ฉวยโอกาสทำ advance care plan ตอนนี้กันดีกว่า ๑: มันคืออะไรนะ


วันที่ ๒๐ พฤษภาคมนี้แล้ว กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะ รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.​๒๕๕๓ ตามมาตรา ๑๒ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กำลังจะมีผลบังคับใช้

ในรายละเอียดของกฏกระทรวงข้อ ๔ กำหนดไว้ว่า

ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนา ณ สถานบริการสาธารณสุข ให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

การอำนวยความสะดวกตามสมควร คืออะไร

คงไม่ใช่หมายถึง มีแบบฟอร์มของโรงพยาบาลหรือมีตัวอย่างของหนังสือแสดงเจตนาฯให้คนไข้หรือผู้ ประสงค์จะทำดูเป็นตัวอย่าง แล้วปล่อยให้ผู้นั้นทำเอง โดยไม่ให้ข้อมูลรายละเอียดใดๆ พอตอนจบก็จะวัดความสำเร็จอยู่แค่การมีเอกสารดังกล่าว เป็นอันจบกระบวนการอำนวยความสะดวก

งานเข้าอีกแล้ว

บุคลากรของโรงพยาบาลหลายคนที่งานล้นมือ อาจคิดดังๆว่า มีงานเอกสารมาให้ทำอีกแล้ว คิดไปคิดมาก็จะพลอยหงุดหงิดกับข้อกำหนดตามกฏหมายฉบับนี้ไปเสียก่อน

มองวิกฤตเป็นโอกาส

ยังไงกฏหมายก็ประกาศใช้แล้ว และเป็นที่ทราบดีว่า สาระสำคัญของกฏหมายฉบับนี้ดีมาก คือ การเคารพสิทธิของผู้ป่วย และ คุ้มครองบุคลากรสุขภาพที่กระทำตามเจตนาของผู้ป่วยนั้น

แต่เรื่องกฏหมายก็เหมือนยาขม เพราะต้องเอาไว้ใช้กับคนหมู่มาก ย่อมมีผู้ไม่เห็นด้วยบ้างเป็นธรรมดา โดยเฉพาะถ้ามันกระทบพฤติกรรมเดิมๆของเรา

กฏหมายฉบับนี้มุ่งเน้น การแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาต่างๆในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเน้นการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐานให้ชัดเจน คือ advance directive จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันในช่วงวิกฤตที่ต้องตัดสินใจกันว่า จะทำหรือไม่ทำ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ครอบครัวใหญ่ ความเห็นลูกหลานหลายคน หมอ พยาบาล อาจไม่ค่อยจะตรงกัน

แต่อย่างไรก็ตาม หากมุ่งเน้นแต่เรื่องปฏิเสธการรักษาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเน้นแต่การได้มาซึ่งตัวเอกสารเท่านั้น โดยไม่สนใจกระบวนการการสื่อสารสองทางระหว่างคนทำกับบุคลากรสุขภาพ และการมีสวนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เราก็จะประสบความล้มเหลวอย่างในสหรัฐอเมริกาเคยประสบ คือ คนทำทำเอกสารไว้ แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้ใช้ แล้วบุคลากรสุขภาพที่ต้องปฏิบัติตามก็ไม่ค่อยรู้..ไม่ค่อยเชื่อ ..และไม่ค่อยปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนเอาไว้

แนวโน้มของวิธีปฏิบัติที่ทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้หันมาให้ความสำคัญมากขึ้น คือ กระบวนการ advance care plan หรือ การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมมากกว่าเป็นแค่การปฏิเสธการรักษา หรือ advance directive ตามกฏหมายฉบับนี้เท่านั้น


Advance care plann ประกอบด้วย ๓ ส่วนสำคัญ คือ

๑. Patient preference สิ่งที่คนไข้ต้องการ ให้ความสำคัญ เป้าหมายการดูแลรักษา เมื่อถึงเวลา ซึ่งก็ต้องเกิดจากคนไข้รับรู้แล้วว่า ตนเองเป็นโรคอะไร ถึงขั้นไหนแล้ว การรักษาได้ผลเป็นอย่างไร เช่น อยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ขอให้ได้กล่าวคำขอบคุณ เสียใจ ขอโทษและให้อภัยกับใคร อยากให้ใครอยู่ด้วยหรือไม่อยากเห็นขี้หน้าใครตอนนั้น อยากทำหรืออยากให้ใครทำอะไรให้ จะสวดมนต์ ลูบหัว เกาหลังหรือดูแลความสะอาดให้ระดับไหน เป็นต้น สิ่งนี้ไม่มีข้อกำหนดทางกฏหมายมารองรับ แต่เป็นที่ยอมรับว่า มีความสำคัญกว่าและการดำเนินการเรื่องนี้ จะช่วยให้กระบวนการที่สอง หรือ advance directive ประสบความสำเร็จมากขึ้น

๒.​ Advance decisions อันนี้ก็คือ ส่วนของ advance directive เดิมนั่นเอง คือการแสดงเจตนาว่าจะรับ/ไม่รับการดูแลรักษา เมื่อถึงเวลา หรือเมื่อไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ส่วนนี้คือส่วนที่กฏหมายฉบับนี้รองรับ และเป็นสิ่งที่ต้องวินิจฉัยก่อนปฏิบัติตามว่า คนไข้อยู่ในภาวะนั้นหรือถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามแล้วหรือยัง

๓. Proxy nomination การเลือก”บุคคลใกล้ชิด”แสดงเจตนาแทน เมื่อไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง อันนี้ก็ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คนไข้อยู่ในภาวะไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองแล้วหรือยัง


Advance care plan จึงเน้นที่กระบวนการสื่อสารสองทางระหว่างผู้แสดงเจตนาหรือคนไข้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น คนในครอบครัว และผู้ดูแลรักษา คือบุคลากรสุขภาพ ไม่ใช่ตัวเอกสาร
 
ผลลัพธ์ที่ควรติดตาม คือ คนไข้ได้รับการปฏิบัติตามที่แสดงเจตนาไว้หรือไม่เมื่อถึงเวลานั้น ไม่ใช่ คนไข้ทำเอกสารหรือไม่

เมื่อมีผู้แสดงเจตนาจะทำเอกสารนี้--advance directive จึงเป็นโอกาสทองที่เราต้องฉวย เพื่อช่วยเขาวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า--advance care plan

จะค้านเรื่อง advance directive ไม่มีใครว่า แต่ไม่มีใครเขาค้านเรื่อง advance care plan หรอกนะครับ

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีแนวคิดเรื่องนี้อย่างไร ขอยกไปไว้บันทึกหน้าครับ

หมายเลขบันทึก: 438498เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 06:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

ตอนนี้กำลังทำแบบสอบถามความพึงพอใจในรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลอยู่ค่ะ พอดีมีเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนานี้ด้วย ส่วนใหญ่ผู้รับบริการให้คำตอบว่าพอใจปานกลาง และให้ความเห็นว่าบางครั้งการไม่ลงนามในหนังสือไว้ก็ตายดีได้

แต่ยังเก็บข้อมูลไม่เสร็จค่ะ

Ico48

  • อย่าลืมนะครับ หัวใจสำคัญ คือ สื่อสาร ไม่ใช่ เอกสาร
  • น่าสนใจเรื่องแบบสอบถามมากนะครับ ปกติคะแนนนิยมของเราจะดี ถ้าได้ปานกลาง แสดงว่า มีประเด็นที่น่าสนใจมาก อยากให้เล่าครับ
<a href="http://www.yourdiy.info/">rich decoration</a>

Nuriel director of the National Security Councils Information Technology in a statement posted on its

appreciate the complexity of the three settings Although the booth layout also

สนใจเรื่องการทำ AD มากค่ะ เพราะคิดว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ป่วย และกำลังทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ค่ะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท