ท่าเรือที่จะนะ...เมื่อโครงการพัฒนารุกรานและชาวบ้านขอสู้ตาย!


วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2010 เวลา 12:00 น. โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
 

  เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

กล่าวกันว่า อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งใน 4 อำเภอที่มีเขตติดต่อกับสามจังหวัดชายภาคใต้ และมีปัญหาความไม่สงบในระดับประปราย กำลังจะกลายเป็น “มาบตาพุด” แห่งใหม่ในแง่ของการเป็นเมืองที่ถูก “รุกราน” จากโครงการพัฒนาหลากหลายที่พร้อมใจกันทุ่มลงไปในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้

          ใครที่เคยติดตามข่าว “ม็อบท่อก๊าซ” หรือการชุมนุมต่อต้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซียเมื่อหลายปีก่อน คงจะทราบดีว่านี่คือโครงการระดับ “อภิ มหาโปรเจค” ที่เคยก่อปัญหาขัดแย้งมากมายใน อ.จะนะ ถึงขั้นเคยเกิดเหตุการณ์ “ตำรวจปะทะม็อบ” ที่กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา จนต้องฟ้องร้องถึงศาลปกครองกันมาแล้ว

          แต่นั่นเป็นเพียงโครงการเริ่มต้น เพราะปัจจุบันกำลังมีโครงการที่อาจจะเรียกว่าเป็น “ส่วนต่อขยาย” อย่างโรงไฟฟ้าจะนะ และกำลังจะมีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ อีกด้วย

 

วาดฝันพัฒนา

          ที่ ผ่านมา กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาถึงความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง มาอย่างต่อเนื่อง (ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2) และเคยจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นกันไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ก.ค.2552 ที่โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง โดยเฉพาะ “ชาวบ้านสวนกง” ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ

          “ท่าเรือน้ำลึกจะนะ” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.สงขลา โครงการนี้ผ่านการศึกษาและผลักดันมาหลายรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) วาดฝันเอาไว้ว่า ภาคใต้จะเป็นทางเลือกในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (การขนส่ง) ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยด้วยระบบคมนาคมที่ทันสมัยและได้ มาตรฐาน

          จังหวัดสงขลาถูกจัดให้อยู่ในโซนพัฒนาของกลุ่มจังหวัดชายแดน ประกอบด้วย สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยสภาพัฒน์วิเคราะห์ว่าพื้นที่นี้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ ประกอบด้วย สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ระบบรถ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เขื่อนบางลาง โรงแยกก๊าซจะนะ (475 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) โรงไฟฟ้าจะนะ (700 เม็กกะวัตต์) ศูนย์ธุรกิจการค้า (ที่ อ.หาดใหญ่) และมีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง

          แต่จุดด้อยที่สำคัญคือมีความเปราะบางด้านสังคม วัฒนธรรม และเหตุการณ์ความไม่สงบ

 

ความกังวลของชาวบ้าน

          การ ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะนะ เริ่มฉายแววแห่งปัญหาเมื่อปรากฏชัดเจนว่า ชาวบ้านสวนกงไม่ยอมรับ และไม่ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะหวั่นว่าจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินทำกิน และวิถีชีวิตดั้งเดิม

          นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ซึ่งร่วมรับรู้เรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มาเนิ่นนาน กล่าวว่า เดิม อ.จะนะมีแต่โรงแยกก๊าซ ต่อมามีโรงไฟฟ้า ตอนนี้จะมีท่าเรือน้ำลึกอีก เรียกว่าครบ “องค์สาม” สำหรับการรองรับอุตสาหกรรมหนักเหมือนมาบตาพุด จ.ระยอง ที่มีโรงงานหนาแน่น มลพิษมากจนไม่น่าสร้างเพิ่มได้อีกแล้ว เพราะไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ และแน่นอนว่าเมื่อมีท่าเรือก็ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมตามมา เป็นผลพวงที่ไม่สามารถหลีกหนีได้เลย

          สำหรับท่าทีของชาวบ้านตามที่ หมอสุภัทร บอกก็คือ แม้จะยังไม่ค่อยรายละเอียดของโครงการมากนัก คือมีข่าวแต่ไม่มีข้อมูลเบื้องลึก แต่ก็มีความไม่สบายใจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เช่น ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกจะนะกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา (จ.สตูล) แล้วจะเชื่อมต่อสองท่าเรือนี้ด้วยวิธีใด ต้องสร้างการขนส่งระบบราง มีถนนมอเตอร์เวย์หรือไม่ แล้วถนนจะไปทางไหน ตัดผ่านที่ดินของใคร ประมงพื้นบ้านคงหมด เรือจะเยอะจนปลาอยู่ไม่ได้ ลงทะเลลึกไปจับปลาก็ไม่ได้เพราะอุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยทำมาหากิน เหล่านี้เป็นความกังวลของชาวนาทับ

          นอกจากนั้น ด้านหนึ่งของ ต.นาทับ ยังเป็นพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทีพีไอ ประมาณ 2 พันกว่าไร่ เมื่อท่าเรือขึ้น ที่ดินตรงนั้นต้องถูกใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าสูงสุด อาจจะสร้างเป็นคลังสินค้าหรือโรงงาน

 

ความจริงที่สวนทาง

          “ถ้า คิดเฉพาะในแง่ของนักพัฒนา คิดแบบอุตสาหกรรม ไม่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นการลงทุนที่ต่ำ หากปิดปากคลองนาทับสัก 200 เมตรจะได้ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่นั่นจะทำให้ปลาหายไปจากคลอง เรือออกไม่ได้ นี่คือตัวอย่างของทิศทางการพัฒนาที่ไม่เอื้อต่อคนรากหญ้า ถ้าหากจะพัฒนาภาคใต้ให้เจริญ ผมว่าทิ้งปะการังเทียมให้เต็มพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่ง ปลาก็จะเพิ่มอีก 10 เท่า ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์ แต่ผู้ลงทุนหรือต่างชาติเสียประโยชน์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ระบุ

          ที่กล่าวมาเป็นหลักคิดที่สวนทางระหว่างการพัฒนาแบบ “อภิมหาโปรเจค” กับการพัฒนาแบบยั่งยืน รากหญ้าอยู่ได้ และหากเหลียวมองในมุมสุขภาพอนามัยของประชาชนบ้าง ก็จะพบหลักคิดที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงอีกเช่นกัน

          “ยกตัวอย่างที่มาบตาพุด ทุกโรงงานปล่อยควันพิษจากปล่องโรงงานไม่เกินมาตรฐานปากปล่องก็จริง แต่ปล่อยกันทุกโรง มาตรฐานในบรรยากาศก็ไม่เกิน เขาคิดว่าทำถูกต้อง ไม่เกินมาตรฐาน แต่ในทางสุขภาพ วิธีคิดแบบนี้ใช้ไม่ได้ เพราะคนเรามีสุขภาพไม่เท่ากัน มีทั้งคนแข็งแรงและไม่แข็งแรง แต่คนทั่วไปคือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คำว่าไม่เกินมาตรฐานอาจทำให้คนป่วยหรืออ่อนแอลงได้ ในทางการแพทย์คำว่า ‘มาตรฐาน’ ไม่มีค่ามาก ไม่ได้บอกว่าไม่ทำให้คนป่วย แต่อุตสาหกรรมจะยึดเป็นสรณะ” นพ.สุภัทร กล่าว 

          สิ่งที่น่ากลัวของอุตสาหกรรมในภาพที่ นพ.สุภัทร เป็นเป็นห่วงก็คือ การพัฒนาที่ต้องเอาสุขภาพของคนเป็นตัวตั้ง ซึ่งแม้การดำเนินโครงการจะพยายามบอกว่ามีการกำหนดมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงค่ามาตรฐานการควบคุมของประเทศไทยต่ำกว่าต่างประเทศ และสุขภาพของคนจะกำหนดโดยค่ามาตรฐานไม่ได้ เพราะความแข็งแรงของร่างกายมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน การได้รับมลพิษแล้วมีผลต่อร่างกายแต่ละคนจึงแตกต่างกัน

          “ที่สำคัญคือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สะอาด การที่ชาวบ้านได้รับสารพิษระดับต่ำสะสมเป็นเวลานานๆ เป็นปัญหาทางการแพทย์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ คือบอกได้แค่ว่าเป็นโรคอะไร แต่สรุปสาเหตุไม่ได้ เพราะว่าในชีวิตประจำวันอาจมีสาเหตุอื่นได้ นอกจากโรคที่สามารถพิสูจน์ได้จริงๆ หรือต้องเอาเนื้อเยื่อไปผ่าพิสูจน์ อย่างก๊าซบางอย่างที่ไม่มีกลิ่น สูดเข้าไปทุกวันในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน แต่หลายปีเข้าก็ลำบาก เป็นกรอบคิดสำคัญทางสุขภาพ และชาวบ้านไม่มีทางเลือก เมื่อไปขึ้นศาลชาวบ้านก็แพ้”

          “ผลที่ได้รับ กับผลกระทบเป็นคนละเรื่องกัน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ รายรับของประเทศอาจจะมากขึ้น เก็บภาษีได้มาก แต่ชาวบ้านเป็นได้แค่แรงงานในพื้นที่ เกิดผลกระทบในวงกว้างมากกว่า การทำมาหากินแบบเดิมทำได้ยากลำบาก ตอนนี้ชาวบ้านแถวตลิ่งชัน สะกอม (ตำบลริมทะเลใน อ.จะนะ จุดที่ใกล้กับโรงแยกก๊าซ) บอกว่าจับปลาได้น้อยลง ปลูกแตงโมก็ได้ผลไม่ดี เลี้ยงวัวก็ตาย การสูบเอาน้ำคลองไปใช้ทำให้น้ำใต้ดินลดลง สันทรายชายทะเลจะเป็นตัวกั้นน้ำจืดกับน้ำเค็ม ถ้าไปขุดทรายในสันทราย น้ำเค็มก็จะรุกเข้ามาในแผ่นดิน ทำให้ดินเค็ม เป็นโจทย์ใหญ่ทำให้น้ำจืดในชุมชนลดลง เกษตรกรทำการเกษตรลำบาก”

          แม้จะมองเห็นอนาคตในระดับวิถีชุมชนล่มสลาย แต่หมอสุภัทร ก็คาดการณ์ว่า ยากที่ชาวจะนะจะหนีโครงการพัฒนาครั้งนี้ได้พ้น

          “เพราะที่ระยองเต็มแล้ว นักอุตสาหกรรมต้องหาที่ใหม่ โรงแยกก๊าซที่ขนอม (จ.นครศรีธรรมราช) ก็กำลังจะหมดระวางในอีกไม่กี่ปี บุคลากรก็ต้องย้ายที่ทำงาน ถึงอย่างไรรัฐบาลก็คงสร้างแน่นอน วิธีคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ใช่วิธีคิดของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง แต่เป็นนโยบายชาติที่ถูกสถาปนาวิธีคิดนี้ตั้งแต่สมัยผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม และกลายเป็นวิธีคิดมาตรฐาน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องทำกันต่อไป โดยมีสภาพัฒน์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผลักดันอยู่”

          “ในทางวิชาการแล้ว ภาคใต้เหมาะกับอุตสาหกรรม มีลม มีฝน ติดทะเล ขนส่งทางทะเลสะดวก อีก 10 ปี อ.จะนะจะมีสภาพใกล้เคียงกับมาบตาพุด มีโรงแยกก๊าซ 2 โรง โรงไฟฟ้า 1 โรงและท่าเรือน้ำลึก อีก 2-3 ปีนิคมอุตสาหกรรมก็จะมาลง เพราะเมื่อเครื่องจักรเดินแล้วจะหยุดไม่ได้”

          แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่ นพ.สุภัทร ฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือ ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วยข้อมูลที่เป็นจริง

          “ที่ผ่านมาชาวสวนกงเขาอยู่กันได้แบบไม่ยากจนหรือขัดสนด้วยการทำประมงพื้น บ้าน เมื่อท่าเรือมา มีเรือใหญ่เข้าออกทุกวัน รถวิ่งตลอด เสียงดัง ไฟสว่างทั้งกลางวันกลางคืน ปลาก็หายหมด เขาก็หมดอาชีพ เปลี่ยนจากชาวประมงผู้ทระนงมาเป็นลูกจ้างโรงงาน ตั้งแต่มีข่าวมายังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ให้เห็นภาพรวมของทั้งสงขลาและสตูล ฉะนั้นต้องทำแผนรวมก่อน อย่าหลอกลวงชาวบ้าน สิ่งที่หน่วยงานรัฐทำอยู่ในปัจจุบันเป็นการประชาสัมพันธ์มากกว่าการให้ ข้อมูล เพราะกลัวว่าเมื่อชาวบ้านทราบข้อมูลจะคัดค้าน การให้ข้อมูลจริงจะทำให้การคัดค้านไม่เรื้อรัง หากชาวบ้านไม่เอาก็ต้องเปลี่ยนที่ ปัญหาที่มีอยู่ขณะนี้คือความไม่ไว้วางใจต่อกัน รัฐจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างโปร่งใสจึงจะสามารถตอบคำถามชาวบ้านได้” นพ.สุภัทร กล่าว

 

ชุมชนร้อยปีจะสูญสลาย

          นายดนรอนี ระหมันหยะ ชาวบ้านสวนกง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สะท้อนความรู้สึกของ “คนพื้นที่” ให้ฟังว่า เป็นเวลานับร้อยปีที่ชาวบ้านสวนกงซึ่งเป็นหมู่บ้านมุสลิมอาศัยและทำมาหากิน อยู่ที่นี่ ไม่เคยเดือดร้อนและยังอยากอยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่ต้องการการพัฒนาที่มาทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

          “เราอยากอยู่กันเหมือนเดิม ทำมาหากินแบบพอเพียง เลี้ยงดูครอบครัวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้หรือธนาคารเหมือนคนในเมืองที่มี บ้านหลังใหญ่แต่ไม่มีความสุข คนที่นี่ไม่ต้องการการพัฒนา เพราะการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง มีเวทีอะไรชาวบ้านก็ไม่อยากฟัง เพราะเขาใช้แผนซ้อนแผน ให้ชาวบ้านไปลงทะเบียนเข้าประชุม แต่เหมาว่าชาวบ้านให้ความยินยอมและเห็นด้วยที่จะให้สร้างท่าเรือ ความจริงไม่ใช่ พวกเราแค่เข้าไปฟังการประชุม การสัมมนาระดมความเห็นเมื่อปีที่แล้วก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ มีคำถามว่าคิดจะพัฒนาแต่คิดถึงชาวบ้านแค่ไหน ทางบริษัทที่ปรึกษาก็ตอบไม่ได้ แล้วเขาก็ปิดประชุม ไม่ต้องมาพูดเรื่องค่าชดเชยกับเรา เพราะเราไม่เอา เราต้องการวิถีชุมชนแบบนี้ ทำได้หลากหลายอาชีพ ได้เงินทุกวัน ขายกุ้ง หอย ปู ปลาในตลาด เรื่องว่างงานไม่เคยมี ทุกคนขยันทำมาหากิน”

          ดนรอนี บอกว่า ชายหาดที่สวนกงเป็นชายหาดผืนสุดท้ายของ อ.จะนะ และแตกต่างจากชายหาดอื่นที่ตลิ่งจะสูง เรือเล็กไม่สามารถเข้ามาจอดได้ ที่นี่ยังจอดเรือได้ถึงฝั่ง บรรพบุรุษของเรามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่เป็นร้อยปี สามสี่ชั่วอายุคนแล้ว

          “ปู่ย่าของเราเลือกทำเลที่นี่เพราะความอุดมสมบูรณ์ทั้งการทำมาหากินและที่ อยู่อาศัย เราไม่เคยเดือดร้อน มีกินมีใช้กันตลอดปีและตลอดมา กุโบร์ (สุสานฝังศพ) ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน บรรพบุรุษนอนดูเราอยู่ หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงๆ ชาวบ้านสวนกงและบ้านนาเสมียนต้องอพยพอย่างแน่นอน ทั้งที่อาศัยอยู่กันมาเป็นร้อยปี ถามว่าจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ไหน เพราะนอกจากท่าเทียบเรือน้ำลึกแล้ว นายกรัฐมนตรีพูดชัดว่าต้องมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่คุ้มกับการลงทุนก่อสร้าง”

          “เราชาวสวนกงและพี่น้องหมู่บ้านต่างๆ ใน อ.จะนะ ไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรมและไม่อยากเจอปัญหามลพิษแบบมาบตาพุด โดยเฉพาะที่มีสารเคมีรั่วไหลที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นตัวอย่างผลกระทบทางมลพิษและความไม่ปลอดภัยของท่าเรือที่เห็นอย่างชัดเจน เราไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นที่สงขลาบ้านเรา กับลูกหลานของเรา”

          อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวสวนกงรู้สึกไม่ดี ก็คือความไม่จริงใจของภาครัฐ

          “เรื่องนี้เห็นชัด เพราะตลอดมาตั้งแต่มีโครงการ แทบจะไม่มีการลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลให้ชาวบ้านในชุมชนได้รู้และร่วมตัดสินใจ เลย จู่ๆ ชาวบ้านก็มารู้ว่าจะมีท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมกับท่าเทียบ เรือน้ำลึกฝั่งสตูล มีโครงการต่อเนื่องทั้งรถไฟรางคู่ ถนน โครงการข่ายท่อน้ำมันและคลังน้ำมันขนาดใหญ่ โครงการเหล่านี้จะพลิกวิถีชีวิตของคนสงขลาทั้งหมดให้เปลี่ยนแปลง” ดนรอนี กล่าว พร้อมตั้งคำถาม

          “หากโครงการเสร็จแล้ว คนจะนะจะไปอยู่ที่ไหน ชายหาดที่เต่าเคยขึ้นมาวางไข่ก็จะไม่มี ที่สำคัญแม้แต่เอกสารการศึกษาโครงการก็ยังบิดเบือน เพราะอ้างว่าบริเวณบ้านสวนกงไม่มีสัตว์น้ำหายากประเภทปลาโลมา แต่ข้อเท็จจริงคือบริเวณนี้มีปลาโลมาเข้ามาอยู่เสมอ ชาวบ้านโดยเฉพาะชาวประมงพบเห็นอยู่บ่อยๆ ทำให้เห็นว่าทีมศึกษาโครงการยังรายงานข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อ ให้สังคมข้างนอกเห็นว่าที่ ต.นาทับไม่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ จึงนำมาสู่การเลือกพื้นที่บริเวณนี้ในการก่อสร้างโครงการ ขอย้ำอีกครั้งว่าชาวบ้านไม่ต้องการ อยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนจริงๆ ไม่ใช่มีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แต่ยังมาพูดเอาใจ”

 

ชาวบ้านขอสู้ตาย!

          อิหม่ามหมัด ระหมันยะ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านสวนกง กล่าวว่า ชาวบ้านสวนกงมีความวิตกกับผลกระทบ หากท่าเรือขึ้นที่สวนกงชาวบ้านจะสูญเสียที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย อาชีพเกษตรกรรม และประมงชายฝั่งทะเล

          “ทางโครงการอ้างว่าที่ดินของชาวบ้านเป็นที่สาธารณประโยชน์ การชดเชยจะจ่ายเฉพาะค่าอาสินเท่านั้น และการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 3 ปี ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบระยะยาว ที่ผ่านมาการรับฟังความคิดเห็นมีความพยายามให้ชาวบ้านเซ็นชื่อ แต่ไม่ให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยกับชาวบ้าน”

          “เราดำรงชีพด้วยการทำประมง เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางกันอย่างพอเพียงในที่ดินแห่งนี้ โดยที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือบางส่วน ในทะเลมีกุ้ง หอย ปู ปลา ปะการัง และธรรมชาติที่สวยงาม เราทำมาหากินได้ตลอด เราอยากอยู่ในวิถีเดิมที่มีความสุข ชาวบ้านทุกคนบอกว่าใครจะให้เงินคนละล้านก็ไม่เอา ไม่ต้องพูดถึงตัวเงิน เราอยากได้เอกสารสิทธิ์ที่ดิน บรรพบุรุษเราฝังอยู่ที่นี่ จะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน เราเห็นตัวอย่างของมาบตาพุดแล้ว เป็นความจริงที่น่ากลัว เป็นโครงการที่เกิดแล้วชาวบ้านเดือดร้อนด้วยสารพิษที่มาในรูปแบบต่างๆ”

          “เราไม่ยอมรับโครงการท่าเรือน้ำลึกและไม่ยอมรับกระบวนการจัดเวทีรับฟังความ คิดเห็น เนื่องจากไม่เปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม หน่วยงานราชการเชิญเฉพะผู้นำที่เห็นชอบกับโครงการโดยไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการเข้าไปแสดงความคิดเห็นเลย เราต้องการบอกว่า ‘คุณเอา เราไม่เอา’ เราไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึก อย่ามาทุบหม้อข้าวของเรา”

          อิหม่ามหมัด บอกด้วยว่า ชาวบ้านขอสู้ตายทุกรูปแบบ ถ้าไม่อยากให้ชาวบ้านเป็นโจร โครงการก็ไม่ต้องขึ้น เพราะทุกอย่างจะต้องพัง ถ้าชาวบ้านสู้ไม่ได้ก็เป็นเรื่องของอัลลอฮฺ

          “เจ้าหน้าที่ไม่เคยเข้ามาพูดกับพวกเราในพื้นที่ เวทีใหญ่ก็ไม่มีสิทธิ์พูด ทั้งยั้งบอกว่าภายใน 3 ปีห้ามเข้าไปในเขตก่อสร้าง ถ้าเข้าไปจะไม่รับผิดชอบ หากโครงการนี้เกิดไม่ใช่กระทบเฉพาะกับชาวสวนกงเท่านั้น แต่จะกระทบเป็นวงกว้างกับคนสงขลาทั้งจังหวัด นิคมอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุดจะย้ายมาที่จะนะ ความเป็นจริงโครงการท่าเรือน้ำลึกต้องหยุดไว้ก่อน เพราะส่งผลกระทบมาก เหมือนที่ศาลปกครองสั่งให้หยุดโรงงานที่มาบตาพุด”

          “ขณะนี้ไม่ใช่แค่ท่าเรือน้ำลึกที่จะสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านในจะนะ แต่ยังมีเรื่องของโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นที่จะตามมาเป็นขบวนในอนาคต ชาวบ้านจะต่อสู้เพราะไม่ต้องการให้มีอุตสาหกรรมในพื้นที่ แม้ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีไหนที่ชาวบ้านต่อต้านแล้วได้รับชัยชนะเลยก็ตาม เพราะทุกอย่างถูกรัฐวางหมากไว้หมด แต่ชาวบ้านที่นี่ก็จะสู้ต่อไป” อิหม่ามหมัด กล่าว

          ผลของการเดินเครื่องโครงการพัฒนาโดยไม่ยอมฟังเสียงชาวบ้านเป็นเช่นไร ที่มาบตาพุดและอีกหลายๆ โครงการในประเทศนี้คงได้พิสูจน์แล้ว...อย่าให้ชะตากรรมแบบนั้นมาทำร้ายชาว บ้านสวนกงอีกเลย

 

---------------------------------------------------------------

บรรยายภาพ :

1 ป้ายประท้วงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

2 วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน

3 กุโบร์กลางหมู่บ้าน

4 อิหม่ามหมัด ระหมันยะ

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 439359เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2011 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท