คำสอนพระอาจารย์ชา สุภัทฺโทกับแนวคิด LOKM


เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างแล้วค่อยทำ เพราะถ้ารอถึงตรงนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี

 

 

ท่านใดที่เคยเข้าไปเที่ยวที่วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี คงจะรู้สึกถึงความสงบร่มรื่น ชวนให้จิตใจเยือกเย็นนะครับ วัดแห่งนี้ก่อตั้งโดย พระโพธิญาณเถร หรือ พระอาจารย์ชา  สภัทฺโท พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามแนวทางของพระวัดป่าสายหลวงปู่มั่น แต่สังกัดทางมหานิกาย เป็นพระที่มีชื่อเสียงในการสั่งสอนลูกศิษย์จากคนทั่วโลก มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นพระเถรชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียง เช่น ท่านพระอาจารย์สุเมโธภิกขุ (พระ สุเมธาจารย์) ท่านพระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ  ท่านพระอาจารย์มิซุโอะ คเวสโก เป็นต้น ส่วนตัวผมเองเคยเข้าไปเที่ยวที่วัดนี้ประมาณ 2 -3 ครั้ง ครั้งล่าสุดที่ไปผมรู้สึกประทับใจเกี่ยวกับคำสอนของท่านพระอาจารย์ชา ที่เขียนไว้ตามต้นไม้อยู่ป้ายหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องความสำคัญของเรื่องทฤษฎีและปฏิบัติไว้ได้อย่างชัดเจน

 

 

จากป้ายคำสอนดังกล่าวทำให้ผมซาบซึ้งและมั่นใจกับคำว่า “ปัญญาปฏิบัติ” มากขึ้น จากแนวคิดของ LOKM (Learning Organization  & Knowledge Management) ที่ผมได้สัมผัสมาเราจะให้ความสำคัญกับการทำเป็นทำได้มากกว่าการ “รู้” การทำเป็นทำได้เป็นสิ่งเฉพาะตนในบริบทนั้นๆ (ปัจจัตตัง) ดังนั้นการที่จะดึง Tacit Knowledge ความเชี่ยวชาญส่วนตัวที่ฝังอยู่ในตัว จึงต้องดำเนินการผ่านการเล่าเรื่อง (Story Telling) ซึ่งเรื่องที่เล่าก็จะประกอบไปด้วยตัวละคร เหตุการณ์ สถานที่เวลา ที่เกี่ยวข้อง คนที่ฟังการเล่าเรื่องก็จะสามารถรับเอาเรื่องราวที่คนเล่า เล่าให้ฟังนำไปปฏิบัติต่อตามบริบทของตน ซึ่งอาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้ ขึ้นอยู่กับการสร้างความรู้ของคนคนนั้น เพราะผมเชื่อในแนวคิดที่ว่าการเรียนรู้ของคนไม่ได้เกิดจากการสอน แต่เกิดการสร้างความรู้ขึ้นมาเองตามจริตของคนนั้นๆ เพราะคนเรามีความแตกต่างกันมีวิธีการเรียนรู้ต่างกัน มีความชอบต่างกัน ผมจึงเห็นด้วยกับแนวคิดที่ อ. วรภัทร์  ภู่เจริญ ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ให้ความรักก่อนให้ความรู้” ว่าในอนาคตอาชีพครูจะหายไป เหลือแต่อาชีพคนสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ เพราะความรู้สามารถหาได้ทั่วไปเนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Seach Engine ทั้งหลาย อยากรู้อะไรก็เข้าไปหาที่ www.google.com

 


ภาพจาก http://thinkfact.blogspot.com/

 

ในหนังสือ 30 กึ๋นแห่งศตวรรษใหม่ ของคุณพงษ์  ผาวิจิตร ได้อธิบายไว้ว่า ในอนาคตสิ่งที่เป็นความรู้ (Literacy) จะเป็นสิ่งมีค่าน้อยลง เพราะสามารถหาได้ง่าย แต่คนที่ทำได้ทำเป็น (Skill) จะทำให้คนคนนั้นมูลค่ามากขึ้น และยิ่งกว่านั้นถ้าคนคนนั้นมีสมรรถนะ (Competency) ในการทำงานใดๆ ได้สูง ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีทางเลือกในการอยู่ในสังคมได้ดีกว่า ผมคิดว่าจึงน่าจะเริ่มจากการเริ่มทำในสิ่งเล็กๆ ก่อนจากความรู้ที่เรามีอยู่ อาจจะไม่มากก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างแล้วค่อยทำ เพราะถ้ารอถึงตรงนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี มีคนเคยกล่าวไว้ว่า เราควรจะเข้าไปอยู่ในองค์การ AFTA ดีกว่าNATO เพราะ AFTA คือ  Action First Talk After ส่วน NATO คือ No Action Talk Only ถึงแม้เรามีความรู้แค่ 20 % ของทฤษฎีนั้น ผมคิดว่ามันก็เพียงพอที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ ซึ่งผลงานที่ออกมาอาจจะเป็นผลงานใหม่ของเราเอง เป็นองค์ความรู้มือหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง และใช้เองตามบริบทของเรา ถึงตรงนี้เราก็ไม่ต้องห่วงเรื่องลิขสิทธิ์ผลงาน เพราะถึงแม้เขาลอกก็นำไปใช้ต่อไม่ได้ เพราะบริบทของเขาและของเราไม่เหมือนกัน หลังจากที่เราทำได้แล้ว เราก็พัฒนาผลงานของเราต่อให้ดีขึ้น ทำ Skill ของเราให้ดูง่ายขึ้น เหมือนจับวาง นั่นคือ Competency ของเราก็มีการพัฒนาขึ้นไปด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 439688เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท