FTES


จำนวนนักศึกษาเต็มเวลาเทียบเท่า

FTES ย่อมาจากคำว่า Full Time Equivalent Student แปลตรงไปตรงมาก็คือนักศึกษาเต็มเวลาประมาณการ คือ ประมาณว่ามีนักศึกษาเรียนเต็มเวลาจริงๆ น่ะกี่คนกันแน่....ยังงงเหมือนเดิม(ฮ่าฮ่า)

FTES เป็นหน่วยวัดภาระงาน/ปริมาณงานที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ที่ว่าอย่างนั้นเพราะไม่รู้เหมือนกันว่ามีการนำไปใช้ในการจัดการศึกษาระดับอื่นหรือไม่ แต่ที่มีการใช้ในระดับอุดมศึกษาก็อาจเป็นเพราะว่าในการเรียนการสอนระดับนี้ ผู้เรียนส่วนมากมักจะมีอิสระในการเลือกเรียนตามความสนใจของตน ความที่มีอิสระในการเลือกเรียนนี้เองที่ทำให้จำนวนนักศึกษาที่จะเป็นภาระในการจัดการเรียนการสอน มีค่าที่ไม่คงที่ ไม่แน่นอน จึงต้องมีการประมาณค่าภาระงานนักศึกษาขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นว่า ถ้านักศึกษา 1 คน ลงทะเบียนเรียนทั้งภาคเรียนเพียง 1 วิชา ภาระงานของนักศึกษาคนนั้นก็ย่อมต้องน้อยกว่านักศึกษาอีกคนหนึ่ง ซึ่งลงทะเบียนเรียนทั้งภาคเรียน 6 วิชา เป็นต้น

FTES เป็นค่าประมาณการที่เกี่ยวข้องกับ
1. โครงสร้างหลักสูตร ความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็เพราะโครงสร้างหลักสูตร จะถูกนำมาใช้เป็นฐานในการประมาณการจำนวนนักศึกษานั่นเอง เช่น โครงสร้างหลักสูตรปริญญาตรี(ส่วนใหญ่)ของประเทศไทยในตอนนี้ นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาต้องมีหน่วยกิตสะสมรวมไม่น้อยกว่า 144 หน่วยกิต และโดยส่วนใหญ่หลักสูตรปริญญาตรีเป็นหลักสูตร 4 ปี ดังนั้นฐานในการประมาณการนักศึกษาในแต่ละปีการศึกษาจึงเท่ากับ 144/4 = 36 หรือเมื่อคิดเป็นภาคการศึกษาก็จะเท่ากับ 144/8 = 18 ทั้งนี้ฐานคิดนี้คิดจากฐานโครงสร้างหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาค (เรียน 2 ภาคการศึกษาต่อ 1 ปีการศึกษา) และก็จะเห็นได้ว่าฐานการประมาณการข้อมูลจะเปลี่ยนแปลงไปหากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรที่เป็นการลดหรือเพิ่มจำนวนหน่วยกิตรวม

2. จำนวนนักศึกษา แน่นอนว่า FTES มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยข้อนี้มากที่สุด เนื่องจากก่อนที่จะประมาณการนักศึกษาได้จะต้องมีการคำนวณหาค่า SCCH หรือ Student Course Credit Hours ก่อน โดยมีสูตรการคำนวณ SCCH ดังนี้ SCCH=จำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนวิชานั้นๆ x จำนวนหน่วยกิตรวมของวิชานั้นๆ
ค่า SCCH ที่ได้เมื่อนำไปหารด้วยฐานการประมาณการข้อมูลในข้อ 1 (คือหากต้องการข้อมูลภาคเรียนก็หารด้วย 18 หรือข้อมูลทั้งปี คือ 36) ก็จะได้ออกมาเป็น FTES หรือ
FTES = SCCH/18 ——ประมาณการข้อมูลจำนวนนักศึกษาเต็มเวลาต่อภาคการศึกษา FTES = SCCH/36 ——ประมาณการข้อมูลจำนวนนักศึกษาเต็มเวลาต่อปีการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าข้อมูลจำนวนกระบวนวิชานั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในภาคเรียน หรือในปีการศึกษานั้นๆ

FTES ที่มีการกำหนดขึ้นนี้ ส่วนใหญ่มีการนำไปใช้เป็นฐานในการจัดสรรทรัพยากรให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ก็แล้วแต่เงื่อนไข หรือเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้น เช่น เกณฑ์การจัดสรรอัตรากำลัง(อาจารย์)ต่อนักศึกษา(ระดับปริญาตรี) ก็อาจจะมีการกำหนดว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้มีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา FTES ที่อาจารย์ 1 คน ต่อนักศึกษา FTES 8 คน ส่วนสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้เป็นสัดส่วน 1 : 15 สายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์เป็น 1 : 25 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พบว่าการคิด FTES อาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุดจะเห็นว่าสำหรับหน่วยกิตในการจัดการศึกษารูปแบบบรรยาย 3 หน่วยกิต ผู้สอนจะต้องสอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหน่วยกิตรูปแบบปฏิบัติการ 1 หน่วยกิต ผู้สอนก็ต้องจัดการเรียนการสอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าให้ค่าการคำนวณใน SCCH นั้น กลับให้มีการรวมหน่วยกิตทั้งบรรยายและปฏิบัติการเข้าด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงชั่วโมงทำงานจริงเลย ดังจะเห็นว่าหากมองจากชั่วโมงทำงานจริงแล้วอาจารย์ที่สอนวิชาปฏิบัติการเพียง 1 หน่วยกิตนั้น ต้องทำงานในชั่วโมงทำงานจริงเท่ากับอาจารย์ที่สอนบรรยาย 3 หน่วยกิต แต่ค่าผลภาระงานเบื้องต้นกลับได้น้อยกว่าถึง 3 เท่า

ข้อมูล FTES ดังที่กล่าวมาได้แสดงให้เห็นว่านอกจาก FTES จะมีการต่อสู้ในระดับของการนำไปใช้ หรือการต่อสู้เพื่อกำหนดเกณฑ์ให้เหมาะสมแล้ว ยังมีการต่อสู้ในระดับวิธีคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอีกด้วย นอกจากนั้นสำหรับในบางสถาบันการศึกษาอาจจะมีการต่อสู้ในเรื่องของความน่าเชื่อถือของข้อมูลเข้าด้วยอีก ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ที่ไหนไกลไปกว่าภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้เอง

คำสำคัญ (Tags): #ftes#scch
หมายเลขบันทึก: 43850เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท