่น คน สิ่งของ ผลงาน ปรากฏการณ์      
           ๒.๒ การตอบสนอง (Responding) การตอบสนองนี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกซึ่งความสนใจต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง ในขั้นนี้ไม่เพียงแต่การรับรู้เท่านั้น แต่มีการกระทำซึ่งเป็นการสนองตอบ หรือความเต็มใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น นักเรียนสมัครใจที่จะอ่านนิตยสาร หรือ หนังสือพิมพ์ที่จัดขึ้นสำหรับเด็ก
           ๒.๓ การให้ค่านิยม (Valuing) พฤติกรรมในขั้นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการรู้สึกหรือสำนึกในคุณค่าและแสดงออกต่อปรากฏการณ์นั้นๆ จนกลายเป็นความเชื่อ เจตคติ และค่านิยมหรือคุณธรรม การที่บุคคลจะให้ค่านิยมอย่างไรนั้น สังเกตได้จากพฤติกรรมดังนี้
                ๒.๓.๑ การยอมรับในค่านิยม (Acceptance of a Value)
                ๒.๓.๒ การชื่นชอบในค่านิยมหนึ่งมากกว่าค่านิยมอื่น (Preference for a Value)
                ๒.๓.๓ การยึดมั่นในค่านิยมนั้น (Commitment)‏
        ๒.๔ การจัดรวบรวม (Organization) หมายถึง การรวบรวม การยอมรับในคุณค่าเพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เป็นเรื่องหรือระบบ หลังจากที่ได้ให้ค่านิยมอย่างกระจัดกระจายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ นั่นคือ การเห็นความสัมพันธ์ของค่านิยมเหล่านั้น และตัดสินว่าค่านิยมใดที่มีความสำคัญ มีบทบาทมากที่สุด กระบวนการนี้แยกเป็น ๒ ระดับ คือ
              ๒.๔.๑ การสร้างมโนทัศน์ของค่านิยม (Conceptualization of a Value)
              ๒.๔.๒ การจัดระบบค่านิยม (Organization of a Value System)‏
      ๒.๕ การพัฒนาลักษณะนิสัยจากค่านิยม (Characterization by a Value or Value Concept) พฤติกรรมในระดับนี้ หมายถึง การที่คุณค่า ความเชื่อ ความคิด ความรู้สึก ค่านิยม ตลอดจนเจตคติในตัวบุคคล ได้ถูกรวบรวมสะสมคุณค่าเหล่านั้นมาเป็นปรัชญา ทัศนะของบุคคล ความประพฤติ คุณสมบัติ หรือคุณลักษณะของแต่ละบุคคล พฤติกรรมระดับนี้เป็นผลของการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัย(Affective Domain) ที่สูงที่สุด แสดงออกได้ ๒ ทางคือ
              ๒.๕.๑ การมีหลักยึดในการตัดสินใจ หรือพิจารณาสิ่งต่าง ๆ (Generalized Set)
              ๒.๕.๒ การแสดงลักษณะและคุณสมบัติของแต่ละบุคคล (Characterization)

๓. พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับทักษะในการเคลื่อนไหว การใช้อวัยวะต่างๆของร่างกาย ตลอดจนการประสานงานของประสาทและกล้ามเนื้อ Bloomได้ แบ่งออกเป็น ๕ ขั้น ดังนี้
      ๓.๑ ขั้นการรับรู้ (Perception)
      ๓.๒ ขั้นการตระเตรียม (Set)
      ๓.๓ ขั้นฝึกหัด (Guide Response)
      ๓.๔ ขั้นทำได้ (Mechanism)
      ๓.๕ ขั้นชำนาญ (Complex Overt Response)‏

สำหรับปัญหาการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กนั้นอยากให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่อกระชับการทำงานให้กระฉับกระเฉงขึ้น โรงเรียนในสังกัดเขตเรามีนักเรียนมากกว่า ๔๐ คนทุกโรงเรียน จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องยุบเลิกแบบเร่งด่วน ความสำเร็จในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพมีความเป็นไปได้มากที่สุด เมื่อเวลานี้มันกลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้   เที่ยงทานข้าวที่โรงแรม บ่ายประชุมคณะกรรมการพิจารณาบุคคลเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด มีผู้สมัครเข้าโครงการประมาณ ๕๐ คน เรามีเงินที่จะบริหารจัดการได้ประมาณ ๓๘ คน ที่เหลือส่งรายชื่อเป็นตัวสำรองไป สพฐ. เกณฑ์พิจารณาเอาอายุตัวเป็นเกณฑ์อันดับหนึ่ง ปัญหาสุขภาพและความจำเป็นอื่นเป็นอันดับรองลงมา  เลิกงานไปเดินหาซื้อของใช้ที่ห้างเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์  

นิทานก่อนลาสัปดาห์นี้เป็นเรื่อง "ฮว่าเสอเทียนจู๋ : วาดงูเติมขา"  ในสมัยสงครามระหว่างแคว้น (จั้นกั๋ว) มีครอบครัวหนึ่งในรัฐฉู่ เมื่อทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษแล้วมักจะมอบสุราให้แก่ผู้ที่มาช่วยงานเป็นการตอบแทน ๑ ไห แต่ในความเป็นจริงแล้วสุรา ๑ ไห มีปริมาณน้อยเกินไป หากแบ่งให้ทุกคนดื่มต่างก็ดื่มได้ไม่เต็มที่ ไม่สู่ดื่มเพียงคนเดียว  ผู้ที่มาช่วยงานผู้หนึ่งจึงออกความเห็นว่า "เพื่อความเป็นธรรม เอาอย่างนี้ดีกว่า พวกเราวาดรูปงูแข่งกัน ใครเสร็จก่อนก็ได้สุราไหนั้นไป"  ทุกคนต่างเห็นด้วย จึงพากันวาดรูปงูลงบนพื้น สักพักมีคนผู้หนึ่งวาดเสร็จก่อน แต่เมื่อมองไปรอบ ๆ เห็นคนอื่นยังก้มหน้าก้มตาวาดกันอยู่ เขาจึงกระหยิ่มใจ และคิดว่าเพื่อเป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนวาดภาพเร็วมาก  หากวาดขาเติมลงไปในรูปงูของตนเองอีกสี่ข้างก็ยังทัน  คิดได้ดังนั้นจึงวาดต่อ แต่วาดไม่ทันเสร็จ มีคนอีกผู้หนึ่งวาดรูปงูเสร็จแล้วและเดินไปหยิบไหสุรามาถือไว้ก่อนใคร ทั้งยังเดินมากล่าวกับชายที่เติมขาให้งูว่า  "ท่านจะมัวเติมขาให้งูไปทำไม ในเมื่อความจริงงูไม่มีขา งูที่มีขาย่อมไม่ใช่งู" หลังจากกล่าวจบก็ดื่มสุราไหนั้นจนหมดเกลี้ยง  นั่นคือที่มาของสุภาษิต  "ฮว่าเสอเทียนจู๋" หรือ "วาดงูเติมขา"  ปัจจุบันใช้เพื่อเปรียบเทียบกับการทำสิ่งที่เกินจำเป็น เกินพอดี ไม่มีเหตุผล ซึ่งนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังเสียเวลา และอาจทำให้เรื่องราวเลวร้ายลงไปอีก

 กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

 

 


         

 

หมายเลขบันทึก: 440396เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันนี่้มีโอกาสได้มาอ่านเรื่องเล่าของท่านผอ.เขต ชอบนิทานมากค่ะทำให้คิดได้หลายแง่มุมและจะเก็บไปใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ

เปิดเทอมแล้ว เด็กๆสดใสทุกคน อยากให้เป็นอย่างนี้ตลอดไปค่ะ เป็นกำลังใจให้ท่านผอ.นะค่ะ

อ้นทีไรได้อะไรใหม่ ๆ ดีจริงมีแนวทางในการทำงานดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท