"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

สังฆทาน3


ข้าว ผ้า ยา บ้าน ทางพระเรียก อาหารบิณฑบาต ผ้าไตรจีวร คิลานเภสัช และเสนาสนะ(ที่พัก ที่สวดมนต์ รวมทั้งห้องน้ำ) ต้องเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงจะได้อานิสงส์มาก

สังฆทาน ๓

 ๘/๐๕/๒๕๕๔

**********

ช่วงวันมาฆบูชา เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสินค้าที่นำมาจัดทำเป็นสังฆทานทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด  ออกตรวจสอบสินค้าและเตือนผู้ประกอบการด้วยว่า หากฝ่าฝืนและตรวจพบว่าทำผิด จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท  ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการจะเกรงกลัวกันหรือเปล่า

ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการอย่างเดียว หากอยู่ที่ตัวเราผู้แสวงบุญด้วย ที่ทำให้ธุรกิจ “ถังเหลือง” ระบาด เพราะเราต้องการความสะดวก สบาย ง่าย รวดเร็ว ทันใจ จึงได้เกิดสังฆทานแบบนี้ขึ้นมา

ครั้งพุทธกาลไม่ปรากฏว่ามีการถวายสังฆทานแบบใส่ถังหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างไปถวายพร้อมกันทีเดียวแบบนี้ แต่มีการถวายสวนให้เป็นสถานที่วัด(อภัยทาน) นิมนต์พระไปฉันอาหารที่บ้าน  เข้ามาวัดหรือที่พระอาศัยปักกลดอยู่ก็จะนำของติดมือไปถวายตามกาลอันเหมาะสม เช่น ตอนเช้าก็นำอาหารไปใส่บาตร(พระจะฉันมื้อเดียว) ตอนบ่ายก็นำน้ำปานะที่พระฉันได้ไปถวาย ตอนเทศกาลก็จะมีการถวายผ้ากันสักครั้งหนึ่ง เป็นต้น (ตามพื้นฐานทางสังคมของอินเดียขณะนั้น)

ปัจจุบันพื้นฐานทางสังคมของไทยเปลี่ยนไปมากทั้งเรื่องวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน รวมทั้งพระสงฆ์ ต่างก็ต้องการ “ความเร็ว” และ “ความทันสมัย” ตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว “ถังเหลือง” จึงมีบทบาทกับ “สังฆทาน” เป็นอย่างมาก

อารัมภบทมาก็มากเข้าเนื้อหาหน่อย มีรายการ 'จุดเปลี่ยน' เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ และ ๒๑ มิถุนายน ที่ผ่านมา (ช่อง ๙ เวลา ๑๓.๐๐ น.) ออกอากาศเรื่อง ‘๑๐ อันดับของสังฆทาน ที่ทำแล้วพระท่านจะได้ประโยชน์มากที่สุด’ (ผู้เขียนก็ไม่ได้ดูรายการหรอก ดูตามเอกสารที่ออกสื่อ) จากที่จำเป็นมากไปหาน้อย ได้ดังนี้

๑.      เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ

๒.      ใบมีดโกนตราขนนก (Feather) หรือยี่ห้อ Gillette ยิลเลตต์

๓.      หนังสือธรรมะ สารคดี นิตยสาร หรือที่ให้ความรู้ด้านอื่น ๆ

๔.      ผ้าไตรจีวร ที่มีความยาวพอที่จะนุ่งห่มได้ มีความหนาพอเหมาะสม

๕.      รองเท้า

๖.      ยาหลัก ๆ ที่จำเป็น

๗.      ผ้าขนหนูสีสุภาพ ไม่ต้องสีเหลืองก็ได้

๘.      ชุดคอมพิวเตอร์

๙.      น้ำยาเช็ดพื้น

๑๐.  แชมพู

สิ่งที่กล่าวมานี้คงมีอยู่ในถังเหลืองไม่กี่อย่าง และหาคุณภาพไม่ได้ด้วย  หากเราต้องการทำบุญให้เกิดบุญจริง ๆ ผู้ให้ก็ต้องให้สิ่งของดี ขณะจิตดี (ก่อนให้ ขณะให้และหลังจากให้แล้วไม่เสียดายของ) และ ผู้รับก็รับด้วยจิตดี(สะอาด ไม่ทุศีล) จึงจะเกิดอานิสงส์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

            การถวายสังฆทาน ไม่จำเป็นว่าถวายมากหรือถวายน้อย   หากมองหรือเล็งเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ให้เป็นสำคัญ  ตัวอย่างเช่น  วัดหนึ่งพระเณรเรียนหนังสือกันมากก็ถวายเครื่องเขียน คอมพิวเตอร์ ค่าเทอมก็ได้    วัดหนึ่งกำลังก่อสร้างกุฏิ  พระอุโบสถ ก็ถวายเครื่องมือหรืออุปกรณ์ก่อสร้างก็ได้   อีกวัดหนึ่งเป็นวัดปฏิบัติธรรมเราก็ถวายอาหารบิณฑบาต น้ำปานะเป็นประจำหรือปวารณาเป็นผู้อุปัฏฐากก็ได้  

            ถ้าถวายสังฆทานแบบทั่วไปจะกำหนดตามหลักปัจจัยสี่คือ ข้าว  ผ้า  ยา  บ้าน (ไม่ใช่ เสื้อ ผ้า หน้า ผม แบบแฟชั่นนะครับ) หรือภาษาพระเรียกว่า  (อาหาร)บิณฑบาต  ผ้าไตรจีวร  คิลานเภสัช  และเสนาสนะก็ได้  ให้เราจัดเตรียมหรือจัดหามาด้วยตนเอง  ไม่ต้องไปสนใจและนึกถึงถังเหลืองเลย 

            - ข้าว  ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น มาม่า  ปลากระป๋อง แต่ควรจะเป็นอาหารที่ทานหรือฉันได้ในวันนั้น ที่สำคัญเป็นอาหารรสเลิศ  (ถ้าพระเก็บอาหารไว้ก็จะเป็นอาบัติ) พร้อมกับน้ำ  น้ำชา หรือนมกล่องก็ได้

            -  ผ้า  รวมทั้งเครื่องใช้ด้วย  ผ้าก็ไม่จำเป็นต้องผืนเล็ก ๆ บาง ๆ หรือผืนใหญ่แต่นุ่งห่มแล้วมองทะลุเห็นอะไรต่อมิอะไรก็ใช้ไม่ได้  ผ้าขนหนู ใบมีดโกนสองคม (มีคมสองด้าน)พร้อมด้าม ยี่ห้อดังเบื้องต้น

            -  ยา   ยาสามัญประจำบ้านที่ดีมีคุณภาพ คงไม่ต้องบอกว่ามียาอะไรบ้าง ยาแผนโบราณด้วยก็ได้ระวังอย่าเอายาดองเหล้าไปถวายท่านก็แล้วกันจะไปกันใหญ่

            - บ้าน   ถวายเงินเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ กรณีวัดนั้นมีเสนาสนะพร้อมหมดแล้ว  เป็นเจ้าภาพสร้างเต็นท์  โต๊ะ เก้าอี้ กุฏิ วิหาร โบสถ์ กรณีวัดนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้าง   เป็นเจ้าภาพสร้างกลด มุ้ง เสื่อ อาสนะ กรณีวัดนั้นเป็นวัดปฏิบัติธรรม เป็นต้น

            การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง  “เริ่มที่ตัวเรา”  ควรใช้ปัญญาพิจาณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ความคุ้มค่า ของมีคุณภาพ  เหมาะสมกับสถานที่และสถานภาพ (ไม่จำเป็นต้องทุกปัจจัยในคราวเดียว)  ที่สำคัญที่สุด “ต้องเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม”  จึงจะได้ชื่อว่า “สังฆทาน” การให้แก่สงฆ์อย่างถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 438544เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณ krukorkai มากนะครับที่เข้ามามอบดอกไม้ให้  จะกรุณาติชม วิพากษ์วิจารณ์ก็ได้นะครับ ผมยินดีรับฟังและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท