โคราชมิติใหม่ : งานช่องปากเชิงรุกใน รพ.สต.


ทีมวิทยากรและวิทยากรกระบวนการ จะเดินทางออกจากโคราชได้ไหมหนอ? หลังสรุปกระบวนการเรียนรู้แล้ว ผู้เข้าประชุมบอกว่า จะลดพื้นที่งานในมือของเราลง

 

  
 
 
แม้จะปิดโครงการพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ปี 2552 - 2553 ไปแล้ว  แต่ความสัมพันธ์แบบเครือข่ายพี่น้องทันตะในภาคอิสานและส่วนกลางยังไม่จางหาย  ยิ่งกระชับแน่นและมีความสุขในการพบเจอพูดคุย  มีเหตุให้ชวนกันทำงานต่อ  เพราะพี่ตา  ทพญ.ศิริรัตน์  รัศมีโสรัจ  แห่ง สสจ.นครราชสีมา  ให้โจทย์มาทางพี่สุรัตน์ (สำนักทันตฯ) พี่ฝน (หนองบัวลำภู) จึงชวนอ้อ (สระใคร) และพี่จิน (จอมพระ) มาช่วยกันจุดประกาย  เชื่อมโยงสิ่งที่มีคุณค่าอยู่แล้ว  ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใน 9 อำเภอรุ่นแรกของโคราช  มีความสุขในการทำงานทันตสาธารณสุข "เชิงรุก" อย่างมั่นใจว่าจะไปถูกทาง

ช่วยกันกำหนดกติกา  การอยู่ร่วมกัน  3  วัน  ต่อด้วยกิจกรมตะกร้า  3  ใบ  วาดภาพตะกร้าในสมุด  หน้าละ  1  ใบใบที่  1  บอกเล่าตัวตนความเป็นเรา  จับคู่บอกเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  ใบที่  2  บอกความคาดหวัง  ใบที่  3  ใช้บรรจุเพื่อนใหม่อีก  3  คน  โดยใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง
อิ่มหนำสำราญ  แล้วก็ผ่อนพักตระหนักรู้  45  นาที  ยังไม่ยอมตื่นดี  มีการเรียนรู้จากฐานกาย  ง่าย ๆ ด้วยถ่ายภาพเป็นดาราทีวี  แล้วก็เกิดปรากฏการณ์  ดาราย้ายช่อง  วิ่งขาขวิด  สักพักคำสั่งเปลี่ยนเป็นทีวีเปลี่ยนช่อง  หรือไม่ก็แตกกระจาย  ทุกคนวิ่งอุตลุตทั่วห้อง...ตื่นจริง ๆ ทั้งตัวและหัวใจ
เบิกบานพร้อมจะเรียนรู้  ภารกิจที่มอบหมาย คือ การข้ามแม่น้ำพิษ  โดยสมาชิกในกลุ่มไม่แยกจากกัน  จนกว่าคนสุดท้ายจะถึงฝั่ง  ระหว่างข้ามถ้าอวัยวะใดจุ่มน้ำจะพิการ  ใช้งานอีกไม่ได้  ให้ข้ามโดยใช้ก้อนหิน  ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนคนในกลุ่ม  แถมต้องระวังจระเข้จะคาบก้อนหินหนีไปอีก  เมื่อไม่มีคำถามแล้ว  เชิญวางแผนก่อนได้
บรรยากาศที่แตกต่างในช่วงวางแผน  ของกลุ่ม 1 และ 2  แล้วก็มีการลองผิดลองถูก  ซักซ้อมจนพร้อม  จึงลงมือทำ
ผ่านไปกว่าชั่วโมง  จระเข้แย่งก้อนหินจนเหนื่อย  ยังทำอะไรพลังกลุ่มไม่ได้  ความสนิทแน่นแฟ้น  กอดเป็นกอด  เหยียบเท้าเหยียบจริง  อดทน  อดกลั้น  ทั้ง...กลิ่นและความเมื่อย  กลมเกลียวก่อเกิดสามัคคี  มีเพื่อนให้กำลังใจเป็นระยะ สู้ ๆ จะถึงแล้ว ๆ  ที่เขียนนี้แค่ส่วนเสี้ยวเท่านั้น  ที่เกิดขึ้นเองในตัวผู้เล่น...ไม่เล่นเอง  ไม่รู้หรอก

แล้วความปลื้มปิติในความสำเร็จก็เกิดขึ้นจนได้  แม้บางครั้งอาจต้องผ่านความล้มเหลวมาก่อน  ขอเพียงให้อภัย...พร้อมจะปรับวิธีการ  รวมพลังกันอีกครั้ง

ภาคค่ำ  กิจกรรมสายธารชีวิต  โดยพี่จินจัดบรรยากาศ  ให้วาดภาพตั้งแต่วัยเด็ก  วัยรุ่น  จนปัจจุบัน  แต่ละคนมีชีวิตที่ไหลเอี่อยเหมือนสายน้ำ  กระทบโขดหินขรุขระ  ริมฝั่งราบเรียบหรือสูงชัน  ผ่านขวากหนามอะไรมาบ้าง  ดื่มด่ำเรื่องราวของตนเอง  กระทบกระเทือน  ลึกซึ้งเข้าไปในใจกับเรื่องราวของเพื่อน  จนสองทุ่มกว่า  ไม่ยอมเลิกรา....ทีมวิทยากรไปนอนก่อนละกัน  พรุ่งนี้จะได้สดใส  พร้อมรับเรื่องราวใหม่ ๆ  สดชื่นตลอดวัน
หมายเลขบันทึก: 439356เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2011 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

วันที่  10  พฤษภาคม 2554

ตื่นเช้ามาตามนัดหมาย 06.30  พี่ฝนนำทำโยคะ  ได้ออกกำลังกาย  ออกกำลังใจให้แข็งแรง  หลังอาหารเช้าจึงเข้ากลุ่มใหญ่ทั้งหมด  สงบนิ่งอยู่กับตัวเอง  ทบทวนวันวาน

 

เริ่มกิจกรรม World cafe  งานเชิงรุกใน รพ.สต. เป็นอย่างไร  งานสุขภาพช่องปากเชิงรุก  ตามความรู้ความเข้าใจของเรา  เป็นอย่างไร  หลังย้ายบ้าน  3  รอบ  ตัวแทนสมาชิกบ้านหลังสุดท้าย  เป็นผู้นำเสนอ

พี่ฝน วรางคณา  อินทโลหิต  สสจ.หนองบัวลำภู  จับประเด็น  สรุปเป็น Mindmap  พี่สุรัตน์  มงคลชัยอรัญญา  สำนักทันตสาธารณสุข  ให้ความรู้  ความคิดเห็น  แนวคิด  หลักการ  งานเชิงรุกใน รพ.สต.  กระจ่างสว่างเพิ่มเติม

ภาพรวม

ภาคบ่าย หลังผ่อนพักตระหนักรู้  4  อำเภอที่เตรียมเรื่องเล่ามานำเสนอในตลาดนัดวิชาการ  ซึ่งเปิด  2  รอบ  เพื่อให้ "ผู้ให้" ได้มีโอกาสออกไปชอปปิ้งความรู้จากที่อื่น ๆ ด้วย

อำเภอโชคชัย  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

อำเภอจักราช  อำเภอห้วยแถลง

วันนี้  ใช้การเรียนรู้ด้วยฐานหัว (คิด) มากมาย  ยังไม่สรุป  ให้กลับไปย่อย  ตกผลึกทางความคิด  ผ่อนคลายตามสบาย

 

 

 

สรุปกระบวนการเรียนรู้วันที่ 3 โคราช

11  พฤษภาคม  2554

          พี่ฝน  ทพญ.วรางคณา  อินทโลหิต  สสจ.หนองบัวลำภู  พาทำโยคะแต่เช้า  อาหารเช้าเรียบร้อย  ระฆังแห่งสติ  กลับมาอยู่กับตัวเอง  ล้อมวงทบทวนวันวาน  มีคนบอกว่าสนุกดี  มีแต่เล่น  เหมือนไม่ได้มาอบรม  จึงจัดให้เล็กน้อยโดยพี่จอนสัน  พิมพิสาร  ทันตแพทย์หนุ่มใหญ่  ศิลปินเจ้าบทเจ้ากลอน  แห่งโรงพยาบาลโชคชัย  ถอดประสบการณ์ออกมาเป็นบทเรียน  “ทันตบุคลากรกับงานสร้างสุขภาพ”  ซึ่งอยู่ที่ไหนก็สร้างได้  ในคลินิก  ครอบครัว  หรือในชุมชน  ได้หลักคิดที่น่าสนใจ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  ต้องมีการเสริมพลังอำนาจของชุมชน (Community empowerment) ซึ่งเป็นกระบวนการกระทำทางสังคมในแต่ละบุคคล  และการทำงานของกลุ่ม  การเสริมสร้างพลังอำนาจจะช่วยให้บุคคลเพิ่มความสามารถในการกระทำ  เพื่อให้ชีวิตของเขามีคุณค่ามากขึ้น  สถานการณ์ดีขึ้น 

 

พี่จอนสันเตรียมพร้อมมาดีมาก  บอกเล่าประสบการณ์ไม่ปิดบัง  เปิดใจรับฟัง  รับรู้สภาพแวดล้อม  เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว  พร้อมจะรับและเป็นผู้ให้  พัฒนาต่อไปไม่หยุดนิ่ง  มีชีทแจกด้วยนะ....ใครไม่มา  เสียดายจัง 

 

อีกหนึ่งคุณพี่ที่เตรียมตัวมาดีเช่นกัน  พี่สุรัตน์  มงคลชัยอรัญญา  สำนักทันตสาธารณสุข  ซึ่งมีหน้าที่ดูว่ากลุ่มได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรไปบ้างแล้ว  มีอะไรที่ควรเติม  เช่น ทางเลือกของประชาชนมีอะไรบ้าง  หลักการป้องกันโรค  ระดับของการส่งเสริมสุขภาพ  การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  วงจรแห่งการเรียนรู้  3  วงจร  ได้แก่

  1.  วงจรแห่งการศึกษาและวิเคราะห์
  • เกิดปัญหาอะไรขึ้นในชุมชนและผลที่ตามมา
  • รู้สึกอย่างไรต่อปัญหา
  • ผลกระทบจากปัญหา  เอาจากเขาจากชาวบ้าน  บ้านเราเป็นเท่าไหร่  อย่างไร
  • อะไร คือ ผลสำเร็จ  หรือสิ่งที่คาดหวัง
  • เราจะเรียนรู้ร่วมกันอะไรบ้าง  จากการวิเคราะห์ปัญหา

2. วงจรแห่งการสืบสวนและไตร่ตรอง 

  • เหมือนที่เรียนรู้จากตลาดนัด 4 station เมื่อวานนี้  ฟัง  แล้วถาม  ฟังแล้วตั้งคำถาม  หัดถาม
  • เราจะแก้ปัญหาอะไร
  • ภาพที่ปรารถนาร่วมกันเป็นอย่างไร  ใครได้ประโยชน์

3. วงจรแห่งการออกแบบและปฏิบัติ

  • ด้วยความเข้าอกเข้าใจ  ร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมรับผลประโยชน์  ร่วมประเมินผล
  • การออกแบบกลวิธีการปฏิบัติ
  • เริ่มต้นที่ไหน  ใครทำ  ทำอะไร
  • อะไรเป็นตัวบอกถึงความสำเร็จ
  • เราจะแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่  บทเรียนในการทำงานร่วมกัน  ได้อย่างไร

 

จากนั้น พี่สุรัตน์มอบไมค์ให้ว่า  การทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ  อย่างเราเสมอกัน  การแก้ปัญหาสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม  ด้วยทีมสหสาขาวิทยาการ  มีตัวอย่างเรื่องเล่าจากตัวเป็น ๆ ของหมออ้อ  ทพญ.ธิรัมภา  ลุพรหมมา  อำเภอสระใคร  หนองคาย   ตั้งแต่สมัยอกหักจากทำกลุ่มเด็กเล็กในหมู่บ้าน  จนต้องพักใจ  แล้วก็เริ่มต้นใหม่จนหัวใจพองโต  จากฟันดีเป็นเครือข่ายชุมชนลูกหลานเด็กดี  และยังทำต่อเนื่องเรื่อย ๆ อย่างมีความสุขจนทุกวันนี้ 

เรื่องที่สองของหมอจิน  ทพญ.จินดา  พรหมทา  อำเภอจอมพระ  จังหวัดสุรินทร์  การเชื่อมโยงเครือข่ายตำบลและอำเภอ  ด้านสุขภาพช่องปาก  ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากด้านใน  เติมเต็มทั้งหัวใจและจิตวิญญาณ  สู่การเป็นมนุษย์ที่มีเป้าหมายในชีวิตของตนเอง

 

ปรับร่างกายเล็กน้อย  เอาใจใส่นวดให้กัน  สลัดแข้งขา  ยืดเหยียดตื่นตัว  แล้วมาดูผลการพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน  ภายใน CUP ที่พร้อมเสนอวันนี้  มีอะไรแปลกใหม่เติมเต็มจากเดิมหรือไม่  แง่มุมที่เปลี่ยน....เจ้าตัวผู้เข้าประชุมเท่านั้นที่จะบอกได้

 

  1.  CUP ครบุรี  3  เรื่องที่จะทำ

1.1        พัฒนา ศพด.มาตรฐาน  ประสาน อบต.  ประชุมครูพี่เลี้ยง  ผู้ปกครอง  คุยกันทั้ง    

ทันตาภิบาล  ทันตแพทย์  จะช่วยเหลือกันอย่างไร

1.2        เชิงรุก  ด้านในทีมเข้มแข็ง  ประชุม  คุยกันมากขึ้น  จัดระบบข้อมูลให้ดีขึ้น  การจัดเก็บ  นำเสนอข้อมูล 

1.3        เชิงรุก  ด้านนอก  2  กลุ่ม  เด็กและผู้สูงอายุ  CQI  งานฟันปลอม  ลดขั้นตอนระยะเวลา  และติดตามการใช้งานย้อนหลัง  3  ปี

 

2. CUP เสิงสาง

2.1        แก้ไขปัญหาภายในบุคลากรก่อน  สร้างความสัมพันธ์โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 

     1) อบรมความรู้ใหม่ ๆ นวัตกรรม 

     2) อบรมผู้ช่วยทันตแพทย์ใน รพ.สต. 

     3) อบรมทีมผู้รับผิดชอบ  อสม.  รพ.สต.ที่ไม่มีทันตาภิบาล

2.2        ใช้การสื่อสารสองทางมากขึ้น  ฟังชุมชน

 

3.  CUP  วังน้ำเขียว

  • ทบทวนตัวเอง  
  • เขียนแผนผังเชื่อมโยงสาเหตุปัญหาเชิงทฤษฎี (web)  ไม่มองข้ามทุกรากสาเหตุของปัญหา
  • สร้างแบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์  แม่เลี้ยงลูกยังไง?  แปรงฟันตอนเย็นมั๊ย? 
  • ฝึกทักษะต่างๆ  วิเคราะห์ผล  เปรียบเทียบกับ web ที่เขียนไว้  จากภาพของชุมชนจริง ๆ  โดยไม่ใช้ทฤษฎี  หรือตัดบางสาเหตุออก  มองให้เห็นสาเหตุในมุมมองของเขา  เขาไม่แปรงฟันตอนเย็นเป็นปัญหาของเรา  เห็นแต่ปลายเหตุ
  • นำเสนอคืนชุมชน  เช่น  เวทีประชาคม  แกนนำ  อบต.  อสม.  ผู้เลี้ยงดู  กลุ่มเล็ก ๆ ก่อน  อภิปรายกันให้ทั่วถึง  อาจไม่ใช่กลุ่มใหญ่  หรือแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ก่อน
  • เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเอง  ตระหนักเอง  ปัญหาเขาเอง  เป็นวิธีที่ชุมชนเขาทำได้จริง เช่น หาพี่หาน้องสอนแปรงฟัน
  • แผนงานใหญ่ ๆ ร่วมกันทั้ง อบต.  ชุมชน  ผู้ใหญ่บ้าน  รวมทุน  วัสดุอุปกรณ์  ทำบึ้ม
  • วางแผนทำกิจกรรมไปเรื่อย ๆ  Log frame เชื่อมโยง  จาก 1 ไป 2 ไป 3 ไป 4 ไปเรื่อย ๆ   จนได้ตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการ
  • ใช้สิ่งที่มีจากจุดแข็ง  วิทยุชุมชน  แทรกความรู้เข้าไป เช่น ดีเจยายสำอางค์
  • การสร้างแกนนำ  เครือข่าย  ใครพูดแล้วเสียงดัง  เฝ้าไว้  ชน  1  คน  กระเด็นไปอีกหลาย  มี Power  ดาวกระจาย  สร้างความรู้ไปเรื่อย ๆ
  • สรุปผล  ทุกภาคส่วน
  • 

4.  CUP โชคชัย

  • ภาพรวมใหญ่เชิงบริหาร  ประสานเชื่อมโยง  สสอ.  รพ.สต.  และ รพ.  รพ.สต.มีทันตาภิบาล  เป็นพี่เลี้ยง รพ.สต.ไม่มีทันตาภิบาล
  • เตรียมทีม  คำสั่ง สสอ.  อบรมทีมงาน  ปรับทัศนคติ  กำหนดเป้าหมายนำร่อง  มิถุนายน  2554
  • ลุย  ศึกษาพื้นที่  ข้อมูล  ทำความคุ้นเคย  ใช้เวลา  ลึกซึ้ง  เพิ่มความไว้วางใจ  สบาย ๆ ถึงกันยายน 2554
  • ประชาคม  โยนข้อมูลกลับสู่ชุมชน  เกิดอะไรขึ้น  ไล่ตามสภาวะไป  จะเกิดแค่ไหน  อย่างไร  ได้แผนปฏิบัติ  ประเมินเป็นระยะ ๆ  เริ่มเมื่อพร้อม  อาจจะปีงบหน้า

 

5.  CUP ปักธงชัย 

  • ผู้สูงอายุ  รพ.สต.แม่ข่าย  มี Unit  ตรวจในชุมชน  ทำฟันปลอม
  • การเยี่ยมบ้าน  ทีมสหวิชาชีพ  ทำงานชุมชนอื่นก่อน  แลกตัว  รูปแบบการเยี่ยมในชุมชนมีเครื่องมือชัดเจน  ANC ส่วนมากฝากคลินิก  ถ้าไม่วางรูปแบบเข้มข้นจะติดตามไม่ค่อยได้  หลังคลอดเช่นกัน
  • ชอบ powerpoint อ.สุรัตน์  การพึ่งพาตนเอง  เดิมบางครั้งยัดเยียดว่าต้องรับ  ต้องพึ่งพาหมอ
  • ค้นหาศักยภาพ  คนไข้  ญาติ  ชุมชน  แก้ปัญหาด้วยตนเอง  ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
  • บูรณาการกับงานอื่น  ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ  เพิ่มกระบวนการ  ลดจุดอ่อน  แก้ปัญหาตรงจุด
  • 0 – 5 ปี  อนุบาล  รายละเอียดจะกลับไปคุยกันอีก
  • เครือข่ายครู  อสม.  ศพด.  การเกาะเกี่ยวของเครือข่าย  ยังไม่เป็นกลุ่ม

 

6.  CUP จักราช-เฉลิมพระเกียรติ

  • จุดแข็งจักราช  หัวหน้าฝ่ายเห็นงานชุมชนเชิงรุกสำคัญ (หมอบี)
  • ถามตนเอง  เราให้เขามากเกินไปหรือเปล่า  ขาดการพึ่งตนเอง
  • Dent CUP  ขาดเหลือตรงไหน  ฟังน้องมากขึ้น  ประสาน CUP  จัดระบบ
  • กลับมาเริ่มต้นใหม่  เก็บไปทุก ๆ กลุ่ม  เสริมความเข้มแข็ง
  • อ.เฉลิมพระเกียรติ  ต.ท่าช้าง  เดิมมีหมอมา  10  ปี  ขาดหมอ  ทันตาภิบาลทำกันเอง  3  คน  ทำงานรักษา  ออกหน่วยเคลื่อนที่  แยกกันทำบ้าง  ต่อไปคุยกันเป็นทีม  สร้างเครือข่ายของเราก่อน  ปีหน้าผลงาน OK แลกเปลี่ยนกัน

          พี่สุรัตน์เติมเต็ม  รู้สึกดีที่พวกเราได้ทบทวนตัวเอง  เรียนรู้ร่วมกัน  สร้างแรงบันดาลใจให้กัน  คิด  ปรารถนาดี  ก้าวใหม่ของเรา  ทำอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้น 

          เงินกองทุนทันตกรรม  30 %  เชิงพัฒนา  ตีความ  เขียนแผนพัฒนาคุณภาพบริการ  จัดประชุมพูดคุย  สร้าง Unity ทีมเรา  ใช้ทรัพยากร  ใช้โอกาสที่มี

          ครบุรี  พัฒนานวัตกรรม  ประกวดฟันเทียม  หาแง่มุมเผยแพร่ เช่น อย่ารอให้ใส่ฟันเทียมเลยชีวิตนี้

          เสิงสาง  ปรับแผนได้  คณะกรรมการประชุม  KPI  พาดูงาน  มีพี่เลี้ยงช่วยกัน  จักราชเก่ง ๆ บอก Trick  ห้วยแถลง  คนของเราเป็นแหล่งเรียนรู้  วิทยากรซึ่งกันและกัน  ทันตาภิบาล  ผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ไหนเก่ง  พาไปดู  หรือเชิญมา  เรียนรู้ผ่านกันเอง  สนุกกว่า

          วังน้ำเขียว  ยายสำอางค์เข้าใจชาวบ้าน  วิทยุชุมชนเข้าถึงคนบางกลุ่ม  กลับไปหากลุ่มเป้าหมาย

          โชคชัย  มาทั้งเสธ.และผู้บริหาร  Zone นี้โชคดีมีทรัพยากรบุคคล  อีกคน คือ พี่แดง  มานิต  ประกอบกิจ  อำเภอสูงเนิน

          ปักธงชัย  อยากให้เขียนเรื่องเล่า  บอกแนวทางน้อง ๆ เช่น รูปแบบการเยี่ยมบ้าน  เทคนิค  เครื่องมือ  ที่น้ำพอง  หมอโอมีบทเรียนการเยี่ยมหลังคลอด

          จักราช-เฉลิมพระเกียรติ  เริ่มกันใหม่

 

          ก่อนจบ  ล้อมวง  อยากบอกตนเองอะไรบ้าง  หลัง  3  วันนี้

  1.  ทึ่ง  สิ่งที่พี่ ๆ ทำ 
  2.  สงสารน้อง  มีคนเหนื่อยเหมือนกับเรา 
  3.  อ้าปากดูฟัน  ช่วยน้องเรื่องนี้  เก็บข้อมูล  ช่วยน้องทำงานสำเร็จ
  4.  เรียนรู้เพื่อนร่วมงาน  ฟังความคิดเห็น  ได้ Shared 
  5.  เห็นโลกกว้าง  ได้รับประสบการณ์ดี ๆ  เติมเต็ม  เป็นประโยชน์อย่างมาก 
  6.  ทำงานมากขึ้น
  7.  ทบทวนตนเอง  คิดมาก ๆ ก่อนทำ  เริ่มใหม่
  8.  ทำด้วยใจ  ทำสิ่งไม่เคยทำ  เรียนรู้กุศโลบาย  เราก็ทำได้  กำลังใจ  สู้ ๆ
  9.  สามัคคี คือ พลัง  มีคนพยุง  การเป็นทีม  ทำให้มีความสุข

10.  สติ  ก้าวช้า  ก้าวเร็ว  ใช้สมอง  2  ซีก  ใช้ซีกขวาเพิ่มขึ้น  มีความสุข

11.  ได้รูปแบบการทำงาน  นำเทคนิค  กระบวนการใหม่  ความรู้ไปปรับใช้  พัฒนาศักยภาพ  ตรงกับงานที่ทำ

12.  อิ่มสมอง  อิ่มใจ  อิ่มกาย  ขอบคุณวิทยากรและผู้จัด

13.  เป็นการประชุมที่ดีที่สุดเท่าที่ทำงานมา

14.  ดีใจที่ได้มา  กลุ่มทันตแพทย์  ทันตาภิบาล  คนอื่นที่ไม่ได้มา  อยากให้มาเห็น  อยากให้อยู่ครบ

15.  หนักใจ  เพราะได้รับมอบหมายให้ทำรุ่นต่อไป

16.  ตอนแรกไม่อยากมา  ตอนนี้ไม่อยากกลับ

17.  ได้มากกว่าที่เห็น

18.  พร้อมก้าว  เป็นผู้ให้ต่อไป  ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

 

ลาแค่นี้ก่อนนะคะ  พบเจอแลกเปลี่ยนกันใหม่  เท่าที่โอกาสอำนวย

หัวใจยังพองฟูอยู่เลย

ธิรัมภา

มาบันทึกนี้แล้ว ได้เครื่องมือดีๆ ไปบอกเล่าสาวห้องทันต์ ในการทำงานเชิงรุก

สนใจ รพ.สต.มากคะ

มีความคิดเห็นอย่างไรกันทันตาภิบาลคะ

สวัสดีค่ะ ท่านลุงบัง

  • ฝากบอกต่อด้วยนะคะ  เชิงรุกแล้วสนุกน้า
  • ประยุกต์  ปรับปรุง  เปลี่ยนแปลง  เครื่องมือให้เข้ากับวิถีเรา...ยิ่งสนุก
  • ขอบคุณมากค่ะ  ที่แวะมา

สวัสดีค่ะ คุณชุติมา

  • ทันตาภิบาลเป็นบุคลากรสำคัญในทีมสุขภาพ  ซึ่งควรพัฒนาศักยภาพไม่หยุดนิ่ง  เหมือนกับคนอื่น ๆ ในทีม
  • มีความสามารถเฉพาะทาง  เป็นลักษณะเด่น
  • หากมีเส้นทางการเติบโตของอาชีพที่ตนเองพึงพอใจ  ได้อยู่ในทีมที่มีความสุข  เป็นกลุ่มที่มีพลัง  อึดมาก
  • แค่นี้ก่อน....ขอบคุณมาก ๆ ที่มาเยี่ยมเยียนนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท