เมฆและฝน


         เมื่ออากาศอุ่นซึ่งมีไอน้ำรวมอยู่ด้วยลอยตัวสูงขึ้นไปในบรรยากาศชั้นบน  อากาศจะเย็นตัวลงไอน้ำบางส่วนจึงจับตัวกันในบรรยากาศ และก่อให้เกิดหยดน้ำเล็กๆ ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อหยดน้ำเล็กๆจำนวนมากลอยอยู่ด้วยกันก็จะก่อให้เกิดเป็นเมฆอยู่บนท้องฟ้าซึ่งเราสามารถมองเห็นเมฆที่มีรูปร่างต่างๆ  หลายแบบตามชนิดของเมฆ

ตาราง  5.1     แสดงลักษณะของเมฆชนิดต่างๆ

ชื่อเมฆ

ลักษณะของเมฆ

ซีร์รัส

บางๆ ละเอียดสีขาว และฝอยหรือปุยคล้ายขนนก   อาจมีวงแสงโปร่งใส

ซีร์โรสเตรตัส

บางๆ โปร่งแสงเหมือนม่าน  มีสีขาวหรือน้ำเงินจาง  อาจมีวงแสงได้

ซีร์โรคิวมูลัส

บางๆสีขาวเป็นก้อนเล็กๆ เหมือนคลื่นและเกร็ด โปร่ง และมองเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้

อัลโตคิวมูลัส

สีขาว บางครั้งสีเทา มีลักษณะเป็นก้อนกลมใหญ่และแบน มีการจัดตัวกันเป็นแถวๆ หรือคลื่น   อาจมีแสงทรงกลด

อัลโตสเตรตัส

ม่านสีเทาและสีฟ้าแผ่เป็นบริเวณกว้าง มองดูเรียบเป็นปุยหรือฝอยละเอียด อาจมีแสงทรงกลด

สเตรตัส

เหมือนหมอกแต่อยู่สูงจากพื้นดินเป็นชั้นและแผ่น มีสีเทา มองไม่เห็นดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์

สเตรโตคิวมูลัส

สีเทาลักษณะอ่อนนุ่มและนูนออกเป็นสัน  เมื่อรวมกันจะเป็นคลื่น  ส่วนมากไม่มีฝน

นิมโบสเตรตัส

สีเทาดำ ไม่เป็นรูปร่าง ฐานต่ำใกล้พื้นดิน ไม่เป็นระเบียบ  คล้ายผ้าขี้ริ้ว

คิวมูลัส

หนา  ก่อตัวในทางตั้ง ไม่เห็นแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์

คิวมูโลนิมบัส

เป็นเมฆหนา มีฟ้าแลบฟ้าร้อง ทึบมืด มีรูปทั่ง

ที่มา : (กุณฑรี  เพ็ชรทวีพรเดช 2546,313)

         เมฆ (Cloud)  เกิดจากไอน้ำในอากาศเมื่อกระทบความเย็นบางส่วนจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ  รวมตัวกัน  ซึ่งจะมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ  กัน  บางครั้งจะเห็นรูปร่างเป็นก้อนคล้ายสำลีลอยอยู่ในท้องฟ้าที่ระดับความสูงต่าง ๆ กัน  บางครั้งก็มีลักษณะรูปร่างคล้ายขนนก   ส่วนเมฆที่มีขนาดใหญ่เป็นแผ่นหนา           สีดำมืด  ภายในก้อนเมฆนั้นเต็มไปด้วยหยดน้ำที่อัดตัวกันแน่น  จะเรียกว่า  เมฆฝน  แสดงว่าจะมีพายุ       ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น  ถ้าหยดน้ำที่รวมตัวกันเป็นเมฆมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอากาศอุ้มไว้ไม่ได้ก็จะตกลงมาเป็นฝน   (rain)

        เมฆ  ในแต่ละวันจะมีปริมาณมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน โดยทั่ว ๆ ไปจะแบ่งเมฆออกเป็น  3  ชั้น  คือ

       1. เมฆชั้นต่ำ  อยู่สูงจากผิวโลกตั้งแต่  700 - 2,000  เมตร  มีลักษณะเป็นก้อนคล้ายภูเขา หรือบางครั้งเป็นแผ่นสีเทาอยู่เต็มท้องฟ้า  ได้แก่  สเตรตัส  คิวมูลัส  คิวมูโลนิมบัส  และสเตรโตคิวมูลัส

       2. เมฆชั้นกลาง  อยู่สูงจากผิวโลกตั้งแต่  2,000 - 6,000  เมตร  มีลักษณะเป็นลอน  คลื่น  เกือบเต็มท้องฟ้า  ได้แก่  อัลโตสเตรตัส  และอัตโตคิวมูลัส

       3. เมฆชั้นสูง  อยู่สูงจากผิวโลกตั้งแต่  6,000 เมตร ขึ้นไป  มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ คล้ายขนนก  ได้แก่  ซีร์โรสเตรตัส  ซีร์รัส  และซีร์โรคิวมูลัส

ปกติประเทศไทยช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม  ท้องฟ้าจะโปร่ง  มีเมฆปกคลุมน้อย  เมฆที่ปกคลุมในช่วงดังกล่าว  ส่วนใหญ่เป็นเมฆชั้นสูง  และมีเมฆก่อตัวในทางตั้งที่ก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองได้บ้าง  โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปถึงเดือนพฤษภาคม  เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน  ส่วนใหญ่ท้องฟ้าจะมีเมฆมากหรือมีเมฆเต็มท้องฟ้า

       หมอก    เกิดจากไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำลอยอยู่ในอากาศใกล้พื้นโลก  โดยขนาดของหยดน้ำจะมีขนาดใหญ่กว่าหยดน้ำในเมฆ

       น้ำค้าง     เกิดจากไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆ เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงในตอนกลางคืน         ทำให้อากาศอิ่มตัว  โดยอุณหภูมิลดลงจนกระทั่งอากาศไม่สามารถรับไอน้ำได้อีกต่อไป    

       ลูกเห็บ    เกิดจากไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ  แล้วถูกพายุหอบสูงขึ้นไปในระดับความสูงที่มีอุณหภูมิของอากาศเย็นจัดหยดน้ำจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง  มีขนาดใหญ่   และมีน้ำหนักมากจนอากาศ ไม่สามารถอุ้มไว้ได้จึงตกลงมา  บางครั้งเกล็ดน้ำแข็งนั้น  อาจถูกพายุหอบขึ้นไปกระทบความเย็นในบรรยากาศระดับสูงอีกก่อนตกถึงพื้น  ทำให้เกล็ดน้ำแข็งหรือลูกเห็บมีขนาดใหญ่ขึ้น

       หิมะ  เกิดจากไอน้ำได้รับความเย็นจัดควบแน่นเป็นละอองน้ำแข็งตกลงสู่พื้น

         ฝน

         สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝนตกบริเวณประเทศไทย   มีดังนี้

     1. ร่องความกดอากาศต่ำ

     2. ลมมรสุม

     3. การพาความร้อน

     4. พายุหมุนเขตร้อน

     5. แนวพัดสอบของลม

     6. คลื่นกระแสลมตะวันตก

     7. คลื่นกระแสลมตะวันออก

     8. การยกตัวของมวลอากาศเมื่อเคลื่อนมาปะทะเทือกเขา

ลักษณะของฝนที่ตกในประเทศไทย   มีดังนี้

  • ฝนละออง   หรือฝนหยิม    มีลักษณะเป็นเม็ดน้ำฝนเล็กละเอียดเป็นละออง  ตกค่อนข้างสม่ำเสมอ   มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า  0.5  มิลลิเมตร
  • ฝนซู่    มีลักษณะที่ฝนตกหนักโดยกะทันหันในระยะเวลาสั้น ๆ  มีเสียงดัง  ฝนซู่มักตกและหยุดอย่างฉับพลัน  และมีการเปลี่ยนแปลงความแรงของฝนอย่างรวดเร็ว
  • ฝนชะช่อมะม่วง     คือฝนที่ตกนอกฤดูฝน  มีปริมาณไม่มาก  เกิดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม  ซึ่งเป็นระยะที่ไม้ผลต่าง ๆ  กำลังออกดอก  โดยเฉพาะช่อมะม่วง    ทำให้มะม่วงติดผลและ         มีผลดก
  • ฝนฟ้าคะนอง     เป็นฝนตกที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุ   ซึ่งอาจจะเป็นเม็ดฝน  ลูกเห็บ  หรือหิมะตกหนักชั่วระยะเวลาสั้น ๆ  แล้วหายไปในทันทีทันใด  โดยมากเกิดขึ้นพร้อมกับฟ้าคะนอง

การวัดปริมาณน้ำฝน

     การวัดปริมาณน้ำฝนจะไม่วัดเป็นปริมาตร  เพราะปริมาณน้ำฝนที่ได้จะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของสิ่งที่รองรับ  แต่บริเวณที่ฝนตกสม่ำเสมอ   ระดับความสูงของน้ำฝนจากสิ่งที่รองรับน้ำฝนขนาดต่าง ๆ  จะมีความสูงเท่ากัน  ดังนั้น  การวัดปริมาณน้ำฝนจึงวัดเป็นความสูงในหน่วย  มิลลิเมตร 

ตารางที่ 5.2 แสดงการวัดปริมาณน้ำฝนในประเทศไทย

ปริมาณน้ำฝน 24 ชั่วโมง

(มิลลิเมตร)

ขนาดของน้ำฝน

0.1 -10.0

ฝนตกเล็กน้อย

10.1 -35.0

ฝนตกปานกลาง

35.1 -90.0

ฝนตกหนัก

90.1 – ขึ้นไป

ฝนตกหนักมาก

ที่มา : (กุณฑรี  เพ็ชรทวีพรเดช และคณะ 2546,311)

   การทำฝนเทียม  (Artificial  Rain  Making)

   มีหลักการทำฝนเทียม อยู่  2  ประการ  คือ

     1. ทำให้เมฆในท้องฟ้าหนาแน่นขึ้น

     2.  ทำให้ขนาดของละอองน้ำในเมฆมีขนาดโตพอที่จะตกลงมาเป็นฝนได้

ในการทำฝนเทียมต้องใช้สารเคมีบางอย่าง  เช่น  น้ำแข็งแห้ง  (Dry  ice)  ผงโซเดียมคลอไรด์  เป็นต้น

การทำฝนหลวงในประเทศไทย

การทำฝนหลวงในประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ.  2519 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์  เทวกุล  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำการค้นคว้าการทำฝนเทียมภายในประเทศให้ได้ผล                          ....................................................................................................

 

(ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลด ชุดฝึกฉบับเต็มได้ที่ ไฟล์)

หมายเลขบันทึก: 438665เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีมาก

 

การทำฝนเทียมต้องใช้เมฆอะไรเหรอคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท