ลมและพายุ


      ลมเกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ ( ความกดอากาศสูง) ไปสู่บริเวณที่มีอุณหภูมิสูง  ( ความกดอากาศต่ำ )

สาเหตุของการเกิดลม

     ลมเกิดขึ้นจากการที่บริเวณ 2 บริเวณมีอุณหภูมิแตกต่างกัน โดยบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงอากาศร้อนจะขยายตัว  ความหนาแน่นลด ความกดอากาศต่ำ จะลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน ส่วนบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า อากาศเย็นจะหดตัว ความหนาแน่นเพิ่ม ความกดอากาศสูง จะไหลมาแทนที่อากาศร้อนทำให้เกิดลมขึ้น

สภาพอากาศเหนือพื้นดินและพื้นน้ำ

        ในเวลากลางวันอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นดินจะสูงกว่าพื้นน้ำ  เพราะพื้นดินรับความร้อนได้ดีกว่าพื้นน้ำ ส่วนในเวลากลางคืนอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นดินจะต่ำกว่าเหนือพื้นน้ำเพราะพื้นดินคายความร้อนได้ดีกว่าพื้นน้ำ

การเกิดลมบก ลมทะเล

         การเกิดลมบกและลมทะเลเกิดขึ้นเนื่องจากพื้นดินและพื้นน้ำมีความสามารถในการดูดและคายความร้อนที่ได้รับจากดวงอาทิตย์แตกต่างกัน

         ลมทะเล ( Sea  breeze )  เป็นลมที่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน เนื่องจากพื้นดินรับและคายความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิสูงกว่า ( ความกดอากาศต่ำ ) จึงเบาและยกลอยขึ้น ส่วนอากาศเหนือพื้นทะเลมีอุณหภูมิต่ำกว่า ( ความกดอากาศสูง ) จะเคลื่อนที่มาแทนที่จึงเกิดลมพัดจากทะเลเข้าสู่บก ( ฝั่ง ) ในตอนสายของแต่ละวัน

         ลมบก ( Land breeze ) เป็นลมที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เนื่องจากพื้นน้ำรับและคายความร้อนได้ช้ากว่าพื้นดิน ทำให้อากาศเหนือพื้นน้ำมีอุณหภูมิสูงกว่า ( ความกดอากาศต่ำ ) จึงเบาและยกตัวลอยขึ้น ส่วนอากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่า ( ความกดอากาศสูง ) จะเคลื่อนที่ไปแทนที่จึงเป็นลมพัดจากบก ( ฝั่ง ) ออกสู่ทะเลในตอนหัวค่ำของแต่ละวัน

ประโยชน์ของลมบก  ลมทะเล

       ประโยชน์ของลมบก  ลมทะเล  จะช่วยในการเดินเรือของชาวประมงเมื่อออกจากฝั่งในเวลากลางคืนโดยอาศัยลมบก และลมทะเลช่วยพัดพาเรือเข้าสู่ฝั่งในตอนเช้า

        ลมพายุเกิดจากบริเวณ 2 บริเวณมีอุณหภูมิแตกต่างกันมากเป็นผลทำให้ความกดอากาศต่างกันมาก  อากาศจะไหลเร็วขึ้น ถ้าลมพายุพัดวนรอบจุดศูนย์กลาง เราเรียกลมพายุชนิดนี้ว่า “ พายุหมุน

ตารางแสดงความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุหมุนเขตร้อน

ประเภท

ความเร็วลมสูงสุด

ใกล้ศูนย์กลาง ( กิโลเมตร/ชั่วโมง )

1.       พายุดีเปรสชั่น

2.       พายุโซนร้อน

3.       พายุไต้ฝุ่น

ไม่เกิน 63

63-118

มากกว่า  118

( ที่มา : กุณฑรี เพ็ชรทวีพรเดช และคณะ 2546, 317 )

จากตารางพายุ จะมีชื่อเรียกแตกต่างไปตามแหล่งที่เกิด  เช่น 

     - เกิดในทะเลจีนใต้  เรียกว่า “ ไต้ฝุ่น ”

     -  เกิดในอ่าวเม็กซิโก เหนือแถบมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลแคริเบียน เรียกว่า “ เฮอริเคน ”

     -  เกิดในแถบทวีปออสเตรเลีย  เรียกว่า “ วิลลี่ - วิลลี่ ”

     -  เกิดในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย  เรียกว่า “ไซโคลน”

ความกดอากาศแบ่งเป็น  2 ประเภท

       1.   ความกดอากาศสูง คือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณข้างเคียง  บริเวณที่มีความกดอากาศสูงนี้จะมีท้องฟ้าแจ่มใสและมีอากาศหนาวเย็น กระแสลมจะพัดเวียนออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกา อิทธิพลของความกดอากาศสูงจากประเทศจีนทำให้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนา

      2.   ความกดอากาศต่ำ  คือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณข้างเคียง  กระแสลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำนี้ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก

ชนิดของลม 

      1.   ลมประจำถิ่น เป็นลมที่ปรากฏเด่นชัดในบริเวณหนึ่งบริเวณใด และในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดโดยเฉพาะ  ได้แก่ ลมมรสุม หรือลมประจำฤดู ลมบกลมทะเล ลมภูเขา ลมหุบเขา ลมสินค้า ลมขั้วโลก เป็นต้น บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีเขตลมสงบซึ่งเรียกว่า โดลดรัม ( Doldrum )

     2.   ลมพายุฟ้าคะนอง ( Thunderstrom )  เป็นลมพายุฝน เกิดจากอากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น ความกดอากาศต่ำลง จึงขยายตัวและเย็นลงจนไอน้ำควบแน่นเป็นฝนตกลงมา ขณะที่ฝนตกผ่านอากาศ อากาศจะเย็นตัวและหดตัวเข้าหากันเกิดเป็นศูนย์กลางของพายุฝนขึ้นดังกล่าวขณะมีลมพายุฟ้าคะนองมักจะเกิดลูกเห็บ ( hail )  ตกลงมาด้วยเสมอ

     3.   ลมพายุหมุนเขตร้อน ( Tropical cyclone )  เป็นลมที่พัดหมุนเข้าสู่บริเวณจุดศูนย์กลางของหย่อมความกดอากาศต่ำในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาโดยเกิดขึ้นตรงบริเวณเหนือทะเลหรือมหาสมุทรใน    เขตร้อนซึ่งอยู่ระหว่างละติจูด  300 N  ถึง  300 S

ประเภทของลมพายุหมุนเขตร้อน

     องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( WMO ) ได้กำหนดการเรียกชื่อประเภทของลมพายุหมุนเขตร้อนโดยใช้ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางเป็นเกณฑ์ ดังนี้

     1. พายุดีเปรสชั่น ( Depression ) เป็นลมพายุที่มีกำลังอ่อน ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 63 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะเกิดพายุดีเปรสชั่นจะมีฝนตกหนัก

    2. พายุโซนร้อน ( Tropical strom ) เป็นพายุที่มีกำลังปานกลาง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 63-118  กิโลเมตร/ชั่วโมง

    3. พายุไต้ฝุ่น ( Typhoon )  เป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุด ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมากกว่า 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นอกจากนี้ประเภทของลมพายุหมุนเขตร้อน ยังมีการเรียกชื่อต่างๆกันตามบริเวณที่เกิดได้อีก  ดังนี้

    1.ไซโคลน  ( Cyclone ) เป็นลมพายุที่เกิดในอ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย ถ้าพายุไซโคลนมีลักษณะทรงกรวยฐานกรวยตั้งขึ้น  หมุนไปตามพื้นดินบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ทอร์นาโด ( Tornado ) ถ้าเกิดในทะเล เรียกว่า วอเตอร์สเป๊าท์ ( Water spout )

    2.  เฮอร์ริเคน ( Hurricane ) เป็นลมพายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติก  ทะเลแคริเบียน อ่าวเม็กซิโก

   3. บาเกียว เป็นลมพายุที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์

  4. วิลลี่-วิลลี่  เป็นลมพายุที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย

  5. ไต้ฝุ่น ( Typhoon ) เป็นลมพายุที่เกิดขึ้นในทะเลจีน บริเวณทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและบริเวณทั้งหมดในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้

ชื่อลมของชาวไทย 

ลมที่คนไทยรู้จักกันมาตั้งแต่โบราณ และใช้เรียกชื่อกันอยู่ตามชนบททั่วไป  มีดังนี้

    1. ลมว่าว   เป็นลมที่พัดจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้  ปรากฏในต้นฤดูหนาว

    2. ลมตะเภา  เป็นลมที่พัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ปรากฏในกลางฤดูร้อน

    3. ลมตะโก้  เป็นลมที่พัดจากตะวันตกเฉียงเหนือไปสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏในปลายฤดูฝน

   4. ลมพัทยา  เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏในต้นฤดูฝน

   5. ลมสลาตัน  เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏในปลายฤดูร้อน

   6. ลมบ้าหมู  มีลักษณะหมุนเป็นวงขึ้นไปในอากาศ  โดยมีผงฝุ่นและเศษสิ่งของต่าง ๆปลิวหมุนขึ้นไปด้วย ปรากฏในฤดูร้อน

   7.  ลมกรด  เป็นลมที่พัดแรงจัดมาก ซึ่งสามารถพัดต้นไม้ใบหญ้าให้ขาดหลุดออกไปได้เหมือนคมดาบ

   8. ลมงวง  เป็นลมพายุชนิดหนึ่งเกิดในทะเล มีลักษณะเป็นงวงห้อยลงมาจดผิวน้ำ

      ซึ่งทางอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า  วอเตอร์สเป๊าท์ ( Water spout )

เครื่องมือตรวจลม 

     การตรวจลมต้องตรวจทั้งทิศทางและความเร็ว โดยใช้เครื่องมือดังต่อไปนี้

      1.    ศรลม ( Wind Vane ) เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจทิศทางของลม มีลักษณะเป็นแท่งโลหะเบามีแพนหางตั้งตรง ศรลมหมุนได้รอบตัว โดยหัวลูกศรลมจะชี้ทิศทางที่ลมพัดมาเสมอ

2.    มาตรวัดความเร็วลมหรืออะนิโมมิเตอร์ ( Anemometer ) เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจวัดความเร็วลม ประกอบด้วยโลหะเบา 3 หรือ 4 ใบ หันตามกันอยู่บนแกนที่หมุนได้ เมื่อลมพัดถ้วยจะหมุนรอบแกน ซึ่งทำให้เราสามารถอ่านความเร็วลมได้จากตัวเลขหน้าปัดของเครื่อง

 

(ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลด ชุดฝึกฉบับเต็มได้ที่ ไฟล์)

หมายเลขบันทึก: 438668เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขออนุญาติอาจารย์ ใช้แบบเรียนและแบบฝึกเพื่อไปสอนพิเศษน้องด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ :)

ขอบคุณ ครับ ดีมากๆเลย

สวัสดีครับผมวายุ

ได้เหืนงานของคุณแล้วดีมากคับ

ลมที่อยู่บริเวณละติจูดต่างๆของโลก

คือลมอะไรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท