แก๊สชีวภาพ..พลังงานสู่พลังใจ


เริ่มต้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแนะนำสร้างสรรค์ให้โรงเรียน

                         แก๊สชีวภาพ...พลังงานสู่พลังใจ

     เริ่มต้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แนะนำและสร้างสรรค์ให้โรงเรียนบ้านหนองผือ เข้าสู่กระบวนการจัดทำแก๊สชีวภาพ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ ๔-๕ รายการ อาทิ โอ่งน้ำ ถังรอง ถังน้ำ สายยางส่งแก๊ส และท่อพีวีซี เมื่อประกอบกันตามสูตรสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ก็ลงมือใส่ขี้วัวลงไปประมาณ ๑๐ กระสอบปุ๋ย เป็นการรองพื้นไว้ก่อน เสร็จสรรพแก๊สก็ออกมา จากนั้นทุกๆวันจะต้องใส่ขี้วัวผสมน้ำประมาณครึ่งถัง แค่นี้ก็สามารถได้แก๊สชีวภาพอย่างต่อเนื่อง

     ตัวถังพลาสติกลอยขึ้นในแต่ละวัน บ่งบอกปริมาณแก๊สว่ามากหรือน้อย แต่โรงเรียนยังไม่มีกิจกรรมทำประโยชน์จากแก๊ส สิ่งที่อยากได้มากคือกากหรือของเหลวที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาของแก๊สชีวภาพ ซึ่งอยู่ภายในโอ่ง จะเรียกว่ากากขี้วัวก็ได้ จะไหลออกมาจากท่อ ไม่มีกลิ่นเหม็น และมีมากพอจะไปทำประโยชน์ได้

     ปีการศึกษา ๒๕๕๒-๒๕๕๓ กากของเหลวที่ไหลออกมาจากท่อข้างโอ่ง นักเรียนนำถังไปรองรับ แล้วนำไปเทใส่แปลงผักริมสระน้ำ เห็นผักงอกงามดี เมื่อดินในแปลงผักเริ่มเสื่อมสภาพ นักเรียนจะนำกากของเหลวดังกล่าว ไปเททั่วทุกแปลง ตากดินให้แห้ง จากนั้นจึงพรวนดินให้ร่วนซุย ทิ้งไว้ ๗ วัน จึงเริ่มปลูกผัก ปรากฎว่าผักงามกว่าเดิม เหมือนว่าได้เติมปุ๋ยชีวภาพ ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้น

     ระยะหลัง ครูกับนักเรียนช่วยกันนำกากของเหลว ไปเทใส่ใบไม้ในคอกปุ๋ยหมัก เดือนละ ๒ ครั้ง เมื่อพลิกกลับเอาใบไม้ข้างใต้กลับขึ้นมาข้างบน สลับกันไปมา ประมาณ ๓ - ๔ เดือน ใบไม้จะเน่าเปื่อยเป็นดินสีดำ สาเหตุที่ใบไม้ย่อยสลายได้เร็วก็เพราะกากขี้วัวเหลวๆ ที่เกิดจากกระบวนการจัดทำแก๊สชีวภาพนั่นเอง

     เคยมีนักวิชาการเข้ามาเยี่ยมชม แนะนำให้หมักกากของเหลว แยกใส่ถังไว้ ก่อนปิดฝา ให้ผสมน้ำประปา และกากน้ำตาลลงไป คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ ๗-๑๐ วัน จึงค่อยนำไปรดแปลงผัก หรือแปลงนาก็ได้ ครูกับนักเรียนจึงทดลองทำดู สังเกตพบว่าผักงาม ใบเขียวต้นใหญ่ดีกว่าเดิม และเมื่อใส่ในแปลงนา ต้นข้าวจะโตเร็วมาก

     การได้ประโยชน์จากแก๊สชีวภาพมากมายเช่นนี้ ทำให้รู้สึกหายเหนื่อย จากการเรียนรู้คู่การปฏิบัติจริง จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือก ที่ช่วยสร้างกำลังใจให้ครูมิใช่น้อย

 

บันทึก..เรื่องเล่าจากโรงเรียนเล็ก สนใจอ่านเพิ่มเติมที่ www.bannongphue.com
หมายเลขบันทึก: 438736เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท