เรียนรู้จากการถอดเทป


การฟังเทปเพื่อถอดคำบรรยายเป็นการฟังอย่างลึก เพราะเรามีสมาธิ ฟังทั้งกายทั้งใจ เรียบเรียงคำบรรยายออกมาแบบไม่ตีความ

หลายวันมานี้ดิฉันทำงานสะสางการบ้านของสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา ซึ่งมี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นนายกสมาคม สมาคมนี้จัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี ดิฉันในฐานะกรรมการคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้จัดทำรายงานการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิติดต่อกันมา ๓-๔ ปีแล้ว เราจะจัดทำเป็น CD แจกผู้เข้าประชุมในปีถัดไป

ปีนี้สมาคมจะจัดประชุมวิชาการเรื่อง การวิจัยสถาบันกับการปฏิรูปการเรียนการสอน ในวันที่ ๒๔-๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ ณ ศุนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร ดิฉันจึงต้องนำรายงานจากที่มีผู้ถอดเทปการประชุมของปีที่แล้วไว้ มาตรวจสอบความถูกต้อง (รู้สึกว่าเผลอเดี๋ยวเดียวก็เก็บไว้นานหลายเดือนแล้ว)

ดิฉันเริ่มจากคำบรรยายของ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ในหัวข้อเรื่อง “สถาบันอุดมศึกษากับมาตรฐานโลก” ดิฉันทบทวนโดยฟังเทปการบรรยายทั้งหมด เมื่อตรวจแล้วพบว่ารายงานที่มีผู้ถอดเทปไว้ใช้ได้ไม่ถึง ๑% เพราะผู้ถอดเทปไม่ได้ถอดแบบคำต่อคำ แต่ตีความไปตามความเข้าใจของตนเอง ตัดทอนส่วนที่เป็นรายละเอียดออกไปด้วย ความจริงการถอดเทปก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ดิฉันว่าการฟังเทปเพื่อถอดคำบรรยายเป็นการฟังอย่างลึก เพราะเรามีสมาธิ ฟังทั้งกายทั้งใจ เรียบเรียงคำบรรยายออกมาแบบไม่ตีความ แล้วเกิดความเข้าใจความหมายในสิ่งที่ได้ฟัง

ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงชื่อบุคคลสำคัญในวงการศึกษาโลกหรือในประวัติของการศึกษาที่สำคัญ ดิฉันไม่ได้เรียนทางด้านนี้ก็จะไม่คุ้น แต่เราต้องทำรายงานให้ถูกต้อง ก็จะใช้วิธีสะกดชื่อเป็นภาษาไทยไว้ก่อน แล้วไปค้นหาเพิ่มเติมผ่าน Google เช่น ศ.ดร.สิปปนนท์เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของอุดมศึกษา กล่าวถึงชื่อ Wilhelm von Humboldt ซึ่งสร้างมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ดิฉันเขียนชื่อท่านได้ถูกเพราะค้นได้จากประวัติของของมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน วิธีการนี้ช่วยให้ข้อมูลของเราถูกต้องและดิฉันยังรู้สึกชื่นชมในความรู้ที่แม่นยำของ ศ.ดร.สิปปนนท์อีกด้วย

ศ.ดร.สิปปนนท์กล่าวว่า “เวลาเรามองอุดมศึกษา เราต้องมอง ๓ ตัวหลักๆ คือคุณภาพ (quality) ความเป็นธรรม (equity) และความสอดคล้อง (relevance) กับสังคมนั้นๆ"

"สำหรับความเป็นธรรมนั้นให้มองที่ equitable access ไม่ใช่ equitable opportunity  ตัวอย่างเช่น รัฐบาลบอกว่าจะให้เงินแก่คนที่อายุเกิน 65 ให้ไปรับที่อำเภอ คนแก่เดินไม่ไหว เขานอนอยู่บ้านก็แทบตายแล้ว ลูกเมียก็ตายไปหมดแล้ว หลานดูแลอยู่ด้วยคนหนึ่ง เขาเดินมาไม่ไหว แม้ว่าจะมี equitable opportunity แต่เข้าไม่ถึง หรือว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เขาไม่มี access ถ้าเขามาไม่ได้เพราะเขาป่วยแทบตาย ต้องเอาพยาบาลหรือหมอไปถึงเขา อย่างนั้นจึงจะมี access"

ดิฉันว่าคำกล่าวข้างต้นให้ข้อคิดที่ดีมากและนำมาใช้ได้กับการให้บริการด้านสุขภาพ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 43848เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท