จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

เมื่อตาดีกาถูกแปรรูบ


หลายวันก่อนผมได้มีโอการไปเป็นวิทยากรจัดอบรมให้กับครูสอนตาดีกาที่นราธิวาสครับ ในโอกาสเดียวกันก็ได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งจากคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการจัดการอันเป็นตัวแทนภาครัฐ และคนที่เป็นกลไกสำคัญของตาดีกา นั้นคือ ครูผู้สอนครับ ขออนุญาตเล่าความรู้สึกโดยรวมก่อนนะครับ ผมว่าจากภาพเดิมๆ ที่ผมมีกับปัจจุบันของตาดีกา ผมว่ามันเปลี่ยนไปมากพอสมควรครับ ผมรู้สึกว่า ภาพความทรงจำเดิมของผมต่อผู้สอนตาดีกามันจะเป็นภาพของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน หรือคนวัยกลางคนที่มีจิตอาสาครับ สมัยผมเด็กเรียนที่มัสยิด ซึ่งบ้านผมจะเรียกว่าคุรุส้มพันธ์นี่ การจะหาครูมาได้นี่ลำบากมากครับ และใครอาสามาแล้วการจะถอนตัวก็ลำบากมากเหมือนกัน เพราะเมื่อมาด้วยใจแล้ว แค่คำร้องขอจากอีหมามว่าอย่าออกเลย ไม่มีคนสอนจริงๆ หาคนมาสอนแทนไม่ได้ แค่นี้ก็ต้องใจอ่อนสอนต่อละครับ ที่พูดเล่าเรื่องนี้ก่อนก็เพราะว่า ข้อมูลที่ผมได้มาหลังๆ นี้มันเปลี่ยนไปแล้วครับ คนสอนกลายเป็นกลุ่มคนวัยกลางคนลงมา จนกระทั่งวัยรุ่นละครับ อือ แล้วมันต่างกันตรงไหน? ผมว่าหลายคนจะเริ่มตั้งคำถามนี้ขึ้นมา คำตอบก็คือ มันมีความแตกต่างในเชิงลึกครับ ขออนุญาตเล่าเป็นประเด็นนะครับ ตาดีกาถูกหลายต่อหลายตาจับจ้องมองมาครับ รัฐก็มองมาด้วยสายตาที่เฝ้าระแวดระวัง พยายามที่จะเข้ามาเรียนรู้ทำความรู้จักครับ อือ แต่บังเอิญเรียนรู้ยังไม่ทันดีเท่าไรครับ ก็มาฉุดสาวเจ้าไปชะงั้น เอ๊ะ จะเรียกว่าฉุดก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมดครับ แต่จะว่าสมยอมหนีไปด้วยกันก็ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า พอฝ่ายชายได้เชยชมสมใจแล้วก็ผลักใสสาวเจ้าไปยังคนอื่นต่อครับ (พอจะเห็นภาพหรือเปล่าครับ) เดิมตาดีกาถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมก็ไม่รู้เหตุผลกลใดที่ต้องไปอยู่ภายใต้หน่วยงานนี้ ระหว่างอยู่หน่วยงานนี้ก็มีความพยายามเปลี่ยนแปลงจัดระบบขึ้นหลายเรื่องครับ จากมหาดไทย (ถ้าจำไม่ผิด) ก็ถูกโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมฯ และปัจจุบันมาอยู่ในหน่วยงานที่ผมว่าน่าจะตรงมากสุดรับ คือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเป็นคนกำกับดูแล (ถึงแม้ผมจะนิยามคำว่าเอกชนกับชุมชนไม่เหมือนกันก็ตาม) ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับทีมงาน สช.ในพื้นที่ที่ดูแลเรื่องนี้ แล้วได้ความรู้เพิ่มเติมรับว่า ระเบียบของตาดีกามีประกาศใช้ชัดเจนแล้วครับ เพียงแต่ผู้บริหารตาดีกาส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วยงานก็ทำเป็นเพิกเฉยครับ โครงสร้างที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว ผูกตาดีกาไว้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นครับ นั้นคือ อบต. โดยกำหนดให้ อบต.ต้องจัดสรรงบประมาณให้การสนับสนุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 (ขออนุญาตไม่ยืนยันตัวเลขนะครับ) ซึ่งมีความเห็นมาว่า ยอดดังกล่าวทำให้เห็นผลในการดำเนินการของตาดีกา การพัฒนาแทบจะไม่ได้เลย (เพราะแต่ละตำบลไม่ได้มีตาดีกาเดียว) นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการเบิกจ่ายงบด้วย เนื่องจาก อบต.ไม่สามารถเบิกจ่ายในบางลักษณะได้ บางท่ีจึงมีการพลิกแพลงวิธีบ้าง แต่บางที่ไม่มีจึงเบิกจ่ายไม่ได้ในบางรายการ จนมีคำถามกันด้วยความสงสัยว่า ทำไมที่นั้นได้ ที่นี้ไม่ได้

ฟังมาอีทีหนึ่งรับว่า (ยังไม่มีเวลาไปอ่านระเบียบ) โครงสร้างตาดีกาถูกกำหนดผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารไว้ชัดเจน แต่ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวเหมือนกับมีความพยายามให้สถาบันนี้อิงกับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ในทางกลับกันกลายเป็นการลดบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาคมลงไป (อันนี้โดยโครงสร้างเฉยๆ นะครับ)  ผมได้ฟังเสียงสะท้อนหนึ่งจากอีหมามท่านหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่บริหารตาดีกาในหมู่บ้านและยังเป็นผู้สอนอีกด้วยว่า "ตาดีกากำลังแย่ จะอยู่ไม่รอด เพราะเงินอุดหนุนจากรัฐน้อย บางที่รัฐสัญญา รับปากแล้วว่าจะช่วย แต่ก็ได้แค่รับปาก ไม่มีความช่วยเหลือที่แท้จริงหลังจากนั้น รัฐบอกว่าจะให้สื่อ ให้หนังสือ สุดท้ายก็ให้มาเล่มเดียว แล้วจะสอนได้อย่งไร ในห้องเรียนมีแค่ครูคนเดียนที่มีหนังสือสอน เด็กๆ ไม่มีหนังสือให้อ่านให้เรียน" ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายภาครัฐท่านหนึ่งเคยบ่นในการประชุมให้ผมฟังว่า ตาดีกาไม่รู้จักพอสักที แต่ก่อนไม่เคยได้ ก็เรียกร้องจนได้มีเงินอุดหนุน แต่พอได้แล้วก็ขอเพิ่มอีก ประเด็นนี้ผมก็เคยตอบกลับไปในที่ประชุมนั่นแหละครับว่า เพราะรัฐต่างหากที่ไปเปลี่ยนธรรมชาติ เปลี่ยนอัตลักษณ์ของเขาจนขาดความเข้มแข็ง และเมื่ิอเขายืนบนลำแข้งตนเองไม่ได้แล้ว รัฐก็ไม่ควรมาโยนความผิดนี้กลับไปที่ตาดีกา รัฐก็ไม่ควรถอยหลังกลับ แต่ต้องกลับไปสร้างความเข้มแข็งใหม่ให้ชุมชนเพื่อให้ตาดีกาอยู่กลับชุมชนเหมือนเดิม ซึ่งโดยโครงสร้างใหม่ตามระเบียบ ผมคิดว่ามันหาทางหวนกลับมาได้ยากเสียแล้วครับ ประเด็นหนึ่งที่ผมค่อยข้างกังวลมาก คือธรรมชาติการเรียนที่ตาดีกาจะเปลี่ยนไป โจทย์แรกมาจากหลักสูตรตาดีกา โจทย์ท่ีสองมาจากการพัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอนตาดีกาของภาครัฐ ถึงแม้ว่าในความจริงโรงเรียนตาดีกาส่วนใหญ่จะได้รับแจกหลักสูตรไปแล้ว แต่ก็เชื่อได้ว่าโรงเรียนคงไม่ได้นำไปใช้อะไรมากนัก เพราะยังขาดทักษะในการแปลงหลักสูตรไปสู่การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน และหน่วยงานภาครัฐก็รู้จุดอ่อนนี้รับ เลยมีกิจกรรมส่งเสริมตามมามากมายโดยเฉพาะทักษะการจัดการเรียนการสอน แล้วอะไรคือสิ่งที่น่าห่วงสำหรับผม คำตอบคือผมไม่ได้ห่วงเรื่องการใช้หลักสูตรไม่เป็นครับ แต่ผมกลับคิดว่า การพัฒนาทักษะดังกล่าวมันจะทำให้ตาดีกาหลงทิศทางไปกันใหญ่ เรื่องของมันก็คือว่า หลายต่อหลายคนพยายามให้ตาดีกาเป็นส่วนหนึ่งของการสอนศาสนาชั้นต้น (อิบติดาอีย์) ซึ่งความจริงหน้าที่นี้มีคนทำหลายคนแล้วครับ โรงเรียนประถมมีอิสลามศึกษาสอนแล้ว ในระดับมัธยมก็มี (ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดว่าจะรับให้ไม่ต้องรับสอนช่วงนี้แล้ว แต่ให้รับช่วงต่อจากประถมเลยก็ตาม) แนวคิดนี้มีคนฉกฉวยโอกาสเยอะครับ โรงเรียนเอกชนบางโรงส่งนักเรียนชั้นปลายไปสอนที่ตาดีกาเองเลย โดยบอกว่าหากเรียนจากที่ตาดีกานี้ ไม่ต้องเรียนซำ้อิบติดาอีย์ในระดับมัธยมที่โรงเรียนของเขาอีก ตาดีกาเลยกลายเป็นห้องเรียนห้องเรียนหนึ่งไปครับ มีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจจากผู้สอนท่านหนึ่งว่า ตอนนี้มีผู้ปกครองหลายคนเริ่มคิดว่าไม่จำเป็นต้องส่งลูกมาเรียนตาดีกาแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวเรียนไปแล้วที่โรงเรียนประถม (ผมเห็นด้วยเลย) ต้องคุยก่อนว่า รัฐมีความพยายามอย่างมากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองว่า อิสลามศึกษาในโรงเรียนประถมมีความครอบคลุม สมบูรณ์เชิงเนื้อหาแล้ว ไม่ต้องให้ลูกเรียนทั้ง 7 วันเหมือนสมัยก่อนแล้ว ในอีกทางหนึ่งทางปัจจุบัน รัฐกลับพยายามทำให้ตาดีกามีสภาพการจัดการเหมือห้องเรียนอิสลามศึกษาชั้นต้น ในขณะที่ไม่มีอะไรที่จะการันตีความพร้อมของตาดีกาในการเข้าสู่สภาพใหม่ดังกล่าวเลย ทั้งทักษะการบริหารจัดการ ครูที่เพียงอายุมากกว่าเด็กท่ีเรียนก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงสวัสดิการใดๆ ผมกำลังนำทุกท่านให้คิดเหมือนผมครับว่า ความจริงตาดีกาไม่ใช่อย่างที่มันกำลังจะเป็นในปัจจุบัน ตาดีกาต้องมีพันธกิจที่แตกต่างจากนั้น เพื่อการสร้างชุมชนที่่มั่นคง เพื่อสร้างบุคลิกภาพเด็ก ทำให้วันหยุดของเด็กมีคุณค่ากว่าการไปคลุกอยู่ที่ร้านเกม และมันน่าจะเป็นสถาบันเพื่อการสอนทักษะการอบรมบุตรให้กับพ่อแม่ด้วย ผมว่าโจทย์นี้น่าจะเหมาะกว่าสำหรับตาดีกา ในเมื่ออิสลามศึกษาในโรงเรียนประถมของรัฐมีความเข้มแข็งมากขึ้น ผู้ปกครองก็มีความพอใจเพิ่มขึ้น ความสำคัญของตาดีกาในแง่ของการเป็นสถานศึกษาอิสลามภาคฟัรดูอีนย์(ภาคบังคับ) กลายเป็นภาพความซ้ำซ้อน และกลายเป็นความจำยอมของผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกเรียนอันเนื่องจากการกดดันทางสังคม ทำไมเราไม่มองตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมกับตาดีกา ในบทบาทที่ช่วยเหลือผู้ปกครองจากปัญหาขอบุตรหลานที่กำลังประสบอยู่ ผมกำลังมองว่า ตาดีกาต้องกลับไปยืนในจุดเดิม คือ เป็นส่วนหนึ่งของมัสยิด (ซึ่งหมายถึงเป็นของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วม มีบทบาท มีความเป็นเจ้าของ) ซึ่งหลักการง่ายๆ คือ การสนับสนุนหลักต้องมาจากมัสยิด งบประมาณต้องมาจากการแสวงหา การจัดสรรโดยมัสยิด เช่น การซากาตในแต่ละปีที่มัสยิดเก็บได้ล้วแบ่งมา การเรียกเก็บเป็นรายครัวเรือน การจัดหาครูผู้สอนได้มาจากการประชุม การคัดเลือกโดยประชาคมชุมชน และพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการสอนบุตรหลานของตัวเอง (ประเด็นหลังนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่นิดหนึ่ง) ประการสำคัญ คือ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การเรียนแบบเน้นเนื้อหา แต่เป็นการเน้นกิจกรรม การพัฒนาด้านบุคลิกภาพละการนำความรู้ไปใช้ เนื้อหาที่สำคัญควรมองไปยังประเด็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่บางครั้งเป็นจุดอ่อนของโรงเรียนในระบบ เช่น การเรียนรู้ทางภาษา โดยเฉพาะภาษาอัตลักษณ์ของชุมชน ภาษามลายู เป็นต้น ผมมองว่า เพียงแค่ตาดีกาสามารถสร้างบุคลิกภาพให้เยาวชนรักการแสวงหาความรู้ รักการอ่าน มีกริยามารยาทที่สวยงามตามแบบฉบับของมุสลิม มันก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากแล้วครับ มันอาจจะยากกว่าแนวทางที่เรากำลังเดินกันอยู่ครับ แต่ผมว่ามันสวยงามกว่า มันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่กว่า และเป็นความต้องการของสังคมมากกว่า

ทำไมเราต้องให้ตาดีกาเป็นเหมือนโรงเรียน ในเมื่อคนเป็นครูตาดีกาไม่ได้จบปริญญา ไม่มีวุฒิครูตามที่กฏหมายกำหนด ความรู้ในเรื่องที่จะต้องสอนก็ไม่ได้มากมาย และในเมื่อครูเหล่านี้สามารถสร้างความใกล้ชิดกับผู้เรียนได้ดีกว่า สร้างเป็นแบบอย่างให้กับเด็กได้ดีกว่าครูในโรงเรียน เล่นกับเด็กๆ ได้สนุกว่าครูในโรงเรียน

หมายเลขบันทึก: 439178เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท